คิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของประเทศเล็ก ๆ ในทวีปแอฟริกาอย่างรวันดา เคยมีประวัติอันน่าขมขื่นที่ยากจะลืมเลือน มาในวันนี้ชาวรวันดาตั้งใจปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ที่พัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จนอาจจะถือว่าเป็นสิงคโปร์แห่งแอฟริกาเลยก็ว่าได้
รวันดา (Rwanda) เป็นประเทศเล็กๆ ใจกลางทวีปแอฟริกาที่ถูกขนาบข้างด้วยประเทศขนาดใหญ่อย่างอูกันดา (Uganda) แทนซาเนีย (Tanzania) และสาธารณรัฐคองโก (DR Congo) ด้วยภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเนินเขาอันอุดมสมบูรณ์อีกทั้งยังไม่มีทางออกสู่ทะเล รวันดาจึงได้รับชื่อเล่นว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งเขาพันลูก’ (Land of the Thousand Hills) ซึ่งเป็นสมญานามที่เบลเยียม ประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าเคยตั้งให้ รวันดามีภูเขาไฟมากถึง 5 ลูก ทะเลสาบ 23 แห่ง และแม่น้ำหลายสายซึ่งบางแห่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำไนล์
ถึงแม้รวันดาจะมีประชากรทั้งประเทศประมาณ 12.3 ล้านคน แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในแอฟริกาส่วนภูมิภาค โดย 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรรวันดามีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีอายุเฉลี่ยประมาณ 22.7 ปี
แต่เชื่อหรือไม่ว่าครั้งหนึ่งรวันดาเคยเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ถือว่าโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากเกือบ 1 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 100 วัน
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Rwandan Genocide) อดีตอันขมขื่นของชาวรวันดา
การเพาะแนวคิดแห่งความขัดแย้งโดยชาติตะวันตก
ย้อนไปในอดีตรวันดาเคยปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้การปกครองของผู้นำจากชนเผ่าทุตซีเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1899 ก่อนจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ใต้อาณานิคมของเบลเยียมในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งเบลเยียมใช้วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and rule) โดยชาวรวันดาแบ่งออกเป็น 2 ชนเผ่าหลัก ๆ คือ ฮูตู (Hutu) ถือเป็นประชากรกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของรวันดา และ ทุตซี (Tutsi) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ได้ขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง
หลังจากรวันดาได้รับอิสระจากการเป็นอาณานิคมของเบลเยียม ชาวฮูตูซึ่งถูกกดขี่มานานได้มีความเกลียดชังชาวทุตซีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรัฐประหารรัฐบาลของทุตซีในปี ค.ศ. 1959 และตามล้างแค้นเข่นฆ่าครอบครัวชาวทุตซี ทำให้มีชาวทุตซีหลายหมื่นคนต้องอพยพลี้ภัยออกจากประเทศ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1979 ชาวทุตซีที่ลี้ภัยได้ระดมกำลังก่อตั้งเป็นกลุ่ม The Rwandese Alliance for National Unity (RANU) เพื่อต่อต้านการเมืองที่มีความแตกแยกและแนวคิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นกองกำลังแนวร่วมรักชาติรวันดา (RPF)
จุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1990 กลุ่ม RPF ได้เปิดฉากการสู้รบในรวันดาจนได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพในปี ค.ศ. 1993 แต่จุดชนวนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาจากการที่เครื่องบินที่นายจูเวนัล ฮับยาริมานา ประธานาธิบดีรวันดา และนายไซเปรียน ทายามิรา ประธานาธิบดีของบุรุนดี ซึ่งทั้งคู่เป็นชาวฮูตู กำลังโดยสารอยู่ถูกยิงตกจนทำให้ผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต
หลังจากนั้นชาวฮูตูได้โหมข่าวกล่าวโทษกลุ่ม RPF ของชาวทุตซีว่าเป็นต้นเหตุทำให้เครื่องบินตก และเริ่มกระจายโฆษณาชวนเชื่อให้มีการสังหารหมู่ แม้ว่ากลุ่ม RPF จะโต้แย้งว่านี่เป็นฝีมือของชาวฮูตูเพื่อให้เกิดข้ออ้างในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
