อินเดีย… หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบสีครามในลาดัก (Ladakh) หรือวังมหาราชาที่ชัยปุระ (Jaipur) อันเลื่องชื่อ เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มาเยือนครั้งเดียวไม่เคยพอ
ทว่าหลายคนที่เคยไปอินเดียคงประสบปัญหาการสื่อสารกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ฮิงลิช (Hinglish) ลูกผสมระหว่างภาษาฮินดีและอังกฤษชวนสับสน หรือสำเนียงน่าฉงนของคนอินเดีย
อันที่จริงการสื่อสารในอินเดียค่อนข้างยากลำบากแม้แต่กับคนท้องที่ อินเดียเป็นประเทศที่มีภาษากว่าหนึ่งพันหกร้อยภาษา และมีภาษาราชการยี่สิบสองภาษาที่ใช้ในแต่ละรัฐ สมมติว่าเราเป็นชาวปัญจาบ (Punjab) ที่อาศัยทางตอนเหนือ จู่ๆ วันหนึ่งเราเกิดนึกครึ้มเดินทางไปรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ทางตะวันตกเฉียงใต้ ภาษาแม่ปัญจาบีก็อาจใช้การไม่ได้รัฐนั้น การสื่อสารจึงเป็นอุปสรรคที่ชาวอินเดียต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน
ทว่าโชคยังดีที่อินเดียมีภาษาฮินดี (Hindi) ที่มีผู้พูดกว่าร้อยละสี่สิบของประเทศไว้สื่อสาร แม้ว่าฮินดีจะไม่ใช้ภาษาราชการหนึ่งเดียวเหมือนกับภาษาไทย แต่หลายครั้งที่ชาวอินเดียประสบปัญหาการพูดคุยกับคนต่างรัฐ พวกเขาจะใช้ภาษาฮินดีสื่อสารประหนึ่งภาษากลางก็ว่าได้
และเนื่องจากตระหนักถึงปัญหาที่ว่า วันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะมานำเสนอประโยคภาษาฮินดีพื้นฐานที่จะทำให้ปัญหาการสื่อสารของคุณหมดไป หากใครต้องการไปพักผ่อนหย่อนใจในอินเดียช่วงวันหยุดละก็ เตรียมปากกาและกระดาษไว้ให้พร้อม แล้วเราจะมาเรียนประโยคเอาตัวรอดในอินเดียไปด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วละก็ จะโล! มาเริ่มกันเลย!
Aap kaise hai? (อาบ – แกเส – แฮ)
แน่นอนว่าหากเราต้องการทักทายใคร การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบคงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ดังนั้น หากเราทักคนอินเดียว่า นมัสเต (สวัสดี) แล้ว อาบ แกเส แฮ (คุณสบายดีไหม) จึงเป็นเหมือนสูตรสำเร็จเพื่อใช้ต่อบทสนทนา และหากใครต้องการตอบกลับก็สามารถพูดว่า Main theek hoon (แม – ทีก – ฮู) – “ฉันสบายดี” หรือ Main theek nahi (แม – ทีก – นะฮี) – “ฉันไม่สบาย” เพื่อให้คู่สนทนาประทับใจได้นั่นเอง
Khana Kha liya? (ขานา – ขา – ลิยา)
สำหรับชาวอินเดีย อาหารการกินถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเวลาที่คนอินเดียเจอหน้ากัน พวกเขามักจะถามกันและกันว่า ขานา ขา ลิยา (กินข้าวแล้วหรือยัง) เพื่อเป็นมารยาท หากคุณลองถามเพื่อนอินเดียด้วยคำถามนี้ มั่นใจได้เลยว่าเพื่อนของคุณจะตอบกลับด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าอย่างแน่นอน
Haan/Nahi (ฮา/นะฮี)
การตอบคำถามที่ง่ายที่สุดคือการตอบว่าใช่หรือไม่ ในภาษาฮินดี คำว่าใช่คือ ฮา และคำว่าไม่คือ นะฮี หากเราต้องการตอบคำถามอย่างสุภาพ เราอาจเติมคำว่า Ji (จี) เข้าไป ตัวอย่างเช่น Ji haan (จี – ฮา) “ใช่ครับ/ค่ะ” Ji nahi (จี – นะฮี) “ไม่ครับ/ค่ะ”
Yeh kitne ka hai? (เย – กิดเน – กา – แฮ)
หากคุณเดินเข้าไปในร้านค้าใดๆ ในอินเดียแล้วตระหนักว่าข้าวของในนั้นไม่มีป้ายราคาแปะไว้ ทางที่ดีควรถามราคาให้แน่ใจก่อนควักเงินออกมาจ่าย และคำถามราคาสินค้าก็คือ เย กิดเน กา แฮ (สิ่งนี้ราคาเท่าไหร่) ที่สามารถใช้ถามราคาอะไรก็ได้แบบครอบจักรวาล เมื่อถามราคาแล้ว อย่าลืมต่อราคาเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกพ่อค้าเอาเปรียบกันด้วยนะ
Kam karo na (กัม – กะโร – นา)
