ทาจิกิสถาน (Tajikistan) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐทาจิกิสถาน เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง มีอาณาเขตติดต่อกับอัฟกานิสถาน จีน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ทาจิกิสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
อาณาเขตของทาจิกิสถานในปัจจุบันรวบรวมประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและผ่านการครอบครอบโดยผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มต่างๆ ตลอดช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ชนเผ่าไซเธียน ราชวงศ์เปอร์เซียหลายราชวงศ์ กองทัพมาซิโดเนีย/กรีกภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์มหาราช ชาวฮั่น ชาวมองโกล อาหรับ รวมถึงรัสเซีย
ทาจิกิสถานภายใต้การครอบครองของเผ่าอื่น
การครอบครองทาจิกิสถานเริ่มต้นจากการรุกรานของชาวอาหรับซึ่งเกิดขึ้นไม่นานนักหลังจากการสิ้นพระชนม์ของผู้เผยพระวจนะมูฮัมหมัด การพิชิตเอเชียกลางของอาหรับนำมาซึ่งแนวคิดของอิสลามที่เบ่งบาน ปรัชญา และเวทย์มนต์ อิทธิพลของชาวเปอร์เซียยังคงแข็งแกร่งสืบต่อกันมาเป็นเวลากว่าพันปีจนกระทั่งการรุกรานทางทหารครั้งใหญ่ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน จึงเป็นการยุติการครอบงำของเปอร์เซีย
แต่ทว่าทาจิกิสถานยังสามารถรักษาวัฒนธรรมเปอร์เซียของตนไว้ได้ ในขณะที่ภาษาของคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถานล้วนมีรากฐานมาจากเตอร์ก ส่วนทาจิกิสถานเป็นสาธารณรัฐเดียวที่ใช้ภาษาอิหร่าน มีดนตรี นาฏศิลป์และกวีนิพนธ์ตามแบบประเพณีเปอร์เซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสังคมทาจิกิสถาน
กอร์โน บาดัคชาน ร่องรอยอารยธรรมแรกในเทือกเขาปามีร์
ย้อนกลับไปกว่า 20,000 ปี ปามีร์ตะวันออกถูกค้นพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหิน ดังปรากฎหลักฐานเป็นภาพเขียนบนผนังถ้ำมากมาย รวมทั้งอักษรอียิปต์โบราณก็ถูกค้นพบ มีปราสาทหลายแห่งตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช ร่องรอยประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรมแห่งนี้ชี้ให้เห็นถึงทางแยกที่สำคัญของเส้นทางสายไหมที่สามารถพบเห็นทั้งสถานที่ประกอบพิธีกรรมโซโรอัสเตอร์ เจดีย์แบบพุทธ และศาลเจ้าโบราณ
อย่างไรก็ตาม ในปี 1895 พื้นที่แห่งนี้กลับถูกเปลี่ยนแปลงโดยคณะกรรมาธิการชายแดนอังกฤษและรัสเซียร่วมกันจัดตั้งเขตแดนในท้องถิ่นโดยไม่มีการปรึกษาตัวแทนในพื้นที่ พื้นที่ถูกแบ่งเป็นเส้นขอบวาดตามแบบยุโรป โดยมีแม่น้ำอามูดารยา (Amu Darya river) ตัดผ่านกลางพื้นที่นิคมและเศรษฐกิจ ภูมิภาคที่เกษตรกรในท้องถิ่นอาศัยอยู่กลายเป็นอุปสรรค
คนเร่ร่อนชาวคีร์กีซไม่สามารถย้ายถิ่นผ่านไปตามทุ่งหญ้าในแต่ละฤดูกาลได้อีกต่อไป สิ่งนี้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก ต่อมาในปี 1923 กอร์โน บาดัคชาน ถูกรวมเข้ากับเขตปกครองตนเองเตอร์กีสถาน (Turkistan) และสองปีหลังจากการล่มสลายของโซเวียต ตามด้วยการก่อตั้งประเทศทาจิกิสถาน ทำให้ กอร์โน บาดัคชาน (Gorno-Badakhshan Autonomous Province) มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองการอนุรักษ์ความแตกต่างระดับชาติและชาติพันธุ์ ภาษาศาสตร์และในทางกลับกันเพื่อลดความด้อยการพัฒนาเมื่อเทียบกับเขตเมืองอื่นๆ
วัฒนธรรมและศาสนาในกอร์โน บาดัคชาน
