คริสต์ศาสนาในไอซ์แลนด์: ความเชื่อต่างแดนที่คุณอาจไม่เคยรู้
คริสต์ศาสนาในไอซ์แลนด์…. ดินแดนแห่งน้ำตกและภูมิทัศน์ที่สวยงาม และมีโบสถ์หลังน้อยตั้งกระจายอยู่ทั่วไป โบสถ์คือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคริสต์ เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวคริสต์ และเป็นที่ทราบกันดีว่าคริสตศาสนามีผู้นับถือมากที่สุดในยุโรป
ในประเทศเหนือสุดของทวีปอย่างไอซ์แลนด์ก็เช่นกัน ทว่ากว่าจะกลายมาเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ ทว่ากว่าจะกลายมาเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศเช่นนี้ เหล่ามิชชันนารีและคริสตศาสนิกชนต้องเผชิญความยากลำบากและความท้าทายนานับประการเพื่อมาสู่จุดนี้ได้
คริสต์ศาสนากลายมาเป็นที่ศรัทธาของชาวไอซ์แลนด์ได้อย่างไร??
ผู้คนตั้งถิ่นฐานบนเกาะไอซ์แลนด์ครั้งแรกปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นและสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย นักเดินทางไอริชกลุ่มแรกจึงพำนักที่นี่ชั่วคราวระหว่างการล่าสัตว์จับสัตว์น้ำเท่านั้น เมื่อชาวนอร์สเข้ามายึดครองดินแดนนี้อย่างถาวรในปี 874 พวกเขานำเอาความเชื่อดั้งเดิมของตนเข้ามาเผยแพร่ เกิดเป็นศาสนาของชาวเกาะที่นับถือธรรมชาติเป็นหลัก โดยมีเทพเจ้าสูงสุด คือ ลันด์ไวตีร์ (Landvættir) หรือจิตวิญญาณแห่งผืนดินนอกจากนี้เทพเจ้าของชาวนอร์สที่มีชื่อเสียงอย่างธอร์ (Thor) เทพเจ้าแห่งสายฟ้า และ เฟรยา (Freyja) เทพีแห่งความงามก็ได้รับการเคารพนับถือเช่นเดียวกัน โดยรูปเคารพเทพและเทพีเหล่านี้ถูกพบทั่วไปในไอซ์แลนด์จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวไอซ์แลนด์ในยุคบุกเบิกจะยึดถือการบูชาเทพเจ้าธรรมชาติเป็นสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่รู้จักคริสต์ศาสนาเอาเสียเลย แน่นอนว่าศาสนาคริสต์ที่เป็นที่นิยมในยุโรปภาคพื้นทวีปในยุคกลางเป็นที่รู้จักของชาวเกาะไม่น้อยไปกว่ากัน ในอิชเลนดิงกาบก (Íslendingabók) หรือหนังสือแห่งชาวไอซ์แลนด์ (Book of Icelanders) ที่เป็นตำราประวัติศาสตร์แรกเริ่มของเกาะไอซ์แลนด์ได้กล่าวถึงการพบปะของผู้คนที่นับถือความเชื่อดั้งเดิมและคณะมิชชันนารีชาวคริสต์จากยุโรปภาคพื้นทวีป พวกเขาเรียกมิชชันนารีในขณะนั้นว่าปาปาร์ (Papar) ที่แปลว่าพ่อหรือบิดาด้วยความเคารพ แม้ว่าตำราประวัติศาสตร์เล่มนี้จะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาประจำชาติของไอซ์แลนด์โดยสมบูรณ์แล้วก็ตาม ทว่าลำนำบรรพกาลที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อหายังสามารถนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มีความเชื่อแตกต่างในยุคบุกเบิกได้ว่า พวกเขามีความเคารพซึ่งกันและกัน และไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อของอีกฝ่ายโดยสิ้นเชิง
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาวนอร์สในแผ่นดินใหญ่เข้ารับศีลล้างบาปและประกาศตนเป็นคริสตศาสนิกชนเพิ่มมากขึ้น มิชชันนารีมากมายเดินทางมายังเกาะไอซ์แลนด์เพื่อเผยแพร่ศาสนา ทว่ากลับไม่เป็นผล เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมหยั่งรากลึกในจิตใจชาวพื้นเมือง
บางคนนับถือพระเยซูในฐานะเทพเจ้าในความเชื่อของตน ไม่ใช่บุตรของพระเจ้าในศาสนาคริสต์ พวกเขายังคงบูชาธรรมชาติต่อไปเพื่อป้องกันตนจากสภาพอากาศที่ทารุณ
