รวันดา ตามรอยประวัติศาสตร์สองทศวรรษหลังเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
รวันดา เมื่อเอ่ยชื่อประเทศนี้ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนยังคงจำภาพเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1994 ได้ดี เพราะเป็นเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจไปทั้งโลก และนับเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซีเยอรมันภายใต้การนำของฮิตเลอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ด้วยเวลาเพียง 100 วัน ชาวทุตซี่ กว่า 800,000 คนถูกสังหารโหดโดยเพื่อนร่วมชาติชาวฮูตู และกว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะสงบราบคาบลงก็ต้องสังเวยชีวิตประชากรไปเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ
เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้นได้รับการรวบรวมไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบที่ Genocide Memorial Centre กลางเมืองคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา และนั่นคือเป้าหมายของการเดินทางข้ามแดนจากยูกันดามารวันดาในครั้งนี้
ก่อนอื่น ท่านสามารถรับฟังเรื่องราวสรุปได้ในเวลาเพียง 4 นาทีโดยคลิปนี้
แนะนำผู้เขียนบทความรวันดา
โลจน์ นันทิวัชรินทร์
หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า “ทำมาหาเที่ยว” เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่มีใครอยากไปเลยต้องเต็มใจเป็น “Solo Traveler”
ก่อนอื่น ท่านสามารถรับฟังเรื่องราวสรุปได้ในเวลาเพียง 4 นาทีโดยคลิปนี้
รวันดา (Rwanda) สวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริกา
รถตู้โดยสารข้ามชายแดนจากประเทศยูกันดาหยุดลงตรงตะเข็บชายแดน ผู้คนมากมายกำลังเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อเดินทางข้ามฝั่งไปสู่รวันดา ท่ามกลางพี่น้องชาวแอฟริกันผิวสีนั้นดูเหมือนว่าผมจะเป็นมนุษย์ผิวซีดอยู่เพียงคนเดียว ความขาวโอโม่ของผมก็เลยไปดึงดูดสายตาพี่ ๆ น้อง ๆ แอฟริกันที่ชวนกันจ้อง จ้อง จ้อง มองสำรวจผมอย่างเอาเป็นเอาตายจนตี๋น้อยคนนี้อายม้วนต้วนไปเลย
ในคิกาลีระยะเวลาที่ด่านผ่านไป 2 ชั่วโมงก่อนที่ผมจะได้รับการประทับตราลงในหนังสือเดินทางอนุญาตให้ผมเข้าสู่รวันดาได้ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย รถตู้โดยสารก็พาผมออกเดินทางสู่คิกาลีอย่างรวดเร็ว
เมื่อเอ่ยชื่อประเทศรวันดา ผมเชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงภาพความแห้งแล้งทุรกันดารประมาณถนนดินลูกรังฝุ่นแดงสุดแสนมอซอใช่ไหมครับ?
