ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติงดงามมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขา น้ำตก ธารน้ำแข็ง แต่รู้ หรือไม่ว่าไอซ์แลนด์มีธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่งซ่อนอยู่ ซึ่งมีชื่อว่า กีเซอร์ (Geysir)
ที่ว่าซ่อนอยู่ก็เป็นคำพูดที่ไม่ได้เกินจริงไปนัก เพราะ กีเซอร์ คือ น้ำพุร้อนใต้ดินที่จะพุ่งตัวขึ้นมาจากพื้นเป็นระยะๆ โดยกีเซอร์ตั้งอยู่ที่หุบเขา Haukadalur อันเป็นพื้นที่ในแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ เนื้อที่บริเวณกว่า 3 ตารางกิโลเมตร กีเซอร์จะตั้งอยู่ตามแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก เนื่องจากได้รับพลังงานความร้อนจากแม็กมาส่งขึ้นมาโดยตรง
กีเซอร์ที่ไอซ์แลนด์มีความพิเศษมาก เพราะเป็นกีเซอร์แรกที่พบในยุโรป และ เป็นต้นกำเนิดของชื่อ “กีเซอร์” ถ้าเจอน้ำพุร้อนลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆก็จะเรียกกีเซอร์เหมือนกัน โดยคำว่า กีเซอร์ มาจากภาษาไอซ์แลนด์ Geysa ที่แปลว่า พรั่งพรู ซึ่งก็บรรยายได้ตรงตัวจริง ๆ เพราะกีเซอร์คือน้ำใต้ดินพรั่งพรูออกมาเป็นละอองน้ำและแก๊สกลุ่มใหญ่บนอากาศ
กีเซอร์ (Geysir) เกิดจากอะไร???
ปกติแล้วปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ เนื่องจากจะต้องอาศัยปัจจัยพลังงานใต้พิภพหลายอย่าง ส่วนปัจจัยที่จะพูดถึงต่อไปนี้ต้องเกิดพร้อมกันถึงจะทำให้เกิดกีเซอร์ได้
- แม็กม่าต้องขึ้นมาใกล้ผิวโลกมากพอเพื่อให้หินร้อนมากพอที่จะทำให้น้ำเดือดได้
- น้ำใต้ดินจะต้องมีมากพอและเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างกีเซอร์ Strokkur นั้นได้รับน้ำเพียงพอจากการละลายของธารน้ำแข็ง Langjökull ที่ไหลมา
- ต้องมีทางน้ำให้น้ำไหลมาที่อ่างเก็บน้ำ โดยจะอยู่ใต้ดินลงไป
- ช่องระบายและระบบประปาต้องมีสายซิลิกาเพื่อป้องกันน้ำไหลหายไป
ภายหลังการเกิดกีเซอร์จะมีการปลดปล่อยน้ำร้อนออกไป ใต้ดินจะเย็นตัวลงทำให้เกิดการตกตะกอนของซิลิกาบนพื้นที่โดยรอบในที่สุด
ความเป็นมาของ กีเซอร์ (Geysir)
เนื่องจากกีเซอร์เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ยาก จึงทำให้ข้อมูลของไกเซอร์จึงมีอยู่ไม่มากนัก กีเซอร์เกิดขึ้นมานานกว่าหนึ่งหมื่นปี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 มีการกล่าวถึงกีเซอร์บริเวณ Haukadalur เป็นครั้งแรก ต่อมาในวรรณกรรมปี 1294 เพราะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฎการณ์นี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการการก่อตัวของกีเซอร์ขึ้นมาใหม่ จากการศึกษาพบว่า ชื่อ “กีเซอร์” ปรากฎในหนังสือครั้งแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่สมัยนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จัก
