ยินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านซานตาคลอสใน เมืองโรวาเนียมี (Rovaniemi) ประเทศฟินแลนด์ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านเกิดอย่างเป็นทางการของ ‘ซานตาคลอส’ ชายแก่รูปร่างใหญ่ท่าทางใจดีและเป็นขวัญใจของเด็กๆ ทั่วโลก
หากพูดถึงต้นกำเนิดของซานตาคลอสจะพบว่ามีหลายประเทศที่ต่างอ้างว่าซานตาคลอสถือกำเนิดในประเทศของตน และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ถ้าจะเล่าถึงจุดกำเนิดของซานตาคลอสจริงๆ ต้องย้อนไปถึงศตวรรษที่ 4 ได้มีนักบุญท่านหนึ่งชื่อ นิโคลัส (St Nicholas) นักบุญชาวคริสเตียนในยุคกลางซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็นซานตาคลอสในยุคปัจจุบัน ท่านเป็นบิชอปในเมืองเล็กๆ ชื่อว่า ไมรา (Myra) ในโรมัน หรือปัจจุบันคือประเทศตุรกีนั่นเอง
หลังจากนักบุญนิโคลัสเสียชีวิตได้มีการถกเถียงกันว่าร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่ไหน บางคนเชื่อว่าอยู่ในอิตาลี แต่ก็มีบางส่วนที่อ้างว่าร่างของนักบุญนิโคลัสถูกฝังในไอร์แลนด์
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2017 นักโบราณคดีชาวตุรกีได้พบหลุมฝังศพใต้โบสถ์เซนต์นิโคลัสใน เมืองอันตัลยา (Antalya) อยู่ไม่ไกลจากซากปรักหักพังของเมืองไมราในสมัยก่อน ซึ่งนักโบราณคดีเหล่านั้นเชื่อว่าเป็นหลุมฝังศพของนักบุญนิโคลัส และอ้างสิทธิ์ว่าตุรกีเป็นที่พำนักแห่งสุดท้ายของนักบุญนิโคลัส
ไม่ว่าแต่ละประเทศจะอ้างถึงความเป็นต้นกำเนิดของซานตาคลอสเพียงใด แต่ถ้าคุณลองไปถามชาวฟินแลนด์ดูล่ะก็พวกเขาจะต้องบอกว่าซานตาคลอสมาจาก เมือง Korvatunturi ในแลปแลนด์ (Lapland) อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อนิตยสารฮาร์เปอร์สได้เผยภาพหนึ่งในนิตยสารฉบับปี 1866 เป็นภาพบ้านของซานตาคลอสท่ามกลางหิมะในขั้วโลกเหนือ ซึ่งขัดกับประเทศตุรกีที่ไม่มีแม้แต่หิมะ, เรนเดียร์ และแสงเหนือซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบ้านซานต้าเลย
ก่อนหน้านี้เรื่องราวสถานที่ทำงานลับๆ ของซานตาคลอสได้ถูกออนแอร์ผ่านทางวิทยุเมื่อปี 1927 โดย Markus Rautio นักจัดรายการชาวฟินแลนด์ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Uncle Marcus’ ได้ออกมาบอกว่ามีการค้นพบออฟฟิศของซานตาคลอสในเมือง Korvatunturi และชาวฟินแลนด์ก็เชื่ออย่างนั้นจริงๆ โดยตามตำนานของชาวฟินแลนด์ Korvatunturi หรือเรียกว่า Ear Fell เป็นก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายหูเพื่อให้ซานต้าสามารถฟังความปรารถนาของเด็กทุกคนบนโลกได้
แม้ว่าจะมีความเชื่อดั้งเดิมที่กล่าวว่าซานตาคลอสอยู่แถบขั้วโลก แต่อันที่จริงแล้วกวางเรนเดียร์ซึ่งเป็นพาหนะของซานตาคลอสนั้นพบได้ทั่วไปในแลปแลนด์มากกว่าจะอาศัยอยู่ขั้วโลก ท้ายที่สุดแล้วบ้านเกิดของซานตาคลอสได้ย้ายจาก Korvatunturi ซึ่งเป็นภูเขาตั้งอยู่ห่างไกลไปแถบขั้วโลกทางตอนเหนือของฟินแลนด์ มีชายแดนติดกับรัสเซียแถมยังเดินทางลำบาก และ สร้างโรวาเนียมี (Rovaniemi) ให้กลายเป็นหมู่บ้านซานตาคลอส (Santa Claus Village) ซึ่งมีกิจกรรมให้ทำมากมาย รวมถึงมีร้านอาหารและร้านของฝากให้แวะเวียนเข้ามาช้อปปิ้งกัน
รู้จักกับแลปแลนด์ (Lapland) ดินแดนซานตาคลอส
หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องนาร์เนียคงพอจะนึกภาพของแลปแลนด์ออกได้ พื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะ มีการประดับประดาด้วยแสงไฟ พร้อมเรื่องราวในตำนานอย่างซานตาคลอสและกวางเรนเดียร์ ทำให้ที่นี่เปรียบเสมือนดินแดนในจินตนาการ แต่จริงๆ แล้วแลปแลนด์นั้นมีพื้นที่กว้างถึง 300,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ด้านบนของแถบสแกนดิเนเวียทั้งฟินแลนด์, สวีเดน, นอร์เวย์ และบางส่วนของรัสเซียทางตอนเหนือ พูดให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นคือแลปแลนด์มีขนาดใหญ่กว่าประเทศอังกฤษซะอีก
พื้นที่ส่วนใหญ่ของแลปแลนด์ตั้งอยู่บริเวณ วงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ซึ่งเป็นเส้นวงกลมละติจูดที่อยู่เหนือที่สุดในบรรดา 5 วงกลมละติจูดหลักบนแผนที่โลก ขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศแบบกึ่งขั้วโลกซึ่งมีฤดูหนาวที่ยาวนานและมีฤดูร้อนที่พระอาทิตย์ไม่หลับใหล มีความเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าแต่เดิมมีการตั้งรกรากบนแลปแลนด์ครั้งแรกหลังจากแผ่นน้ำแข็งสแกนดิเนเวียเริ่มละลายตั้งแต่ 7,000 ปีก่อน โดย ชาวซามี (Sami) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้
บรรพบุรุษของชาวซามี เป็นชนเผ่าเร่ร่อนอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของสแกนดิเนเวียเป็นเวลาหลายพันปี แต่หลังจากที่ชาวฟินน์ (Finn) ได้ย้ายเข้ามาอาศัยในฟินแลนด์เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้ถิ่นฐานของชาวซามีกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ โดยมักจะอาศัยในกระท่อมหรือเต็นท์และอพยพย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ มีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันชาวซามีถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แค่บริเวณตอนเหนือสุด และเริ่มเปลี่ยนมาอยู่ในบ้านแบบถาวร
ว่ากันตามตรงแลปแลนด์แทบจะไม่เหลือสถานที่ทางประวัติศาสตร์อะไรให้เยี่ยมชมมากนัก ด้วยผลกระทบจากสงครามและการแย่งชิงพื้นที่ในสมัยก่อน ทำให้บ้านเรือนและโบราณสถานหลายแห่งถูกทำลายลง โดยเหตุเริ่มต้นจากการที่สมัยก่อนแลปแลนด์เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงยุคกลาง ทำให้แลปแลนด์เป็นที่หมายปองของประเทศที่มีอำนาจเนื่องจากแลปแลนด์เองก็มีพื้นที่คาบเกี่ยวอยู่ในหลายประเทศ
หลังจากนั้นจึงเกิดการแย่งชิงกันระหว่างเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และสวีเดน-ฟินแลนด์ จนในปี 1808 เมื่อสวีเดนมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือฟินแลนด์ พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียจึงได้ส่งกองกำลังไปขับไล่ชาวสวีเดนออกจากฟินแลนด์ และนั่นทำให้สวีเดนเสียการควบคุมประเทศฟินแลนด์ให้กับรัสเซีย ครั้งนั้นเศรษฐกิจซบเซาและชาวซามีก็ได้รับผลกระทบหนักมา เมื่อชาวฟินน์ย้ายออกไปอาศัยอยู่ในที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าจึงจัดการถางพื้นที่ป่าและรื้อถอนพื้นที่ที่ชาวซามีใช้เลี้ยงกวางเรนเดียร์
