เที่ยวเกาหลีเหนือ (DPRK)
ท่ามกลางกระแสอันร้อนแรงของการเมืองโลกที่สาดโคลนไปมาบนคาบสมุทรเกาหลีพร้อม ๆ กับภาพหัวรบนิวเคลียร์ที่เราคุ้นชินบนจอทีวี เกาหลีเหนือยังคงทำตัวสันโดษ ตัดขาดจากโลกาภิวัฒน์ภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่นั่นก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะเข้าไปเที่ยวเกาหลีเหนือสัมผัสมรดกตกทอดจากยุคทองแห่งโชซอนที่ยังบริสุทธิ์ ปราศจากการสัมผัสของโลกภายนอกและทำความเข้าใจกับประชาชนชาวโสมแดงนอกเหนือไปจากการไปสัมผัสบรรยากาศของประเทศคอมมิวนิสต์จ๋าทั้งระบอบการเมืองและเศรษฐกิจ 1 ใน 2 ที่หลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ และเพียงหนึ่งเดียวที่ยังสมาทานลัทธิเชิดชูบุคคล
ภาพที่เกาหลีเหนือขนอาวุธยุทโธปกรณ์โดยเฉพาะหัวรบนิวเคลียร์ออกมาสวนสนามกลางกรุงเปียงยางที่เป็นเมืองหลวง ท่ามกลางฝูงชนที่ตะโกนสรรเสริญท่านผู้นำอันเป็นที่รักที่สังเกตการณ์อยู่ด้านบนอัฒจรรย์พิเศษอย่างสุดหัวจิตหัวใจและบรรยากาศการกระเหี้ยนกระหายพร้อมที่จะทำสงครามกับศัตรูตลอดกาลอย่างอเมริกา กลายป็นภาพที่เป็น Branding แบบเฉพาะตัวของประเทศที่โดดเดี่ยวที่สุดแห่งนี้และทำให้การเที่ยวเกาหลีเหนือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากไปโดยปริยาย
เกาหลีเหนือมีชื่อเสียงเรียงนามเต็ม ๆ คือ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” เป็นประเทศ “เกาหลี” ที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตั้งอยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 ที่เป็นเส้นแบ่งประเทศกับเกาหลีฝ่ายใต้ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ตามธรรมเนียมของผู้เขียน จะท้าวความประวัติศาสตร์ให้ผู้อ่านกระจ่างแจ้งถึงความเป็นมาก่อน กลับไปที่เส้นขนาดที่ 38 บนคาบสมุทรเกาหลีหลังจากที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองในฐานะอาณานิคมเป็นเวลา 35 ปีและหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเกาหลีก็ได้กลายเป็นอิสระและถูกปกครองโดยผู้ที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น นั่นก็คือสหภาพโซเวียตจากทางเหนือและสหรัฐอเมริกาจากทางใต้โดยตกลงให้เส้นขนานที่ 38 เป็นจุดบรรจบกันของทั้งสองฝ่าย
นอกเหนือจากการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่ยอมแพ้ ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนกลุ่มการเมืองของแต่ละฝั่งตน สหภาพโซเวียตก็สนับสนุนฝ่ายอดีตกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์โดยมีคิมอิลซุง (Kim Il Sung) เป็นแกนนำ ส่วนสหรัฐก็หนุนกลุ่มเกาหลีพลัดถิ่นที่นิยมเสรีประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลโดยมีรีซึงมัน (Rhee Sung Man) เป็นผู้นำ
แม้ทั้งสองฝ่ายจะพยายามเจรจาจัดตั้งรัฐบาลเกาหลีร่วมกัน แต่ด้วยความที่อุดมการณ์เข้ากันไม่ได้อย่างรุนแรง ทำให้ประเทศเกาหลีจึงต้องมีสองรัฐบาล ฝ่ายใต้ที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตยชิงประกาศจัดตั้งประเทศอย่างเป็นทางการก่อนในวันที่ 15 เดือน 8 ปี 1948 ส่วนฝ่ายเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ก็ประกาศจัดตั้งประเทศตัวเองในวันที่ 9 เดือน 9 ปีเดียวกัน
