อะไรนะ ?!? เที่ยวไครเมีย น่ะหรือ ?
ดินแดนแห่งความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่ เหตุใดจึงควรแค่แก่การไปเยือน เหตุใดคาบสมุทรรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ยื่นจากแผ่นดินใหญ่เข้าไปในจุดกึ่งกลางของทะเลดำจึงเปรียบเป็นเพชรยอดมงกุฎจึงเขย่าโลกใบนี้ได้ บรรดาวังข่านตาตาร์ วังขุนนางแบบยุคกลาง พระราชวังของซาร์ เมืองท่าและกองเรือทะเลดำ ไร่องุ่นและโรงงานไวน์อันลือเลื่องจะให้คำตอบทุกคนหากได้ไปเยี่ยมยามสักครา…
เชื่อว่าหลายคนก่อนหน้านี้คงไม่ค่อยคุ้นหูชื่อไครเมียสักเท่าใด จนกระทั่งเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มได้ยินชื่อนี้บ่อยขึ้นเมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียและอูเครน
โดยมีฝ่ายโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่งเป็นแบ็คอัพให้อูเครน
แต่หากลบภาพกรณีพิพาทที่ว่าไว้ชั่วคราวแล้วลองนึกดี ๆ ว่าเคยได้ยินชื่อไครเมียจากที่ไหนอีก … ใช่แล้วครับ
ในประวัติศาสตร์ยังมีสงครามไครเมียที่สร้างชื่อให้กับพยาบาลสาวชาวอังกฤษที่ชื่อฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คุ้น ๆ แบบนี้แล้วอยากไปเที่ยวไครเมียบ้างหรือยัง ?
ไครเมียมีชื่อเสียงเรียงนามแบบเต็มคือสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย (Respublika Krym) ในทางพฤตินัยและทางนิตินัย(เฉพาะของรัสเซีย) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
แต่ในทางนิตินัยอูเครนยังอ้างกรรมสิทธิ์และหลายประเทศยังคงให้การรับรองฝ่ายอูเครน และประเด็นนี้จึงทำให้รัสเซียและอูเครน (บ้างให้ฉายาว่ารัสเซียน้อย) มองหน้ากันไม่ติดจนทุกวันนี้ตั้งแต่ปี 2014
หากดูจากตำแหน่งที่ตั้งของไครเมีย ในแนวตั้งอยู่ไม่ไกลจากลุ่มน้ำดนีเปอร์ เส้นทางการค้ากับเมืองเหนือ แนวขวางอยู่ไม่ไกลจากบรรดาอาณาจักรเปอร์เซีย ออตโตมาน กรีก ต่อมาก็มองโกล ตาตาร์ และคนสุดท้ายที่มาพิชิตคือรัสเซีย
ท่านเคานต์ปาโทมกินนำความฝันที่เป็นจริงมาสู่องค์เหนือหัวของรัสเซีย – พระนางแคเทอรีนมหาราชินี ที่องค์เหนือหัวหลายยุคสมัยฝันจะมีท่าเรือทะเลน้ำอุ่นเพื่อการขยายอำนาจผ่านทะเล ซึ่งไครเมียก็ไม่เคยกลับกลายเป็นของใครอีกเลยจนในยุคสหภาพโซเวียตที่มีการแบ่งย่อยกระจายอำนาจการปกครองโดยชาติพันธุ์หลักภายในรัฐเป็นรัฐใหญ่ ๆ เช่น รัฐรัสเซีย รัฐอูเครน รัฐเบลารุส ฯลฯ แล้วโซเวียตในยุคของนิกิตา ครุสชอฟ ได้เซ็นยก ฯ ดินแดนไครเมียของรัฐรัสเซียให้รัฐอูเครนไปฉลองสามร้อยปีที่สองชนชาติมีไมตรีต่อกัน
