“เทือกเขาอัลไต” ยังคงอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของพวกเราทุกคนในฐานะจุดกำเนิดของชนชาติไทยแม้ว่าจะยังกังขาถึงความเป็นไปได้ของข้อสันนิษฐานนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอัลไตเป็นเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่กลางทวีปเอเชียและยังคงมีความลึกลับน่าค้นหาซ่อนอยู่ในภูเขาสีทองและแม่น้ำสีฟ้าที่ยังรอคอยให้นักเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์อันหาได้ยากนี้อยู่เสมอ
“อัลไต” (Altai) เป็นชื่อเทือกเขาขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่กลางทวีปเอเชีย กินพื้นที่ถึงสี่ประเทศได้แก่ รัสเซีย มองโกเลีย จีนและคาซักสถาน มีความยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ไม่ไกลกัน
คำว่าอัลไตมีที่มาจากคำว่า Alt ในภาษามองโกลแปลว่าทอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับคำว่า Altin ในตระกูลภาษาเติร์กของชาวเอเชียกลางที่แปลว่าทองเช่นกัน
เทือกเขาอัลไตเป็นตาน้ำของแม่น้ำหลายสาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นแม่น้ำอ็อบและแม่น้ำอิร์ตึช (Ob and Irtysh) ที่เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลกด้วยระยะทาง 5410 กิโลเมตร ก่อนไปไหลลงที่อ่าวอ็อบ ชายฝั่งอาร์คติกในไซบีเรียตอนเหนือสุด
ผู้อ่านคงสงสัยในใจว่า อ่านมาขนาดนี้แล้ว ทำเลที่ตั้งดูแล้วอยู่ลึกกลางทวีปอย่างนี้ จะไปให้ถึงที่ได้อย่างไร
สำหรับผู้เขียนที่มีความสนใจต่อประเทศรัสเซียเป็นพิเศษอยู่แล้วก็จะแนะนำให้เริ่มต้นเดินทางที่รัสเซีย เพราะนอกจากจะมีบินตรง 7 ชม. (ใบ้ว่าเป็นสายการบินสีเขียว มีเลข 7 – นี่ไม่ได้โฆษณาให้เขานะ แต่ว่าเขาบินอยู่เจ้าเดียวจริง ๆ) จากกรุงเทพ ฯ มาที่เมืองนาวาซีบีร์สก์ (Novosibirsk) แล้วถนนหนทางฝั่งนี้นับว่าค่อนข้างดี แถมไม่ต้องพะวงเรื่องทำวีซ่าเพราะใจพร้อมปุ๊ป เงินพร้อมปั๊ป บินมาได้ทันที
ช่วงเวลาที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะก็คือช่วงฤดูใบไม้ร่วงปลายกันยาถึงตุลาคม เพราะใบไม้จะเริ่มผลัดใบเปลี่ยนสีของภูเขาให้เป็นสีทองอร่ามทั้งแผ่นดิน หน้าใบไม้ผลิกับหน้าร้อนจริง ๆ ก็มาได้ แต่ก็น่าจะสู้น่าใบไม้ร่วงไม่ได้เพราะช่วงเข้าใบไม้ผลิ หิมะละลายขนาดใหญ่พาเอาดินโคลนพัดมากับน้ำ สีน้ำจะดูขุ่น ไม่สวยงาม หน้าร้อนยังเป็นช่วงที่เห็บออกจากช่วงจำศีล และถ้าโดนเห็บกัดอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อไข้สมองอักเสบได้ในบางราย
จุดเริ่มต้นแรกของเราคือเมืองนาวาซีบีร์สก์ หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อ แต่จงจำไว้ว่าเมืองนี้ถือเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคไซบีเรียอันกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของรัสเซียเป็นรองเพียงมอสโก และเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประชากรกว่าล้านหกแสนคน มีระบบรถไฟใต้ดินเป็นของตัวเองโดยมีแม่น้ำอ็อบที่กล่าวไว้ข้างต้นไหลผ่านเมืองนี้
นาวาซีบีร์สก์ (Novosibirsk)..จุดเริ่มต้นของเส้นทาง