หลังจากแลปแลนด์ผ่านการทำสงครามมาอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบันก็ได้ฟื้นคืนธรรมชาติ โดยชาวซามียังยึดมั่นในบ้านเกิดและยืนหยัดต่ออุดมการณ์ของตนเอง จนตอนนี้ได้มีการจัดตั้งรัฐสภาแห่งซามีขึ้นทั้งหมดสามแห่งในนอร์เวย์, สวีเดน และฟินแลนด์ วัฒนธรรมของชาวซามีกลับมาเฟื่องฟูและได้กลายเป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับชาวยุโรป
สำรวจแลปแลนด์ (Lapland) ในเขตฟินแลนด์
สำหรับพื้นที่แลปแลนด์ในเขตฟินแลนด์นั้นมีขนาดเท่ากับประเทศสกอตแลนด์รวมกับเวลส์เลยทีเดียว ซึ่งแลปแลนด์อยู่ทางตอนเหนือสุดของฟินแลนด์ มีพื้นที่เท่ากับหนึ่งในสามของทั้งประเทศแต่กลับมีประชากรอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เพียง 3.5% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ทุกหนึ่งตารางกิโลเมตรจะมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 1-2 คน ที่น่าสนใจคือมีกวางเรนเดียร์อาศัยอยู่มากกว่ามนุษย์ซะอีก
พื้นที่ส่วนใหญ่มีความเงียบสงบและไม่ได้อยู่ในพื้นที่สำหรับทำการค้า ภูมิประเทศประกอบไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ป่าทึบ ที่ราบลุ่ม และทะเลสาบอันกว้างใหญ่ มีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 6 แห่งด้วยกันซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ป่ามากมายให้สำรวจ สถานที่ยอดนิยมอย่างเช่นทะเลสาบอินาริ (Inari) ไปจนถึง Halti Fell เป็นจุดที่สูงที่สุดในฟินแลนด์ และแม่น้ำทานา (Tana) ที่ได้ชื่อว่ามีปลาแซลมอนที่ดีที่สุดในยุโรป
โดยเมืองสำคัญในแลปแลนด์ที่เราจะกล่าวถึงคือ เมืองโรวาเนียมี (Rovaniemi)
เมืองโรวาเนียมี (Rovaniemi) ก่อนจะมีหมู่บ้านซานตาคลอสในฟินแลนด์
ทันทีที่คุณมาถึงสนามบินโรวาเนียมี ในแลปแลนด์คุณจะได้พบกับกวางเรนเดียร์ทันที แต่ไม่ใช่กวางจริงๆ นะ เพราะนั่นคือพนักงานต้อนรับที่ใส่ชุดกวางรูดอล์ฟออกมาต้อนรับผู้โดยสารที่เพิ่งมาถึงนั่นเอง
ห่างจากสนามบินซานต้าหรือมีชื่อเรียกว่า “Santa’s official airport” ไปประมาณ 2-3 ไมล์เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านซานตาคลอสตั้งอยู่สุดขอบของวงกลมอาร์กติก ที่นี่เป็นสวนสนุกที่เต็มไปด้วยเอลฟ์, กวางเรนเดียร์ (แน่นอนว่าเป็นกวางจริงๆ ที่ไม่ใช่คนใส่ชุด), สุนัขไซบีเรียน ฮัสกี้, ร้านค้า และร้านอาหาร ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากกว่า 600,000 คนต่อปี
คุณจะได้พบกับกวางเรนเดียร์เกือบทุกที่ในโรวาเนียมีตั้งแต่คนใส่ชุดรูดอล์ฟที่สนามบิน ไปจนถึงกวางจริงๆ ที่คอยลากเลื่อนในหมู่บ้านซานตาคลอส และรูปปั้นเรนเดียร์ที่มีอยู่ทั่วเมือง แต่มีไม่กี่คนที่จะสามารถสังเกตเห็นเรนเดียร์อีกตัวและเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ และเจ้าเรนเดียร์ที่ว่าถูกฝังอยู่ในผังถนนของโรวาเนียมีนั่นเอง
