อุทยานแห่งชาติซิงเควลลีร์ (Thingvellir National Park) ของประเทศไอซ์แลนด์ ข้ามทวีปภายในอุทยานแห่งชาติ Thingvellir ณ ประเทศไอซ์แลนด์ แลนมาร์กสำคัญทางธรณีวิทยา แหล่งมรดกโลก UNESCO และสถานที่ถ่ายทำซีรีย์ยอดฮิต Game of Thrones ที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงแรยาวิคเพียง 45 นาที เดินทางสำรวจภูมิประเทศไอซ์แลนด์ที่ที่สองแผ่นเปลือกโลกอเมริกาและยูเรเชียมาเจอกันเกิดเป็นรอยแยกใต้น้ำยอดฮิตติดอันดับโลก
What is Thingvellir??
Thingvellir เป็นชื่อภาษาอังกฤษที่ถูกถอดออกมาจากคำว่า ÞINGVELLIR ในภาษาไอซ์แลนด์ โดย “Þing” หมายถึง รัฐสภาและ “Vellir” หมายถึง ที่ราบ เมื่อมารวมกันแล้วจึงได้เป็นคำว่าที่ราบสำหรับการประชุมรัฐสภา ซึ่งสะท้อนถึงอดีตในปีค.ศ.930 ในช่วงที่พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่รวมตัวกันของผู้นำภายในประเทศเพื่อปรึกษาหารือถึงความเป็นไปของประเทศซึ่งต่อมาถือว่าเป็นการตั้งรัฐสภาแห่งแรกของไอซ์แลนด์ โดยได้ใช้พื้นที่บริเวณ Thingvellir นี้มากว่า 850 ปีจนถึงปีค.ศ.1798 เลยทีเดียว
ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์และได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไอซ์แลนด์แห่งแรกในปีค.ศ. 1930 อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO เพื่อระลึกถึงการเป็นจุดกำเนิดรัฐสภาอันเก่าแก่แห่งแรกของไอซ์แลนด์อีกด้วย
ย้อนรอยประวัติศาสตร์ อุทยาน Thingvellir
หากพูดถึงประวัติศาสตร์สร้างชาติไอซ์แลนด์แล้วละก็ คงจะไม่มีสถานที่ไหนอธิบายได้ดีไปกว่าอุทยานแห่งชาติ Thingvellir อีกแล้วเพราะอย่างที่ได้กล่าวไป พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดและจุดเริ่มต้นของ Alþingi (Althing) รัฐสภาแห่งแรกของไอซ์แลนด์ นอกจากนั้นยังเป็นจุดรวมตัวของชาวไอซ์แลนด์ในอดีตในการประชุมหรือจัดกิจกรรมสำคัญต่างๆ และยังเป็นสถานที่สำคัญที่ทางสภาไอซ์แลนด์ได้ประกาศรับคริสต์ศาสนาเข้ามาในประเทศอย่างเป็นทางการอีกด้วย
กว่า 868 ปีในทุกฤดูร้อนที่เหล่าประมุข หัวหน้าเผ่า บิชอป ชาวนาและเหล่าประชากรหญิง ชายจากทั่วทุกสารทิศในไอซ์แลนด์จะต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านมุ่งหน้ามายัง Thingvellir สำหรับการประชุม พบปะ สังสรรค์ที่จะจัดขึ้นยาวนานกว่า 2 สัปดาห์โดยจะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดีแรกของอาทิตย์ที่ 11 ของฤดูร้อนในแต่ละปี (ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม) โดยการเดินทางมา Thingvellir นี้ อาจจะใช้เวลาบนหลังม้าถึง 17 วันเลยทีเดียวหากผู้เดินทางมาจากทางทิศตะวันออกของประเทศ เมื่อมาถึงแล้วก็ถึงเวลาตั้งแคมป์ สร้างที่พักชั่ววคราวและจัดพื้นที่สำหรับการประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้น
การประชุมบนลานกว้าง Thingvellir เป็นอย่างไรนะ?
เหมือนผู้นำปัจจุบันประชุมกันหรือเปล่า?