ขอให้ลบภาพนั้นออกไปเลยครับ
รวันดาต้อนรับผมด้วยถนนราดยางอย่างดีที่ตัดอย่างเรียบร้อยสวยงามเป็นระเบียบ เรื่องหลุมเรื่องบ่อนั้นลืมไปได้ เลย และคงจะไม่เกินความจริงหากผมจะบอกว่าคุณภาพถนนที่นี่นั้นเทียบเท่าถนนชั้นดีที่พบได้ในประเทศแถบยุโรป
บ้านเรือนปลูกกันลดหลั่นบนเขา
ส่วนอาคารบ้านเรือนที่ตั้งเรียงรายอยู่สองข้างทางก็ล้วนเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนดูสะอาดแข็งแรง ไม่ได้เป็นกระท่อมซอมซ่อแต่อย่างใดรวันดาเป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า
“ดินแดนแห่งหมื่นหุบเขาและทะเลสาบ” จนหนังสือนำเที่ยวหลายสำนักต่างพากันยกย่องประเทศนี้ให้เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริกา เลยทีเดียว และผมก็ขอยืนยันว่าทั้งหมดนี้มิใช่การเปรียบเปรยที่เกินจริงเพราะผมเดินทางสู่คิกาลีด้วยทัศนียภาพอันงดงามของเทือกเขาเขียวชอุ่มที่แสนอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งทะเลสาบน้อยใหญ่ที่ทำหน้าที่ประหนึ่งกระจกสะท้อนท้องฟ้าใสในวันแดดสวย…. เช่นวันนี้
กรุงคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงแห่งรวันดา
เมืองหลวงเล็ก ๆ แห่งนี้ดูสงบร่มเย็นด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ที่ปลูกเรียงรายตามท้องถนนที่ลาดขึ้น ๆ ลง ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ ไปตามเนินเขา ตึกรามบ้านช่องดูทันสมัย โดยมีตึกสูงให้เห็นประปราย จตุรัสและวงเวียนน้อยใหญ่พร้อมน้ำพุสวยงามช่วยสร้างความสดชื่น
ที่สำคัญคือความสะอาดของที่นี่อยู่ในระดับที่กรุงเทพมหานครของเราอาจจะต้องได้อาย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มร. ปอล กากาเม (Mr. Paul Kagame) ยึดสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการพัฒนารวันดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปกครองสังคมแบบพหุวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์กฏระเบียบให้เกิดขึ้นในสังคม
นอกจากบ้านเมืองเรียบร้อย กาแฟรวันด้ายังอร่อยด้วย
รัฐบาลมีนโยบายเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความสะอาดของบ้านเมืองมาก และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน วันอาทิตย์จะเป็นวันที่ชาวคิกาลีออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำความสะอาดปัดกวาดถนนหนทางและตัดแต่งต้นไม้ในย่านที่อยู่อาศัยของตนเอง….มิน่าถึงได้เรี่ยมเร้ขนาดนี้
ที่สำคัญคืออากาศที่นี่ก็เย็นสบายแบบเมืองที่ตั้งอยู่บนเขา ผู้คนที่เดินไปมาอาจไม่ได้เฉิดฉายในอาภรณ์หรูหรา เด็กและผู้ใหญ่ที่ใส่เสื้อขาดๆ วิ่น ๆ ตัวโคร่ง ๆ ผิดไซส์ก็ยังมีอยู่มากมาย แต่ผมรู้สึกว่าไม่มีใครดูมีความทุกข์เสียเลย รอยยิ้มและเสียงหัวเราะยังมีให้สัมผัสได้อยู่เสมอๆ
ย่าน Nyamirambo เต็มไปด้วยร้านรวงมากมายพร้อมผู้คนที่เดินจับจ่ายข้าวของ เวลาผมเดินไปไหน ๆ ผมรู้สึกว่าปลอดภัยไม่ต้องระวังตัวแจ สิ่งที่นักท่องเที่ยวพึงระวังคือการถ่ายรูป เท่านั้นครับ เพราะเขาไม่ชอบอย่างยิ่ง
