ชื่อ “ไบคาล” (Baikal) บางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อนี้สมัยเด็ก ๆ เมื่อเรียนวิชาภูมิศาสตร์ตอนกล่าวถึงทะเลสาบที่ลึกที่สุดในโลกในดินแดนลึกลับห่างไกลนามไซบีเรียยากที่จะเข้าถึง
ต่อมาในห้วงสองสามปีที่ผ่านมาไซบีเรียไม่ได้ไปยากอีกต่อไปด้วยเที่ยวบินที่สะดวกกอปรกับการเที่ยวด้วยการขับรถและเก็บภาพไปบนผืนทะเลสาบ้ำแข็งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไบคาลกลายเป็นจุดสนใจของขาเที่ยวสายผจญภัย
เพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของนักเที่ยวบางท่านที่อยากรู้ว่าภาพของไบคาลที่ไม่ได้ขาวโพลนมีแต่น้ำแข็งจะเป็นอย่างไร และเหตุใดควรไปเยือนไบคาลช่วงเขียวขจีสักครา…
ฤดูร้อนที่ไบคาล
อย่างที่เกริ่นไปในบทนำว่าแต่ก่อนไบคาลเคยได้ยินแต่ชื่อว่าเป็นทะเลสาบลึกที่สุดในโลก อยู่ในดินแดนไซบีเรียอันไกลโพ้นยากที่จะเข้าถึงในดินแดนหลังม่านเหล็ก อยากจะไปทำได้อย่างเดียวคือมโน ฯ ขึ้นมาเอง
เดชะบุญหลังม่านเหล็กพังทลายไม่กี่สิบปีทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ก็เอื้อประโยชน์และนำพาความสะดวกสบายแก่มนุษย์ในที่นี้เน้นถึงการเดินทางที่ในยุคนี้ “ใคร ๆ ก็บินได้” เกิดสายการบินของภูมิภาคท้องถิ่นบินตรงมาสู่กรุงเทพ ฯ ขาเที่ยวสายลุยอย่างเราจึงได้รับอานิสงส์ความสะดวกสบายในการเดินทางเข้าไปยังดินแดนลึกลับไซบีเรีย ทำให้ไซบีเรียอยู่ใกล้เรากว่าที่เคยคิดฝันไว้
ไม่ว่าจะในหน้าหนาวหรือหน้าร้อน จุดท่องเที่ยวที่สำคัญยังคงเป็นเกาะโอลคอนที่ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางทะเลสาบ
ต่างกันอย่างเดียวคือวิธีการเดินทางไปยังเกาะจากนั่งรถไปบนน้ำแข็งมาเป็นการนั่งเรือแล้วต่อรถแทน
นั่งรถจากอิร์คุตสก์ผ่านทางหลวงที่ทอดยาวผ่านเนินทุ่งหญ้าสเต็ปป์น้อยใหญ่ ทั้งม้า แพะ แกะ ผ่านตาเป็นระยะ ๆ ให้บรรยากาศแทบไม่ต่างจากมองโกเลีย
ใช้เวลาอยู่เกือบครึ่งวันก็มาถึงจุดที่ข้ามฝั่งด้วยเรือ แล้วต่อรถบนเกาะอีกที ก็นับว่าเป็นเส้นทางที่ทรหดอยู่พอสมควร แต่ดูท่าแล้วรถตู้จี๊ปโซเวียต UAZ จะถูกสร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เนินจะชัน หินจะก้อนใหญ่แค่ไหน เจ้าคุณลุงคันนี้ยังพร้อมใช้งานทุกสภาพ นั่งมาอีกสักพักรถก็แล่นเข้าสู่ “หมู่บ้านฆูฌีร์” (Khuzhir) ศูนย์กลางเกาะโอลคอน
หมู่บ้านฆูฌีร์ (Khuzhir)
จุดแรกคือโขดหินชามานและ “แหลมบูร์ข่าน” (Burkan) ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบูเรี้ยตบนเกาะโอลคอนที่ยังคงนับถือชามานหรือลัทธิหมอผีดั้งเดิม อย่าแปลกใจหากหน้าตาของคนแถบนี้จะเป็นตี๋หมวยมองโกล เพราะชาวบูเรี้ยตคือเผ่าหนึ่งของมองโกล เป็นคนพื้นเมืองของที่นี่
โดยภายในโขดหินชามานจะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิที่ใคร ๆ จะสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าไปได้ โดยเฉพาะสตรีเพศที่ห้ามเข้า ยกเว้นว่าสตรีเพศผู้นั้นจะได้รับการคัดเลือกเป็นชามาน บนแหลมบูร์ข่านด้านบนจะมีเสาไม้ 12 ต้นเป็นตัวแทนผู้ส่งสารของพระเจ้า โดยชามานิกชนจะทำผ้าสีต่าง ๆ มาผูกไว้กับเสา โดยแต่ละสีก็จะแทนความหมายของพรที่ขอต่างกันไป
