เขี้ยววอลรัส สมบัติแห่งไอซ์แลนด์
วอลรัส สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ มีหนวดยาวเพื่อใช้ในการจับการเคลื่อนไหว มีครีบที่ทำหน้าที่แทนมือและเท้า จำนวน 4 ครีบ มีเขี้ยวยาวประมาณ 1 เมตร เพื่อใช้ดึงดูดเพศตรงข้าม ใช้หาอาหาร การขุดกุ้ง ขุดหอยเจาะพื้นทะเลน้ำแข็งเพื่อหายใจและ ป้องกันตัวเองจากตัวอื่น มีลำตัวใหญ่กว่าสิงโตทะเลมากมีน้ำหนักประมาณ 800-1,700 กิโลกรัม วอลรัสเพศผู้โตเต็มวัยอาจมีน้ำหนักได้มากถึง 2,000 กิโลกรัม และมีอายุยืนถึง 20-30 ปี ผิวหนังของวอลรัสหนาถึง 4 เซนติเมตร ถูกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลและชมพูย่น สามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพอากาศ เมื่ออากาศอบอุ่นจะมีสีชมพู แดง ถ้าช่วงอากาศหนาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ดำน้ำได้ลึกถึง 90 เมตร
นอกจจากนั้น วอลรัสยังมีความสามารถพิเศษในการปรับอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในร่างกาย ออกลูกเป็นตัว เป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูงร้อยนับพันตัว ที่อยู่ตระกูลเดียวกันกับ สิงโตทะล และแมวน้ำ หรืออยู่ในวงศ์ Pinnipedia ดูภายนอกวอลรัสจึงมีลักษณะบางส่วนคล้ายกับสิงโตทะเล หรือแมวน้ำ และพวกมันมักกินหอย ปู ปลา กุ้ง เป็นอาหาร
วอลรัสแตกต่างจากสองโตทะเล และแมวน้ำอย่างไร??
แท้จริงแล้ว สิ่งมีชีวิตทั้ง 3 ชนิดนี้มีความแตกต่างกัน โดยแมวน้ำไม่มีใบหูมีรูหู สิงโตทะเลมีใบหูแต่ไม่มีงา วอลรัสมีงาแต่ไม่มีใบหู นั่นเอง
ทุกวันนี้การซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นไปอย่างง่ายดาย แค่เดินเข้าซูเปอร์มาเก็ตก็พบโซนของนำเข้านานาชนิดแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่า ความต้องการสินค้าหายากจากต่างแดนมีมาตั้งแต่โบราณ กลุ่มคนบางกลุ่มให้ความสนใจสินค้าหายากจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นงาช้างจากเอเชีย ขนนกกระจอกเทศจากแอฟริกา หรือแม้แต่สัตว์ประหลาดหายากตามหมู่เกาะต่างๆ การค้าของป่าเหล่านี้ทำให้เงินทองสะพัดและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของผู้คนต่างถิ่นจนทำให้หลายดินแดนในโลกพัฒนาตนเองจากแรงผลักดันภายนอกจนกลายเป็นประเทศที่เรารู้จักในปัจจุบัน ทว่าหลายครั้งที่การล่าสัตว์เพื่อให้ได้มาซึ่งอวัยวะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์นั้นๆ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวม หนึ่งในสินค้าหายากและเป็นที่ต้องการที่สุดในโลกยุคกลางคือ เขี้ยววอลรัส (Walrus Ivory) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในเขตหนาวเย็นของขั้วโลกเหนือ ทว่าหลายคนอาจไม่ทราบว่า ครั้งหนึ่งวอลรัสเคยเป็นสัตว์พื้นถิ่นในดินแดนสแกนดิเนเวียที่พบได้ทั่วไป
ประเทศไอซ์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านของเจ้าพวกวอลรัส
แต่ทว่า….อะไรคือเหตุผลที่ทำให้วอลรัสสูญพันธุ์ไปจากไอซ์แลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าสงบสุขที่สุดในยุโรปเหนือ เราจะมาหาคำตอบกัน!!!