อย่าลืมขออนุญาตก่อนถ่ายภาพบุคคลทุกครั้ง เมื่อไม่ได้รับอนุญาตก็ขอโทษและเดินออกมาอย่างเป็นมิตร แม้แต่การถ่ายภาพสถานที่ก็ต้องระวังนะครับ เพราะเมื่อเขาเห็นเรายกกล้องขึ้นมา เขาก็ตั้งท่าแล้วว่าเราจะถ่ายรูปเขา
อย่างไรก็ตามผมอดดีใจไปกับชาวรวันดาไม่ได้ว่าร่องรอยแห่งความโหดร้ายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้สูญหายไปหมดสิ้น รวันดาและคิกาลีในวันนี้เป็นเหมือนดินแดนสวยสงบที่ทิ้งอดีตไว้ไกลโพ้น และกำลังทะยานสู่อนาคตที่แสนจะสดใส
วันมหาวิปโยคแห่งรวันดา
หลังจากผมเดินเล่นชื่นชมเมืองคิกาลีอยู่วันสองวัน ก็ถึงเวลาที่ผมต้องตามหาความจริงว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนนั้น เกิดอะไรขึ้นที่นี่ และสถานที่ที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ดีที่สุดก็คือ Genocide Memorial Centre
ที่ Genocide Memorial Centre มีการรวบรวมหลักฐานไว้อย่างครบถ้วน และนำมาแสดงอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกจากเหตุการณ์โดยตรง หรือ Footage ภาพจากสำนักข่าวทั่วโลกที่พากันเข้ามารายงานเหตุการณ์ในขณะนั้น ตลอดจนคำสัมภาษณ์ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และรอดชีวิตมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น
ผมคิดว่า Genocide Memorial Centre แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเนื้อหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว
เมื่อไปถึงสิ่งแรกที่สะเทือนใจผมที่สุดคือข้อความในห้องนิทรรศการห้องแรกที่กล่าวว่า “รวันดาไม่ได้เลือกที่จะตกอยู่ในฐานะอาณานิคม….แต่เราจำเป็นต้องยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่ผู้อื่นยัดเยียดให้”และอาจกล่าวได้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้สืบสาวสาเหตุถอยไปได้ไกลถึงยุคอาณานิคมนั่นเลยทีเดียว
หากจะเล่าถึงเหตุการณ์โดยสรุป ก็คงเป็นเพราะทั้งเยอรมัน และเบลเยี่ยม ผู้เข้ามาปกครองรวันดาในฐานะเจ้าอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งของชนเผ่า 2 เผ่าคือทั้งฮูตู และทุตซี่ ซึ่งเป็นชนเผ่าหลักของประเทศนี้ และเป็น 2 ชนเผ่าที่อยู่อาศัยร่วมกันอย่างกลมเกลียวและสุขสงบมาช้านาน โดยต่างไม่มีใครคิดว่าอีกเผ่าหนึ่งเป็นศัตรูแม้แต่น้อย
ชาวยุโรปสองชาติที่เข้ามาปกครองรวันดาได้นำหลักการ “แบ่งแยกและปกครอง” (Divide & Rule) มาใช้เพื่อทำให้รวันดาอ่อนแอ
เหยื่อผู้บริสุทธิ์
เผ่าทุตซี่ – เผ่าฮูตู
เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อชาวยุโรปเลือกเผ่าทุตซี่ ผู้มีผิวสว่างกว่า รูปร่างสูงโปร่งกว่า ให้กลายเป็นชนชั้นปกครอง ในขณะที่ชาวฮูตู ที่มีผิวคล้ำกว่า ตัวเล็กกว่า แต่รูปร่างกำยำล่ำสัน กลับถูกตีตราว่าเป็นผู้ที่คอยรับใช้ และเป็นได้แค่ชนชั้นแรงงาน ยิ่งกว่านั้นการเสี้ยม 2 ชนเผ่าที่ให้มองว่าเผ่าหนึ่งเหนือกว่าอีกเผ่าด้อยกว่า เป็นการปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เผ่าทุตซี่ได้รับอภิสิทธิ์เสมอในขณะที่เผ่าฮูตูไม่ได้รับอะไรเลยทั้ง ๆ ที่จำนวนประชากรของเผ่าฮูตูมีมากกว่าเผ่าทุตซี่มากมายหลายเท่า