อย่างที่รู้กันว่าการจัดประชุมระหว่างพื้นทีหรือชนเผ่าในอดีต จะไม่ได้ทางการ เคร่งเครียดอย่างปัจจุบัน การรวมตัวนี้ก็เช่นกัน จะเป็นการประชุมกึ่งการพบปะ สังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนเปลี่ยนข่าวสารและสินค้า มีการซื้อขายกันเล็กๆ น้อยๆระหว่างพื้นที่ รวมถึงการเล่นเกมส์และงานฉลองในทุกค่ำคืนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าต่างๆ นอกเหนือจากกิจกรรมประจำปีที่จัดกันเป็นประจำแล้ว ไม่ว่าจะมีพบปะงานสำคัญอะไรต่างๆ ชาวไอซ์แลนด์ก็มักนึกถึงลานกว้างแห่งนี้เป็นที่แรกเสมอ
จากบันทึกกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ที่บัญญัติกฎหมายหลายต่อหลายมาตรา เป็นที่ประชุมตกลงหารือข้อพิพาทระหว่างเผ่าหรือบุคคลหลากหลายกลุ่ม รวมถึงยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทำกิจกรรมทางศาสนา การตัดสินยกเลิกกฎหมาย การจัดงานแต่งงานหรือการเจรจาสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศอีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะเป็นตัวแทนของแต่ละเผ่าหรืออาจจะเป็นธุรกิจส่วนตัวของใครในไอซ์แลนด์ก็ได้ ยิ่งวันเวลาผ่านไปพื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นเสมือนจุดรวมตัวของชาวไอซ์แลนด์ในอดีต แต่ละครั้งที่ชาวไอซ์แลนด์มาพบปะรวมตัวกันพื้นที่แห่งนี้ก็จะเต็มไปด้วยเต็นท์และข้าวของต่างๆ ของนักเดินทาง หินผาล้อมรอบตลอดบริเวณพื้นที่เป็นทั้งที่พังอาศัยและเกราะบังลม อีกทั้งเหล่าแกะและม้าซึ่งเป็นทั้งสินค้า ยานพาหนะของผู้คนสมัยนั้น
จุดกำเนิดศาสนาประจำชาติ
อย่างที่รู้ๆ กันว่าประเทศไอซ์แลนด์นั้นมี ศาสนาคริสต์ นิกายเอวานเจลิคัลลูเทอรัน (Evangelical Lutheran Church) เป็นศาสนาประจำชาติและประชากรส่วนใหญ่กว่า 93% ของประเทศเองก็นับถือศาสนานี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่มีใครรู้บ้างว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพลและรากฐานที่แข็งแรงในไอซ์แลนด์นั่นเกิดขึ้นที่ลานกว้าง Thingvellir แห่งนี้
- ช่วงประมาณปี ค.ศ.1000 นักกฎหมายในสภาไอซ์แลนด์ ธอร์เกียร์ ธอร์เคลส์สัน (Þorgeir Ljósvetningagoði Þorkelsson) ได้ยื่นข้อเสนอประนีประนอมและเสนอให้ทุกคนมีอิสรภาพในการนับถือศาสนา รวมถึงตอบรับให้ผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์สามารถเผยแพร่ศาสนาในไอซ์แลนด์ได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาศาสนาคริสต์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในไอซ์แลนด์ ค่อยๆกลืนกินการบูชาเทพนอร์สของชาวไอซ์แลนด์ในอดีต
- ต่อมาในศตวรรษที่ 16 นิกาย นิกายลูเทอแรน (Lutheranism) ที่ถือกำเนิดโดย มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) จึงได้เข้ามาในไอซ์แลนด์และกลายเป็นศาสนาประจำชาติในที่สุด