นาวาซีบีร์สก์ (บ้างก็เขียนว่าโนโวซีบีร์สก์ แต่เพื่อให้ได้อรรถรสจากภาษารัสเซียแท้ ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาจงอ่านตามที่ผู้เขียนเขียน) เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ แล้วถือว่าเป็นเมืองที่อายุน้อย ร้อยกว่าปีเท่านั้น เป็นเมืองขึ้นมาได้เพราะเป็นจุดสุดท้ายในการเชื่อมทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียเข้าด้วยกันบริเวณจุดตัดกับแม่น้ำอ็อบที่กว้างใหญ่ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อทางรถไฟเข้าไปในดินแดนดูร์เกสถาน (ชื่อในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตตอนต้น) ซึ่งปัจจุบันคือทวีปเอเชียกลาง ประกอบด้วย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน และ ทาจิกิสถาน
จากนาวาซีบีร์สก์ในที่ราบ เราจะนั่งรถย้อนลงมาทางใต้ ล่องไปตาม ทางหลวงสายชูย่า (Chuyskiy Trakt – Chuya Highway) ค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงของภูมิประเทศขึ้นไปทีละนิด ทีละนิด ผ่านไปครึ่งวันกับระยะทาง 500 กิโลเมตรจนกระทั่งเรามาถึงเมืองบีสก์ (Biysk) ที่อายุกว่าสามร้อยปี ชื่อเมืองตั้งชื่อตามแม่น้ำบียา (Biya) ที่เป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำอ็อบ เป็นหัวเมืองชายแดนโบราณที่เป็นจุดพักของราคาวานพ่อค้าวาณิชที่ค้าขายตามเส้นทางสายไหมตอนเหนือ จากจีน มองโกล สู่รัสเซีย มีพิพิธภัณฑ์หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอัลไต พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งย่านอันเดรเยฟที่ออกนอกเมืองไปอีกราวชั่วโมงนึง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอัลไต
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่ารวบรวมประวัติความเป็นมาทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และนิเวศวิทยา โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางสัญจรตั้งแต่ยุคเก่าจนถึงยุคร่วมสมัยที่เส้นทางตัดผ่านภูมิประเทศที่ทุรกันดาร ผ่านภูเขาสูงชัน หน้าผาและหุบต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย รวมไปถึงสภาพอากาศที๋โหดร้ายของไซบีเรียจนมาเป็นถนนราดยางสัญจรกันได้อย่างสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ นอกจากนี้บีสก์ยังมีสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมต่ออัลไตกับนาวาซีบีร์สก์
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งย่านอันเดรเยฟ
ตั้งอยู่บริเวณตำบลเบลาคูริฆา (Belokurikha) บอกเล่าเรื่องราวของชาวรัสเซียยุคบุกเบิกดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 และยังคงมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการดำรงชีพแบบดั้งเดิมทั้งช่างฝีมือ ช่างตีเหล็ก เป็นต้น
เทือกเขาอัลไตชั้นนอก
เชมาล… หน้าด่านแห่งอัลไต
นั่งรถจากบีสก์อีกราวสามชั่วโมงเราก็จะมาถึง เชมาล (Chemal) เขตสาธารณรัฐปกครองตนเองอัลไต (Altai Republic) ถือเป็นเมืองด่านแรกก่อนเข้าไปสู่เทือกเขาอัลไตในชั้นลึก ๆ ต่อไป เป็นจุดเหมาะที่จะแวะพักแรมเพราะเมื่อเทียบกับในเขตสาธารณรัฐอัลไตทั้งหมดแล้ว ที่พักที่นี่นับว่าดีที่สุดที่หนึ่ง สถานที่เที่ยวก็อยู่ไม่ไกลกันมาก ทั้งแม่น้ำคาตุน หุบเขาเชชกึช ที่เราสามารถเก็บภาพแม่น้ำคาตุนที่รายล้อมไปด้วยภูเขา หรือจะขึ้นไปบนภูเขาแล้วเก็บภาพหุบเขากับแม่น้ำจากด้านบนก็ยังได้