สถานการณ์ภายนอกบีบบังคับให้ชาวเกาะเข้ารับคริสต์ศาสนาแบบจำยอม ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 โอลาฟ ทริกกวาสัน (Olaf Tryggvason) กษัตริย์นอร์เวย์ต้องการผนวกเกาะไอซ์แลนด์เข้ามาอยู่ใต้การปกครองของตน กษัตริย์โอลาฟเป็นผู้นำที่ประกาศตนเป็นชาวคริสต์ เขาอ้างเหตุผลที่ว่า…
ไอซ์แลนด์เป็นดินแดนของพวกป่าเถื่อนเพื่อเข้ายึดครอง
โอลาฟขู่ว่าจะสังหารคนนอกรีตทุกคนบนเกาะ ทหารของเขาจับกุมชาวไอซ์แลนด์หลายคนเป็นตัวประกัน ผู้นำในสภาอาล์สทิงก์ (Althing) สภาปกครองสูงสุดแห่งไอซ์แลนด์จึงจำใจประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำเกาะเพื่อรักษาชีวิตคนของตนเอาไว้
ประกาศสายฟ้าแลบนี้เองที่จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและศาสนาใหม่!!!
สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นหลังชาวคริสต์หัวรุนแรงจุดไฟเผาศาสนสถานในความเชื่อเดิม เคราะห์ดีที่ทั้งสองฝ่ายยอมสงบศึกเมื่อ ธอร์เกียร์ ธอร์เคลส์สัน (Thorgeir Thorkelsson) ผู้นำคนหนึ่งในสภายื่นข้อเสนอให้ประณีประณอม ธอร์เกียร์เสนอให้ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทำให้ผู้นับถือศาสนาดั้งเดิมยังคงประกอบพิธีกรรมของตนได้ในขณะที่คริสต์ศาสนิกชนก็มีสิทธิ์ในการเผยแพร่ศาสนาเช่นกัน คริสต์ศาสนาบนเกาะไอซ์แลนด์จึงได้วางรากฐานอย่างมั่นคงในตอนนั้น โดยมีอิชเลวูร์ กิชชูราร์สัน (Ísleifur Gissurarson) เป็นบิชอปหรือมุขนายกคนแรกของไอซ์แลนด์ในปี 1056
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น
เมื่อสภาผู้อาวุโสนำโดยธอร์เกียร์ ธอร์เคลส์สัน อ้างว่า วิธีเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติสงบสุขโดยปราศจากการแทรกแซงจากนอร์เวย์คือการที่ทุกคนบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์หรือไม่ ต้องเข้าพิธีรับศีลล้างบาปโดยทั่วกัน แรกเริ่มเดิมที ผู้นับถือความเชื่อดั้งเดิมไม่เห็นว่ากฎนี้เป็นปัญหาต่อมาบูชาเทพเจ้าของตน การเข้ารับศีลล้างบาปแต่ในนามไม่อาจลบล้างอัตลักษณ์ของพวกเขาได้ ทว่าในเวลาต่อมานางสภาก็ได้ออกกฎใหม่ว่าด้วยการเซ่นสังเวยเทพเจ้า มีใจความโดยสรุปว่า การประกอบพิธีกรรมทุกอย่างในความเชื่อเดิมสามารถทำได้อย่างลับๆ หากมีผู้พบเห็นเมื่อใด ผู้ประกอบพิธีจะถูกลงโทษทันที ด้วยเหตุนี้ความเชื่อดั้งเดิมจึงค่อยๆ สูญหายไปจากเกาะตามกาลเวลา ไอซ์แลนด์จึงกลายเป็นดินแดนของชาวคริสต์โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับชาติอื่นในยุโรปยุคกลาง
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ…
ประวัติศาสตร์ศาสนาในไอซ์แลนด์เกิดขึ้นอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อ นิกายลูเทอแรน (Lutheranism) ที่ถือกำเนิดโดยมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) เป็นที่นิยมในยุโรปภาคพื้นทวีป