- ปัจจุบันเองก็ยังคงมี โบสถ์ซิงควาลาห์ (Þingvallakirkja)โบสถ์หลังเล็กสีขาว แต่งแต้มสลับกับหน้าสีเขียวสดใส หลังคาสีน้ำเงินเข้มโดดเด่นตั้งอยู่ภายในอุทยานแสดงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมทางศาสนาของชาวไอซ์แลนด์ในอดีต ว่ากันว่าโบสถ์หลังนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ 1895 เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอาทิ พิธีศีลล้างบาป และถูกบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมาจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดสุดท้ายของนักเดินทางที่เข้ามาในอุทยานในปัจจุบัน เรียกได้ว่าใครมาก็พลาดไม่ได้เลยทีเดียว
สำรวจเส้นทางธรรมชาติ…. สวยจนอยากหยุดหายใจ
การเดินทางสู่ อุทยานแห่งชาติซิงเควลลีร์ (Thingvellir National Park) จากเมืองหลวงเรยาวิคนั้น สามารถใช้ถนนเส้น 435 เพื่อมุ่งสู่ตัวอุทยานแห่งชาติได้โดยระหว่างทางจะพบการทะเลสาป Thingvallavatn ซึ่งเป็นทะเลสาปที่อุดมสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ ทะเลสาบใสกว้างขนาบข้างทางไปจนถึงบริเวณอุทยาน หลังจากรับข้อมูลที่จุดบริการนักท่องเที่ยวแล้วจะเป็นการเดินหรือขับรถชมจุดต่างๆ ต่อไป
Almannagjá รอยแยกที่สำคัญของอุทยาน Thingvellir
โดยจุดแรกที่จะพาไปดูกันเลยคือ Almannagja ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหรือจุดที่แผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือและแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียแยกออกจากกัน ซึ่งบริเวณ Almannagja เป็นที่เดียวในโลกที่เราสามารถเห็นรอยแยกแผ่นเปลือกโลกหรือรอยต่อสองทวีปที่อยู่เหนือผิวน้ำได้อย่างชัดเจน ในจุดนี้เองนักธรณีวิทยาได้ศึกษาแล้วว่าเมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อน แผ่นเปลือกโลกทั้งสองได้มีการแยกตัวออกจากกันส่งผลให้เกิดการปะทุของภูเขาไฟจนเกิดเป็นเทือกเขาใหญ่ก่อให้เกิดช่องว่างรอยเลื่อนระหว่าง 2 ทวีป
กล่าวกันว่าทุกๆ ปี แผ่นเปลือกโลกทั้งสองจะแยกห่างกันมากขึ้นปีละ 2 เซนติเมตร เราจึงไม่ค่อยเห็นหรือรู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก รอยเลื่อนนี้เป็นรอยเลื่อนยาวกินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณพื้นดินไปจนถึงบริเวณรอยแยกใต้น้ำที่เรียกว่า ซิลฟรา (Silfra)
ซิลฟรา (Silfra) ได้ถูกจัดอันดับว่าเป็น 1 ใน 5 จุดดำน้ำที่ดีที่สุดในโลกและ เป็นการดำน้ำระหว่างสองทวีปที่เหล่านักดำน้ำทั้งหลายจะพลาดไม่ได้เลย (แต่เนื่องจากเส้นทางดำน้ำที่ Silfra มีความคดเคี้ยวตามแนวเปลือกโลกและมีความลึกถึง 80 ฟุต อุณหภูมิน้ำ 2-4 องศา ผู้ที่มาดำน้ำจึงจำเป็นต้องมีใบอนุญาตดำน้ำในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้ด้วย)
นอกเหนือจาก ซิลฟรา (Silfra) ที่เป็นจุดดำน้ำยอดฮิตที่เหล่านักดำน้ำต้องการเดินทางมาเยือนแล้ว ใกล้ๆ กันยังมีอีกจุดดำน้ำหนึ่งที่แม้จะไม่เป็นที่นิยมเท่าซิลฟลา แต่ก็เป็นจุดที่สวยไม่แพ้กันนั่นก็คือ รอยแยกใต้น้ำดาวิด (Davíðsgjá) รอยแยกใต้น้ำแห่งนี้มักเป็นที่นิยมของคนในพื้นที่ที่ต้องการมาดำน้ำพักผ่อน โลกใต้น้ำลึก 21 เมตรกับเส้นทางดำน้ำยาวเพียง 7 เมตรแต่นักเดินทางจะได้พบกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายที่อาศัยหากินระหว่างรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลก
Lögberg (Law Rock) และ the Lögrétta (Law Coucil)
ถัดจาก Silfra ก็จะเป็นการเดินทางขึ้นเหนือมุ่งสู่น้ำตกอันเป็นที่โด่งดังของอุทยาน แต่ระหว่างทางนักเดินทางจะได้พบกับ Lögberg และ the Lögrétta หรือที่ตั้งสภากฎหมายในอดีต เป็นบริเวณที่สภากฎหมายจะให้ประกาศหรือยกเลิกกฎหมายของประเทศแก่ประชากรชาวไอซ์แลนด์ ปัจจุบันทางอุทยานได้นำธงชาติประเทศไอซ์แลนด์มาตั้งไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นจุดกำเนิดรัฐสภาแห่งแรกของประเทศ
แอ่ง Drekkingarhylur
อีกหนึ่งแลนมาร์กก่อนที่จะถึงน้ำตก Öxarárfoss เราจะพบกับ แอ่ง Drekkingarhylur ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับลำธารที่ไหลตัดอุทยาน อาจจะดูเป็นแอ่งธรรมดาๆ แต่แอ่งแห่งนี้นั้นมีเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ว่ากันว่าเมื่อปี ค.ศ. 1590 ก่อนหากใครในพื้นที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับคนในครอบครัว (incest) จะถูกลงโทษโดยผู้ชายจะถูกตัดหัวและแขวนประจานส่วนผู้หญิงจะถูกน้ำมาถ่วงน้ำในแอ่ง Drekkingarhylur แห่งนี้ บ้างก็ว่าฆาตรกรที่ฆ่าเด็กหนุ่ม เด็กสาวก็จะถูกลงโทษในลักษณะนี้เช่นกัน ทำให้แอ่งแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “สระดิ่งจมดับ” หรือ “The Drowning Pool”
น้ำตก Öxarárfoss
น้ำตกแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์ของนักเดินทางหลายคนเลยทีเดียว น้ำตก Öxarárfoss นั้นเกิดจากแม่น้ำออกซ่าร่า (Öxará) หรือ Axe River ในภาษาอังกฤษ ที่ไหลผ่านแนวเทือกเขา Almannagja จนเกิดเป็นน้ำตกที่มีความสูงกว่า 20 เมตรไหลผ่านตามซอกหินทำให้เกิดเป็นเป็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ในอดีตเชื่อว่าน้ำตกแห่งนี้เคยมีสะพานเชื่อมระหว่างสองฝั่งน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรข้ามแม่น้ำ นอกจากนี้ชื่อ The Axe River นั้นมาจากเรื่องเล่าที่ชาวไวกิ้งคนหนึ่งทำขวานตกลงไปในแม่น้ำแห่งนี้ขณะที่เขาพยายามผ่าน้ำแข็งออกเป็นสองส่วนเพื่อนำน้ำออกมา
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับน้ำตกแห่งนี้ก็คือมีงานวิจัยออกมายืนยันว่าน้ำตกแห่งนี้ไม่ใช่น้ำตกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากแต่เป็นกลยุทธ์และความพยายามของมนุษย์ที่พยายามเปลี่ยนทางไหลของน้ำเพื่อที่พวกเขาจะได้มีแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยมากขึ้น แล้วการที่จะเปลี่ยนทางไหลของน้ำในสมัยก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยแรงงานและความสามัคคีในการนำหินหรือกิ่งไม้ไปวางเพื่อเปลี่ยนทางน้ำจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว
หลังจากเดินทางขึ้นไปสู่จุดเหนือสุดของอุทยานซึ่งก็คือน้ำตกออกซาร่าฟอสส์แล้ว ต่อจากนี้จะเป็นการเดินทางมาสู่ฝั่งตะวันออกของอุทยาน ระหว่างทางก็สามารถพักชมสถานที่ต่างๆ โดยรอบได้