เมื่อหาข้อสรุปด้วยปากกากันไม่ได้ในที่สุดก็ใช้ปืนและรถถังแก้ปัญหาเมมื่อคิมอิลซุง ผู้นำฝ่ายเหนือชิงบุกฝ่ายใต้ก่อนแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่นานก็ยึดกรุงโซลเมืองหลวงฝ่ายใต้ไว้ได้ รวมไปถึงเกือบทั้งประเทศเกาหลีใต้โดยฝ่ายใต้เหลือเพียงเมืองปูซานเป็นฐานที่มั่นเท่านั้น จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาพากองกำลังผสมสหประชาชาติมาช่วยเหลือเกาหลีใต้ ตีโต้เกาหลีเหนือกลับไปยังฝั่งเหนือและยึดกรุงเปียงยาง รวมไปถึงดินแดนของเกาหลีเหนือจนกระทั่งประชิดชายแดนจีนที่แม่น้ำยาลู ไม่ช้าจีนก็เข้าแทรกแซงโดยการส่งทหารอาสามาช่วยเกาหลีเหนือ ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนกระทั่งรบกันจนเหนือจนไม่อยากรบอีกต่อไปจึงมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงในปี 1953 โดยที่สถานะสงครามของทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่จนปัจจุบัน
หลังสงครามเกาหลี เกาหลีเหนือฟื้นฟูทางเศรษฐกิจไวและเศรษฐกิจโตแซงเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 ด้วยความที่มีชายแดนติดต่อกับมหามิตรทั้งสองชาติคือจีนและสหภาพโซเวียต แต่พอเข้าสู่งยุค 70 เป็นต้นมาเศรษฐกิจก็เริ่มชลอตัวจนเกาหลีใต้แซงนำไปได้ในยุคนี้ในที่สุด
ในทางการเมือง เกาหลีเหนือถูกปกครองโดยพรรคคนงานเกาหลี ซึ่งก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากคิมอิลซุงจะเป็นผู้นำพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญคนอื่น ๆ ที่ร่วมกันต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วยกันมาอีกเยอะ แต่ทว่าคิมก็ทำในสิ่งที่สตาลินยังต้องอาย ก็คือการกวาดล้างเสี้ยนหนามหรือผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะสามารถเป็นศัตรูทางการเมืองในอนาคตแบบ set zero เหลือตัวเองเป็นใหญ่อยู่คนเดียว แถมยังสมาทานลัทธิเชิดชูผู้นำอย่างเข้มข้น โฆษณาชวนเชื่อทั้งวันทั้งคืน ตัดขาดการสื่อสารกับโลกภายนอก จนไม่กี่ปีคิมอิลซุงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสุริยกษัตริย์แห่งราชวงศ์คิม คิดอ่านอะไรออกไป จะถือเป็นคำสอน เป็นปรัชญาที่ต้องไปปฏิบัติตามกันทั่วประเทศ อาทิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพึ่งพาตนเองแบบจูเช่ และนโยบายการทหารต้องมาก่อนอย่างซอนกุน
จนกระทั่งในช่วงปลายยุค 80 ต่อ 90 เศรษฐกิจเริ่มหดตัว ประกอบกับพี่ใหญ่อย่างโซเวียตล่มสลาย ท่อน้ำเลี้ยงต่าง ๆ ถูกตัดไม่เหลือ แถมผีซ้ำด้ำพลอยด้วยภาวะแห้งแล้ง เกิดความอดอยากไปทั่วประเทศ ไม่นานคิมอิมซุงก็สิ้นลมไป และมีการสืบทอดอำนาจทางสายเลือดเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกสังคมนิยม โดยคิมจองอิลผู้ลูกขึ้นแทน สืบมาจนกระทั่งสิ้นลมและให้ลูกชายชื่อคิมจองอิลขึ้นครองต่อจนปัจจุบัน แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือยังยึดถือหลักปรัชญาจูเช่และนโยบายซอนกุนอย่างเข้มข้น
การเดินทาง
ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนเรามีสายการบินแอร์โครยอ (Air Koryo) บินตรงเปียงยาง – กรุงเทพ ฯ ก่อนที่จะยกเลิกไป
เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักท่องเที่ยวสายเส้นทางแปลก ๆ ว่าถ้าไปเที่ยวเกาหลีเหนือ ไปผ่านจีนง่ายที่สุด เพราะมีเที่ยวบินตรงจากทั้งปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหยางเข้าสู่กรุงเปียงยาง หรือแม้กระทั่งนั่งรถไฟจากฝั่งแมนจูเรียผ่านด่านตานตงข้ามแม่น้ำยาลูเข้าสู่ด่านชิเนจู