ประวัติศาสตร์ไอซ์แลนด์เริ่มต้นในปี 874 เมื่อ อิงกอล์ฟร์ อาร์นาร์สัน (Ingólfr Arnarson) นักสำรวจนอร์เวย์ตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไอซ์แลนด์เป็นครั้งแรก เขาและครอบครัวก่อตั้งเมืองเรคยาวิค (Reykjavík) ที่ต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของเกาะ
ในอดีตเกาะแห่งนี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักล่าและชาวประมงตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 9 ในฐานะแหล่งล่าวอลรัสและปลาวาฬหลายสายพันธ์ุ เกาะไอซ์แลนด์เคยมีวอลรัสอยู่ชุกชุม วอลรัสมีลักษณะคล้ายสิงโตทะเลขนาดใหญ่ มีเขี้ยวหรืองางอกยาวจากริมฝีปากบนทั้งเพศผู้และเพศเมีย กะโหลกและเขี้ยววอลรัสเป็นที่ต้องการของชนชั้นสูงในยุโรป ผู้คนนำเขี้ยววอลรัสมาแกะสลักเป็นรูปเคารพ เครื่องประดับ และด้ามจับอาวุธยุโรป เพราะเชื่อว่ากระดูกที่ได้จากสัตว์ชนิดนี้มีอำนาจในการปกปักษ์รักษาผู้ครอบครองให้อยู่รอดปลอดภัย
นอกจากนี้ชั้นผิวหนังหนาของวอลรัสยังถูกนำมาตากแห้งเพื่อใช้เป็นเชือกมัดเสากระโดงและใบเรือ สำหรับชุมชนไวกิ้งที่ผูกพันกับการเดินเรือแล้ว เชือกจากหนังวอลรัสกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ เหล่านักล่าจึงเดินทางมาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวบนเกาะเพื่อการนี้
ก่อนหน้ายุครุ่งเรืองของเหล่านักล่าวอลรัส ชาวยุโรปภาคพื้นทวีปได้รู้จักกระดูกสัตว์ชนิดนี้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 3 เมื่อโซลินุส (Solinus) นักเขียนชาวโรมันผู้เลื่องชื่ออ้างอิงถึงชาวเคลต์ (Celt) หรือเซลติก (Celtic) ในอาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไอร์แลนด์ในปัจจุบัน โซลินุสกล่าวถึงชาวเคลต์ที่ถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนในสายตาชาวโรมันสมัยนั้นว่า “พวกเขาใช้ดาบที่มีด้ามจับทำจากเขี้ยวของสัตว์ร้ายที่อาศัยในทะเล” เรื่องเล่าของโซลินุสในครั้งนั้นทำให้ชาวโรมันได้รู้จักสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้เป็นครั้งแรก และทำให้ชนชั้นสูงในจักรวรรดิโรมันตะวันตกในตอนนั้นต้องการได้เขี้ยวของสัตว์ร้ายที่ว่ามาครอบครอง
ไม่เพียงแต่ชาวโรมันเท่านั้นที่บันทึกถึงเขี้ยววอลรัส หลายศตวรรษต่อมา อดัมนานุส (Adamnanus) อธิการอารามชาวไอริชในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้บันทึกถึงเรื่องราวของนักบุญโคลอมบา (Colomba) แห่งไอร์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 อดัมนานุสอ้างว่า นักบุญโคลอมบามอบดาบที่มีด้ามจับทำจากเขี้ยวของวอลรัสมามอบเป็นค่าไถ่ตัวเขาจากความเป็นทาสแก่เจ้านายก่อนกลายมาเป็นนักบุญในคริสตศาสนา เรื่องเล่าอดัมนานุสแสดงให้เห็นว่า
สิ่งของที่ทำจากเขี้ยววอลรัสในขณะนั้นมีมูลค่าสูงจนสามารถนำมาเป็นค่าไถ่ตัวมนุษย์ได้!!!