โดยการออกแบบผังเมืองนี้เป็นผลงานของหนึ่งในสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์อย่าง อัลวาร์ อาลโต (Alvar Aalto) โดยเขาได้สร้างเมืองหลวงของแลปแลนด์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกทำลายอย่างราบคาบโดยกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงทศวรรษ 1930 โรวาเนียมีเป็นเมืองการค้าที่แสนเงียบสงบ มีประชากรในเมืองเพียง 6,000 คนเท่านั้นจนกระทั่งถูกกองทัพรัสเซียบุกรุกในปี 1939 ทำให้ชาวฟินน์ต้องต่อสู้กับผู้รุกรานท่ามกลางฤดูหนาวอันโหดร้ายในปี 1939-1940 จากนั้นจึงหันไปร่วมมือกับกองทัพเยอรมันเพื่อป้องกันการรุกรานของรัสเซีย ชาวเยอรมันได้เข้ามาสร้างฐานทัพในโรวาเนียมีทำให้ประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กองทัพบกได้สร้างสนามบินซึ่งต่อมากลายเป็นสนามบินซานต้า และสร้างค่ายทหารซึ่งได้กลายมาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านซานตาคลอสเช่นกัน
เมื่อสถานการณ์ในสงครามได้เปลี่ยนแปลงหลังจากมหาอำนาจฝ่ายอักษะเริ่มปราชัยและทำให้เกิดการต่อต้านกลุ่มอักษะ ขณะนั้นรัสเซียได้สั่งให้ชาวฟินน์ขับไล่ทหารเยอรมันออกจากประเทศ จนเมื่อกองทัพเยอรมันถอนกำลังออกจากเมืองไปในเดือนตุลาคม 1944 พวกเขาได้เผาทำลายโรวาเนียมีอย่างราบคาบ ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพไปยังสวีเดนแต่เนื่องจากการเคลื่อนย้ายมีความยากลำบากทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 279 ราย และมีชาวบ้านที่เสียชีวิตเพิ่มอีก 200 รายหลังจากกลับมาที่โรวาเนียมีเนื่องจากถูกทุ่นระเบิดที่ทหารเยอรมันทิ้งไว้ก่อนย้ายออกไป
พื้นที่กว่า 90% ของโรวาเนียมีได้ถูกทำลายลงโดยกองทัพเยอรมัน เมื่อชาวบ้านเดินทางกลับมายังเมืองกลับพบแค่ปล่องไฟที่ยังเหลืออยู่จากซากปรักหักพังทั้งหมด คุณ Pekka Ojala ซึ่งเปิดกิจการบ้านพักและซาวน่าใกล้กับใจกลางเมืองได้เล่าว่าเขายังพบไม้และโลหะที่ถูกเผาอยู่ในสวนของเขาเอง ส่วนด้านนอกของโรวาเนียมีเป็นสุสานสำหรับผู้เสียชีวิตจากสงครามซึ่งมีศพทหารมากถึง 2,500 ราย
อัลวาร์ อาลโต ได้รับมอบหมายจากสมาคมสถาปนิกฟินแลนด์ให้บูรณะเมืองรกร้างนี้ขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1945 โดยคุณ Jussi Rautsi อดีตนักวางแผนและนักวิจัยในมูลนิธิ Alvar Aalto Foundation ได้กล่าวว่าอาลโตมองเห็นโอกาสในเมืองที่ถูกไฟไหม้นี้ โดยแผนบางส่วนในการปรับปรุงแลปแลนด์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหน่วยงาน Tennessee Valley Authority (TVA) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นในยุคประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ซึ่งพื้นที่ที่เขาต้องปรับปรุงมีขนาดใหญ่เท่าประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมรวมกัน
อัลวาร์ อาลโต เริ่มสร้างเมืองนี้ด้วยการปลูกบ้านที่ออกแบบพิเศษให้เหมาะกับสภาพอากาศในโรวาเนียมีและแลปแลนด์ เขาได้พิจารณาเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นบนแม่น้ำสายหลักในแลปแลนด์และสั่งให้มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม, ชาวซามีที่อาศัยในท้องถิ่น, ฝูงเรนเดียร์, แหล่งน้ำ และสภาพอากาศภายในพื้นที่ที่สร้างโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ในปี 1945 อัลวาร์ อาลโต ยังได้คิดแผนโครงข่ายถนนในโรวาเนียมีให้เป็น ‘เขาเรนเดียร์’ โดยร่างหัวกวางเรนเดียร์ขึ้นตามภูมิประเทศของเมือง เน้นรูปร่างทางธรรมชาติของที่ดินและเส้นทางที่ถนนหลักและทางรถไฟตัดผ่าน วางสนามฟุตบอลให้เป็นดวงตา และเกิดเป็นหัวเรนเดียร์ขึ้นบนผังเมืองโรวาเนียมี
