Day of the Dead หรือ Día de Muertos หรือในชื่อภาษาไทยคือ “เทศกาลแห่งความตาย” หนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีความสำคัญมากที่สุดเทศกาลหนึ่งในเม็กซิโก ซึ่งครอบครัวชาวเม็กซิกันต่างรวมตัวเพื่อต้อนรับการกลับมาของเหล่าดวงวิญญาณญาติและบรรพบุรุษอันเป็นที่รัก
เทศกาลแห่งความตาย มีรากฐานมายาวนานนับพันปีก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเม็กซิโกเสียอีก โดยต้นกำเนิดของเทศกาลนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างพิธีกรรมของชาวเมโสอเมริกา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากชาวยุโรป และวัฒนธรรมของสเปนเข้าด้วยกัน เพื่อระลึกถึงความตายอันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของชีวิต อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงและให้เกียรติผู้เป็นที่รักซึ่งล่วงลับไปแล้ว
วันนี้ทีมงาน Patourlogy จะขอนำพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับเทศกาลสำคัญนี้กันนะครับ พร้อมแล้วไปกันเลยครับ
เทศกาลแห่งความตาย จัดกันในช่วงเวลาใด
ชาวเม็กซิกันมักจะเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน ของทุกปี ในขณะที่วันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันฮาโลวีน วันที่ 2 พฤศจิกายนถือเป็นวัน All Souls Day หรือ Day of the Dead ตามประเพณีความเชื่อว่าประตูสวรรค์จะเปิดตอนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ตุลาคม และดวงวิญญาณของเด็กๆ จะสามารถกลับมาหาครอบครัวได้ภายใน 24 ชั่วโมงนี้ ส่วนวิญญาณของผู้ใหญ่จะสามารถกลับมาได้เช่นกันในวันที่ 2 พฤศจิกายน
บางแหล่งข้อมูลบอกว่าชาวเม็กซิกันเริ่มเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม ซึ่งแต่ละวันจะมีการระลึกถึงดวงวิญญาณที่เสียชีวิตแตกต่างกันไป เช่น ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือเด็กๆ ที่เสียชีวิตก่อนรับบัพติศมาตามพิธีของศาสนาคริสต์ ส่วนวันที่ 1 พฤศจิกายนถือเป็นวัน All Saint’s Day เพื่อให้เกียรติกับทุกคนที่ดำเนินชีวิตอย่างบริสุทธิ์ เช่น นักบุญและผู้พลีชีพให้ศาสนา
ปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวเม็กซิกัน แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางมาเมืองต่างๆ ในเม็กซิโกเพื่อเยี่ยมชมแท่นบูชาและสิ่งของเครื่องใช้สีสันสดใสสำหรับใช้ต้อนรับการกลับมาของเหล่าดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากอิทธิพลของสื่อต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับเทศกาลแห่งความตายมากขึ้นผ่านภาพยนตร์และ pop culture
อย่างไรก็ตามสำหรับชาวเม็กซิกันแล้วเทศกาลนี้ยังคงเป็นประเพณีสำคัญที่ทำให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ท่ามกลางสังคมในเม็กซิโกที่เต็มไปด้วยความรุนแรง สิ่งเหล่านี้ช่วยย้ำเตือนให้ชาวเม็กซิกันยังคงหัวเราะกับทุกสิ่งได้แม้กระทั่งความตาย
ต้นกำเนิดของ Day of the Dead
หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความตายคงต้องย้อนไปไกลประมาณ 3,000 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่ชาวสเปนยังไม่ได้แผ่อำนาจและเข้ายึดครองเม็กซิโก โดยประเพณีนี้มีรากฐานจากชนพื้นเมืองของเม็กซิโกอย่างชาวแอซเท็ก (Aztec), ชาวโทลเทค (Toltec) และชาวนาฮัว (Nahua) ที่มีความเชื่อยึดถือกันว่าการไว้ทุกข์ถือเป็นการไม่ให้ความเคารพผู้เสียชีวิต