ปัจจุบันนอกจากผ่านจีนแล้ว ผ่านรัสเซียเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สะดวกไม่แพ้กัน โดยใช้เมืองวลาดิวอสตอกเป็นจุดเปลี่ยน/ต่อเครื่อง แถมยังได้เที่ยวเมืองปลายทางของทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียได้อย่างเต็มอิ่ม
แต่ไม่ว่าจะผ่านจีนหรือรัสเซีย การเข้าไปเที่ยวเกาหลีเหนือได้ต้องไปกับบริษัทนำเที่ยวที่ได้รับอนุญาตจากทางการเกาหลีเหนือเท่านั้น
วีซ่า
การขอวีซ่าทำได้ผ่านบริษัทท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตจากทางการเกาหลีเหนือ สำหรับใครที่เป็นขาเที่ยวอเมริกาหรือยุโรป ไม่ต้องกลัวจะเกิดปัญหาว่าเที่ยวเกาหลีเหนือแล้วจะมีปัญหาต่อการเข้าเมืองอเมริกาหรือ EU ที่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือหรือไม่ เพราะวีซ่าเกาหลีเหนือจะเป็นใบแยกออกมาต่างหากและปั๊มการตรวจลงตราบนนั้น ไม่ได้ปั๊มบนตัวเล่มพาสปอร์ต ดังนั้นหายห่วงได้
กรุงเปียงยาง
นครหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี เมืองสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นราชธานีของนครรัฐเกาหลีหลายยุคสมัยอันเก่าแก่กว่าสามพันปี ผ่านการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้ง และยังเคยได้รับการขนามนามว่าเป็นเยรูซาเลมแห่งโลกตะวันออก (Jerusalem of the East) เนื่องจากเคยเป็นเมืองที่มีการฟื้นฟูและยึดเป็นฐานที่มั่นทางศาสนาของบรรดา Protestantism ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะมาเป็นเมืองศูนย์กลางของเกาหลีฝ่ายคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
พระราชวังคึมซูซานแห่งสุริยบุตร (Kum Su San Palace of The Sun)
ชื่อลำลองคือสุสานคิมอิลซุงผู้ก่อตั้งประเทศ เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาร่างมัมมี่ของคิมอิลซุง บิดาผู้ก่อตั้งประเทศที่ชาวเกาหลีเหนือยกย่องและเทิดทูนสุดหัวจิตหัวใจจนยกให้เป็นดั่งสุริยบุตร แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเกาหลีเหนือจะนำพวงมาลามาทำความเคารพต่อบิดาประเทศผู้ล่วงลับแห่งนี้
อัครานุสาวรีย์ ณ เนินเขามันซู (Grand Monument of Mansu Hill)
เป็นรูปปั้นบรอนซ์สูงตระหง่านของสองผู้นำผู้ยิ่งใหญ่คือประธานาธิบดีตลอดกาลคิมอิลซุงและนายพลคิมจองอิลที่ชาวเกาหลีเหนือให้การเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใด (ควรปฏิบัติตนเองอยู่ในความสำรวมและควรถ่ายรูปให้รูปปั้นทั้งสองมีลักษณะสมบูรณ์ อย่าขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง) โดยท่านสามารถซื้อดอกไม้เพื่อไปวางเคารพเหนือแท่นเคารพตามประเพณีนิยมของชาวท้องถิ่น
อนุสาวรีย์ชอลลีมา (Chollima)
หมายถึงม้าพันลี้มีปีกบินตามตำนานโบราณของเกาหลีในลักษณะทะยานไปข้างหน้า เป็นชื่อของการรณรงค์เพิ่มผลผลิตให้เกินเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 อันหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดในยุคสมัยของประธานาธิบดีคิมอิลซุง
อนุสาวรีย์ประตูชัย (Arch of Triumph)
สร้างเพื่อรำลึกถึงกองทหารอาสาภายใต้การนำของคิมอิลซุงต่อสู้ต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งยึดครองเกาหลีจนสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงและเกาหลีได้รับเอกราช
หอคอยจูเช่ (Juche Tower)