เนื่องจากอาณาเขตของทาจิกิสถานในปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอิหร่านในอดีต ที่นับถือศาสนาซึ่งเป็นลัทธิโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) แต่เมื่ออิหร่านพ่ายแพ้ต่อกองทัพอาหรับในปี 636 ศาสนาอิสลามค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทั่วภูมิภาคเอเชียกลาง ศาสนาของชาวทาจิกิสถานส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ อิสลามนิกายสุหนี่
อย่างไรก็ตาม ในปามีร์ผู้คนจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลามก็จริงแต่ก็โดดเด่นด้วยความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างมากระหว่างชนชาติในหุบเขาหลักต่างๆ คือเป็นอิสลามเหมือนกันก็จริง แต่แยกย่อยแตกต่างกันไปในรายละเอียด
ศาสนาของเมืองทางภาคเหนือ Darvaz และ Vanch เป็นชาวสุหนี่อิสลาม ภาษาของพวกเขาคือทาจิกิสถาน ยกเว้นหุบเขา Yazgulom ที่ใช้ภาษาถิ่นยัซกูโลมีเป็นภาษาพูด
ศาสนาของเมือง Rushan, Shugnan, Roshtkala และ Ishkashim คือ อิสลามนิกายชีห์อะ ในเขตที่ราบสูงของ Murgab ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์คีร์กีซ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อน เมื่อถึงฤดูร้อนก็จะอพยพไปพร้อมกับฝูงจามรีและวัวในทุ่งหญ้า
ร่องรอยของประเพณีโซโรอัสเตอร์ยังคงอยู่ในกอร์โน บาดัคชาน อย่างเช่น บทบาทของไฟในพิธีแต่งงานและในสัญลักษณ์ของโครงสร้างในบ้านชาวพามิรีแบบดั้งเดิม สัญลักษณ์ยังพบในการตกแต่งที่สวยงามของหมวก หัตถกรรมพื้นบ้านอื่นๆ ของพามิรี รวมถึงผ้าปักตกแต่ง ถุงเท้าถักและถุงมือสีสดใส
วัฒนธรรมพามิรี
วัฒนธรรมพามิรี (Pamiri) เป็นการผสมผสานระหว่างความเชื่อโซโรอัสเตอร์โบราณกับลัทธิอิสมาอิล ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของศาสนาอิสลามชีอะห์ วัฒนธรรมนี้เริ่มก่อตัวเมื่อสองพันปีที่แล้วและอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความโดดเดี่ยวอย่างสุดขั้วของเทือกเขาปามีร์ที่น่าเกรงขาม ในอดีต วัฒนธรรมพามิรีเป็นที่แพร่หลายในเขตภูเขาหลายแห่งของเอเชียกลาง แต่ในปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมพามิรีกลับพบได้เฉพาะในเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ที่กระจายไปตามทางหลวงปามีร์
ความเป็นมาของวัฒนธรรมพามิรีเริ่มต้นเมื่อชนเผ่าอินโด-อิหร่านอพยพมายังภูมิภาคนี้เมื่อสองพันปีก่อน โดยนำศาสนาและวัฒนธรรมโซโรอัสเตอร์ติดตัวมาด้วย วัฒนธรรมนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยสภาพชีวิตที่โหดร้ายอย่างยิ่งในปามีร์ และมีอิทธิพลต่อทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่วิถีชีวิต ประเพณีไปจนถึงพิธีกรรมและการปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์
ต่อมาในศตวรรษที่ 8 เอเชียกลางถูกรุกรานโดยชนเผ่าอาหรับซึ่งนำศาสนาอิสลามมาสู่ดินแดน แต่ชาวพามิรีก็ยอมรับความเชื่อของศาสนาอิสลามสาขาชีอะห์โดยสมัครใจ เพราะลัทธิอิสมาอิลไม่ได้เข้ามาโดยสงคราม แต่มาจากนักเทศน์ ปัจจุบันชาวพามิรีที่นับถือศาสนาอิสมาอิล มีผู้นำทางจิตวิญญาณของตนเองที่เรียกว่า อากาข่าน (Aga Khan) และตอนนี้อิหม่ามที่ 49 คาริม อากาข่านที่ 4 เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงในปามีร์ ผู้นำทางจิตวิญญาณจะให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างต่อเนื่องแก่ชาวพามิรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสร้างสถาบันการศึกษา