ในอดีตกีเซอร์สามารถพุ่งตัวได้สูงถึง 170 เมตร และจะพุ่งตัวทุก ๆ 30 นาที เราจะเห็นไกเซอร์พุ่งตัวออกมา โดยแต่ละครั้งที่กีเซอร์พุ่งตัวขึ้นจะสามารถค้างได้นานถึงหนึ่งชั่วโมง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกีเซอร์เริ่มจะสงบลง โดยกีเซอร์ที่พุ่งตัวออกมาความสูงจะลดลงเหลือประมาณ 40-60 เมตร ซึ่งเว้นระยะเวลาในการพุ่งตัวนานขึ้นถึง 6 ชั่วโมง
ปกติกีเซอร์จะเกิดขึ้นจากผลพวงของแผ่นดินไหว แต่ในปี 1981 รัฐบาลบังคับให้นักธรณีวิทยาใส่สบู่ลงไปกระตุ้นปฏิกิริยา เนื่องจากกีเซอร์ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และเพื่อที่จะเฉลิมฉลองวันชาติไอซ์แลนด์ ในวันที่ 17 มิ.ย. ซึ่งถือเป็นไกเซอร์ที่เกิดจากมนุษย์ ทว่าการใช้สบู่เป็นการทำลายระบบนิเวศและทำให้ธรรมชาติปนเปื้อนมลพิษ จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้ และปล่อยให้ธรรมชาติสร้างกีเซอร์ขึ้นมาเอง ต่อมาในปี 2000 เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เราเห็นกีเซอร์ที่เกิดจากธรรมชาติอีกครั้ง ซึ่งได้รับการขนานนามว่า The Great Geysir
กีเซอร์ (Geysir) แนะนำในไอซ์แลนด์
- The Great Geysir กีเซอร์ที่มีชื่อเสียงสุด อุณหภูมิของน้ำที่ลึกลงไป 20 เมตรอยู่ที่ประมาณ 125 องศาเซลเซียส โดยกีเซอร์นี้จะพุ่งตัวจากใต้ดิน 1 – 2 เมตร และเมื่อกีเซอร์พุ่งขึ้นมาในอากาศจะพุ่งได้สูงถึง 70 เมตร เมื่อลองคำนวณ จะเห็นว่ากีเซอร์นี้สามารถปลดปล่อยพลังน้ำได้ 1.5 ลิตรต่อวินาที สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบัน กีเซอร์นี้ไม่ค่อยจะ active เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ The Great Geysir มีอีกสถานที่ที่เรียกว่า Melar เราจะพบ หิน 3 กษัตริย์ ที่เรียกกันว่า Konungasteinar โดยหินแต่ละก้อนแสดงถึงกษัตริย์แรกเริ่มที่เคยปกครองไอซ์แลนด์และได้มาเยี่ยมชมกีเซอร์นั่นเอง ซึ่งได้แก่
- Christian IX ในปี 1874
- Frederik VIII ในปี 1907
- Christian X ในปี 1921
- Strokkur Geysir กีเซอร์นี้ตั้งอยู่ใกล้ๆกับ The Great Geysir จะพุ่งตัวประมาณ 15 – 30 เมตร แต่ความถี่ในการเกิดมากกว่าโดยจะพุ่งตัวสูงทุก ๆ 4 – 10 นาที โดยคำว่า Strokkur มาจากภาษาไอซ์แลนด์ ที่แปลว่า ซัด Strokkur Geysir มีอุณหภูมิของน้ำที่ลึกลงไป 23 เมตรอยู่ที่ประมาณ 130 องศาเซลเซียส
- Blesi Geysir แม้จะไม่ได้พุ่งตัวขึ้นมาบ่อยนักแต่เป็นที่น่าจับตามอง เพราะประกอบไปด้วยบ่อน้ำสองสีที่มีแนวไฟกั้นเท่านั้น บ่อหนึ่งอยู่ทางใต้จะไม่มีสี แต่น้ำร้อนเดือด ส่วนอีกบ่อหนึ่งอยู่ทางเหนือมีสีน้ำเงินอันเกิดจากการละลายของซิลิกา แต่น้ำเย็นกว่าเพราะไม่ได้รับพลังงานความร้อนโดยตรง
- Litli Geysir กีเซอร์เล็กๆที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Strokkur Geysir แม้ขนาดจะเล็กกว่ามาก แต่ก็มีความสวยงามไม่แพ้กีเซอร์ใหญ่ๆ