เมื่อก่อนในบัตรประชาชนของชาวรวันดา จะระบุอย่างเด่นชัดเลยว่าคน ๆ นั้นเกิดมาเป็นเผ่าไหน และจะเป็นสมาชิกของเผ่านั้นไปตลอดชีวิต
เมื่อชาวยุโรปเจ้าอาณานิคมคืนอำนาจสู่เจ้าของแผ่นดินและกลับออกไป รอยร้าวของสองชนเผ่าที่ก่อเกิดและสะสมมานานนับปีก็กลายมาเป็นชะนวนนองเลือดในเหตุการณ์นี้นั่นเอง เผ่าฮูตูที่เก็บกดจากการถูกดูหมิ่นดูแคลนมานานลุกขึ้นทวงสิทธิ์ความเป็นประชาชนคืนจากชาวทุตซี่อย่างรุนแรงจนมีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1994 ไปนับล้าน
Genocide Memorial Centre สามารถสรุปและนำเสนอเหตุการณ์ทั้งหมดได้ดีมาก ผมถึงกับรู้สึกพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเมื่อมองเห็นมีดมาเชเต้เล่มโตที่ชาวฮูตูไล่สังหารชาวทุตซี่ไม่รู้กี่ศพต่อกี่ศพ รอยเลือดบนเสื้อผ้า หัวกระโหลกผิดรูปที่มองเห็นรอยแผลฉกรรจ์ ภาพการเข่นฆ่ากันด้วยความรุนแรงชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเพื่อนร่วมชาติจะพึงกระทำต่อกันได้ …..ทั้งหมดมีให้เห็นเป็นสีและขาว–ดำ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
ภาพศพกองเน่ากระจัดกระจายอยู่ทั่วคิกาลี และทั่วประเทศรวันดา เด็กและผู้หญิงทุตซี่ร้องขอชีวิตก่อนถูกสังหารท่ามกลางเสียงหัวเราะของเพื่อนร่วมชาติเผ่าฮูตู กลุ่มที่น่าสงสารมากที่สุดคือหญิงทุตซี่ที่ตั้งครรภ์ เพราะจะถูกเผ่าฮูตูข่มขืนยับจนตายทั้งแม่และลูก หากไม่ตายในตอนนั้น ก็จะตายในตอนหลังเพราะผู้ที่เลือกมาปฏิบัติการข่มขืนคือผู้ที่ล้วนมีเชื้อ HIV เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งแม่และลูกจะไม่มีวันรอดแน่ ๆ ในวันหน้า และหากใครต้องการจะจบชีวิตเพื่อหนีการทรมานก็ต้อง “จ่าย” เงินค่ากระสุนนัดนั้นที่กำลังจะสังหารตัวเอง
ด.ญ. ฟร็องซีน มูร็องเกอซี่ แอ็งกาบีเร่
สำหรับผมห้องที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดคือห้องสุดท้ายที่อุทิศให้กับเด็กนับแสนคนทีเสียชีวิตในเหตุการณ์สะเทือนใจนี้ ภาพเด็ก ๆ หลายสิบคนได้รับการนำมาแสดงบนกรอบใหญ่ที่แขวนบนผนัง ทุกรูปมีคำบรรยายสั้น ๆ แต่บาดลึกเข้าไปในหัวใจ
ด.ญ. ฟร็องซีน มูร็องเกอซี่ แอ็งกาบีเร่….ชอบว่ายน้ำ ชอบทานไข่กับมันฝรั่ง ชอบดื่มนมและน้ำอัดลมรสโปรดของเธอคือรสทรอปิคอล ฟร็องซีนชอบเล่นกับพี่สาวที่ชื่อว่าโกลแด็ตต์ ทั้งสองสนิทกันมาก
ฟร็องซีนจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 12 ปี เธอโดนขวานจามจนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี ค.ศ. 1994
ด.ญ. ฟร็องซีน ต้องจากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 12 ปี
เรื่องราวที่ร้อยเรียงเหล่านี้มีอยู่มากมายเต็มไปหมด ผมเดินออกจากห้องนี้ด้วยน้ำตาที่เอ่อออกมาตอนไหนก็ยังไม่รู้ และน้ำตาเจ้ากรรมก็มากลั้นไม่อยู่เมื่ออกมายืนไว้อาลัยอยู่ด้านนอกตรงบริเวณสุสานที่หน้าพิพิธภัณฑ์ มีหลายคนที่อยู่ในอาการเดียวกับผม ไม่ว่าหญิงหรือชาย เราต่างเป็นมนุษย์ที่สลดใจเมื่อเห็นมนุษย์กระทำเช่นนี้ต่อกัน