เลาะ ๆ เลียบ ๆ ไปตามแม่น้ำคาตุนไม่นานก็จะพบกับเกาะปัตมอส ชื่อเดียวกันกับเกาะแห่งหนึ่งของกรีกที่มีเกาะที่มีนักบุญอิวาน บากาสโลฟเคยไปบำเพ็ญเพียรภาวนา โดยวัดหลังแรกสร้างเพื่อรำลึกถึงนักบุญท่านดังกล่าว ในปี 1849 แต่ไม่ได้สร้างบนเกาะ ต่อมาในปี 1915 จึงได้มีการย้ายไปสร้างบนเกาะปัตมอสแทน ในยุคสหภาพโซเวียตวัดแห่งนี้ถูกทำลายลง ต่อมาในยุคปี 2000 ได้มีการรื้อฟื้นวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ โดยอยู่ในความดูแลของสำนักอารามสตรีแห่งบาร์นาอูล ตัววัดสร้างอยู่บนเกาะกลางน้ำคาตุนที่ไหลเซาะเดินผาหินเล็กๆ คล้ายๆ มินิแกรนด์แคนยอน
อีกไฮไลท์ที่ไม่ควรจะพลาดคือโปรแกรมขี่ม้า ซึ่งชาวอัลไตถือว่าเป็นหนึ่งในอารยธรรมบนหลังม้าคล้ายชาวมองโกลและคาซัค โดยจะไปที่ฟาร์มกวางแดง สถานที่เลี้ยงกวางทางเศรษฐกิจโดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือเขากวางเพื่อเอาไปเป็นวัตถุดิบทำยาแผนโบราณ ลูกค้าหลักส่วนมากมาจากเมืองจีน
แต่ที่นี่ก็ยังมีม้าไว้บริการ จะมีคนของฟาร์มคอยติวก่อนว่าการบังคับม้าให้วิ่งให้หยุดทำอย่างไร รับรองว่าไม่ยากเลย เป็นเส้นทางเที่ยวชมรอบ ๆ ฟาร์มที่เป็นกึ่งป่า กึ่งเนินทุ่งหญ้าสเต็ปป์ เป็นภาพ landscape ที่สวยงามมาก ๆ ตอนอยู่บนหลังม้า
เที่ยวอัลไตชั้นนอกเสร็จก็ถึงเวลาเดินทางต่อไปยังอัลไตชั้นกลาง โดยมี ช่องเขาเซมินสกี้ (Seminskiy Pass) เป็นจุดผ่าน มีเสาทรงเหลี่ยมขาวตั้งตระหง่านอยู่ สร้างในช่วงปี 1960 เป็นอนุสรณ์ฉลองครบ 200 ปีที่ชาวอัลไตพร้อมใจมาอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย ช่องเขานี้ตั้งอยู่บนความสูงราวสองพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยที่จุดนี้จะมีหิมะตกปกคลุมอยู่ และเป็นจุดที่มีพ่อค้า แม่ค้ามาจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เช่น เสื้อกั๊กวูล ถุงเท้าวูล ถั่วเมล็ดสน น้ำผึ้งป่า ฯลฯ เผื่อใครลืมเอาเสื้อกันหนาวออกมาจากกระเป๋าเดินทาง ก็ซื้อจากชาวบ้านมาใส่เลย
เทือกเขาอัลไตชั้นกลาง
จะเป็นช่วงที่เราจะขับข้ามผ่านช่องเขาเซมินสกี้ลงมายังที่ราบสูงสลับกับเนินเขา แต่ไม่นานเกินรอเราก็จะมาถึงช่องเขาอีกช่อง นั่นก็คือช่องเขาชิเก ตามาน (Chike Taman Pass)
ชิเก ตามาน เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่เราจะหลุดพ้นเข้าไปยังอัลไตชั้นใน จะมียอดเนินที่สามารถเดินขึ้นไปเก็บภาพวิวด้านบนทั้งฝั่งอัลไตชั้นกลางและอัลไตชั้นใน แถวนั้นยังมีรูปปั้นคนงานเพื่อระลึกถึงคนงานที่เกณฑ์มาจากนักโทษการเมืองยุคสตาลินให้มาสร้างถนนสายชูย่าในพื้นที่ที่ยากลำบากมากจนมีหลายคนต้องเสียชีวิตไปในการนี้
เทือกเขาอัลไตชั้นใน
พอผ่านเข้ามาในเขตอัลไตชั้นใน บรรยากาศเหมือนหลุดมาอยู่ในอีกโลกหนึ่งทันที ทันที่รถไต่ลงมาจากช่องเขาจุดสุดท้าย จุดแรกที่จะแวะคือ แก่งหินอิลกูเมน (Ilgumen Canyon) เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ที่ตั้งขวางสายน้ำคาตุนอันเชี่ยวกราก เสียงของสายน้ำดังกลบเสียงทุกเสียง จนคุยกันไม่รู้เรื่องต้องใช้การตะโกนจนคอแหบ
