บรรยายโดย : หมอโจ้ นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค
เรียบเรียงโดย : กัญญ์กุลณัช ภัทรศรีพงศ์
การพาผู้สูงอายุไปเที่ยวต่างประเทศ!!!
ข้อควรพิจารณา….
1. จุดหมายปลายทาง ไปที่ไหน สภาพอากาศ การเดินทาง
2. ความแข็งแรงของผู้เดินทาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งการเดินทางไปยังต่างประเทศ ยานพาหนะหลักที่ใช้ในการเดินทาง คือ เครื่องบิน บางสายการบินห้ามผู้สูงอายุ บุคคลบางประเภท ขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้แต่ละสายการบินจะมีข้อกำหนดระบุไว้จึงควรศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากบนเครื่องบินมีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศบางช่วงอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ผู้ที่พึ่งผ่าตัดมาภายใน 10 วัน โรคติดต่อ ผู้ที่มีปัญหาโรคปอดรุนแรง ผู้ที่มีอาการหลอดลมรั่ว หรือสตรีที่อายุครรภ์เกิน 35 สัปดาห์ เป็นต้น
3. การเตรียมข้อมูลล่วงหน้าก่อนการเดินทาง แยกเป็น 2 ประเด็น 1.สถานที่ท่องเที่ยว 2.สุขภาพ ควรวางแผนมากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือเพื่อเผื่อระยะเวลาในการฉีดวัคซีนบางตัว ข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่อยู่ในประกันการเดินทาง ทั้งตำแหน่ง และรายละเอียดการครอบคลุมการรักษา เลือกประเทศที่มีโรงพยาบาลที่ครอบคลุมโรคประจำตัวของผู้เดินทาง
List รายชื่อข้อมูลเพื่อติดต่อแพทย์ปลายทางไว้ล่วงหน้า
- The International Society of Travel Medicine
- The International Association for Medical Assistance to Travelers
- Canada : Health Canada
- Great Britain : National Travel Health Network and Centre
- Australia : Travel Medicine Alliance
4. การซื้อประกันการเดินทาง ให้พิจารณาการครอบคลุม การยกเลิกการเดินทาง เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงในการยกเลิกการเดินทางกะทันหันจากการเจ็บป่วยหรือสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมเดินทาง พิจารณาค่ารักษาพยาบาลที่ประเทศปลายทาง ควรจะอยู่ในช่วง 2-3 ล้านขึ้นไป และ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยข้ามประเทศ ควรจะอยู่ในช่วง 2-3 ล้านขึ้นไป
5. ฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ จึงควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้ วัคซีนที่ควรพิจารณามีดังนี้
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดทุกปีโดยคำนึงถึงประเทศที่เดินทางประกอบร่วมด้วย
- วัคซีนนิวโมคอลคัส (Pneumococcal) มักเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในกระแสเลือด
- วัคซีนงูสวัด (Zoster) สำหรับท่านที่มีอายุ 65-70 ปี ควรฉีด 1 เข็ม
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดผ่านทางสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ หรือการรับเลือด
- บาดทะยัก ไอกรน คอตีบ ควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
- หัด หัดเยอรมัน คางทูม ก็ควรฉีดกระตุ้นเช่นเดียวกัน
6. วัคซีนบางตัวที่ผู้สูงอายุไม่สามารถฉีดได้ คือ วัคซีนไข้เหลือง โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ หรือแอฟริกา หากอายุเกิน 60-65ปี ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ฉีดให้ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าเนื่องจากในผู้สูงอายุมีภูมิต้านทานต่ำนั่นเอง
7. ยาประจำตัวของผู้สูงอายุ ผู้ร่วมเดินทางจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบข้อมูลของยา ชื่อตัวยา ขนาดในการรับประทาน ข้อมูลทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงยาที่นำไปทางประเทศต้องนำไปเกินเสมอ และเช็ครายชื่อยาต้องห้ามในแต่ละประเทศ ส่วนมากมักเป็นยาประเภท ยานอนหลับหรือยาคลายเครียด โดยยาทุกชนิดจะต้องมีฉลากหรืออยู่ในซองเสมอไม่ควรฉีกหรือแบ่งเป็นเม็ดมา ส่วนยาฉีดต้องเก็บในภาชนะที่รักษาอุณหภูมิและนำขึ้นเครื่องเสมอ ส่วนอุปกรณ์การแพทย์อาจจะต้องมีการหาข้อมูลหรือแจ้งสายการบินนั้นล่วงหน้าเพื่อสำรองพื้นที่สำหรับอุปกรณ์นั้นๆ เป็นต้น
8. พาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ประจำตัวก่อนการเดินทางเสมอ เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ สรุปการรักษาอย่างละเอียด รวมทั้งข้อมูลรักษาโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นผลแลป ยาที่รับประทาน เพื่อช่วยให้แพทย์ปลายทางสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ควรเป็นเอกสารที่เป็นสำเนา และข้อมูลอิเลคทรอนิกส์สำรองข้อมูล
9. แนะนำให้พาผู้สูงอายุไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางการท่องเที่ยว (Travel Medicine) เกี่ยวกับการวางแผนการเดินทาง คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนก่นอการเดินทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง