พิพิธภัณฑ์ปัฏนะ แหล่งข้อมูลอารยะอินเดียทีถูกลืมเลือน…นับเป็นเวลาเกือบร้อยปีที่อนุทวีปอินเดียตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ นับตั้งแต่ค.ศ. 1858 จนถึงการประกาศเอกราชภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิอังกฤษได้สร้างบาดแผลให้กับแผ่นดินอาณานิคมรวมถึงผู้คนนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงทรัพยากร บังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือแม้แต่การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ว่ากลุ่มประเทศเอเชียใต้ในปัจจุบันไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทนใดๆ ระหว่างอยู่ใต้อาณัติสหราชอาณาจักร
จักรวรรดิอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพิ่งผ่านยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มาไม่นาน ทำให้ผู้ปกครองผิวขาวกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ ที่สูญหายไปจากชมพูทวีป ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา และวัฒนธรรม ทั้งนี้นักวิชาการชาวอังกฤษในอินเดียตระหนักว่าองค์ความรู้จากโลกตะวันออกสามารถนำมาพัฒนาศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศแม่ ในขณะเดียวกัน บรรดานักการเมืองก็เห็นว่าการเรียนรู้สหวิชาจากอินเดียจะช่วยให้พวกตนเข้าใจแก่นแท้ของวัฒนธรรมเพื่อเป็นประโยชน์ในการปกครองต่อไป
ด้วยเหตุนี้นักวิชาการชาวอังกฤษมากมายจึงหลั่งไหลเข้ามาศึกษาวิจัยในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเซอร์จอห์น มาร์แชล (Sir John Marshall) นักโบราณคดีผู้ขุดค้นโมเหนโจดาโรและฮารัปปา เมืองโบราณสำคัญในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เจมส์ พรินเซป (James Prinsep) นักอ่านจารึกผู้ถอดรหัสอักษรพราหมี (Brahmi) และขโรษฐี (Kharosthi) จากจารึกบนเสาพระเจ้าอโศก เซอร์ชาร์ลส์ วิลกินส์ (Sir Charles Wilkins) นักวิชาการภาษาสันสกฤตผู้แปลคัมภีร์ภควัตคีตา เป็นต้น
ด้วยเหตุทั้งหมดที่ว่ามานี้ ส่งผลให้นักวิชาการอังกฤษก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยหลายแห่งทั่วประเทศอินเดียเพื่อศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้และเก็บรักษาโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างโดยชาวอังกฤษในยุคบริติชราช (British Raj) ศตวรรษแห่งการเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ปัฏนะ (Patna Museum) ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงปัฎนะแห่งรัฐพิหาร (Bihar) ศูนย์กลางอารยธรรมโบราณตั้งแต่ครั้งอาณาจักรมคธ (Kingdom of Magadha)
พิพิธภัณฑ์ปัฏนะก่อตั้งขึ้นโดยเซอร์เอ็ดเวิร์ด อัลเบิร์ต เกต (Sir Edward Albert Gait) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ประจำพิหารและเบงกอล มณฑลเบงกอล บริติชอินเดียในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1917 แต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเพียงห้องเก็บโบราณวัตถุในออฟฟิศที่เกตทำงานอยู่เท่านั้น ทว่าด้วยการสนับสนุนจากกองโบราณคดีและข้าหลวงใหญ่ที่เห็นคุณค่าโบราณวัตถุในคลัง อาคารพิพิธภัณธ์จึงถูกก่อสร้างเต็มรูปแบบในย่านพุทธมรรค (Buddha Marg) จนแล้วเสร็จในปี 1929 นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัฐพิหารในตอนนั้น
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ปัฏนะถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวเบงกาลี ราย บาฮาดูร์ พิษณุ สวรูป (Rai Bahadur Bishnu Swaroop) ให้มีรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมราชปุต (Rajput) และมุฆัล (Mughal) ตัวอาคารมี 2 ชั้น ออกแบบให้มีพื้นที่สวนตรงกลางเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุกลางแจ้ง ชาวพิหารเรียกสถานที่แห่งนี้จนติดปากว่าชาดู ฆาร์ (Jadoo Ghar) ที่มีความหมายว่า ‘บ้านมหัศจรรย์’ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุในประเทศ เครื่องเคลือบจากยุโรปและจีน รวมถึงรูปปั้นและรูปหล่อประณีตที่คนทั่วไปในยุคนั้นไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
ในปัจจุบัน บริเวณกลางแจ้งของพิพิธภัณฑ์ใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงปืนใหญ่และโบราณวัตถุแกะสลักจากหิน ไม่ว่าจะเป็นเทวรูปในพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายาน รูปเคารพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมงดงามอ่อนช้อยเช่นกรอบประตู สถูป และทับหลัง โดยโบราณวัตถุเหล่านี้จะถูกจัดแยกตามยุคสมัยประวัติศาสตร์ศิลปะ ส่วนมากจะเป็นโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) ที่รุ่งเรืองทางตะวันออกของอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 12