ส่วนอื่น ๆ ของเกาะโอลคอน เช่น แหลมโคบอยทางเหนือ (Khoboi cape) เกาะโอกอยทางใต้การเดินทางจะต่างจากช่วงหน้าหนาวโดยสิ้นเชิง คือรถจะวิ่งบนแผ่นดินทั้งหมดไปตามทางลูกรังขึ้นลงเนินน้อยใหญ่ เลาะลัดตัดตรงไปบนน้ำแข็งทำเวลาเหมือนตอนหน้าหนาวไม่ได้
ทะเลหลวง (Bolshoye More)
แต่ที่เป็นสุดยอดไฮไลต์จริง ๆ เห็นจะเป็นตอนที่เราจะได้ไปดูน้องอุ๋ง ๆ ตัวเป็น ๆ โดยเราจะนั่งเรือจากบริเวณใกล้ ๆ แหลมโคบอยออกไปในทะเลหลวง (Bolshoye More)
นั่งไปสักพักใหญ่ ๆ ก็จะถึง หมู่เกาะอุชกานี่ (Ushkani) หมู่เกาะโขดหินเล็ก ๆ ที่เป็นที่อยู่ของเหล่าน้อง ๆ อุ๋ง ๆ ของเรามานอนอาบแดด คือแมวน้ำไบคาล ซึ่งถือเป็นแมวน้ำสายพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียงแห่งเดียวในโลก ในช่วงหน้าหนาวเจ้าอุ๋ง ๆ พวกนี้จะอยู่อย่างสันโดดภายใต้ช่องว่างในน้ำแข็งที่ปกคลุมทะเลสาบไบคาล ส่วนในหน้าร้อนพวกนี้จะอยู่รวมตัวกัน ออกหาอาหารด้วยกัน อาหารโปรดคือปลาโอมุล ปลาตระกูลแซลมอนชนิดหนึ่งที่พบได้เพียงแค่ที่ไบคาลที่เดียวเท่านั้น
นอกจากเกาะโอลคอนแล้ว เมืองอิร์คุตสก์จริง ๆ ก็มีอะไรให้ดูไม่น้อย เมือง ๆ นี้เก่าแก่เอาเรื่อง ตั้งมาสามร้อยกว่าปี อายุมากกว่ากรุงเทพ ฯ ของเราเสียอีก ตั้งแต่สมัยที่ซาร์ยุคก่อน ๆ ที่เริ่มมีนโยบายบุกเบิกดินแดนตะวันออก บรรดาทหารรับจ้างและผู้แสวงโชคต่างพากันเสี่ยงตายฝ่าภูมิประเทศและสภาพอากาศอันโหดร้ายของไซบีเรีย
ใครที่หากรอดชีวิตไปได้ ก็จะได้รับพระราชที่ดินขนาดกว้างขวางเท่าที่จะบุกเบิกได้จากพระเจ้าซาร์เป็นรางวัลตอบแทน ส่วนใหญ่บ้านเมืองที่นี่จะสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ต่อมาเริ่มมีการปรับปรุงเป็นตึกปูนหลังจากมีไฟไหม้ใหญ่หลายครั้ง (ไม้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี) แต่ถึงกระนั้นบ้านเมืองยังคงเห็นเป็นไม้อยู่ดี แถมสไตล์การตกแต่งก็ยังมีเอกลักษณ์ ตามขอบหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายฉลุ สวยงาม พบหาได้เพียงในไซบีเรียเท่านั้น
ทางรถไฟไซบีเรียสายดั้งเดิม (Circumbaikal railway)
ไฮไลต์สุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือทริปวันเดียวเที่ยวทางรถไฟสายเก่า ซึ่งเดิมทีเมื่อมีการก่อสร้างทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียสายแรก เส้นทางรถไฟได้เลาะเลียบไปตามทะเลสาบ แต่ต่อมาพบว่าเส้นทางดังกล่าวอ้อมเกินไป จึงมีการสร้างทางเส้นใหม่ที่ตัดจากปลายทะเลสาบมุ่งตรงเข้าไปยังเมืองอิร์คุตสก์ กอปรกับมีการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำอังการาทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ท่วมย่านชุมชนเก่าและทางรถไฟสายเก่าบางส่วน
ต่อมาทางการจึงรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และจัดการท่องเที่ยวบนทางรถไฟสายเก่าขึ้น ที่พิเศษคือหัวรถจักรที่นำมาวิ่งเป็นหัวรถจักรไอน้ำของแท้ ที่จะนำเราไปตามสถานีต่าง ๆ บางสถานีก็สร้างอยู่บนสะพานอิฐที่มีเสาอาร์คสวยงาม ไม่ควรพลาดทีเดียว
ไบคาลหน้าร้อนที่เดียวเที่ยวได้หลายแบบ
คราวหน้าผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปเที่ยวที่ไหนต่อนั้น…
To Be Continued…
คราวนี้ต้องลาไปก่อน…
ดา สวีดาเนีย
ДО СВИДАНИЯ