Flosagjá
อีกหนึ่งจุดพักที่นักเดินทางจะสามารถมองเห็นรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกที่ถูกน้ำใสปกคลุมได้ ในจุดนี้จะมีสะพานให้นักเดินทางเดินชมบริเวณเหนือลำธาร หลายคนมีความเชื่อเรื่องการขอพร โชคลาภหรือการทำนายต่างๆ ก็จะมาโยนเหรียญขอพรหรือถามคำถาม โดยเชื่อกันว่าหากโยนเหรียญลงไปในลำธารแล้วเรายังเห็นเหรียญอยู่ที่ก้นลำธารคำตอบ คือ ใช่! และหากมองไม่เห็นเหรียญที่ตัวเองโยนคำตอบก็คือ ไม่นั่นเอง ใครได้มาก็สามารถลองโยนเหรียญทำนายกันดูได้
Peningagjá
ขับรถตรงมาอีกหน่อย นักเดินทางก็จะได้พบกับ Peningagjá เป็นสายน้ำเล็กแคบระหว่างหุบเขาอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ติดกับโบสถ์ซิงควาลาห์ (Þingvallakirkja) แอ่งน้ำนี้มีความพิเศษตรงที่ว่าอยู่ติดกับกับโบสถ์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในอดีตนับถือ จึงทำให้มีนักเดินทางมาขอพรกับสายน้ำแห่งนี้โดยการโยนเหรียญเช่นเดียวกับ Flosagjá บ้างก็ขอให้โชคดี บ้างก็ขอให้เดินทางปลอดภัย ในช่วงที่มีนักเดินทางมายังอุทยานมากเหรียญที่โยนลงไปเองก็จะส่องประกายสะท้อนกับแสงอาทิตย์ทำให้น้ำสายนี้ดูระยิบระยับเป็นพิเศษ
จากนั้นนักเดินทางจะวนมาถึงโบสถ์ซิงควาลาห์ เดินชมโบสถ์ริมแม่น้ำจึงถือเป็นการจบทริปต้นกำเนิดไอซ์แลนด์แห่งนี้
การท่องเที่ยวในอุทยานสามารถเที่ยวแบบ One day trip หรือจะ camping ค้างคืนก็ได้เนื่องจากทางอุทยานมีการจัดพื้นที่สำหรับนักเดินทางที่ต้องการค้างคืนอยู่บริเวณทางเหนือของตัวอุทยาน โดยภายในอุทยานนอกจากกิจการดำน้ำและปีนเขาแล้ว นักเดินทางสามารถตั้งแคมป์ ขี่ม้าหรือตกปลาภายในพื้นที่ที่อุทยานจัดไว้ให้ได้ (อุปกรณ์ตกปลาต้องใช้ของอุทยานเท่านั้น) เรียกได้ว่ากิจกรรมหลากหลายไม่มีเบื่อกันเลย
จะเห็นได้ว่าอุทยานแห่งชาติซิงเควลลิร์เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่นอกจากสวยแล้วยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ประวัติศาสตร์สร้างชาติและวิถีชีวิตผู้คนในอดีตหลายอย่างล้วนริเริ่มและดำเนินมาท่ามกล่างหินผาและหุบเขาเหล่านี้ บางทีมันอาจจะถึงเวลาของผู้อ่านบ้างแล้วหรือเปล่าที่จะออกไปผจญภัยสำรวจที่แห่งนี้ด้วยตัวเอง เก็บกระเป๋า หิ้วรองเท้าปีนเขาและคู่หูเดินทางสักคนแล้วมุ่งหน้าสู่อุทยานกันเลย!! รับรองจะเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืม
อ่านบทความอื่นๆของเรา : อ่านบทความได้ที่นี่
สนใจโปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูร้อน
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูหนาว-ล่าแสงเหนือ (เส้นรอบเกาะ ring road)
- โปรแกรมทัวร์ไอซ์แลนด์ ฤดูหนาว ล่าแสงเหนือ ถ้ำน้ำแข็ง
อ้างอิง
- https://www.icelandontheweb.com/articles-on-iceland/nature/national-parks/thingvellir
- https://www.northbound.is/blog/221/a-guide-to-thingvellir-national-park
- https://campingiceland.is/thingvelli-narional-park/