สิ่งก่อสร้างสะท้อนแนวคิดปรัชญาหลักของชาติว่าด้วยการพึ่งพาตนเอง สร้างในปี 1982 เป็นแท่งหินอ่อนตั้งตระหง่านแทงเสียดฟ้าคล้ายอนุสาวรีย์วอชิงตันในสหรัฐอเมริกา ด้านบนมีประติมากรรมไฟสะท้อนถึงแสงสว่างของปรัชญาจูเช่พาชาติไปสู่ความรุ่งโรจน์ ด้านล่างมีอนุสาวรีย์สามชนชั้นหลักของเกาหลีเหนือ โดยมีกรรมาชนถือค้อน เกษตรชนถือเคียวและปัญญาชนถือพู่กัน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากอนุสาวรีย์คอลคอส (Kolkhoz) ในกรุงมอสโก
วังเด็กแห่งมันกยองแด (Mangyongdae’s Children Palace) เพื่อชมการแสดงของเด็ก ๆ ซึ่งมีความสามารถเป็นเลิศ
ฮยางซัน (Hyangsan)
ภูเขามโยฮยาง (Myohyangsan)
หมายถึงภูเขาแห่งกลิ่นหอม เป็นสถานที่พักตากอากาศยอดนิยมของประเทศและยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางชีววงของ UNESCO ในประเภทป่าผสมกึ่งทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น รายล้อมไปด้วยเนินเขาน้อยใหญ่ เส้นทางบนขุนเขาและน้ำตกสัมผัสบรรยากาศชนบทดั้งเดิมของเกาหลีเหนือ
บ้านนิทรรศการมิตรภาพระหว่างประเทศ (International Friendship Exhibition House)
เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของขวัญที่เหล่าผู้นำ องค์ประมุข คณะทูตานุทูต ฯลฯ ส่งมามอบแด่ประธานาธิบดีตลอดอกาลคิมอิลซุงผู้ล่วงลับ ท่านผู้นำคิมจองอิลผู้ล่วงลับ รวมไปถึงประธานประเทศคนปัจจุบันคิมจองอึน
วัดพโยฮยอน (Pyohyonsa)
เป็นวัดพุทธที่สำคัญและเก่าแก่มากอีกแห่งหนึ่งของเกาหลีเหนือ สร้างแล้วเสร็จในช่วงศตวรรษที่ 11 ในสมัยราชวงศ์โครยอเคยเป็นจุดศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของตอนเหนือของอาณาจักรเกาหลีโบราณ ในช่วงสงครามอิมจินกับญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 16 ที่นี่ถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของบรรดาทหารพระอาสาภายใต้การนำของนักบุญซอนโซ แต่ความเสียหายใดก็ไม่สู้หนักหนาสาหัสเท่าการทิ้งระเบิดใส่วัดแห่งนี้โดยฝ่ายสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเกาหลีจนทำให้ห้องหอ อาราม และสถูปกว่า 24 จุดพังเสียหายโดยเฉพาะหอสวดหลัก ซึ่งหมู่ตึกจำนวนหนึ่งได้รับการบูรณะจนกลับมาสมบูรณ์หลังสงคราม จากนั้นพาท่านเดินพักผ่อนหย่อนใจไปตาม
หุบเขาซังวอน (Sangwon Valley)
เส้นทางเทรกกิ้งแบบชิล ๆ อันประกอบไปด้วยศาลาโบราณและน้ำตกซานจู
สตูดิโอศิลปะมานซูแด (Mansudae Art Studio)
ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนทางศิลปะโดยรัฐบาลกลางไม่ว่าจะเป็นสายงานวาดภาพ งานปั้น งานเย็บปักถักร้อย ฯลฯ โดยผลงานจะมีลักษณะแนวทาง socialist-realist สีสันฉูดฉาดสื่อและแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพวาดทิวทัศน์ท้องถิ่น ซึ่งผลงานแต่ละแบบท่านสามารถเลือกซื้อหากลับไปเป็นของฝากได้
รถไฟใต้ดินเปียงยาง (Pyongyang Metro)
ก่อสร้างในช่วงทศวรรษที่ 70 โดยได้แนวคิดมาจากระบบรถไฟใต้ดินกรุงมอสโกซึ่งมีแนวคิดคล้าย ๆ กันคือนอกจากสร้างมาเพื่อการขนส่งสาธารณะแล้วยังสร้างเผื่อสถานการณ์สงครามที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นสถานที่หลบภัยใต้ดินได้ สังเกตได้จากความลึกของแต่ละสถานีและสถานีรถไฟใต้ดินที่นี่ยังเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในโลกอีกด้วย (110 เมตรใต้ดิน)
พิพิธภัณฑ์สงครามปลดปล่อยเพื่อปิตุภูมิ (Victorious Fatherland Liberation War Museum)