ตั้งแต่นั้นมาไครเมียจึงอยู่ในการดูแลของอูเครน จนกระทั่งอูเครนหลุดออกไปเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียต ไครเมียจึงติดออกไปด้วยพร้อมประชากรส่วนใหญ่ที่มีเชื้อชาติรัสเซีย แต่จะไปโทษตาลุงครุสชอฟก็ไม่ได้ ใครจะไปรู้ว่าอีกไม่กี่สิบปีประเทศมันจะแยกแตกสลายจากกันไป
ร่ายประวัติศาสตร์เสียยืดยาว… ต้องท้าวความกันยาวหน่อยเพราะเกรงว่าจะตามไม่ทันกับสถานการณ์โลก ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปไครเมียมาแล้วสองหน หนแรกไปเป็นหนูทดลองเดินทางไปสำรวจความเรียบร้อยว่าดินแดนนี้พอจะมาเที่ยวให้เพลิดเพลินได้หรือไม่ อีกหนนึงนำกรุ๊ปนักเดินทางชาวไทยไปท่องเที่ยว ไม่อยากจะขายของว่าผู้เขียนถือเป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ไปเยือนไครเมียหลังจากที่ไครเมียกลับเข้าสู่ใต้รมธงไตรรงค์แห่งรัสเซีย เที่ยวไครเมีย
ก่อนไปผู้เขียนไม่ได้คาดหวังไว้สูงนักว่าไครเมียจะต้องมีอะไรหรูหรา ในปี 2016 ยังคงได้ยินเขาลือกันว่าไฟฟ้าสามวันดี สี่วันดับ น้ำประปาไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง มีข่าวจับสปายอูเครนที่แฝงตัวมาจะก่อความไม่สงบ ฯลฯ ก็เตรียมใจไว้ประมาณนึงว่าอาจจะเจอเหตุการณ์แจ็คพอตวันใดวันหนึ่ง พร้อมกับข้อสงสัยในใจ ไปถึงมอสโกแล้วจะต้องมี immigration พิเศษอะไรไหม จะเหมือนบินจากจีนเข้าฮ่องกงหรือมาเก๊าหรือเปล่า เครื่องบินจะเสี่ยงโดนยิงเหมือน MH 017 ไหม (คิดแบบฟุ้งซ่านไปเลย ฮา…)
เอาเข้าจริงพอมาถึงแล้วอะไร ๆ ก็ง่ายกว่าที่คิด จากมอสโกเราใช้การบินภายในประเทศ ไม่ต้องมีต.ม. รับกระเป๋าแล้วออกไปได้เลย ถนนหนทางก็ใช่ว่าจะแย่ แต่พอเข้ามาอยู่กับรัสเซียรัสเซียก็อัดฉัดลูกรักไครเมียเต็มที่ ถนนหนทางมีการปรับปรุงในหลาย ๆ สาย สร้างสนามบินใหม่ (ไปครั้งที่สองช่วงเม.ย. 2018 ได้ทันใช้สนามบินใหม่พอดี)
ทุกหนทุกแห่งรวมไปถึงบนรถทุกคันจะมีธงรัสเซียผูกคู่กับแถบริบบิ้นสีส้มดำเซ็นต์จอร์จ สัญลักษณ์แห่งความรักชาติสมัยใหม่ ป้ายของประธานาธิบดีปูตินติดอยู่บนถนนแทบทุกแห่งและผู้คนต่างเอ่ยถึงเขาราวกับวีรบุรุษผู้นำมาดินแดนพวกเขากลับเข้าสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่อีกครั้งหนึ่ง การจับจ่ายทุกที่รับแต่เงิน Russian Ruble (RUB) ทุก ๆ ที่มีการเชิญธงรัสเซียประจำแทนที่ธงอูเครน แทบไม่เหลืออะไรเกี่ยวกับอูเครนอีกต่อไป ยกเว้นป้ายโรงแรมภาษาอูเครนเก่า ๆ ที่ยังหลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งหนึ่งภาษาอูเครนเคยเป็นภาษาราชการของที่นี่
เอาล่ะ… พร้อมจะไปกันหรือยัง ?
พระราชวังข่านแห่งบัคชีซาราย (Khan Palace of Bakchisaray)
เป็นสถานที่แรกที่เราจะแวะเข้าไปชม ซึ่งต่อไปนี้ผู้เขียนอาจเผลอเรียกเป็น “ผักชีสาหร่าย” เพราะมันพ้องเสียงคล้ายกัน (ฮา..)
