บรรยายโดย หมอโจ้ นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค
เรียบเรียงโดย กัญญ์กุลณัช ภัทรศรีพงศ์
ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งสำหรับนักเดินทางสายลุยก็คือ ทุกคนมีโอกาสที่ต้องไปสัมผัสกับสัตว์ต่างๆไม่มากก็น้อยๆแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น หมา แมว หนู ลิง ค่าง หรืออะไรก็ตาม ล้วนทำให้เรามีความเสี่ยงต่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะโดนกัด โดนเลีย หรือเพียงแต่โดนแบบเฉียดๆ ล้วนทำให้เกิดประเด็นได้ทั้งหมด ผมเลยขอโอกาสรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับ “การสัมผัสกับสัตว์” และ “ประเด็นของเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า” ไว้ตรงนี้นะครับ สารบัญหัวข้อดังนี้
- 00:55 “โรคพิษสุนัขบ้า” ติดได้จากสัตว์ได้บ้าง
- 02:08 นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสไปสัมผัสกับเชื้อไวรัสฯ ได้ตอนไหน?
- 03:19 ความร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้า
- 03:52 โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ที่ประเทศใดบ้าง
- 04:41 หากเราโดนสัตว์กัด เราควรต้องปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง วัคซีนต้องฉีดอย่างไร
- 08:30 อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) สำคัญอย่างไร
- 09:50 การรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ภายหลังโดนกัด
- 10:17 เราจะป้องกันการติดเชื้อ “ไวรัสพิษสุนัขบ้า” ได้อย่างไรบ้าง
- 11:10 การฉีด “วัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้า” ก่อนไปเที่ยว มีหลักการอย่างไร
- 13:22 บุคคลที่ควรได้รับ วัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้า” ก่อนเดินทาง มีใครบ้าง
- 15:27 สมมติว่าไปเที่ยวแล้วโดนสัตว์กัดมาแล้ว 2-3 อาทิตย์ กลับมาเมืองไทยยังต้องฉีดวัคซีนไหม
- 16:15 รู้ไหม “ค้างคาว” ไม่ได้น่ารักอย่างที่เราคิด
- 17:25 ประชากรกลุ่มพิเศษที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้า”
- 18:30 ราคาของ “วัคซีนป้องกันไวรัสพิษสุนัขบ้า” ในบ้านเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
โรคพิษสุนัขบ้า!!!
ทำความเข้าใจกันก่อน ?!
- โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่จำเป็นต้องมาจากสุนัขเท่านั้น!!! แมว วัว สกั๊งค์ ลีเมอร์ ลิง เป็นได้หมด โดยสามารถสังเกตจากพฤติกรรมของสัตว์นั้นๆ หรือไม่รู้ที่มาที่ไปของสัตว์นั้น ให้พึงตระหนักเสมอว่าสัตว์นั้นมีความเสี่ยง ซึ่งเชื้อจะผ่านทางการกัดโดยตรงหรือการข่วน มีการสัมผัสน้ำลาย นักท่องเที่ยวมีโอกาสไปสัมผัสเหล่าสัตว์ต่างๆ ซึ่งบริเวณถูกกัดหรือข่วน มีผลต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลำคอ ศีรษะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สมองหรือระบบประสาทส่วนกลางก็จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากกว่า
- โรคพิษสุนัขบ้าเป็นแล้วตายได้ เวลาติดเชื้อ เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง ทำให้โอกาสรอดชีวิตค่อนข้างต่ำมากๆ นำไปสู่การเสียชีวิต ปัจจุบันสามารถพบเชื้อได้เกือบทุกทวีปทั่วโลกและระบาดหนักในทวีปเอเชีย ยกเว้น ทวีปแอนตาร์ติกาเนื่องจากไม่มีสัตว์จำพวกนี้อยู่นั่นเอง โดยประเทศเขตร้อนเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
- เมื่อโดนกัด หรือสัมผัสต้องทำอย่างไร เบื้องต้นล้างน้ำเปล่าก่อน ทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวและบริเวณข้างเคียงด้วยสบู่ให้เร็วที่สุด โดยตระหนักจากสัตว์ที่เราสัมผัสว่ามาจากแหล่งใด มีที่มาที่ไปอย่างไร ให้ถือว่าสัตว์ที่เราไม่ได้เลี้ยงเองในระบบปิด ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าสัตว์ที่เรารู้ที่มาที่ไปหรือเลี้ยงในระบบปิด ซึ่งหากเป็นไปได้หากถูกสัตว์กัดให้จับสัตว์นั้นเพื่อดูอาการประมาณ 10 วัน กรณีที่สัตว์นั้นตายให้สัญนิฐานว่าสัตว์นั้นติดเชื้อ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากนั่นเอง ทั้งนี้ยังสามารถพิจารณาจากการสัมผัสเชื้อว่าเป็นการสัมผัสแค่ภายนอก ผ่านบาดแผล หรือสัมผัสกับเนื้อเยื่อของเราโดยตรง โดยการสัมผัสผ่านบาดแผลหรือสัมผัสกับเนื้อเยื่อโดยตรงก็จะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้มากกว่า
ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ฉีดกี่เข็ม?
สำหรับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ปกติฉีด 4-5 เข็ม โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ก่อน-หลังได้รับเชื้อ ซึ่งจะทำการฉีด 3 เข็มก่อนการสัมผัสหรือรับเชื้อ และอีก 2 เข็มหลังการสัมผัสหรือได้รับเชื้อ
อีกรูปแบบ คือ การฉีดหลังได้รับเชื้อโดยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
กรณีได้รับเชื้อโดยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจำเป็นที่จะต้อง ฉีดอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobulin) ร่วมกันกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า อิมมูโนโกบูลิน ทำหน้าที่ ฆ่าเชื้อหรือทำลายพิษนั้นก่อน โดยการฉีดหลังสัมผัสเชื้อ ซึ่งมีความเสี่ยงมากในการรักษา เนื่องจากหลายๆพื้นที่ยังไม่มีตัวนี้ หรือหาได้ยาก ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงควรฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนการเดินทาง
ป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าอย่างไร
- อย่านำตัวเองไปสัมผัสสัตว์ทุกประเภทระหว่างการเดินทาง
- อย่าปล่อยสัตว์ไปสัมผัสกับสัตว์ท้องถิ่น
- ฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง
คนที่ควรฉีดวัคซีนพิษสุนขบ้าก่อนการเดินทาง
ความจริงแล้วไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยว แต่รวมทั้งประชาชนทั่วไปในประเทศแถบเอเชียใต้ และพื้นที่โซนเขตร้อนโดยเฉพาะ ประเทศอินเดีย เนปาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ธุรกันดาร ทั้งนี้ก่อนเดินทางไปประเทศไหนแนะนำให้ย้อนดูโอกาสการเกิดโรคของประเทศนั้นๆ
กรณีโดนกัดหรือสัมผัสแต่ไม่สามารถหาวัคซีนได้ทันที ทำอย่างไร?
สามารถมาฉีดย้อนหลังได้ เนื่องจากระยะเวลาในการฟักหรือก่อตัวของโรคพิษสุนัขบ้าค่อนข้างมีระยะเวลานาน ดังนั้น จำเป็นอย่างมากที่ควรจะฉีดวัคซีนทันทีที่มีโอกาสเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิ โดยฉีดให้เร็วที่สุด พร้อมกับฉีดอิมโมโนโกบูลลิน
ค้างคาว สัตว์ตัวร้ายที่ไม่ควรมองข้าม!
เนื่องจาก ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถเป็นได้ทั้งตัวนำเชื้อโรค และพาหะของโรค หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พิษสุนัขบ้า โรคอีโบลา (Ebola) ไวรัสสนิปาห์ (Nipah Virus) ไวรัสมาร์เบริ์ก (Marburg Virus)
กลุ่มบุคคลที่ไม่ควรฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือต้องได้รับคำแนะนำก่อนได้รับวัคซีน
ได้แก่ กลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือรับประทานยากดภูมิ เนื่องจากมีข้อจำกัดของสภาพร่างกายบางอย่างเมื่อได้รับตัวยาหรือวัคซีนบางชนิดอาจส่งผลอันตรายได้
ราคาวัคซีนพิษสุนัขบ้าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่??
สำหรับค่าวัคซีนพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับราคาวัคซีนทั่วโลก ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท ในขณะที่ต่างประเทศ ราคาจะอยู่ที่ 100 -200 ดอลลาร์/เข็ม ซึ่งนักท่องเที่ยวควรไ้รับการฉีดก่อนการเดินทางฉีดเพียง 3 เข็ม
***เห็นได้ว่าวัคซีนพิษสุนัขบ้า มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักเดินทาง โดยเฉพาะเหล่า นักเดินป่าปีนเขา หรือ Backpacker สำหรับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนการเดินทางนั้น แพทย์จะทำการฉีดวันที่ 0 และวันที่ 7 ทุกครั้งที่มีการสัมผัสโรค จำเป็นที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเสมอ เพราะต้นทุนในการป้องกันมีราคาต่ำกว่าต้นทุนในการรักษา !!!