ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนไทยนิยมรับประทานอาหารอินเดียมากขึ้น ร้านอาหารอินเดียเปิดใหม่มากมายทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งเมนูเนื้อและมังสวิรัติให้เลือกสรร ทำเอาใครหลายคนติดอกติดใจไปตามกัน
อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมีมีพื้นที่และประชากรมากที่สุดในโลก อาหารการกินในแต่ละภูมิภาคจึงแตกต่างกันออกไป ชาวปัญจาบี (Punjabi) ที่อาศัยทางตอนเหนือนิยมกินอาหารที่มีส่วนประกอบของนมและเนยใส (Ghee) ในขณะที่ชาวมิโซ (Mizo) ที่อาศัยทางตะวันออกเฉียงเหนือติดชายแดนพม่านิยมทานอาหารป่าเป็นหลัก
การรู้จักอาหารและวัฒนธรรมการกินของแต่ละภูมิภาคจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ก่อนไปเที่ยวที่ต่างๆ ในอินเดีย ในวันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะมาแนะนำอาหารชื่อดังทางตอนใต้ของอินเดียที่ประกอบด้วย 5 รัฐ ได้แก่ กรณาฏกะ (Karnataka) อานธรประเทศ (Andhra Pradesh) เตลังกานา (Telangana) เกรละ (Kerala) และทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) โดยจะมีเมนูใดบ้างนั้น เราจะมาดูไปพร้อมกัน
โดซา (Dosa)
โดซา คือราชาแห่งอาหารอินเดียใต้ เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยเห็นเมนูนี้ผ่านตาในร้านอาหารอินเดีย ภาพที่ผู้คนเคยชินคือแป้งกรอบทรงกรวยสีน้ำตาลและเครื่องจิ้มนานาชนิด แต่ใครเลยจะรู้ว่า โดซาเองก็มีหลายสูตรเช่นกัน
เมนูโดซาที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ มาซาลา โดซา (Masala Dosa) ที่ทำจากแป้งหมักราดลงบนกระทะทรงแบน เมื่อแป้งสุกเป็นสีเหลืองทองจะนำมาใส่ไส้มันฝรั่งและหอมใหญ่ผัดเครื่องเทศมาซาลา ก่อนพับให้ได้รูปทรงที่ต้องการ
มาซาลา โดซา นิยมกินคู่กับจัดนี (Chutney) หรือเครื่องจิ้มสไตล์อินเดีย ทั้งจัดนีมะพร้าว จัดนีมะเขือเทศ และแกงซัมบาร์ (Sambar) แกงผักอินเดียใต้ ผู้คนนิยมรับประทานโดซาเป็นมื้อเช้าเพื่อให้อิ่มท้องตลอดวัน
อิดลี (Idli)
อิดลี เป็นหนึ่งในอาหารเก่าแก่ที่สุดในอินเดียใต้ ชาวกันนฑะ (Kannada) แห่งรัฐกรณาฏกะรับประทานอิดลีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 อิดลีมีลักษณะเป็นแป้งนึ่งทรงกลมสีขาว อาหารแป้งชนิดนี้มักไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติ
เนื่องจากผู้คนนิยมกินอิดลีคู่กับเครื่องจิ้มอื่นๆ อย่างแกงซัมบาร์และจัดนี อิดลีจึงเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ชาวอินเดียใต้นิยมรับประทานเป็นมื้อเช้า เช่นเดียวกับโดซาและวาดา
วาดา (Vada)
วาดา เป็นอีกหนึ่งอาหารเช้ายอดฮิตเช่นเดียวกับโดซาและอิดลี วาดามีลักษณะคล้ายโดนัททอดที่มีรูตรงกลาง ทำมาจากแป้งผสมผักหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นมันฝรั่ง ถั่วลูกไก่ (Chickpea) หัวหอม และอื่นๆ
วาดาต้นตำรับอินเดียใต้จะมีรสจัดจ้านจากเครื่องเทศ เครื่องเทศที่นิยมนำมาปรุงรสได้แก่ เมล็ดยี่หร่า พริกไทยดำ และใบแกง (Curry leaf) แป้งผสมผักและเครื่องเทศจะถูกนำมาทอดจนเป็นสีทองอร่าม
ผู้คนนิยมรับประทานวาดาคู่กับจัดนีและแกงซัมบาร์ หากใครมีโอกาสเดินถนนในเมืองใหญ่อย่างเชนไน (Chennai) หรือบังคลอร์ (Bangalore) ตอนเช้าๆ แล้วละก็ รับรองว่าต้องได้กลิ่นหอมกรุ่นของวาดาทอดใหม่ๆ มาแต่ไกล จนอดไม่ได้ที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือเป็นของว่างระหว่างวันอย่างแน่นอน
ซัมบาร์ (Sambar)
หากแกงถั่วดาล (Dal) คืออาหารคู่ครัวอินเดียเหนือแล้วฉันใด แกงซัมบาร์ ก็เป็นอาหารประจำบ้านอินเดียใต้ฉันนั้น ซัมบาร์เป็นแกงเข้มข้นที่มีส่วนผสมของผักหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ มะเขือม่วง มะรุม แครอท ฟักทอง กระเจี๊ยบ ผักโขม ถั่วต่างๆ ฯลฯ เมนูซัมบาร์แต่ละครัวเรือนจะมีสูตรแตกต่างกัน