ชื่อเมืองผักชีสาหร่าย เอ๊ย บัคชีซารายเป็นภาษาในตระกูลเติร์กของพวกตาตาร์ บัคชีมาจากคำว่าบัคชฺ หมายถึงดอกไม้ ส่วนซารายหมายถึงวัง แปลได้ว่าพระราชวังที่เต็มไปด้วยดอกไม้ ซึ่งเห็นจะจริงเพราะเราจะเห็นดอกไม้สวย ๆ ได้ทุกพื้นที่ในบิเวณนี้ พื้นที่พระราชวังประกอบไปด้วยตำหนักหลวง ฮาเร็ม หอสวด สุเหร่าและสุสานหลวง ซึ่งแต่ละที่ล้วนมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นแขกผสมกับมองโกล มีความหรูหราแบบตะวันตกด้วยกระจกหลากสี
ที่สำคัญที่นี่ยังมีน้ำพุแห่งบัคชีซารายที่เป็นตำนานของวรรณกรรมชิ้นหนึ่งที่อเล็กซานเดอร์ ปุชกิ้น กวีเอกหรือสุนทรภู่แห่งรัสเซียประพันธ์ไว้ว่าด้วยน้ำพุดังกล่าวเป็นตัวแทนสายน้ำแห่งน้ำตาที่ข่านองค์หนึ่งทรงสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปของมเหสีชาวโปลองค์หนึ่ง
เซวาสโตปอล กล่องดวงใจของรัสเซียแห่งทะเลดำ
จากบัคชีซารายนั่งรถไม่นาน เราก็มาถึงเซวาสโตปอล เมืองท่าที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย เพราะเป็นฐานที่ตั้งของกองเรือทะเลดำแห่งรัฐนาวีรัสเซีย นอกจากจะเพลิดเพลินกับตึกรามบ้านช่องที่ตกแต่งในสไตล์คลาสสิกแบบที่เป็นที่นิยมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 แล้วยังสามารถล่องเรือชมอ่าวเซวาสโตโปล พาไปดูเรือรบและเรือดำน้ำรัสเซียอย่างใกล้ชิด รับลมทะเลเย็น ๆ ก่อนกลับขึ้นฝั่งไปเดินเล่นยามเย็นชิล ๆ ริมทะเลดำ จะรอชมพระอาทิตย์ตกน้ำได้ที่นี่โดยมีอนุสาวรีย์แห่งการจมเรือในสงครามไครเมียเป็น Foreground ก็นับว่าแจ่มไม่น้อย
เคอร์โซเนซุส (Chersonesus) ร่องรอยอารยธรรมกรีกโบราณ
จากกลางเมืองเซวาสโตปอลขับรถออกมาอีกไม่นาน 5-10 นาทีเราก็จะมาถึง Chersonesus ซากเมืองเก่ายุคกรีกโบราณสมัยที่ชาวกรีกมาตั้งอาณานิคมทางการค้าที่นี่ บริเวณเมืองโบราณยังคงมีซากของเมืองเก่ายุคกรีกค่อนข้างสมบูรณ์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบผสมทั้งกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ มีเสาและหอคอยต่างๆสูงราว 10-12 เมตร มีโรงละครกลางแจ้ง
ไฮไลท์สำคัญคือกลุ่มเสา 1935 (คาดว่าตั้งชื่อตามปีที่เปิดให้เข้าชมครั้งแรก) และระฆังแห่งเคอร์โซนีซุสซึ่งเคยเป็นระฆังให้สัญญานเตือนเรือที่สัญจรผ่านไปมา ถือเป็นภาพตัวแทนเมืองโบราณทั้งหมด เคยได้รับเลือกเป็นสถานที่ที่อยู่บนธนบัตร 1 กริฟเนียปี 1994 ของอูเครนด้วย
รอบพื้นที่มีกำแพงเมืองยาวและกว่าถึง 3.5 กม. กินอาณาบริเวณกว่า 74 เอเคอร์ เมืองโบราณเคอร์โซนีซุสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในปี 2013
ในบริเวณเดียวกันยังมีโบสถ์นักบุญวลาดิมีร์ สร้างในศตวรรษที่ 19 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ระลึกถึงอิทธิพลของอารยธรรมไบแซนไทน์ที่เคยรุ่งเรืองในบริเวณนี้ สร้างเพื่ออุทิศให้แด่นักบุญวลาดิมีร์ ในหมู่ของที่ระลึกของไครเมีย ผู้เขียนว่าบรรดาถ้วยโถโอชามลวดลายกรีกของร้านขายของที่ระลึกที่นี่น่าซื้อหามากที่สุดแล้ว วัสดุดี ฝีมือดี ราคาย่อมเยาว์ ใครจะนึกว่าจะได้ของฝากสไตล์กรีกจากประเทศรัสเซีย
พิชิตยอดเขาอัย-เปตรี (Ai-Petri)
