ตามรอยเส้นทางสายไหมใน อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถาน
เส้นทางสายไหม ไม่ใช่ชื่อของถนนเส้นเดียว แต่คือกลุ่มของถนนหลายๆเส้นรวมกัน ใช้สัญจรในการค้าขาย ขนส่งสินค้าและไอเดีย นานกว่า 1,500 ปี เชื่อมระหว่างจีนกับตะวันตก เพื่อใช้ในการการขนส่งสินค้า ความคิด วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งโรคติดต่อ อย่างเช่น กาฬมรณะ (Black Death) ที่คร่าชีวิตชาวตะวันตกในกลางศตวรรษที่ 14 กว่า 200 ล้านคน พ่อค้าชาวตะวันออกขนส่งไหมที่ใช้ตัดทอชุดเสื้อผ้าสำหรับราชสำนักตะวันตก รวมถึงสินค้าอื่นๆเช่น หยก หินสวยงาม ชา และเครื่องเทศ เพื่อแลกกับ ม้า เครื่องแก้ว ทองคำ เงิน สิ่งทอ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆจากพ่อค้าตะวันตก
เส้นทางสายไหม มีระยะทางประมาณ 6,437 กิโลเมตร เป็นเส้นทางการค้าที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ ตัดผ่านภูมิประเทศที่น่าสะพรึง รวมถึงทะเลทรายโกบิแและขุนเขาปาร์มี โดยเส้นทางสัญจรนี้ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลใดๆเลย ทำให้ถนนมีความทุรกันดารมาก และอันตรายเต็มไปด้วยหมู่โจร ดังนั้นการเดินทางบนถนนเส้นนี้จึงเป็นไปในรูปแบบคาราวานกลุ่มใหญ่ โดยมีอูฐ และฝูงสัตว์เอื้ออำนวยตลอดเส้นทาง
มาร์โค โปโล (Marco Polo) เป็นหนึ่งในพ่อค้าชื่อดังชาวเวนิสที่ใช้เส้นทางสายไหม เมื่อเขาเดินทางไปขายสินค้ากับบิดาเมื่อตอนอายุ 17 และได้เขียนบันทึกการเดินทางที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดผ่านเส้นทางนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆบนโลกของเรา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ เช่น การค้าขายม้าระหว่างจีนและตะวันตกทำให้จีนสามารถมีพลังอำนาจในการสู้รบ ในขณะที่ ดินปืนจากจีนทำให้รูปแบบการสงครามฝั่งยุโรปเปลี่ยนไป
เส้นทางสายไหม ตัดผ่านหลายประเทศรวมถึง อุซเบกิสถาน และ เติร์กเมนิสถาน ซึ่งยังทิ้งร่องรอยความรุ่งเรือง หรูหราไว้ในดินแดนแห่งอารยธรรมเหล่านี้จนกระทั่งปัจจุบัน
ซามาร์คันด์ (Samarkand), อุซเบกิสถาน
เมืองซามาร์คันด์ (Samarkand) สถานที่สำคัญของเส้นทางสายไหมที่หนึ่ง เนื่องจากเป็นทางตัดผ่านเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป เป็นทางผ่านของวัฒนธรรมโลกยาวนานหลายพันปี และเป็นศูนย์กลางการค้าที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุด
เนื่องจากในยุคโบราณตอนปลายและยุคกลางตอนต้น ซามาร์คันด์ถูกปกครองโดยพ่อค้าชาว Sogdian ต้นตระกูลชาวอิหร่าน (Persian) ผู้ที่ถูกกล่าวขานว่ามีทักษะเป็นเลิศทางการค้า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปูพื้นฐานการค้าอย่างดีเยี่ยมให้กับเมืองนี้
ต่อมาในปี ค.ศ. 1220 ซามาร์คันด์ ถูกรุกรานและถูกทำลายจากกองทัพซึ่งนำโดยเจงกิสข่าน (Chengis Khan) สถาปัตกรรมทางประวัติศาสตร์ที่งดงามถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง
จากนั้นในปี ค.ศ. 1370 ทาเมอร์เลน (Tamerlane) หรือ อามีร์ ติมูร์ (Amir Timur) แห่งราชวงศ์ Timurid เข้าครอบครอง ตั้งให้ซามาร์คันด์เป็นเมืองหลวง ได้กระตุ้นการค้าขายให้เฟื่องฟูยิ่งขึ้นไปอีก และที่สำคัญราชวงศ์นี้ได้สร้างเมืองใหม่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่งดงามเกินคำบรรยายคือ ชาห์อีซินดา (Shah-i Zinda) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สมบูรณ์ที่สุดจากยุคกลางศตวรรษที่ 14 ถึง กลางศตวรรษที่ 16 สร้างด้วยกระเบื้องเซรามิคหลากสี ทำให้ดูโดดเด่น สวยงามจับจิตจับใจ