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดำเนินอยู่นาน 1 เดือนทั่วประเทศ พร้อมชีวิตที่สังเวยนับล้านคนจนแม้แต่สหประชาชาติก็เอาไม่อยู่ ต้องอาศัยกองกำลังทหารเผ่าทุตซี่ที่ไปฝึกอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างคองโก และยูกันดา เป็นผู้เข้ามากอบกู้และยุติสถานการณ์ทั้งหมด
Hotel Rwanda โรงแรมรวันดา
การตามร่องรอยเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะจบลงโดยสมบูรณ์ไม่ได้หากไม่ได้ตามไปดูบันทึกอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ Hotel Rwanda หรือโรงแรม เดส์ มีย์ โกลลีน (Hôtel Des Mille Collines) ที่ที่ผู้จัดการโรงแรมนามว่า Mr. Paul Rusesabagina ได้พยายามให้ความช่วยเหลือและซุกซ่อนพนักงานและชนเผ่าทุตซี่ไว้ในโรงแรมจนเป็นเหตุการณ์ที่นำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์คุณภาพรางวัลระดับโลกหลายรางวัลที่ชื่อว่า ‘Hotel Rwanda’ ที่ผมเชื่อว่าคงผ่านตาใครต่อใครหลายคนมาแล้ว
ภายในโรงแรมวันนี้โรงแรมกลับมาสวยงามสดใส ดูเหมือนโรงแรมชั้นหนึ่งทั่วไป ไม่มีบรรยากาศหดหู่เศร้าหมอง จะเหลือก็แต่เพียงหลักศิลาที่จารึกชื่อพนักงานทุกคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวภายใต้ข้อความสั้น ๆ ที่อ่านได้ชัดเจนว่า “Never again – เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก”
เจ้าของโรงแรมเคยใช้สระว่ายน้ำนี้เป็นแหล่งน้ำดื่มผู้ลี้ภัย
รวันดาในวันนี้ ได้ผ่านพ้นเมฆหมอกร้ายที่เคยปกคลุมไปหมดสิ้นแล้ว วันนี้ทุกคนเป็น Rwandan ในบัตรประชาชนไม่มีการระบุว่าใครเป็นทุตซี่หรือฮูตูอีกต่อไป
ผมหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยไม่ว่าที่รวันดา…หรือที่ไหน ๆ ในโลก
ขอให้ประวัติศาสตร์คือบทเรียนที่ทุกคนจะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
สนใจร่วมเดินทางไปเที่ยวรวันดากับผู้เขียน
เรามีจัดทริปการเดินทางให้กับท่านที่สนใจการเดินทางแบบนี้ เรายินดีเป็นผู้ทำความฝันของคุณให้เป็นความจริง ทริปการเดินทางของเราเหมือนกับงานศิลปะหนึ่งชิ้นที่ได้รับการออกแบบดีไซน์และตกแต่งจนกลายเป็นสุนทรียภาพแห่งการเดินทางที่แท้จริง
ไม่ว่าท่านจะมาคนเดียว เป็นคู่ เป็นครอบครัว ก็ลงตัวด้วยการจัดสรรที่จะมอบความทรงจำที่ไม่มีวันลืม
ติดตามแผนการเดินทางประจำปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไปได้ที่นี่
ทริปแห่งความทรงจำ ล้ำค่าไปด้วยประวัติศาสตร์ขนานแท้ รอคุณมาค้นพบด้วยตัวคุณเอง
หรือถ้าหากท่านต้องการให้เราจัดกลุ่มส่วนตัวสำหรับครอบครัวของท่าน เราก็ยินดีเช่นกันเพื่อจะทำให้การเดินทางข้ามทวีปครั้งนี้เป็นความทรงจำที่ดีแบบไม่มีวันลืม
- สอบถามเพิ่มเติม โทร : 096 640 4534
- แอด Line : https://line.me/R/ti/p/%40patourlogy
3 Comments
[…] รวันดา (Rwanda) สวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริก… […]
[…] รวันดา (Rwanda) สวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริก… […]