การพัฒนาการของเมืองโรวาเนียมีสู่ความเจริญในปัจจุบัน
ในตอนแรกโรวาเนียมีไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินได้เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในยุโรป เนื่องด้วยแรงกดดันจากสหภาพโซเวียตที่บังคับให้ฟินแลนด์ปฏิเสธเข้าร่วมแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan) หรือแผนฟื้นฟูยุโรปซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแก่ยุโรปตะวันตก มิหนำซ้ำชาวฟินน์ยังถูกขอให้จ่ายค่าชดเชยให้กับรัสเซีย อย่างไรก็ตามโรวาเนียมีได้รับการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนจากองค์การบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งสหประชาชาติ (UNRRA) และเงินอุปถัมภ์จากเอลีนอร์ รูสเวลต์
เอลีนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt) ถือเป็นบุคคลที่ค่อนข้างมีความสำคัญต่อหมู่บ้านโรวาเนียมี เธอเป็นอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกาและนักการทูตและมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ
โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 1950 เอลีนอร์ต้องการเดินทางมาเยี่ยมชมวงกลมอาร์กติก ชาวฟินน์จึงใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในการสร้างกระท่อมไม้ใกล้กับสนามบินโรวาเนียมีและตกแต่งด้วยเก้าอี้ที่ออกแบบโดยอาลโต (เก้าอี้เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่เลื่องชื่อของเจ้าพ่อโมเดิร์นนิสต์อย่างอาลโต)
ชาวฟินน์บอกกับเอลีนอร์ว่าโรวาเนียมีอยู่ในวงกลมอาร์กติกแม้ว่าจริงๆ แล้วตัวเมืองตั้งลงมาทางใต้เล็กน้อย เธอได้ส่งจดหมายจากกระท่อมไปยังแฮร์รี เอส. ทรูแมน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น และบอกว่าจดหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ส่งมาจากวงกลมอาร์กติก
ต่อมากระท่อมดังกล่าวได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้นำระดับโลกหลายคนได้มาเยี่ยมเยือน เช่น เลโอนิด เบรจเนฟ ผู้นำโซเวียต และโกลดา เมอีร์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
เมื่อการท่องเที่ยวมีการเติบโตมากขึ้นจึงทำให้โรวาเนียมีได้ถูกพัฒนามากขึ้น อย่างไรก็ตามแผนการแบ่งเขตของอาลโตซึ่งต้องการแบ่งพื้นที่การค้า ที่อยู่อาศัย และที่ตั้งฝ่ายการปกครองไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์นัก อาลโตได้ออกแบบอาคารสามหลังสำหรับศูนย์กลางเทศบาลของเมือง ฮอลล์แสดงคอนเสิร์ต ศาลากลาง (ภรรยาของเขาได้ดำเนินการสร้างให้เสร็จในภายหลังจากเขาเสียชีวิต) รวมห้องสมุดซึ่งเป็นหนึ่งผลงานที่ดีที่สุดของเขา
นอกจากนี้ยังสร้างบ้านส่วนตัวในสไตล์แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ หนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 20 และสร้างอาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่อยู่อาศัยเล็กๆ ในเขตชานเมืองถูกเรียกว่า Korkalorinne ประกอบไปด้วยบ้านแบบมีเฉลียงและอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่สองหลัง
คิดถึงคริสต์มาสเมื่อไหร่ให้แวะมาซานตาคลอสวิลเลจ