การค้าขายที่ซามาร์คันด์เฟื่องฟูตั้งแต่ยุคโบราณ และยุคกลาง เนื่องจากเป็นชุมทางการค้าจากอินเดียและจีน แต่เมื่อปี 1500 กลุ่ม Shaybanids ชาวอุซเบกเข้าปกครองและยกให้ซามาร์คันด์ กลายเป็นเมืองน้องของ เมืองบูคาร่า (Bukhara) ซึ่งเป็นศูนย์กลางใหม่ในสมัยนั้น ทำให้ซามาร์คันด์ ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก และกลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา
เมืองนี้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งจากการสร้างรถไฟในปี 1888 ที่ทำให้ซามาร์คันด์กลับมาเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอีกครั้งสำหรับการส่งออกไวน์ ผลไม้สดและแห้ง ฝ้าย ข้าว ไหม และหนัง กระทั่งทุกวันนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และการทอไหมเป็นสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน ที่สำคัญเมืองนี้ถูกยกย่องโดยองการ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกด้วย
https://www.patourlogy.com/เที่ยว-อุซเบกิสถาน/
บูคารา ( Bukhara )
ห่างจากเมืองซามาร์คันด์ประมาณ 225 กิโลเมตรไปทางตะวันตก บนทางผ่านเส้นทางสายไหม คือเมือง บูคารา (Bukhara) มีอายุยาวนานมากกว่า 2,000 ปี เป็นเมืองต้นแบบของตัวอย่างสถาปัตยกรรมจากยุคกลางแห่งเอเชียกลางที่ยังสมบูรณ์แบบที่สุด สถาปัตยกรรมเก่ายังไม่บุบสลาย ผลงานชิ้นเอกของเมืองบูคาราคือสุสาน Ismail Samani สุสานสีดินแกะลายสลักปราณีตวิจิตร ซึ่งเป็นที่ฝังศพสำหรับราชวงศ์ Samanid ก่อตั้งโดย Ismail Samani ซึ่งภายหลังศพของเขาก็ถูกฝังไว้ที่สุสานนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอิสลามจากยุคศตวรรษที่ 10 หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในบูคารา และเมืองบูคารายังมีโรงเรียนสอนศาสนาจากยุคศตวรรษที่ 17 อีกนับไม่ถ้วนอีกด้วย ที่ยังทิ้งร่องรอยทางสถาปัตยกรรมอันรุ่งเรืองไว้จนถึงปัจจุบัน
บูคารา (Bukhara) เคยเป็นศูนย์การค้าและวัฒนธรรมที่สำคัญในเอเชียกลาง รวมถึงเป็นเมืองเปอร์เซียที่เป็นจุดศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามในดินแดนนี้นานหลายร้อยปี และได้พุ่งสู่ความเจริญอย่างสูงที่สุดในสมัยปลายศตวรรษที่ 16
โดยสถาปัตยกรรมที่บูคารามีร่องรอยสิ่งก่อสร้างก่อนการบุกรุกของกองทัพของเจงกิสข่านในปี 1220 และ อีกครั้งโดยทาเมอร์เลน หรือติมูร์ในปี 1370 อนุสาวรีย์สำคัญหลายแห่งรอดพ้นจากการบุบสลายและการทำลาย รวมถึงสุสาน Ismail Samanai ที่มีความงดงามตราตรึงน่าประทับใจ และเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สมบูรณ์ที่สุดจากยุค ศตวรรษที่ 10 ของสถาปัตยกรรมมุสลิมทั้งหมด ในปี 1993 UNESCO ได้รับรองให้บูคาราเป็นมรดกโลก
อิทซานคาล่า (Itchan Kala) แห่งเมืองคีว่า (Khiva)
ถัดออกไปทางทิศตะวันตกของเมืองบูคาราข้ามเขตทะเลทรายคาราคุม (Karakum) อันแสนแห้งแล้ง เราจะเดินทางมาถึงเมือง คีว่า (Khiva) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอุซเบกิสถาน
คีว่า (Khiva) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ส่วนในที่เรียกว่า อิทซานคาล่า (Itchan Kala) กับส่วนนอก ชื่อ ดิทซานคาล่า (Dichan Kala) จากภาษาของอุซเบคนั้น Kala แปลว่า “กำแพง” ส่วน Itchan แปลว่า “ด้านใน” และ ดิทชาน แปลว่า “ด้านนอก” สรุปแล้วก็คือชื่อเรียกของ เมืองที่อยู่ในกำแพง (Itchan Kala) กับ เมืองที่อยู่นอกกำแพง (Dichan Kala) นั่นเอง
อิทซานคาล่า (Itchan Kala) เป็นป้อมปราการซึ่งตั้งอยู่โซนในของเมืองคีว่า จุดหยุดพักของพ่อค้าคาราวานก่อนข้ามทะเลทรายเปอร์เซียไปสู่อิหร่าน ถูกรับรองให้เป็นมรดกโลกโดย UNESCO เนื่องจากมีอนุสาวรีย์เก่าแก่จำนวนมาก และเศษซากปรักหักพังที่ถูกรักษาไว้อย่างดี ซึ่งเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมมุสลิมแห่งเอเชียกลางที่ทรงคุณค่า
อิทซานคาล่า (Itchan Kala) เป็นหนึ่งในแหล่งสถาปัตยกรรมที่ วิจิตร ปราณีตที่สุดแห่งหนึ่งของอุซเบกิสถาน ซึ่งภายในมีมัดดารอซะฮ์ ที่สอนศาสนา มัสยิด เช่น Juma Mosque ซึ่งสวยงาม แปลกประหลาดมาก เป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองคีว่า มีเพดานเรียบและมีช่องโล่งบนเพดานเพื่อปล่อยให้แสงจันทร์ส่องเข้ามาโอบไล้ผู้มาสักการะยามค่ำคืน มัสยิดแปลกตาแห่งนี้ประกอบด้วยเสาไม้สลักกว่า 213 ต้น นอกจากนั้นยังมีพระราชวัง 2 แห่ง ที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นความภูมิใจของแห่งนี้
คีว่า (Khiva) มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่าสองพันปี ก่อตั้งเมื่อศตวรรษที่ 4 สถานที่แห่งนี้เคยเป็น ศูนย์กลางของ อารยธรรม Khorezm (ราชอาณาจักรอิหร่านในยุคโบราณ ผู้ปราชญ์เปรื่องด้านธาราศาสตร์) ภายในป้อมมีขนาดทั้งหมด 26 เฮกตาร์ และถูกสร้างตามแบบฉบับของเมืองเก่าสไตล์เอเชียกลางแบบโบราณ ที่เป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งตามแนวจากทิศใต้ไปทิศเหนือ และถูกปิดล้อมโอบกอดด้วยกำแพงป้อมปราการดินที่สูงมากสุดถึง 10 เมตร มีความสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และสถาปัตยกรรมครบรสขนาดนี้ หากไปเยือนอุซเบกิสถานต้องห้ามพลาดเด็ดขาด
คุนยา เออร์เกนซ์ (Kunya-Urgench)
เออร์เกนซ์โบราณ (Old Urgench) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของเติร์กเมนิสถาน อยู่ฝั่งด้านทิศใต้ของ แม่น้ำเอมูร์-ดาร์ยา (Amu Darya) เออร์เกนซ์เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้น Khorezm ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอะคีเมนิด (Achaemenid) เคยเป็นเมืองศูนย์การค้าสำคัญของเส้นทางสายไหม จากศตวรรษที่ 10 ถึง ศตวรรษที่ 14 เป็นเส้นทางตัดผ่านของพ่อค้าคาราวาน 2 เส้นทาง คือเส้นทางจากตะวันออกไปจีน และจากทางใต้สู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือจนกระทั่งถึงแม่น้ำวอลกา (Volga)
การเติบโตของเมืองนี้ได้สร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีต นักวิทยาศาตร์และนักกวี เรียกขานเมืองนี้ว่า “the capital of (a) thousand wise men” หรือ เมืองหลวงแห่งผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดนับพัน เช่น Abu Ali Ibn Sina (Avicenna) ที่ถูกนับถือว่าเป็นอัจฉริยะที่ฉลาดมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผู้เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักการเมือง หมอ นักกวี นักเขียน ได้เขียนตำราแพทย์ที่ดีที่สุดในยุคกลางชื่อ Canon of Medicine ก็เคยอาศัยและทำงานที่เมืองนี้ รวมถึงนักปราชญ์อื่นๆอีกหลายคนก็เลือกเมืองนี้เป็นที่พักพิง