ภาษาพามิรี
ภาษาที่หลากหลายของชาวพามิรีถือเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมพามิรี ระบบภาษาที่สลับซับซ้อนนี้ไม่เพียงแต่แบ่งออกเป็นกลุ่มภาษาปามีร์เหนือและปามีร์ใต้เท่านั้น แต่ยังแบ่งออกเป็นภาษาถิ่นต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพบเห็นได้ทั่วไปในทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน และแม้แต่ในจีน
ภาษาปามีร์ตอนเหนือ ได้แก่ Bartang ภาษาที่ใกล้สูญหายยังคงพูดอยู่ในหุบเขา Bartang ส่วน Vanj เป็นภาษาที่ตายแล้ว ใช้พูดมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในหุบเขาของแม่น้ำ Vanj ภาษา Darvaza เป็นภาษาที่ตายแล้วซึ่งพูดกันจนถึงศตวรรษที่ 15 โดยเป็นที่รู้จักจากพงศาวดารทางประวัติศาสตร์ Rushan ยังคงพูดตามริมฝั่งแม่น้ำ Panj ทั้งฝั่งทาจิกิสถานและอัฟกานิสถาน Rushan กำลังตกอยู่ในอันตรายจากการสูญหายเนื่องจากมีคนพูดไม่เกินหนึ่งหมื่นคนในปัจจุบัน
ภาษาพามิรีตอนใต้ ได้แก่ Wakhi พูดโดยชาววาคีประมาณ 75,000 คนในทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และแม้แต่ในจีน หนังสือที่มีชื่อเสียงหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ในภาษาวาคี ส่วน Ishkashim เป็นภาษาที่ใกล้สูญหาย เพราะมีผู้พูดไม่เกิน 800 คน จากหลายหมู่บ้านใกล้ Ishkashim ของทาจิกิสถาน
เครื่องแต่งกายของชาวพามิรี
ชาวพามิรีผู้นับถืออิสมาอิล (Ismailism) แห่งกอร์โน บาดัคชาน เป็นผู้เข้าร่วมและผู้สังเกตการณ์ที่ไม่เหมือนใครในประวัติศาสตร์ของทาจิกิสถาน การเลือกชุดแต่งงานและเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบอกเล่าเรื่องราวของภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับอิทธิพลที่เปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาค โดยเฉพาะในการแสดงพื้นบ้านและการแสดงละคร เครื่องแต่งกายตามประเพณีของพามิรีได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งเพื่อใช้แทนที่เครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของทาจิกิสถานและยุโรปที่มีอิทธิพลมาตั้งแต่ยุคโซเวียต
เขตปกครองตนเองกอร์โน บาดัคชาน (Gorno-Badakhshan Autonomous Province) เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่ปกคลุมด้วยเทือกเขาปามีร์ ซึ่งประกอบเป็นทาจิกิสถานตะวันออก เป็นที่ตั้งของประชากรอิสมาอิลีส่วนใหญ่ของทาจิกิสถาน แม้ว่าพื้นที่นี้มีสัดส่วนประมาณ 45% ของอาณาเขตทั้งหมดของทาจิกิสถาน แต่ก็กลับมีประชากรน้อยกว่า 4% ของประชากรทาจิกิสถานทั้งหมด เนื่องด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและสภาพถนนที่ย่ำแย่
ชาวอิสมาอิลในปามีร์จึงพบความแตกแยกระหว่างพวกเขาเองกับพื้นที่โดยรอบในระดับหนึ่ง สิ่งนี้นำไปสู่การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ไว้มากมาย รวมทั้งรูปแบบการแต่งกายของสตรีชาวพามิรี ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้หญิงชาวพามิรีจะสวมชุดสีขาวซึ่งมีช่วงเอวแคบ ร่วมกับกางเกงขายาวสีขาวและบางครั้งก็สวมเสื้อคลุมสีแดง เครื่องแต่งกายจะเสร็จสมบูรณ์ด้วยการสวนโทกิ (หมวก) สีแดง และผ้าคลุมไหล่สีขาวสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมาก
แต่แนวโน้มการแต่งกายเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงต้นทศวรรษ 1920 เมื่อจักรวรรดิโซเวียตเริ่มขยายไปสู่พื้นที่ พื้นที่เดิมของบาดัคชานถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยแยกจากแม่น้ำ Pyanj ส่วนหนึ่งอยู่ในทาจิกิสถานซึ่งปัจจุบันคือ กอร์โน บาดัคชาน และอีกส่วนหนึ่งอยู่อีกฟากแม่น้ำในอัฟกานิสถานเรียกว่า อัฟกัน บาดัคชาน (Afghan Badakhshan) ในช่วงเวลาของสหภาพโซเวียต
ชุดทาจิกิสถานแบบดั้งเดิมเริ่มเข้ามาแทนที่ชุดพามิรีตามธรรมเนียม เครื่องแต่งกายหลวมๆ ถือว่าเป็นความชอบของทาจิกิสถาน และไม่ค่อยมีความคล้ายคลึงกับชุดพามิรีแบบดั้งเดิมมากนัก ต่อมาในยุคโซเวียตช่วงปี 1970 ชุดสไตล์ยุโรปเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และในไม่ช้าก็มีจำหน่ายในกอร์โน บาดัคชาน เสื้อผ้าพามิรีแบบดั้งเดิมจึงถูกผลักไสให้อยู่ในการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม มักพบเห็นได้เฉพาะระหว่างการแสดงของนักร้องและนักเต้นชาวพามิรีเท่านั้น
แต่ด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นและการใช้เสื้อผ้าพาร์มิรีก็กลับมาอีกครั้ง
เพลงจากภูเขาปามีร์
ดนตรีและนาฏศิลป์บาดัคชานเป็นตัวแทนของแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นในเอเชียกลางซึ่งก่อตัวขึ้นจากพลังทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และศาสนาที่ผสมผสานกันในทาจิกิสถาน ภูมิประเทศที่ขรุขระของเทือกเขาปามีร์ได้ขัดขวางการติดต่อระหว่างชาวพามิรีและผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคอื่น ของเอเชียกลาง ซึ่งผลสืบเนื่องหนึ่งของการแยกตัวทางวัฒนธรรมคือการอนุรักษ์ภาษาพามิรี ซึ่งเป็นตระกูลภาษาอิหร่านตะวันออก เพลงพื้นบ้านนั้นแต่งขึ้นด้วยภาษาพามิรีนั้นพบได้ทั่วไปในบาดัคชาน แต่ตำราวรรณกรรมที่มักจะแต่งเป็นเพลงเชิงจิตวิญญาณนั้นมาจากภาษาเปอร์เซียคลาสสิกหรือทาจิกิสถานสมัยใหม่ ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางตะวันออกของเปอร์เซีย
การบรรเลงเพลงของชาวพามิรีจะมีเครื่องดนตรีประกอบไปด้วย Lutes ซึ่งเป็นชิ้นที่สำคัญอย่างยิ่ง พิณสั้นร้อยรัดเล่นด้วยไม้ เรียกว่า Pamiri rubab พิณอื่นๆ ในบาดัคชาน ได้แก่ komus ซึ่งเป็นพิณสามสาย tanbur ซึ่งเป็นพิณเจ็ดสาย setar และ tar นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้แก่ ney a ฟลุตชนิดหนึ่ง ghaychak ซอที่มีหนามแหลม กลอง fram และกลอง daf สำหรับเพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีพามิรีส่วนใหญ่เป็นกวีนิพนธ์หลายประเภท รวมถึง Falak (เพลงในงานศพ) darguilik (เพลงคร่ำครวญ) และ lalaik (เพลงกล่อมเด็ก)
ถึงแม้ว่ากอร์โน บาดัคชาน ของชาวพามิรีจะอยู่ภายในเทือกเขาปามีร์ ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและสภาพถนนที่ขรุขระ จะเป็นเสมือนเส้นแบ่งชาวพามิรีออกมาจากโลกภายนอก แต่นั่นกลับส่งผลดีต่อการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ เอาไว้ ทั้งภาษา การแต่งกาย ศิลปะ และดนตรี ที่ยังคงเอกลักษณ์และบ่งบอกตัวตนของชาวพามิรีเอาไว้อย่างชัดเจน
อ้างอิงบทความ
- A rich historical and cultural heritage
- Badakhshan Ensemble: Song and dance from the Pamir Mountains
- Chid: The Cosmogony of the Pamiri House
- Keeping religion alive: performing Pamiri identity in Central Asia
- Pamiri Culture
- Revival Traditional Dress Badakhshan Mirrors Shifting Landscape Cultural Influence
- Who lives above the clouds? Discussing Pamiriness and Tajikness