ออกมาตามเส้นทางจะพบกับที่ราบทุ่งหญ้าสเต็ปป์สีทอง ยาวสุดลูกหูลูกตาที่กระหนาบข้างด้วยภูเขาตลอดทาง ผู้เขียนอยากจะบรรยายความสวยงามของ landscape ออกมาเป็นคำพูด แต่ไม่รู้จะใช้คำไหน คงต้องให้ผู้อ่านไปดูแต่ละภาพกันเอาเองแล้วกัน ถ้าวันนี้ทำเวลาได้ดี พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ก็สามารถแวะจุดที่เป็นไฮไลต์ของทริปนี้ได้ก็คือจุดบรรจบของแม่น้ำชูยากับแม่น้ำคาตุน สาขาน้ำต้นกำเนิดของแม่น้ำอ็อบ
อีกหนึ่งไฮไลต์ไม่น้อยหน้าคือทุ่งหญ้าสเต็ปป์แห่งคูราย ที่มีอะไรให้ดู ให้แวะถ่ายตลอดทาง ทั้งโขดหินอักษรภาพสลักของบรรพรุษชาวอัลไต ที่เป็นหลักฐานอย่างดีบ่งบอกว่าที่นี่มีมนุษย์อาศัยมาไม่ต่ำกว่าสามพันปี ต่อให้เป็นชาวอัลไตปัจจุบันก็พูดภาษาตระกูลเตอร์ก นับญาติได้กับชาวคาซัค มองโกล คีร์กิซ อุสเบก ฯลฯ ไม่มีส่วนไหนที่จะเชื่อมโยงกับคนไทยที่พูดภาษาตระกูลไท-กะไดเลย
ถัดมาอีกไม่กี่อึดใจก็มาถึง หุบเขาดาวอังคาร (Mars Valley) ซึ่งเป็นภูมิทัศน์แปลกตาอันเกิดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ชั้นดินต่างชนิดชั้นลล่างถูกยกขึ้นมาด้านบน เกิดเป็นหุบเขาสีแดงหลากเฉด หาชมที่ใดอื่นได้ยาก
ยัง…ยังไม่หมด ยังมี ทะเลสาบน้ำพุร้อนสีน้ำเงิน (Blue Geyser Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีโคลนร้อนผุดขึ้นมาจากก้นบ่อ แม่ในฤดูหนาวก็ไม่แข็งเป็นน้ำแข็งเหมือนทะเลสาบอื่น ๆ
จุดสุดท้าย เป็นจุดที่ peak ที่สุดในทริปนี้… peak ในที่นี้คือความสูง เราจะขึ้นมายัง ที่ราบสูงเยชตึโกล (Yeshtygol Plateau) ที่เป็นจุดสูงที่สุดที่เราจะขึ้นมาได้ในทริปนี้ ด้วยความสูงเกินสองพันเมตร แม้ในเดือนตุลาคมที่ก็ปกคลุมไปด้วยหิมะแล้ว โดยเฉพาะบรรดาทะเลสาบน้อยใหญ่ก็กลายเป็นน้ำแข็ง
ที่เด็ดที่นี่คงจะเป็นบรรดาทิวเขาสูง ๆ ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะใกล้เรากว่าจุดใด ๆ พอเป็นฉากหลังของทุ่งหญ้าสเต็ปหรือป่าสนก็ของที่นี่ก็จะทำให้ได้ภาพที่สวยอย่าบอกใคร
ระหว่างทางก็จะเจอกับลำธารสายเล็ก ๆ เป็นสิบ ๆ สายที่ไหลมาจากตาน้ำบริสุทธิ์อันเกิดจากการที่หิมะบนยอดละลาย ริมลำธารก็จะมีลูกบาร์เบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่เล็ก ๆ เป็นพวง ๆ สีส้มเหลือ รสเปรี้ยว วิตามินซีสูงมาก เด็ดกินกันสด ๆ ตรงนั้นได้เลย… นึกถึงละเปรี้ยวปากเข็ดฟันขึ้นมาเลย
อ้อเกือบลืม อีกไฮไลต์หนึ่งที่เด็ดมาก ๆ คือได้แวะกินข้าวในกระโจมแบบอัลไต อย่างที่เคยเกริ่นไปตอนต้นว่าชาวอัลไตกับมองโกลต่างก็เป็นชาวอารยธรรมหลังม้า ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะคล้าย ๆ กัน ร้านนี้ถือเป็นจุดที่ไกลที่สุดในเส้นทางนี้ เพราะจากจุดนี้อีกเพียง 80 กม. จะถึงชายแดนมองโกเลีย
บทสรุป
สิริรวมระยะทางทั้งหมดราว 900 กม. ไปกลับตีได้ 1800 กม. โดยเราย้อนกลับเส้นทางเดิมไปจนถึงเมืองบีสก์ จากนั้นก็ขึ้นรถไฟตู้นอนมาจนถึงเมืองนาวาซีบีร์สก์จุดเริ่มต้นของเรา
จากประสบการณ์ไปหลาย ๆ ที่ในรัสเซียมา ผู้เขียนว่าอัลไตนีลำบากที่สุดแล้ว ด้วยความที่เป็นพื้นที่อยู่ลึกในหุบเขาด้านใน การประปา ระบบสุขอนามัยก็มีไม่ถัวถึง ถ้าใครตั้งใจจะไปที่นี่บอกไว้ก่อนเลยว่าต้องเข้าส้วมหลุมให้เป็น หาไม่แล้วจะชีวิตของท่านจะไม่อภิรมย์เมื่อมาเที่ยวที่นี่
1 Comment
สวัสดีค่า ขอบคุณที่แชร์เรื่องราวท่อวเที่ยวนะคะ อยากทราบว่าที่ไปเทือกเขาอัลไตนี้ไปกันเองหรือไปกับทัวร์หรอคะ ถ้าไปกับทัวร์พอจะมีทัวร์แนะนำมั้ยคะ