ออกจากเซวาสโตปอลได้พักใหญ่ ผ่านเส้นทางที่ลัดเลาะหน้าผ้าใกล้ชายฝั่งทะเลดำมาเรื่อย ๆ จะมาเจอภูเขาที่สูงที่สุดในไครเมียด้านชายฝั่งทางใต้คือภูเขาอัย เปตรี (Ai- Petri) ที่มีที่มาจากภาษากรีกหมายถึง “เซ็นต์ ปีเตอร์”
ขึ้นกระเช้าสู่ยอดเขามาจะเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไครเมีย แถมเส้นทางรถกระเช้านี้ยังเป็นเส้นทางรถกระเช้าที่ยาวที่สุดในยุโรป จากด้านบนสามารถเก็บภาพแบบพาโนรามา 360 องศาได้ ณ จุดความสูง 1234 ม. เหนือระดับน้ำทะเลโดยมีฉากหลังเป็นทะเลดำอยู่เบื้องล่างกว้างสุดลูกหูลูกตา
วังวารันโซฟ (Vorontsov Palace) วังแห่งความอลังการ
เส้นทางที่ลัดเลาะชายฝั่งด้านใต้ของไครเมียถือว่าเป็นทำเลยอดนิยมของผู้มีอันจะกินสมัยก่อนที่จะมาสร้างสถานที่รโหฐานตากอากาศหนีหนาวจากเมืองเหนือ จุดแรกที่เราจะเจอก็คือวังโวโรนซอฟ (Vorontsov Palace) วังที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในไครเมียของตระกูลโวโรนซอฟ ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาไครเมียและริมฝั่งทะเลดำ สร้างโดยเจ้าชายมิคาอิล โวโรนซอฟ ผู้สำเร็จราชการเมืองโนโวรอสซิย่า ออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด โบลร์ สถาปนิกชื่อดังของอังกฤษผู้ออกแบบพระราชวังบักกิ้งแฮมในกรุงลอนดอน
วังวาโรนซอฟสร้างในรูปแบบ “จาโคเบเทียน” หรือสถาปัตยกรรมแบบยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมในรูปแบบของอังกฤษด้วยความที่พระองค์ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมและสไตล์ของอังกฤษสมัยตามพระบิดาที่เป็นนักการทูตไปอยู่ที่อังกฤษ ผสมผสานกับรูปแบบมุสลิมตาตาร์ท้องถิ่นทั้งพระราชวังข่าน ป้อมเยนิคาเล่และได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของมัสยิดชามาในอินเดียของอังกฤษด้วย พระราชวังนี้ถือเป็นสถานที่รวมตัวพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ปกครองชาวรัสเซีย ขุนนาง และเชื้อพระองค์ต่างๆ รวมไปถึงพระเจ้าซาร์เองด้วย นอกจากนี้บริเวณโดยรอบยังมีสวนที่ออกแบบโดยนักออกแบบสวนชื่อดัง Carolus Keebach ที่มีพื้นที่กว่า 99 เอเคอร์ มีความร่มรื่นและมีทางเดินลัดเลาะไปตามหน้าผาริ่มฝั่งทะเลดำ ได้กลิ่นอายวังอัศวินยุคกลางที่ตั้งอยู่ในความร่มรื่นจองแมกไม้และขนาบด้วยทะเลดำสีคราม
วังยุสซูปอฟ (Yusupov Palace) น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ไฮแฟชั่น
กระเถิบมาอีกหน่อยก็จะเป็นวังยุสซูปอฟ (Yusupov Palace) ถ้าใครเคยไปเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กก็คงจะเคยได้ยินวังชื่อนี้เช่นกัน ไม่ต้องแปลกใจเพราะเจ้าของคือคน ๆ เดียวกัน คือตระกูลยูสซูปอฟ ซึ่งเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซียสมัยซาร์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Renaisance Revival ตกแต่งเรียบง่าย น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ แต่มีความไฮแฟชั่น เห็นได้จากโถงรับประทานอาหารด้านในที่มีอาร์คโค้งแต่มีแชนเดอเลียร์ห้อยระย้าอยู่กลางโถง