เมืองนี้ประกอบด้วยอนุสาวรีย์หลายแห่ง มัสยิด โรงแรมขนาดใหญ่สำหรับคาราวานพ่อค้า ป้อมปราการ สุสาน และหอคอยสุเหร่า ส่วนมากมาจากยุคศตวรรษที่ 11 ถึง 16 สถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดทางสถาปัตยกรรม และหัตถศิลป์ ที่ได้กลายเป็นต้นแบบของสถาปัตกรรมอิหร่าน อัฟกานิสถาน และจักรวรรดิโมกุล แห่งอินเดีย (ผู้สร้างทัชมาฮาล)
อนุสาวรีย์ทั้งหลายภายในเมืองได้รับการตกแต่งและเทคนิคหลากหลายของสถาปัตยกรรมอิสลามของเอเชียกลาง มีศาสนสถานสำคัญทางอิสลามหลายแห่งซึ่งเป็นเหตุให้ คุนยา เออร์เกนซ์ เป็นหนึ่งในจุดหมายของผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วโลก
ในระหว่างสงครามปี 1221 กับมองโกเลีย เมืองนี้ถูกทำลายโดยเจงกิสข่านและ ในปี 1372-1388 ราชวงศ์ตีมูร์ก็เข้ามาทำลาย ซึ่งหลังจากศึกสงครามแต่ละครั้ง เมืองนี้ถูกสร้างใหม่ และบูรณะทุกครั้ง รวมแล้วถูกทำลายและสร้างใหม่กว่า 7 รอบ
ในศตวรรษที่ 16 คุนยา เออร์เกนซ์ ถูกปลดจากการเป็นเมืองหลวง และค่อยๆล่มสลายลง และจากนั้นถูกทำให้เป็นสุสานฝังศพในศตวรรษที่ 20 แต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักแสวงบุญจากทั่วโลก ที่สำคัญซากสถาปัตยกรรมแห่ง คุนยา เออร์เกนซ์ ยังถูกรับรองจากองการ UNESCO ให้เป็นมรดกล้ำค่าของโลกอีกด้วย
อาซกาบัต (Ashgabat )
ชื่ออาซกาบัตเป็นภาษาอาราบิกที่แปลว่า ‘เมืองแห่งความรัก’ ในปี 1991 เติร์กเมนิสถานได้รับอิสรภาพเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย Turkmenbashi ผู้นำเผด็จการได้ตัดสินใจก่อสร้างเมืองใหม่ เพื่อต้อนรับยุคทองของเติร์กเมนิสถาน “The Golden Era of Terkmenistan” แถมยังได้สร้าง กฎแบบเผด็จการสุดแปลก เช่น ห้ามผู้ชายไว้ผมยาวและหนวด ตั้งกฎให้โอเปร่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แบนสุนัขออกจากเมือง และเปลี่ยนชื่อเดือนเป็นชื่อของสมาชิกในครอบครัวของเขา
เติร์กเมนิสถานติดอันดับที่ 7 ประเทศที่มีผู้มาเยือนน้อยที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยเพียง 7,000 คนต่อปี เนื่องจากวีซ่าเข้าประเทศนี้เข้มงวด และมีกฎยิบย่อยเยอะ เมืองอาซกาบัตมีสมญานามว่า เป็น เมืองไร้ชีวิต (City of the Dead) เนื่องจากว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะพบเจอผู้คนเดินเพ่นพ่านในเมือง Lonely Planet ได้อธิบายเมืองนี้ว่าเป็นเมืองที่มีความผสมผสานระหว่าง ลาสเวกัส และ เปียงยาง
ด้วยแสงสีส่องสว่างยามค่ำคืนท่ามกลางทะเลทรายดั่งลาสเวกัส และความเรียบๆ สีขาวสะอาดตาของเมือง กับถนนที่ว่างเปล่าเหมือนเปียงยาง เกาหลีเหนือ กินเนสบุ๊ค (Guinness Book) จัดให้เมืองนี้เป็นเมืองที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวมากที่สุดในโลกมนุษย์ (The Most White Marble on Earth) หินอ่อนที่ใช้สร้างเมืองนี้ถูกนำเข้ามาจากประเทศอิตาลีเลยทีเดียว
นิซ่า (Nisa)