นิกายลูเทอแรน ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของโปรเตสแตนต์ (Protestantism) ถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อคัดค้านความเชื่อแต่เก่าก่อนของคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พวกเขามองว่าบาปหลวงคาทอลิกเริ่มใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองการปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคิดแต่จะหาประโยชน์จากผู้ศรัทธา แม้แต่การสารภาพบาปที่เป็นกิจอันพึงกระทำยังต้องจ่ายเงินเพื่อให้มาซึ่งใบไถ่บาป พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบาทหลวงคาทอลิกนี้เองที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนา (Religious Reformation) และทำให้ศาสนาคริสต์แตกออกเป็นนิกายย่อยต่างๆ มากมายดังที่เห็นในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ชาวไอซ์แลนด์นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนับศตวรรษ การเข้ามาของนิกายลูเทอแรนผ่านการค้ากับเยอรมนีจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ในไอซ์แลนด์เกิดขึ้นเมื่อคริสเตียนที่ 3 (Christian III) กษัตริย์เดนมาร์กผู้นับถือนิกายลูเทอแรนพยายามเปลี่ยนชาวไอซ์แลนด์ให้นับถือศาสนานิกายเดียวกับตน
ในปี 1538 คริสเตียนที่ 3 ออกพระราชกฤษฎีกาถึงบาทหลวงคาทอลิกในไอซ์แลนด์ให้เปลี่ยนมานับถือนิกายลูเทอแรน
คำเชิญของกษัตริย์เดนมาร์กถูกเอิกมุนดูร์ พาลล์สัน (Øgmundur Pállson) และ โยน อราสัน (Jón Arason) บิชอปคาทอลิกสองคนสุดท้ายบนเกาะปฏิเสธอย่างไม่ไยดี ต่อมาเอิกมุนดูร์ผู้ชราเลือกกิชชูร์ เอนนาร์สสัน (Gissur Einarsson) บาทหลวงหนุ่มขึ้นมาเป็นผู้สืบทอด กิชชูร์ที่ได้รับการศึกษาในฮัมบูร์ก (Humburg) ประเทศเยอรมนีที่เป็นศูนย์กลางโปรเตสแตนต์ในขณะนั้นเปลี่ยนมานับถือนิกายลูเทอแรนและกลายเป็นบิชอปนิกายลูเทอแรนคนแรกของไอซ์แลนด์ในปี 1542
แม้ว่ากิชชูร์จะเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน ทว่าหลักคำสอนที่ชัดเจนและโปร่งใสของโปรเตสแตนต์ก็ทำให้ชาวเกาะจำนวนมากหันมานับถือนิกายลูเทอแรนแทนโรมันคาทอลิกที่นับวันยิ่งเจ้ายศเจ้าอย่าง
ด้วยเหตุนี้ศาสนาคริสต์นิกายลูเทอแรนจึงมีผู้นับถือมากที่สุดในไอซ์แลนด์จนถึงปัจจุบัน รองลงมาด้วยนิกายโรมันคาทอลิก และศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ
ทว่าแม้ชาวไอซ์แลนด์จะยอมรับการปฏิรูปศาสนาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทว่าประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ในไอซ์แลนด์ก็ยังมียุคมืดเช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆ ในทวีปยุโรป ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17…
ข่าวลือเรื่องแม่มดและไสยศาสตร์
แพร่กระจายไปทั่วทั้งเกาะ สาเหตุหลักส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบาทหลวงลูเทอแรนพร่ำสอนเกี่ยวกับการทรมานไร้ที่สิ้นสุดหลังประตูนรก เป็นเรื่องเข้าใจผิดที่น่าเศร้าที่ชาวไอซ์แลนด์และชาวยุโรปทั่วไปในยุคนั้นเชื่อว่า ประตูนรกตั้งอยู่ในภูเขาไฟเฮกลา (Hekla) หนึ่งในภูเขาไฟที่ปะทุรุนแรงที่สุดทางตอนใต้ของเกาะ ทำให้ชาวเกาะที่เกรงกลัวต่อบาปไล่ล่าแม่มดหรือผู้กระทำผิดในหมู่พวกตนเพื่อหลีกเลี่ยงการตกนรก ระหว่างค.ศ.1625 ถึง 1685 มีการบันทึกถึงการประหารชีวิตแม่มดโดยคนของโบสถ์กว่า 25 คน ไม่รวมถึงการสังหารพ่อมดแม่มดกันเองในหมู่ชาวบ้านที่ไม่มีการบันทึก เกือบทั้งหมดของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้มนตร์ดำเป็นเพศชาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดเมื่อคิดถึงความจริงที่ว่า ในยุโรปภาคพื้นทวีปเกือบทุกประเทศ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้มนตร์ดำส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ทว่าในไอซ์แลนด์ การประกอบพิธีกรรมลึกลับกลับข้องเกี่ยวกับเพศชายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิชาการต้องค้นหาคำตอบต่อไปว่า เหตุใดบทบาทของบุรุษและสตรีในเกาะไอซ์แลนด์จึงแตกต่างกับส่วนอื่นของทวีปเช่นนี้ผู้คนยุติการล่าแม่มดในไอซ์แลนด์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18