เชื่อกันว่าทั้ง The Great Geysir และ Strokkur Geysir เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างไรก็ตาม The Great Geysir นับว่ามีพลังมากกว่า Strokkur Geysir ในปี 1789 ที่เกิดแผ่นดินไหวกระตุ้น Strokkur Geysir และต่อมาในปี 1830 Strokkur Geysir ก็สงบลง จึงมีการโยนเศษหินเศษหญ้าลงไปกระตุ้นปฏิกิริยา แต่กลับส่งผลในทางที่ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะ หญ้าทำให้น้ำปนเปื้อนเปลี่ยนเป็นสีแดงสนิมออกมา แต่วิธีนี้ก็ทำให้กีเซอร์พุ่งขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 20 เมตรเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมออกมา แต่หลังจากนั้นก็ไม่ active อีก มีการค้นหาสาเหตุจนได้ข้อสรุปว่าเกิดจากแผ่นดินไหวที่ไปสร้างสิ่งกีดขวางทางนำส่งน้ำ จึงเกิดการทำความสะอาดช่องทางน้ำและขุดหลุมลงไปเพิ่มในปี 1963 ส่งผลให้ Strokkur Geysir ก็กลับมาพุ่งตัวขึ้นเป็นจังหวะเหมือนเดิม
สำหรับท่านที่ต้องการเข้าใจปรากฏการณ์กีเซอร์มากกว่านี้ ที่ไอซ์แลนด์ยังมี Geysir Centre พิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวพลังงานใต้พิภพ ภูเขาไฟ รวมถึงไกเซอร์ให้นักเดินทางทุกท่าน
ทว่าที่ไอซ์แลนด์มีการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยการนำเอาความร้อนนั้นไปใช้ในธุรกิจบ่อน้ำร้อนหรือบ่อน้ำร้อนตามธรรมชาติ เช่น Gamla Laugin ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ ลากูนลับ บ่อน้ำร้อนนี้ได้รับอิทธิพลจากกีเซอร์ น้ำในบ่อนี้มีอุณหภูมิประมาณ 38 – 40 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะกับการลงไปแช่ตัวผ่อนคลายร่างกายเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นบ่อน้ำร้อนที่เก่าแก่ที่สุดในไอซ์แลนด์ที่มีรอบข้างเป็นพื้นที่สีเขียว และสามารถมองเห็นกีเซอร์เล็กๆได้จากในบ่อด้วย
กีเซอร์เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในไอซ์แลนด์ หากคุณได้ไปหุบเขา Haukadalur เพื่อชื่นชมกีเซอร์ทั้งหลายแล้ว ขอแนะนำให้สำรวจบริเวณโดยรอบด้วยเพราะจะได้เห็นบ่อไอเดือด บ่อน้ำร้อน บ่อโคลน และไกเซอร์น้อย ๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ สมกับเป็นพื้นที่แหล่งพลังงานใต้พิภพ
บ่อไอเดือด หรือพุก๊าซ (Fumarole) เป็นบ่อที่เจอได้ในพื้นที่ไกเซอร์ จะพ่นมวลก๊าซและไอออกมาแต่ไอที่พุ่งน้อยกว่าไกเซอร์ ตั้งชื่อตามคำละติน fumus ที่แปลว่า ควัน ก๊าซที่ปล่อยออกมานั้นเป็นพิษต่อคน แต่ดีต่อดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ บ่อไอเดือดจะพบที่ภูเขาไฟที่ยัง active ตามรอยแตกของเปลือกโลก และบนธารลาวา
ส่วนบ่อโคลน (Mud pot) สวยน้อยกว่าบ่อไอเดือด ลักษณะเป็นบ่อโคลนเดือดที่เจอบริเวณใกล้ ๆ กับไกเซอร์ ค่อนข้างอันตรายเพราะบ่อนี้ละลายหินที่อยู่ใต้ผิวโลกได้ ถ้าเกิดไปเหยียบโดนจะทำให้เกิดแผลน้ำร้อนลวกและเป็นแผลเป็นได้
สีของดินรอบกีเซอร์ เกิดจากอะไร???