เมื่อนำเรื่องราวของโซลินุสและอดัมนานุสมาประกอบกัน เราจะเข้าใจได้ดีขึ้นว่า เขี้ยวของวอลรัสมีความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวยุโรปมาช้านาน และอาจสันนิษฐานได้เช่นกันว่า ความนิยมในการใช้เขี้ยววอลรัสเป็นวัสดุแกะสลักด้ามอาวุธนี้เองที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดนี้สูญพันธุ์จากไอร์แลนด์และเกาะอังกฤษ จนเป็นเหตุให้นักล่าวอลรัสต้องเดินทางมายังดินแดนสแกนดิเนเวียเพื่อเสาะหาอวัยวะสัตว์ล้ำค่าในเวลาต่อมา
บรรดากษัตริย์ในยุโรปยุคกลางเริ่มติดต่อการค้ากับชาวนอร์สทางตอนเหนือของทวีปเพื่อการค้าและการเผยแพร่ศาสนา ในปี 890 กษัตริย์ชาวแซกซอนแห่งเกาะอังกฤษ อัลเฟรดมหาราช (Alfred the Great) กล่าวถึงเขี้ยววอลรัสล้ำค่าที่เขาได้มาจากพ่อค้าชาวไวกิ้งนามว่าอูห์เธอร์แห่งฮาโลกาแลนด์ (Ohthere of Hålogaland) อูห์เธอร์เป็นนักสำรวจชาวนอร์เวย์คนแรกๆ ที่เดินเรือติดต่อสัมพันธ์กับชาวยุโรปในดินแดนอื่น นอกจากสแกนดิเนเวีย และเป็นเหตุผลที่ทำให้การค้าระหว่างชาวนอร์สและชาวยุโรปภาคพื้นทวีปดำเนินต่อไป แม้ว่าเหล่าไวกิ้งจะถูกชาวยุโรปในดินแดนอื่นตัดสินด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยอคติว่าพวกเขาเป็นคนเถื่อนที่ยังบูชาเทพและเทพีแห่งธรรมชาติ ซ้ำยังปฏิเสธที่จะเข้ารีตเป็นคริสตศาสนิกชนเช่นเดียวกับชาติอื่นในยุโรปในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวอลรัสสูญพันธุ์ไปจากดินแดนไอร์แลนด์และเกาะอังกฤษ ชนชั้นสูงและพ่อค้าชาวยุโรปจึงเริ่มติดต่อกับดินแดนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ พวกเขานำเข้าเขี้ยววอลรัสจากดินแดนชายฝั่งทะเลเหนือและทางตอนเหนือของประเทศรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าหลังจากที่สงครามครูเสด (Crusade Wars) สงครามศาสนาระหว่างคริสต์ศาสนิกชนและชาวมุสลิมปะทุขึ้นในปี 1095 ชาวยุโรปตะวันตกก็ประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้าจากยุโรปตะวันออกหลังถูกกองทัพมุสลิมเข้ายึดครองและปิดกั้นเส้นทางการค้าทางตะวันออกแทบทั้งหมด ตอนนั้นเองที่การค้ากับชาวนอร์สหรือไวกิ้งที่อาศัยในดินแดนสแกนดิเนเวียทวีความสำคัญยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้การล่าวอลรัสจึงดำเนินต่อไปในสแกนดิเนเวียและเกาะไอซ์แลนด์จนกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวนอร์สระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 12
บิยาร์นี เอฟ เอนาร์สสัน (Bjarni F. Einarsson) นักโบราณคดีไอซ์แลนด์ได้ทำการขุดค้นหมู่บ้านสตือด์วาร์ฟยอร์ดูร์ (Stöðvarfjörður) ทางตะวันออกของเกาะในปี 2015 เขาค้นพบรากฐานสิ่งปลูกสร้างที่ทำจากหินที่สันนิษฐานว่าเป็นบ้านพักชั่วคราวของนักล่าวอลรัส โบราณวัตถุที่พบที่นี่ได้แก่ เหรียญอาหรับและโรมัน ลูกปัดหินมีค่า รวมถึงชิ้นส่วนกระดูกและเขี้ยววอลรัส แหล่งโบราณคดีถูกกำหนดค่าอายุราวต้นศตวรรษที่ 9 เอนาร์สสันจึงสันนิษฐานว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนอร์สจากแผ่นดินใหญ่เดินทางมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะห่างไกลเช่นนี้เป็นเพราะทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์พื้นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง
นักโบราณคดีและนักบรรพชีวินวิทยาอธิบายเกี่ยวกับวอลรัสบนเกาะไอซ์แลนด์ว่า…
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้อาศัยอยู่บนเกาะกว่า 7 พันปีมาแล้ว
ทว่าตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวนอร์สเป็นต้นมา ประชากรวอลรัสบนเกาะก็ลดลงอย่างรวดเร็ว มีการบันทึกถึงเขี้ยววอลรัสจากไอซ์แลนด์ในประวัติศาสตร์อังกฤษว่า ฮราฟน์ สเวนบิยาร์นาร์สัน (Hrafn Sveinbjarnarson) คริสต์ศาสนิกชนชาวนอร์สผู้ศรัทธาได้นำกะโหลกและงาวอลรัสที่ล่าได้มามอบให้ทอมัส แบ็กกิต (Thomas Becket) อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นของกำนัล หลักฐานนี้ทำให้เห็นว่าแผ่นดินผืนน้อยทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกเพราะทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