เจ้าของคนสุดท้ายคือเจ้าชายเฟลิกซ์ ยุสซูปอฟ หลานเขยในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง ผู้สังหารรัสปูติน นักบวชนอกรีตผู้มีอิทธิพลเหนือราชสำนัก หลังการปฏิวัติแม้ว่าฝ่ายบอลเชวิกจะต่อต้านราชวงศ์ถึงกับสังหารราชวงศ์โรมานอฟ แต่บอลเชวิกที่ไครเมียกลับมองว่าพระองค์คือวีรบุรุษคนหนึ่งที่กำจัดรัสปูติน และทำเพียงกักบริเวณพระองค์เท่านั้นจนกระทั่งพระองค์ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นบ้านพักตากอากาศ (Dasha) ของผู้นำโซเวียต โยซิฟ สตาลิน
พระราชวังลิวาเดีย (Livadia Palace) ไกลกังวลแห่งโรมานอฟ
ถัดออกมาไม่นาน ก็จะมาเจอพระราชวังลิวาเดีย (Livadia Palace) พระราชวังตากอากาศของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นพระราชวังใหม่ที่แทนที่พระราชวังเดิมหลังเล็กที่เป็นที่ตากอากาศของราชวงศ์โรมานอฟในตำบลลิวาเดียมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พระราชวังสร้างแล้วเสร็จในปี 1911 เปิดครั้งแรกกับการฉลองวันประสูติของเจ้าหญิงโอลก้า พระราชธิดาในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองครบ 16 ชันษา ออกแบบโดยนิโคลัย คราสนอฟ (Nikolay Krasnov) สถาปนิกชื่อดังที่ออกแบบพระราชวังโวโรนซอฟ สร้างในรูปแบบนีโอเรอเนสซองส์หรือเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกอิตาลีต่างๆ
ตัววังเป็นอาคารหินแกรนิตสีขาวทั้งหลัง ล้อมรอบสวนอิตาลี่ขนาดย่อมที่อยู่ตรงกลาง มีลานหินอ่อนแบบอาหรับและอิตาเลี่ยน หอคอยแบบฟลอเรนซ์ หน้าต่างที่หรูหรา มีห้องหับกว่า 116 ห้อง อาทิห้องโถงสไตล์ปอมเปอี ห้องบิลเลียร์ดแบบอังกฤษ ห้องเสวยแบบนีโอบาโร้ก ตามห้องต่าง ๆ มีพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์และการจัดโต๊ะทรงงานราวกับว่าพระองค์ยังคงอยู่ที่นี่ โดยมี
ไฮไลท์คือห้องสีขาวที่เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีโต๊ะยาวจุดสุดพื้นที่โถง ความสำคัญคือเป็นสถานที่ที่ใช้จัดประชุมสุดยอดยัลต้าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผู้นำโซเวียต อังกฤษและอเมริกา ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆยังคงถูกเก็บรักษาไว้เหมือนครั้งที่มีการประชุม ถ้าใครเป็นพวกสายอินประวัติศาสตร์สงครามโลก น่าจะรู้สึกขนลุกกับสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งนี้
ปราสาทรังนกนางแอ่น (Lastochkino Gnezdo – Swallow Nest Castle)
สถานที่สำคัญควรไปดูก่อนตาย Top 20 ของ National Geographic ปี 2003
ถัดมาอีกไม่กี่อึดใจ ก็มาถึงพระเอกของทริปนี้แล้วนั่นคือปราสาทลัสโต้ชคิโน่ กเนี้ยสโด (Lastochkino Gnezdo) หรือปราสาทรังนกนางแอ่น ปราสาทที่อยู่บนชะง่อนผาสูงจากระดับน้ำทะเล 40 เมตร สร้างโดยบารอนชไตเกิล คหบดีค้าน้ำมันชาวเยอรมัน ที่ซื้อบ้านไม้หลังเก่าบนหน้าผาแล้วก่อสร้างใหม่เป็นปราสาท ออกแบบโดยลีโอนิด เชอร์วูด สถาปนิกชาวรัสเซียผู้โด่งดัง สร้างในรูปแบบนีโอโกธิคหรือฟื้นฟูสถาปัตยกรรมในยุคกลางแบบเยอรมันเนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบของปราสาทลิคเตนชไตน์ ปราสาทนอยชไวน์ชไตน์ และปราสาทชโตลเซินเฟิล ต่อมาถูกขายต่อเป็นร้านอาหารและเป็นของรัฐบาลหลังการปฏิวัติรัสเซีย