หลังจากนั้นกองกำลังติดอาวุธชาวฮูตูได้รับรายชื่อผู้ที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายรัฐบาลเพื่อต้องการฆ่าพวกเขา รวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย ซึ่งได้ลามไปถึงชาวบ้านธรรมดาก็ได้เข่นฆ่ากันเอง ชาวฮูตูเริ่มฆ่าเพื่อนบ้านที่เป็นชาวทุตซี แม้แต่สามียังฆ่าภรรยาของตัวเองโดยอ้างว่าถ้าเขาไม่ฆ่า ตัวเขาก็จะถูกฆ่าเอง
ในปี ค.ศ. 1994 ชาวรวันดาเกือบล้านคนถูกฆ่าอย่างไร้ความปราณีภายในระยะเวลาเพียง 100 วัน ด้วยเหตุผลความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ชาวทุตซีและแม้แต่ชาวฮูตูเองที่ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถูกฆ่าโดยการสนับสนุนจากกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล แม้แต่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติ (UN) ยังไม่สามารถช่วยเหลือชาวรวันดาได้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของประชาคมระหว่างประเทศในช่วงเวลานั้น
ทุกวันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็นวันที่ชาวรวันดาจะรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาผ่านการเก็บหลักฐานต่าง ๆ ในเหตุการณ์ และการให้ความรู้ประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกิจกรรมจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่กลุ่ม Rwanda Patriotic Army หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และปลดปล่อยประเทศ
ก้าวต่อไปของรวันดา
แม้ว่าก้าวต่อไปของชาวรวันดาจะค่อนข้างยากลำบากจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวันดาที่มีสถานะเป็นรัฐล้มเหลวต้องเริ่มลุกขึ้นมาใหม่และเรียนรู้ที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตอีก โดยหลังจากวันที่ 4 กรกฎาคม กลุ่ม RPF ได้จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาตินำโดยประธานาธิบดีปาสเตอร์ บิซิมุงกู และรวบรวมพรรคต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จัดตั้งเป็นรัฐสภา
จนเมื่อปี ค.ศ. 2003 ประธานาธิบดีพอล คากาเมได้รับผลโหวตจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและได้ดำรงตำแหน่งนานถึงเจ็ดปี ซึ่งในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมารวันดามีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่สำคัญรัฐบาลได้ทำให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และความสามัคคีขึ้นในสังคมชาวรวันดา
จากนั้นในปี ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2017 ประธานาธิบดีพอล คากาเมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้งเป็นสมัยที่สองและสามตามลำดับ ด้วยนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวรวันดาให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังผ่านเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ปัจจุบันชาวรวันดาต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมืองหลวง ‘คิกาลี’ (Kigali) ขึ้นใหม่ ด้วยแผนการปรับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การอนุรักษ์สายพันธุ์กอริลลาและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนที่ทำให้อนาคตของประเทศรวันดาดูมีความหวังขึ้น
รวันดา ประเทศที่ GDP กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง
ปัจจุบันมีประชากรในคิกาลีประมาณ 1.2 ล้านคน (คิดคร่าว ๆ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าภายในปี 2040 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 25 ปี จึงเห็นได้ว่าคิกาลีกำลังขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแนวคิดแบบเดิม ๆ รวมถึงช่วยฟื้นสภาพเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
โดยรวันดามีการเติบโตของ GDP เฉลี่ยประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจากบันทึกล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2019 รวันดามีการเติบโตของ GDP มากถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์
ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีการเก็บภาษีในประเทศเพิ่มขึ้น 20 เท่า ในขณะที่งบประมาณประเทศเพิ่มขึ้น 14 เท่า จึงถือได้ว่ารวันดาเป็นประเทศที่เหมาะกับการทำธุรกิจที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของแอฟริกา เป็นผลจากการมุ่งมั่นปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการลงทุนและมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง
ปัจจุบันจึงส่งผลให้อันดับของรวันดาในดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจหรือ World Bank Doing Business Index กระโดดขึ้นกว่า 100 อันดับมาอยู่เป็นอันดับที่ 38 ของโลก และอันดับที่ 2 ของทวีปแอฟริกา มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าจาก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 เป็น 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018
คิกาลี (Kigali) ศูนย์กลางรวันดา
คิกาลี (Kigali) ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศรวันดาโดยทอดยาวข้ามหุบเขาและเนินเขาหลายแห่ง มีถนนที่เชื่อมไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศ เป็นเมืองหลวงที่มีบรรยากาศร่มรื่นและมีชีวิตชีวาจากต้นไม้และประชากรที่อาศัยอยู่กว่าหนึ่งล้านคน ผู้ที่มาเที่ยวเมืองคิกาลีครั้งแรกอาจแปลกใจกับความสะอาดของบ้านเมืองที่ไม่มีขยะตามพื้นถนนเลย เนื่องจากผู้นำของรวันดาได้มีสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการประเทศ รวมถึงการรักษาความสะอาดของบ้านเมือง
คิกาลี (Kigali) เป็นเมืองที่ค่อนข้างใหม่ก่อตั้งขึ้นในปี 1907 และกลายมาเป็นเมืองหลวงของรวันดาหลังประเทศได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1962 ภายในเมืองมีการปลูกต้นไม้เรียงรายตามถนนใหญ่และจัตุรัสซึ่งสามารถเดินเล่นได้อย่างปลอดภัย มีบริเวณจัดแสดงงานศิลปะเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกับร้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับทานนอกบ้านรายล้อมไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม
ภายใน หมู่บ้านวัฒนธรรมคิกาลี (The Kigali Cultural Village) มีพื้นที่สำหรับช่างฝีมือท้องถิ่นและร้านขายอาหาร สามารถจัดแสดงผลงานหรือค้าขายภายในบริเวณนี้ได้ นอกนั้นยังมีห้างสรรพสินค้าใหม่หลายแห่ง อาคารสำนักงาน และศูนย์การประชุมบนเนินเขาที่เปิดไฟส่องสว่างในยามกลางคืน ถือได้ว่าเมืองคิกาลีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ส่วน ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) จะอยู่บริเวณบนเนินเขา Nyarugenge โดยที่ตั้งสำนักงานของรัฐบาลและเขตการปกครองจะอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออกบนเนินเขา Kacyiru อีกสถานที่สำคัญที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยี่ยมเยือนคิกาลีคืออนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คิกาลี (Kigali Genocide Memorial) อาคารที่ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหยื่อในเหตุการณ์เกือบหนึ่งล้านคนเมื่อปี 1994
การพัฒนาคิกาลีสู่สมาร์ทซิตี้แห่งแอฟริกา
ด้วยภูมิประเทศของเมืองคิกาลีเกือบครึ่งเป็นภูเขาและแหล่งน้ำ จึงต้องมีการใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการปรับผังเมืองของคิกาลีเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดนในแผนแม่บทปี 2040 ของรัฐบาลมีแผนจะสร้างอาคารขนาดสูงเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ของเมือง พร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้สอดรับกับเมืองคิกาลีในยุคสมัยใหม่
ถึงแม้ว่าคิกาลีจะมีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นแต่ก็ยังไม่ลืมบทเรียนเดิมๆ อย่างเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งตามที่ได้กล่าวไปว่ารวันดาได้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ข้อสำคัญคือชาวรวันดาต้องเดินหน้าต่อไปด้วยความสมานฉันท์ หากคุณได้เดินทางไปคิกาลีจะพบว่าชาวบ้านทั้งชาวฮูตูและชาวทุตซีปัจจุบันสามารถทำงานและอาศัยร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ในส่วนของ เทคโนโลยีและการศึกษา คิกาลีถือเป็นเมืองนวัตกรรมซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลรวันดาตั้งแต่พฤษภาคม 2016 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใยแก้วนำแสงเพื่อให้ประชาชนมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์สามารถใช้อินเทอร์เน็ต 4G LTE ได้อย่างทั่วถึงภายในปี 2017 ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ธนาคารโลกประกาศให้คิกาลีถือเป็นเมืองที่ทำธุรกิจได้ง่ายที่สุดเป็นอันดับสองของแอฟริกา