คริสต์ศตวรรษที่ 14 วอลรัสสูญพันธุ์ไปจากไอซ์แลนด์
อย่างไรก็ตาม การล่าวอลรัสในไอซ์แลนด์ยุติลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เนื่องจากสัตว์พื้นถิ่นได้สูญพันธุ์จากดินแดนนี้จนหมดสิ้น วอลรัสที่รอดชีวิตจากการล่าอพยพไปอาศัยตามเกาะต่างๆ บ้างก็ว่ายน้ำขึ้นเหนือไปอยู่ในที่ที่มนุษย์เข้าไม่ถึง เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่คู่ดินแดนนี้มาหลายสหัสวรรษต้องสูญพันธุ์หลังการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ไม่ถึง 500 ปี จำนวนประชากรวอลรัสที่ลดลงในสแกนดิเนเวียอย่างรวดเร็วทำให้ชาวยุโรปภาคพื้นทวีปหาสินค้าของป่าชนิดอื่นมาทดแทน ในตอนนั้นเองที่พวกเขาได้รู้จักกับงาช้างจากเอเชียใต้และแอฟริกา ทำให้พวกเขาหันมาติดต่อสัมพันธ์กับอนุทวีปทางตะวันออกเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหายาก จนพัฒนามาเป็นการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบและนำไปสู่ลัทธิการล่าอาณานิคมในที่สุด
แม้ว่าวอลรัสจะสูญพันธุ์ไปจากเกาะไอซ์แลนด์มาหลายศตวรรษแล้ว ทว่าความต้องการเขี้ยวและชิ้นส่วนอื่นๆ ของวอลรัสยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ชาติอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย หรือชนเผ่าต่างๆ ในอเมริกาเหนือและแคนาดาต่างต้องการเขี้ยววอลรัสไว้ใช้ในการแกะสลักเครื่องมือเครื่องใช้หรือนำมาเป็นเครื่องรางของขลัง หลังปี 1975 เป็นต้นมา
วอลรัสได้กลายเป็นหนึ่งในสัตว์คุ้มครอง
ที่มีรายชื่ออยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ ไซเตส (CITES) ที่รู้จักกันในชื่ออนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) อนุสัญญาฉบับนี้มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคามจนทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาไซเตสไม่สามารถควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น ทำให้การล่าวอลรัสเป็นที่ยอมรับในกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในโลกในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เช่นในหมู่ชาวอินูอิท (Inuit) ในกรีนแลนด์ ชาวอิยูปิยัต (Iñupiat) ในอลาสกา และชาวยูปิก (Yupik) ที่อาศัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม การค้าสินค้าที่ผลิตจากเขี้ยวและกระดูกวอลรัสยังมีให้เห็นทั่วไปในตลาดมืดโดยเฉพาะในประเทศจีน ทำให้ทั่วโลกตั้งคำถามขึ้นมาว่า แท้จริงแล้วอนุสัญญาที่ร่วมลงนามระดับนานาชาติมีผลบังคับใช้จริงหรือไม่ หรือทุกประเทศในโลกควรปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้กับประชาชนของตนกันแน่
การสูญพันธุ์ของวอลรัสทำให้รัฐบาลไอซ์แลนด์ในปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ แม้ว่าไอซ์แลนด์จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ได้รับอนุญาตให้ล่าวาฬอย่างถูกกฏหมาย ทว่ารัฐบาลก็จำกัดจำนวนวาฬที่ล่าได้ในแต่ละปี รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยให้นักท่องเที่ยวเฝ้าสังเกตชีวิตวาฬและสัตว์พื้นถิ่นชนิดอื่นโดยไม่เข้าไปแทรกแซง ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสัตว์เมืองหนาวในดินแดนนี้เป็นอย่างมาก ชาวไอซ์แลนด์จึงร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป
การสูญพันธุ์ของวอลรัสเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของมนุษยชาติทั้งมวล….
ที่มา
- Disappearance of Icelandic Walruses Coincided with Norse Settlement
- วอลรัส พี่เบิ้มแห่งขั้วโลกเหนือ : สำรวจโลก
อ่านต่อ >>> คริสต์ศาสนาในไอซ์แลนด์: ความเชื่อต่างแดนที่คุณอาจไม่เคยรู้