ตัวปราสาทมีขนาดเล็กแต่อยู่บนทำเลที่สวยงามมาก จึงเคยติด 1 ใน 20 สถานที่ที่ต้องไปก่อนตายของเนชันแนลจีโอกราฟฟิกในปี 2003 ปราสาทนี้มีมุมถ่ายรูปสวย ๆ หลาย ๆ มุม แต่ผู้เขียนชอบมุมด้านล่านที่เป็นท่าเรือเล็ก ๆ จะเก็บภาพได้เห็นทั้งผา ทั้งตัวปราสาท แถมตรงท่าเรือยังมีแมงกะพรุนเป็นเป็นพันเป็นหมื่น เก๊กถ่ายรูปแต่ละทีเลยต้องระวังตัวมากหน่อย
ยัลตา (Yalta) เมืองหลวงตากอากาศแห่งไครเมีย
ถัดมาอีกสักพักเล็ก ๆ เราก็จะเข้าสู่เมืองยัลตา (Yalta) เมืองหลวงแห่งการพักตากอากาศของไครเมีย ว่ากันว่ายัลตามีที่มาจากภาษากรีก ว่ายาโลส (Yalos) แปลความว่าชายฝั่งที่ปลอดภัยตามเจตนารมณ์การตั้งถิ่นฐานของชาวกรีกโบราณ ก่อนที่จะกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางการพักผ่อนหย่อนใจของชาวรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน จุดที่เป็นไฮไลต์ของยัลตาคือถนนคนเดินริมน้ำที่เรียกว่า Seafront Promenade ที่มีความสวยงามมีร้านรวง ร้านอาหารและคาเฟ่ต่าง ๆ รวมไปถึงผู้คนที่มาทำกิจกรรมทั้งเดินเล่น โชว์มายากล อวดฝีมือด้านศิลปะ ตลอดเส้นทางที่เลาะเลียบไปกับทะเลดำ
พระราชวังมาสซานดรา (Massandra Palace) ของขวัญแก่พระสุณิสา (ลูกสะใภ้)
ออกมาจากกลางเมืองยัลตาไม่นาน ก็จะมาพบกับพระราชวังมาสซานดรา พระราชวังเก่าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่สาม อดีตเคยเป็นวังของขุนนางตระกูลโวโรนซอฟ ตระกูลมหาเศรษฐีผู้สร้างวังโวโรนซอฟ ต่อมาทางการได้ซื้อต่อและปรับปรุงให้สมบูรณ์และถวายให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามและมีพระราชประสงค์พระราชทานพระราชวังนี้เป็นของขวัญวันแต่งงานของซาเรวิชนิโคลาสกับเจ้าหญิงจากฝรั่งเศส แต่ไม่สมพระราชประสงค์เพราะในท้ายที่สุดซาเรวิชไม่ได้แต่งงานกับเจ้าหญิงองค์นี้ ตัวพระราชวังออกแบบโดย Étienne Bouchard สถาปนิกชาวฝรั่งเศส สร้างในสไตล์ฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม และถือเป็นพระราชวังสำหรับพักร้อนสำหรับพระจักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์แม้ต่อมาทุกพระองค์จะเลิกประทับที่นี่และไปประทับที่พระราชวังลิวาเดียแทน
โรงงานไวน์มาสซานดรา (Massandra Winery) ชม ชิม ช้อป ไวน์เลิศรสแห่งไครเมีย
ใกล้ ๆ กันมีโรงงานไวน์มาสซานดร้า โรงงานไวน์อันเก่าแก่ของรัสเซีย ก่อตั้งโดยเจ้าชายเลี้ยฟ กอลิทซึนในปี 1894 เป็นโรงงานไวน์แบบใต้ดินเพื่อให้การหมักไวน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและปัจจัยต่างๆที่จะมีผลต่อรสชาติของไวน์ นอกจากนี้ยังเคยได้รับการบันทึกลงกินเนสบุ๊กเป็นสถานที่ที่มีการเก็บไวน์มากที่สุดในโลก มีจำนวนนับล้านขวด จะมีเจ้าหน้าที่มาบรรยาย(จะถ่ายรูปต้องระวังนิดหนึ่ง เพราะเจ้าหน้าที่ที่นี่ไม่ค่อยอยากให้ตัวเองไปโผล่อยู่ในกล้องใคร ตอนผู้เขียนไปครั้งแรกถ่ายไปสุ่มสี่สุ่มห้า เลยโดนดุต้องลบรูปที่เห็นหน้าเขาทิ้ง)
ไปตามแต่ละโซนต่างๆ ทั้งโซนไวน์ใหม่ โซนไวน์เก่า ที่บางขวดมีอายุถึง 100 ปีแล้ว เข้าร่วมคอร์สชิมไปบ่นไป ชิมไวน์ 10 ชนิดมีทั้งแบบเข้ม แบบหวาน แบบเปรี้ยว ฯลฯ ก่อนที่จะไปเลือกหาซื้อไวน์ตามแบบที่ชอบตามอัธยาศัย ราคาไม่แพง และคุณภาพดี หากใครชอบไวน์หวานแบบผู้เขียน ที่นี่คือสวรรค์โดยแท้