ระหว่างปี 1703 ถึง 1784 ความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ของชาวคริสต์บนเกาะกลับเข้ามาแทนที่ความเชื่อเรื่องเดิม
ไอซ์แลนด์เผชิญภัยธรรมชาติครั้งใหญ่หลายครั้ง
สาเหตุสำคัญมาจากภูเขาไฟที่ยังไม่ดับบนเกาะที่พร้อมปะทุตลอดเวลา ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวไอซ์แลนด์ล้มตายไปกว่าหนึ่งหมื่นคน หนึ่งในภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1783 เมื่อภูเขาไฟลากิ (Laki) ปะทุขึ้น การปะทุในครั้งนี้ทำให้ลาวาในภูเขาไฟไหลติดต่อกันนานกว่า 5 เดือน และเป็นเหตุให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก ผลกระทบจากภัยธรรมชาติในปี 1783 ดำเนินต่อยาวไปถึงปี 1784 ระหว่างที่ชาวไอซ์แลนด์กำลังสิ้นหวังอยู่นั้น
ตำนานบทใหม่แห่งความศรัทธาก็ได้ถือกำเนิด พวกเขาเล่าลือกันไปต่างๆ นานาว่า ระหว่างที่ลาวาจากภูเขาไฟลากิไหลท่วมบริเวณโดยรอบจนไปถึงโบสถ์ในหมู่บ้านกิร์กยูบายยาร์เคลาชตูร์ (Kirkjubæjarklaustur) ทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์ บาทหลวงประจำโบสถ์นามว่าโยน สเตนกริมส์สัน (Jón Steingrímsson) ได้ออกมายืนขวางกำแพงโบสถ์ไว้ พลางท่องคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลไปด้วย ทันใดนั้นเอง ลาวาที่ไหลท่วมแผ่นดินก็หยุดลงที่กำแพงโบสถ์ ทำให้หมู่บ้านกิร์กยูบายยาร์เคลาชตูร์รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ไปได้ด้วยปาฏิหาริย์จากพระเจ้า ไม่ว่าปาฏิหาริย์ในหมู่บ้านเล็กๆ จะเป็นความจริงหรือไม่ ทว่าในหมู่คริสต์ศาสนิกชนผู้เคร่งครัดในไอซ์แลนด์ ตำนานของบาทหลวงสเตนกริมส์สันจะยังคงอยู่ตลอดไป
ปัจจุบันไอซ์แลนด์มีโบสถ์มากว่า 350 แห่งกระจายอยู่ทุกชุมชน โดยมีโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุด คือ กราวาร์กิร์กยา (Grafarkirkja) โบสถ์นิกายลูเทอแรนที่สร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ไม่ไกลจากเมืองฮอฟชอช (Hofsos) ทางตอนเหนือของเกาะ สถาปัตยกรรมพื้นเมืองสร้างด้วยไม้คงสภาพเดิมได้เพราะอากาศหนาวเย็น นอกจากฮอฟชอชแล้ว ไอซ์แลนด์ยังมีโบสถ์สวยงามอีกมากมายให้ได้เที่ยวชม ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ฮัลล์กริมชคิร์กยา (Hallgrímskirkja) แห่งเรคยาวิค (Reykjavik) โบสถ์แห่งเซย์ดิชฟยือร์ดูร์ (Church of Seyðisfjörður) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าแม้ไอซ์แลนด์จะเข้ารับคริสต์ศาสนาช้ากว่าประเทศอื่นในยุโรป แต่ศรัทธาของชาวเกาะก็ฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน โบสถ์หลายแห่งกลายเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ยังความเพลิดเพลินและสงบใจให้กับผู้มาเยือนจากทุกสารทิศ
ที่มา Late and Peaceful : Iceland’s Coversion through Arbitration in 1000
อ่านต่อ >>> วอลรัสสูญพันธุ์จากไอซ์แลนด์ได้อย่างไร??