นอกจากนี้ คุณจะเห็นสีของดินในพื้นที่โดยรอบไกเซอร์ว่ามีหลายหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นสีที่เกิดจากธาตุเหล็ก ทองแดง และกำมะถันในดินภูเขาไฟ และเมื่อคุณสูดอากาศที่นี่เข้าไป คุณจะได้กลิ่นแปลกๆ อยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งกลิ่นนี้มาจากกำมะถันที่ตกผลึกบนพื้นดินนั่นเอง
รู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่กีเซอร์จะพุ่งตัว???
รอบเวลาในการพุ่งตัวของไกเซอร์นั้นแตกต่างกันไปตามความช้าเร็วของการเกิดแผ่นดินไหว ยิ่งแผ่นดินไหวไปนานหลายปีเข้า ความถี่ของการพุ่งตัวของไกเซอร์ก็จะลดลง รวมถึงความสูงของไกเซอร์ด้วย แต่ถ้าคุณได้ไปยืนอยู่ในจุดที่เห็นไกเซอร์ใกล้ ๆ คุณจะคาดเดาได้เลยว่าเมื่อไหร่ไกเซอร์จะพุ่งตัว เพราะคุณจะเห็นบ่อน้ำข้างหน้าเดือดปุด ๆ น้ำกระเพื่อมขึ้นลงมากกว่าปกติ ทันใดจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวช้าลง นั่นคือจุดสังเกตว่าไกเซอร์กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว แล้วถ้าน้ำในบ่อถอยลงไปแล้วดันเป็นฟองเมื่อไหร่ คุณเตรียมตัวไว้ได้เลย เพราะจะได้เห็นไกเซอร์แล้ว Geysir coming…
การเข้าชมกีเซอร์ (Geysir)
จริง ๆ แล้วกีเซอร์เป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรี เพราะ คุณ Sigurdur Jonasson ได้ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้และมอบเป็นทรัพย์สินสาธารณะให้คนไอซ์แลนด์ทุกคน และคุณเข้าชมได้ตลอดทั้งปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักจะมาชื่นชมกีเซอร์ในช่วงฤดูหนาว เพราะน้ำเดือดที่พุ่งตัวเสียดฟ้าขึ้นมาปะทะกับอากาศที่หนาวเหน็บจะยิ่งก่อให้เกิดสายน้ำที่พรั่งพรูกว่าเดิม
กีเซอร์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเส้นทางวงกลมทองคำของไอซ์แลนด์ หลังจากชื่นชมกีเซอร์เสร็จแล้ว คุณสามารถแวะอุทยานแห่งชาติ Þingvellir และเพลิดเพลินไปกับน้ำตก Gullfoss ได้อีกด้วย
ที่มาบทความ
- https://playiceland.is/geysir/
- https://adventures.is/iceland/attractions/geysir/
- https://adventures.com/iceland/attractions/geothermal-hot-springs-geysers/geysir-strokkur/
- https://www.icelandtravel.is/attractions/geysir/
อ่านบทความอื่นๆของเรา : อ่านบทความได้ที่นี่
สนใจโปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูร้อน
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูหนาว-ล่าแสงเหนือ (เส้นรอบเกาะ ring road)
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูหนาว ล่าแสงเหนือ ถ้ำน้ำแข็ง