ด้านในของอาคารจะแบ่งตามประเภทของโบราณวัตถุและแหล่งที่มา ห้องโถงหลักใช้จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์เมารยะ (Maurya Dynasty) ที่รุ่งเรืองระหว่างศตวรรษที่ 3 และ 4 ก่อนคริสตกาล ได้แก่ ประติมากรรมหินขัดมัน เหรียญกดประทับ (Punch – mark coins) ตราสัญลักษณ์ต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินและดินเผา เป็นต้น
ในส่วนห้องจัดแสดงอื่นๆ มีทั้งห้องจัดแสดงรูปขนาดจิ๋วของขุนนางและจักรพรรดิราชวงศ์มุฆัลที่ปกครองอินเดียระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ห้องจัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายมหายาน ห้องจัดแสดงโบราณวัตถุยุคอาณานิคมที่มีทั้งรูปหล่อสำริดจากยุโรป เครื่องกระเบื้องจากจีน ภาชนะคริสตัลจากฝรั่งเศสและเบลเยียม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่มีทั้งเครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอินเดีย รวมถึงหุ่นขี้ผึ้งและโมเดลจำลองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปัฏนะจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพียงใด ทว่าสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีโดยตรงแล้ว อาจเห็นว่าพิพิธภัณธ์แห่งนี้มีรูปแบบคร่ำครึ ไม่น่าสนใจเท่าใดนัก แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจไม่รับรู้ก็คือ ครั้งหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ปัฏนะเคยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและมีคอลเลคชันโบราณวัตถุใหม่ๆ มาจัดแสดงเสมอ
ทว่าตั้งแต่พิพิธภัณฑ์พิหาร (Bihar Museum) ได้ถูกก่อตั้งในวันประกาศเอกราชอินเดีย วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2015 พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ก็ได้ครองตำแหน่งพิพิธภัณฑ์ประจำรัฐพิหารในบัดดล ทำให้โบราณวัตถุโดดเด่นจำนวนมากถูกเคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณธ์ปัฏนะไปยังพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งก่อตั้ง หนึ่งในโบราณวัตถุเลื่องชื่อที่สุดที่ถูกเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พิหารคือยักษีแห่งทีทารคัญช์ (Didarganj Yakshi) หรือสตรีถือจามร (Didarganj Chauri Bearer) ประติมากรรมชิ้นเอกแห่งราชวงศ์เมารยะที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียโบราณคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ พิพิธภัณธ์ปัฏนะในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพราวถูกทิ้งร้าง โบราณวัตถุที่เคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาถูกถ่ายโอนไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่อยู่ไกลไปไม่กี่ช่วงตึก ครั้งสุดท้ายที่ดิฉันไปเยือนในปี 2019 ตู้จัดแสดงมากมายอยู่ในสภาพว่างเปล่า แม้กระนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ยังทำงานขยันขันแข็ง ความประทับใจที่สุดในการไปเยี่บมชมครั้งนั้น คือ การไปตรงกับวันที่ 2 ตุลาคมซึ่งเป็นวันคานธี ชยันตี (Gandhi Jayanti) หรือวั นครบรอบวันคล้ายวันเกิดมหาตมะคานธี นักต่อสู้เพื่อเอกราชและบิดาผู้ก่อตั้งชาติอินเดีย
สถานที่ราชการทุกแห่งถูกปิดเนื่องจากเป็นวันหยุดราชการของทั้งประเทศ ดิฉันเสียใจมากที่ไม่ได้ไปพิพิธภัณฑ์พิหารที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังในหมู่ผู้รักประวัติศาสตร์ ทว่าเมื่อลองเดินต่อไปตามถนน พบว่าพิพิธภัณฑ์ปัฏนะยังคงเปิดทำการตามปกติ แม้ว่าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจะแจ้งว่าปิดก็ตาม ด้านในมีนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันครบรอบวันเกิดมหาตมะคานธีที่น่าสนใจ ทว่ากลับไม่มีผู้ชมแม้สักคน เมื่อลองสอบถามเจ้าหน้าที่ ดิฉันก็ได้รับรู้ว่าตั้งแต่พิพิธภัณฑ์พิหารเปิดทำการ นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลไปเข้าชมนิทรรศการตระการตาที่นั่นกันหมด ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของรัฐถูกทิ้งไว้อย่างเดียวดาย รอวันปิดทำการอย่างถาวรเท่านั้น
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ปัฏนะจะไม่ได้มีแสงสีหรือนิทรรศการสุดแสนตระการตา แต่เชื่อว่าสถานที่เก็บรักษาความรู้เก่าแก่แห่งนี้ยังควรค่าแก่การอนุรักษ์ หลายปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ไร้คนเหลียวแลเป็นจำนวนมากในอินเดีย จึงได้แต่ภาวนาขอให้ผู้ว่าการรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ปัฏนะแห่งนี้ เพื่อไม่ให้แหล่งค้นคว้าอารยะแห่งแรกของรัฐต้องสูญหายไปตามกาลเวลา
เนื้อเรื่องโดย กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ
อ่านบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆต่อได้ที่ >>> https://www.patourlogy.com/blog/inspiration
สนใจทัวร์ส่วนตัว และโปรแกรมทัวร์ คลิ๊ก >>> https://www.patourlogy.com/ทริปทัวร์เดินทาง