หากคุณอยากลองสัมผัสบรรยากาศอบอุ่นในช่วงคริสต์มาสโดยไม่ต้องรอเดือนธันวาคม แนะนำว่าหมู่บ้านซานตาคลอสคือสถานที่ที่คุณไม่ควรพลาดเพราะที่นี่เปิดให้บริการตลอดทั้งปี คุณสามารถเดินทางมาพบซานตาคลอสได้ทุกวันพร้อมกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้คริสต์มาสของคุณพิเศษขึ้น
หมู่บ้านซานตาคลอสเริ่มได้รับการผลักดันอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1984 หลังจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวฟินแลนด์ถูกกดดันให้มีการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในแลปแลนด์ จนเมื่อธันวาคม 1985 คุณ Asko Oinas ผู้ว่าราชการแห่งแลปแลนด์ได้ประกาศให้เมืองนี้เป็นดินแดนซานตาคลอสและเปิดหมู่บ้านซานตาคลอสขึ้นห่างออกไปจากโรวาเนียมีไม่กี่ไมล์ พร้อมตั้งที่ทำการไปรษณีย์ที่สามารถส่งจดหมายพร้อมตราประทับพิเศษว่าส่งมาจากวงกลมอาร์กติก
ในปี 1989 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ 16 แห่งได้รวมกลุ่มกันก่อตั้ง Santa Claus Land Association เพื่อช่วยทำการตลาดในไอเดียแบบซานตาคลอส มีการส่งซานต้าจากแลปแลนด์ไปไกลถึงเบเวอร์ลีฮิลส์เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว ส่วนที่ทำการไปรษณีย์เองก็มีพนักงานไปรษณีย์ที่แต่งตัวเป็นเอลฟ์ทำหน้าที่รับจดหมายที่ส่งถึงซานตาคลอสประมาณห้าแสนฉบับต่อปี และยังต้องประทับตราจดหมายของ ‘Arctic Circle’ ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาส่งอีกกว่าล้านฉบับ
ไฮไลท์ในหมู่บ้านซานตาคลอส
ออฟฟิศของซานตาคลอส
ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านซานตาคลอสเปิดให้บริการทุกวันมาตั้งแต่ปี 1992 โดยมีนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนเดินทางมาเยี่ยมชมออฟฟิศของซานต้า ซึ่งที่นี่คุณจะได้พบกับหนึ่งในความลับของซานต้านั่นก็คือเครื่องปรับความเร็วในการหมุนของโลก
ที่ทำการไปรษณีย์หลักซานตาคลอส
แวะมาเขียนจดหมายถึงเพื่อนพร้อมตราประทับจากวงกลมอาร์กติกได้ที่นี่ คุณสามารถเลือกโปสการ์ด แสตมป์ และของขวัญหลากหลายที่สามารถส่งให้ใครก็ตามบนโลกหรือแม้แต่ตัวคุณเอง!
กระท่อมคริสต์มาสของซานตี้
กระท่อม Mrs. Santa Claus ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ในหมู่บ้านซานตาคลอส ให้บริการขี่กวางเรนเดียร์ในหน้าหนาวและเยี่ยมชมกวางเรนเดียร์ในหน้าร้อน คุณยังสามารถแวะเข้ามาทานอาหาร พูดคุยกับคุณซานตี้ หรือทำของที่ระลึกในสไตล์ชาวซามีกับเหล่าเอลฟ์ได้ด้วย
นอกจากสถานที่ที่ว่ามาที่หมู่บ้านซานตาคลอสยังมีอีกหลายสิ่งให้เยี่ยมชมและกิจกรรมอีกหลายอย่างให้ลองทำ ถ้าคุณคิดถึงคริสต์มาสเมื่อไหร่ก็สามารถแวะมาที่หมู่บ้านซานต้านี้ได้ตลอดทั้งปีเลย
ที่มาบทความ
- https://www.sno.co.uk/lapland-holidays/
- https://www.sno.co.uk/lapland-holidays/history/
- https://www.theguardian.com/cities/2018/dec/19/the-dark-history-of-santas-city-how-rovaniemi-rose-from-the-ashes-alvar-aalto
- https://www.bbc.com/travel/article/20171221-does-santa-claus-come-from-finland
- https://qz.com/317611/how-rovaniemi-finland-became-the-official-hometown-of-santa-claus/
- https://santaclausvillage.info/