แต่ที่ขาดไม่ได้คือเครื่องปรุงรสตัดเลี่ยนอย่างน้ำมะขามที่ทำให้ซัมบาร์มีรสชาติลึกล้ำ แตกต่างจากแกงอินเดียเหนือที่เน้นความหอมมันจากนมเนยเป็นหลัก ซัมบาร์ถือเป็นสูตรแกงมาตรฐานที่รับประทานคู่กับอาหารจานแป้งได้ทุกชนิด ทั้งข้าวสวย อิดลี โดซา วาดา ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนจิตวิญญาณของชาวใต้โดยแท้
รากี มุดเด (Ragi Mudde)
อาหารชื่อแปลกเมนูนี้มีที่มาจากรัฐกรณาฏกะและอานธระ เนื่องจากรากี (Ragi) หรือ ข้าวฟ่างสามง่าม (Finger Millet) เป็นพืชที่ปลูกมากทางตอนใต้ของทั้งสองรัฐ
รากี มุดเดมีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายลูกบอล บางครั้งจึงถูกเรียกว่า รากี บอล (Ragi Ball) รากี มุดเดทำมาจากข้าวฟ่างบดนำมาผสมน้ำร้อน แล้วใช้ไม้ยาวกวนจนจับตัวเป็นเนื้อเหนียวก่อนปั้นเป็นก้อนกลม บางสูตรอาจผสมข้าวสุกลงไปเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัส เช่นเดียวกับอิดลี
รากี มุดเดเป็นอาหารจานแป้งที่ไม่มีการปรุงรส นิยมทานคู่กับแกงซัมบาร์หรือดาลในมื้อค่ำ ถือเป็นเมนูประจำบ้านของชาวกันนฑะ
ปงกัล (Pongal)
ปงกัล เป็นอาหารเก่าแก่แห่งแดนทมิฬ ในอดีตปงกัลจะถูกปรุงในเทวาลัยเพื่อแจกจ่ายให้ผู้มาทำบุญ อาหารชนิดนี้มีลักษณะเป็นข้าวต้มผสมถั่วหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปรุงรสด้วยใบแกง เมล็ดยี่หร่า และพริกไทยดำ
ปงกัล นิยมทำเป็นหม้อใหญ่เพื่อแจกจ่ายให้กับมิตรสหาย นอกจากจะเป็นอาหารคาวแล้ว ในบางพื้นที่ยังนิยมทานปงกัลเป็นของหวาน (Sweet Pongal) โดยใส่ลูกเกด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และน้ำตาลโตนดลงไป ก่อนเพิ่มกลิ่นหอมชื่นใจด้วยเมล็ดกระวานเขียว เนื่องจากเป็นอาหารที่อร่อยและปรุงง่าย
หม้อข้าวต้มปงกัลที่พูนล้นจึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ในเทศกาลปงกัล (Pongal Festival) งานเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่จัดขึ้นเป็นประจำในเดือนมกราคมของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของชาวทมิฬทั้งในประเทศอินเดียและศรีลังกา
จิตรานนะ (Chitranna)
จิตรานนะ หรือข้าวหุงน้ำมะนาว (Lemon rice) เป็นอีกหนึ่งอาหารยอดนิยมของชาวเตลูกู (Telugu) และกันนฑะ ในอดีตนิยมเตรียมเป็นเสบียงเดินทางไกลเพราะพกพาได้สะดวก
จิตรานนะทำจากข้าวหุงสุก ผสมกับถั่วลิสงคั่วเครื่องเทศหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นขิง ใบแกง พริก และขมิ้น ก่อนปรุงรสขั้นตอนสุดท้ายด้วยเกลือและน้ำมะนาว บางสูตรอาจเพิ่มเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วดาลเพื่อเพิ่มรสสัมผัสและคุณค่าทางอาหาร นับเป็นอาหารสุขภาพที่นักเรียนนักศึกษานิยมนำมารับประทานระหว่างพักกลางวัน
สรุป
เป็นอย่างไรบ้างกับอาหารทั้ง 7 เมนูที่นำเสนอไป เชื่อว่าใครหลายคนคงอยากลิ้มรสอาหารต้นตำรับอินเดียใต้ไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม อาหารชื่อดังประจำถิ่นอินเดียใต้ไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น ดินแดนปลายสุดของชมพูทวีปยังคงเต็มไปด้วยความน่าอัศจรรย์ที่รอให้คุณมาค้นพบ และหากใครสนใจเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดที่แดนใต้แล้วละก็ ติดต่อเราเพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำสุดแสนประทับใจในดินแดนอินเดียใต้ให้กับคุณและคนที่คุณรัก
อ้างอิง
- Amit, Dassana. Sambar Recipe. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 4. Available from: https://www.vegrecipesofindia.com/sambhar-recipe-a-method-made-easy/
- Swasthi. Lemon Rice Recipe. (2020). [Online]. Accessed 2022 February 4. Available from: https://www.indianhealthyrecipes.com/lemon-rice-recipe/
- Swasthi. Masala Dosa Recipe. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 4. Available from: https://www.indianhealthyrecipes.com/masala-dosa-recipe/
- Tasteatlas. 10 Most Popular Southern Indian Dishes. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 4. Available from: https://www.tasteatlas.com/most-popular-dishes-in-southern-india