เชื่อว่าสายช็อปหลายคนคงเคยเจอปัญหาการต่อราคาข้าวของในอินเดีย หากไม่ใช่ศูนย์การค้าชั้นนำแล้วละก็ ร้านค้าต่างๆ มักตั้งราคาของไว้สูงเกินจริง โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าลูกค้าเป็นชาวต่างชาติแล้ว ราคาของอาจถูกตั้งจนสูงเกินเท่าตัว ดังนั้น ประโยคสำคัญอย่าง กัม กะโร นา (ลดราคาหน่อยนะ) จึงเป็นสิ่งที่ขาช็อปควรเรียนรู้ เราอาจเพิ่มลูกอ้อนเข้าไปด้วยการเติมคำเรียกว่า Bhaiya (ไภ – ยา) – “พี่ชาย” หรือ Didi (ดีดี) – “พี่สาว” ท้ายประโยคเพื่อให้เจ้าของร้านใจละลาย ไม่แน่สินค้าที่ต้องการอาจถูกลดราคาลงกว่าที่คาดก็เป็นได้
Dhanyavad (ธันยะวาด)
หากมีใครช่วยเหลือเราในอินเดีย แน่นอนว่าเราควรขอบคุณเพื่อไม่ให้เสียชื่อคนไทยจิตใจงาม ซึ่งคำขอบคุณในภาษาฮินดีพูดว่า ธันยะวาด แต่ถ้าหากออกเสียงยากเกินไป คุณสามารถพูดได้เช่นกันว่า Shukriya (ชุกริยา) ซึ่งเป็นคำขอบคุณภาษาอูร์ดู (Urdu) ที่ถูกยืมมาใช้บ่อยครั้งในภาษาฮินดี
Chalo! (จะโล)
เชื่อว่าหลายคนที่ใช้บริการขนส่งในอินเดียคงจะเคยได้ยินคำนี้ จะโล มีความหมายว่า ไป/ไปสิ/ไปเลย/ไปกันเถอะ! โดยนัยยะของคำจะขึ้นอยู่กับบริบทของผู้พูดที่อาจเป็นการเชิญชวนหรือสั่ง หากต้องการความหมายที่เจาะจงอาจเติมคำอื่นๆ ลงไป เช่น Chaldi chalo! (จัลดี – จะโล) – “ไปเร็วๆ” Seedha chalo! (สีธา – จะโล) – “ไปข้างหน้า” เป็นต้น
Mujhe … pasand hai (มุเช – ปะสัน – แฮ)
หากคุณต้องการบอกชาวอินเดียว่าคุณชอบอะไร คุณสามารถบอกพวกเขาได้ด้วยประโยคว่า มุเช … ปะสัน แฮ ที่มีความหมายว่า ฉันชอบ (คน/สัตว์/สิ่งของ) นั้นๆ ตัวอย่างเช่น Mujhe roti pasand hai (มุเช – โรตี – ปะสัน – แฮ) – “ฉันชอบโรตี” Mujhe billi pasand hai (มุเช – บิลลี – ปะสัน – แฮ) – “ฉันชอบแมว” เป็นต้น และถ้าหากคุณต้องการบอกว่าชอบบางสิ่งมาก คุณสามารถเติมคำว่า Bahut (บะฮุต) เพื่อเป็นการเน้นย้ำได้เช่นกัน เช่น Mujhe Salman Khan bahut pasand hai (มุเช – ซัลมาน – ข่าน – บะฮุต – ปะสัน – แฮ) – “ฉันชอบซัลมานข่านมาก”
Aisa mat karo (แอซา – มัด – กะโร)
อาจมีบางครั้งที่สหายแดนภารตะทำบางอย่างที่คุณไม่ชอบใจ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หากต้องการบอกให้คนๆ นั้นหยุดทำสิ่งที่คุณไม่ชอบ คุณสามารถพูดได้ว่า แอซา มัด กะโร ที่แปลว่า อย่าทำเช่นนี้ คุณอาจบอกเพิ่มเติมจากประโยคที่กล่าวถึงก่อนหน้าได้ว่า Aisa mat karo, mujhe pasand nahi (แอซา – มัด – กะโร – มุเช – ปะสัน – นะฮี) – “อย่าทำแบบนี้ ฉันไม่ชอบ” เพื่อบอกให้เพื่อนของคุณหยุดทำเช่นนั้น ไม่อย่างนั้นคุณอาจมีน้ำโหขึ้นมาจริงๆ
Phir milenge (ผิรึ – มิเลงเก)
ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การพบเจอใครสักคนก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราสามารถทิ้งท้ายบอกใครคนนั้นได้ว่าเราจะกลับมาพบกันใหม่ ซึ่งประโยคว่า ผิรึ มิเลงเก (แล้วพบกันใหม่) ก็มีไว้เพื่อการนี้ หากคุณกล่าวคำนี้ทิ้งท้ายการลาจาก มั่นใจได้เลยว่าใครก็ตามที่คุณบอกไปจะจดจำคุณไว้ในใจอย่างแน่นอน
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับประโยคพื้นฐานภาษาฮินดีในวันนี้ เชื่อว่าหากจดจำคำเหล่านี้ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อไปไม่มากก็น้อยหากต้องใช้ชีวิตในอินเดีย แต่หากใครยังกังวลเรื่องการสื่อสารและปัญหาต่างๆ ที่อาจพบในแดนภารตะ คุณสามารถติดต่อเราเพื่อให้เราได้ดูแลทริปท่องเที่ยวในฝัน และทำให้การมาเยือนอินเดียครั้งต่อของคุณไปปลอดภัยไร้กังวล
หนังสือและบทความอ้างอิง
- ผศ. ดร. บำรุง คำเอก. (2546). พูดภาษาฮินดีกับสถานการณ์ต่างๆ ในอินเดีย. กรุงเทพฯ: ศูนย์สันสกฤตศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- Wagner, Jennifer. Learn how to say some basic Hindi phrases. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 1. Available from: https://ielanguages.com/hindi-phrases.html
1 Comment
เข้าใจได้ง่ายมากค่ะ