นิซ่า (Nisa) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Parthaunisa เป็นเมืองหลวงที่สำคัญที่สุดและเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งแห่ง จักรวรรดิพาร์เธีย (Pathian Empire) เรืองอำนาจในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ช่วง 247 ปีก่อนคริสตกาล ถึง คริสต์ศักราชที่ 224
จักรวรรดิพาร์เธีย (Pathian Empire) ได้แผ่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดของโลกยุคโบราณในตะวันออกกลาง และเป็นคู่อริของอาณาจักรโรมัน ซึ่งได้สกัดกั้นการแผ่ขยายอำนาจของโรมันสู่ฝั่งตะวันออก
นิซ่า (Nisa) แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ นิซ่าเก่า(Old Nisa) และนิซ่าใหม่ (New Nisa) นิซ่าใหม่โดดเด่นทางด้านการเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งเรืองอำนาจอย่างสูงสุดตั้งแต่ยุคสมัยพาร์เธีย จนถึง ยุคกลาง ในขณะที่ นิซ่าเก่าเป็นที่ตั้งของอาคารสถานหลายแห่งที่ใช้สำหรับงานเฉลิมฉลองของชนชั้นนำแห่งราชวงศ์ Arsacid (ราชวงศ์อิหร่านยุคโบราณ) หลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกได้ว่าเมืองนิซ่า เคยเป็นมหาอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเอเชียกลางและเมดิเตอร์เรเนียนอันรุ่งเรือง
การขุดค้นเมืองนี้เริ่มต้นในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่ของนิซ่าเก่า และนักโบราณคดีได้ตั้งสมติฐานริเริ่มเกี่ยวกับเมืองนี้ในอดีต หากแต่การศึกษาวิจัยคราวนั้นไม่ได้ถูกตีพิมพ์จนกระทั่งหลังสงครามโลก ซึ่งภายหลังได้กระตุ้นนักโบราณคดียุคถัดมาให้สนใจขุดค้นเมืองเก่าที่ถูกทับถมใต้ดินแห่งนี้
การขุดค้นเมืองนิซ่าใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากถูกรบกวนจากเกษตรกรที่เปิดหน้าดินเพื่อทำการเกษตร ดังนั้นซากปรักหักพังที่สมบูรณ์กว่าจึงเป็นพื้นที่ส่วนของนิซ่าเก่า
หลักฐานการขุดค้นเมืองนี้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุ เช่น ตึก ขุมทรัพย์ งานศิลปะสมัยเฮลเลนิสติก สถาปัตยกรรมที่บ่งบอกว่าเคยถูกตกแต่งอย่างรุ่มรวย ความเจริญทางด้านศาสนา การเมือง และการปกครอง เมืองนิซ่าคือความผสมผสานของศิลปะสไตล์โรมันจากทางตะวันตกและศิลปะแบบอิหร่าน และที่สำคัญตั้งอยู่ตรงเส้นทางตัดผ่านของเส้นทางการค้า จากตะวันออกสู่ตะวันตก (ทางผ่านพ่อค้าเส้นทางสายไหมจากโรมไปสู่จีน ) และจากเหนือสู่ใต้
นิซ่า (Nisa) ถูกรับรองจากองการ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกในปี 2007 ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกจากเมืองอาซกาบัตของเติร์กเมนิสถานเพียง 18 กิโลเมตร
ภาพส่งท้าย
สำหรับท่านที่สนใจการเดินทางแบบนี้ ทางทีมงานเรามีจัดทริปทัวร์นำเที่ยวแบบนี้ด้วยนะครับ ในเส้นทางสายไหมอุซเบกิสถาน-เติร์กเมนิสถาน
ติดตามแผนการเดินทางประจำปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไปได้ที่นี่
ทริปแห่งความทรงจำ ล้ำค่าไปด้วยประวัติศาสตร์ขนานแท้ รอคุณมาค้นพบด้วยตัวคุณเอง
หรือถ้าหากท่านต้องการให้เราจัดกลุ่มส่วนตัวสำหรับครอบครัวของท่าน เราก็ยินดีเช่นกันเพื่อจะทำให้การเดินทางข้ามทวีปครั้งนี้เป็นความทรงจำที่ดีแบบไม่มีวันลืม
- สอบถามเพิ่มเติม โทร : 096 640 4534
- แอด Line : https://line.me/R/ti/p/%40patourlogy