การสร้างซิลิคอนวัลเลย์เป็นของตัวเองหรือ เมืองนวัตกรรม (Innovation City) ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนปี ค.ศ. 2020 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนรวันดาให้กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางบนฐานความรู้ โครงการนี้ยังทำให้มีจำนวนนักเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 4,000 คนในปี ค.ศ. 1994 เป็น 86,000 คนในปี ค.ศ. 2016
อีกด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม คือ การเปิดโอกาสให้ชาวรวันดาได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ที่คิกาลีมีการเปิดสาขาของ FabLab Kigali เมื่อพฤษภาคม 2016 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการประดิษฐ์กรรม หรือเครือข่ายกลุ่มคนและองค์กรที่มุ่งสร้างพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งที่เน้นเป็นพิเศษสำหรับ FabLab สาขาคิกาลีคือการสร้างผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และอิเล็กทรอนิกส์โดเมนใหม่ ๆ ผสานเข้ากับความรู้ทางด้านซอฟต์แวร์ และยังเป็นการแนะนำนักประดิษฐ์ชาวรวันดาสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย
ที่คิกาลียังมีอีกสถานที่ล้ำ ๆ อย่าง Impact Hub ร่วมก่อตั้งโดยคุณจอน สตีเวอร์ ชาวอเมริกันที่มาอาศัยอยู่ในเมืองคิกาลี Impact Hub เป็นเหมือน co-working space และสถานที่พบปะกับนักคิดนักสร้างสรรค์จากทั่วโลกผ่านการประชุมแบบเสมือนจริง (virtual global meet-up) โดยปกติจะมีผู้ประกอบการและสายผลิตต่าง ๆ มาให้ความรู้และคำแนะนำกับชาวรวันดาเพื่อช่วยพัฒนาไอเดีย ซึ่งสุดท้ายแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปได้
ด้านงานศิลปะคิกาลีได้มีห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกในปี 2012 ทำให้ชุมชนได้รับการเติมเต็มด้านงานด้านศิลปะมากขึ้น โดยได้มี Inema Arts Center ก่อตั้งโดยพี่น้อง Emmanuel Nkuranga และ Innocent Nkurunziza เป็นสถานที่ที่ให้ศิลปินกว่า 10 คนได้เวียนมาจัดงานนิทรรศการศิลปะบนชั้นดาดฟ้าของห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีศิลปินรุ่นใหม่ต่างเวียนมาจัดแสดงงานศิลปะของตัวเองตามแกลเลอรี่ต่าง ๆ ทั่วเมือง
อีกสิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับสมาร์ทซิตี้แห่งใหม่อย่างคิกาลี คือ การคมนาคมด้วยรถโดยสารสาธารณะที่ใช้งานง่ายและราคาไม่แพง ซึ่งคุณสามารถนั่งรสบัสไปยังสถานที่แลนด์มาร์กต่าง ๆ ของคิกาลี แถมยังมีไวไฟฟรีให้ใช้บนรถอีกด้วย
คิกาลี เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อีกจุดสังเกตคือถนนหนทางที่มีความสะอาด เนื่องจากทุกๆเดือน ประชาชนทั้งประเทศรวมถึงประธานาธิบดีจะเข้าร่วม พิธีอูมูกันดา(Umuganda) เป็นธรรมเนียมที่ทุกคนจะช่วยกันทำความสะอาดชุมชน หากใครไม่เข้าร่วมก็อาจถูกปรับเงินได้
อีกทั้งในรวันดายังมีกฎการแบนถุงพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2008 นั่นหมายความว่าคุณจะไม่สามารถใช้ถุงพลาสติกในรวันดาได้ และล่าสุดได้มีการลงทุนของหน่วยงาน Green Fund เพื่อเปลี่ยนพื้นที่แหล่งน้ำในย่าน Nyandungu ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนในเมือง และเป็นสวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สิ่งเหล่านี้เป็นอีกตัวอย่างของความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอีกสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการอนุรักษ์สายพันธุ์กอริลลาในเขตอุทยานแห่งชาติโวลเคโนส์ (Volcanoes National Park) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา ได้กลายเป็นอีกแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาชมกอริลลา โดยค่าเข้าชมจะนำไปช่วยในการอนุรักษ์สายพันธุ์กอริลลา
ที่มาบทความ
อ่านต่อบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆเพิ่มเติมที่ >>>www.patourlogy.com/blog/inspiration/