บอกเล่าเรื่องราววีรกรรมของกองทัพประชาชนเกาหลีในสงครามเกาหลีต่อสู้กับกองทัพของฝ่ายเกาหลีใต้และสหประชาชาตินำโดยสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1950-1953 ทั้งยังจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งของฝ่ายเกาหลีเหนือและที่ยึดมาจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะเรือตรวจการณ์ USS Pueblo ที่แล่นอยู่ในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายเกาหลีเหนือทำการยึดมาในปี 1968 ด้วยข้อหาจารกรรม
แคซอง (Kaesong)
อดีตราชธานีแห่งเกาหลีในสมัยราชวงศ์โครยอ (Koryo Dynasty) ปัจจุบันเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับนักลงทุนเกาหลีใต้สร้างรายได้ให้ชาวเกาหลีเหนือ ไม่ไกลจากแคซองเป็นพื้นที่เขตปลอดทหาร (De-Militarized Zone – DMZ) เป็นพื้นที่กว้าง 4 กิโลเมตร (2 กิโลเมตรในแต่ละฝั่ง) ยาว 250 กม. กำหนดขึ้นหลังข้อตกลงหยุดยิงในปี 1953 ที่ให้ทั้งสองฝ่ายถอยทหานกลับเข้าไปในฝั่งตัวเองฝั่งละ 2 กิโลเมตรเพื่อป้องกันเกิดข้อพิพาทติดอาวุธทางทหารและอาจนำมึ่งความรุนแรงที่บานปลาย
หมู่บ้านพันมุนจอม (Panmunjom Village)
สถานที่เจรจาหยุดยิงเมื่อ 66 ปีก่อน จะได้เห็นเส้นแบ่งของสองเกาหลีกับตาของตัวเองที่นี่
พิพิธภัณฑ์โครยอ (Koryo Museum)
เป็นสำนักขงจื๊อซองกยุงกวาน (Seonggyumgwan) ซึ่งเป็นสถานศึกษาขงจื๊อขั้นสูงสุดในสมัยราชวงศ์โครยอและราชวงศ์โชซอน เปิดครั้งแรกเมื่อปี 992 และเป็นอาคารไม้หลังใหญ่เพียงแห่งเดียวในเกาหลีเหนือที่อยู่ยงมาจนถึงปัจจุบันซึ่งท่านจะได้เห็นวิวัฒนาการของอาณาจักรโครยอและโชซอนผ่านโบราณสถานแห่งนี้
สะพานซอนจุก (Seonjuk Bridge)
ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เกาหลีเมื่อชองมงจูเสนาบดีและนักการทูตคนสำคัญของอาณาจักรและผู้ที่ภักดีต่อราชวงศ์โครยอถูกสังหารทางการเมืองโดยทหารของฝ่ายอีบังวอน (พระเจ้าแทจงในกาลต่อมา) สิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์โครยออย่างเด็ดขาดเปิดทางให้ราชวงศ์โชซอนปราบดาภิเษกขึ้นครองบัลลังก์เกาหลีแทน จุดสีน้ำตาลบนศิลาว่ากันว่าคือโลหิตที่กระเซ็นจากการที่ชองมงจูถูกสังหาร
ศาลาพโยจุง (Pyochung Pavilion)
ที่สร้างในสมัยราชวงศ์โชซอน เป็นอาคารไม้ที่บรรจุศิลาจารึกไว้บนหลังเต่าสิงโต 2 แท่น แท่นแรกในปี 1740 ในสมัยพระเจ้ายองโจและแท่นที่สองในปี 1872 โดยพระเจ้าโคจง เพื่อรำลึกถึงความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของชองมงจูต่อราชวงศ์โครยอ จากนั้นเดินทางกลับกรุงเปียงยาง
บทสรุป
เกาหลีเหนือยังคงมีเสน่ห์ในแง่มุมที่ประเทศยังบริสุทธิ์ ปิดตัวเองจนโลกาภิวัฒน์ภายนอกไม่สามารถจะทำอะไรได้ หลายพื้นที่ยังดิบและยัง untouched อยู่มาก และการที่ได้เข้าไปใช้ชีวิตในประเทศที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ 100 % เป็นโอกาสประสบการณ์ที่หาได้ยากและช่วงนี้เป็นโอกาสอันดีที่มีทางเลือกมากขึ้นในการเดินทางไปยังเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะผ่านรัสเซีย ซึ่งเราไม่ต้องกังวลเรื่องวีซ่าประเทศจุดผ่าน แถมยังได้เที่ยววลาดิวอสตอก เมืองท่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกไกลอย่างเต็มอิ่ม
อ่านต่อเรื่อง จูเช่ (Juche Ideology) แนวคิดการพึ่งพาตัวเองแบบชาวเกาหลีเหนือ
อ่านบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆต่อได้ที่ >>> https://www.patourlogy.com/blog/inspiration
สนใจทัวร์ส่วนตัว และโปรแกรมทัวร์เกาหลีเหนือ คลิ๊ก >>> https://www.patourlogy.com/tour/ทัวร์เกาหลีเหนือ