สำหรับวัฒนธรรมในช่วงยุคก่อนฮิสแปนิกนั้นความตายถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว เป็นเพียงช่วงหนึ่งของตลอดช่วงชีวิตอันยาวนาน ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพียงแต่จะมีชีวิตและถูกจดจำอยู่ในความทรงจำและจิตวิญญาณ และพวกเขาสามารถกลับมายังโลกเพื่อเยี่ยมคนเป็นได้ในช่วงเทศกาลแห่งความตายที่ว่านี้
ในยุคก่อนฮิสแปนิกจะมีการจัดเทศกาลช่วงฤดูใบไม้ร่วงอย่างน้อยสองเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาของดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 ชาวสเปนได้เข้ามายึดครองเม็กซิโกและได้รวมเอาเทศกาลต่างๆ ของชาวเม็กซิกันพื้นเมืองเข้ากับประเพณีของคาทอลิก
ปัจจุบันได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ให้ตรงกับวัน All Souls Day จึงถือได้ว่าเทศกาลแห่งความตายที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของช่วงยุคก่อนฮิสแปนิกเข้ากับการเฉลิมฉลองของชาวคริสเตียน
ความแตกต่างของ All Souls Day ในแต่ละพื้นที่
ในสมัยยุโรปโบราณที่ยังไม่มีการเผยแพร่ศาสนาอย่างกว้างขวาง คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาหรือที่เรียกว่าคนนอกศาสนาก็มีการเฉลิมฉลองความตายเช่นกัน โดยจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเช่นเดียวกับชนพื้นเมืองในเม็กซิโก ในการเฉลิมฉลองนี้มีทั้งการกินเลี้ยงและเต้นรอบกองไฟ ซึ่งธรรมเนียมเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่มาได้แม้ภายหลังจะมีการแผ่ขยายของคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก
ว่ากันว่าคริสตจักรก็ได้รับธรรมเนียมเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในศาสนาซึ่งก็คือวัน All Saints Day และ All Souls Day ที่จัดขึ้นทุกสองวันแรกของเดือนพฤศจิกายน
ส่วนในยุคกลางของสเปนผู้คนส่วนใหญ่มักจะนำไวน์และขนมปัง pan de ánimas ไปยังหลุมศพของผู้อันเป็นที่รักในวัน All Souls Day พร้อมทั้งนำดอกไม้วางบนหลุมศพและจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่างนำทางดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตกลับมายังโลก
ในช่วงศตวรรษที่ 16 ที่ชาวสเปนได้ออกล่าอาณานิคมก็ได้นำประเพณีเหล่านี้ไปยังแผ่นดินใหม่ด้วย แต่เป็นความตายในมุมมองที่มืดมนกว่าจากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของกาฬโรคในยุคสมัยนั้น
Let’s Celebrate! คนเม็กซิกันฉลองกันอย่างไรในเทศกาลแห่งความตาย
“คนตายจะตายไปจริงๆ ก็ต่อเมื่อพวกเขาถูกลืม ถ้าคุณยังคิดถึงพวกเขา พวกเขาก็จะมีชีวิตอยู่ในความคิดและในหัวใจของคุณ”
คุณแมรี่ เจ. แอนเดรด นักข่าวและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Day of the Dead ทั้งแปดเล่ม
เทศกาลแห่งความตาย Día de Muertos ไม่ใช่การฉลองเทศกาลฮาโลวีนสไตล์เม็กซิกันเหมือนที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่าการเฉลิมฉลองทั้งสองจะจัดในวันที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีการแต่งกายและขบวนพาเหรดที่คล้ายกัน แต่จุดประสงค์ของการฉลองนั้นค่อนข้างต่างทีเดียว
สำหรับ Day of the Dead ของชาวเม็กซิกันจะเป็นการต้อนรับการกลับมาของญาติและบรรพบุรุษอันเป็นที่รักซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะปฏิบัติต่อผู้ตายในฐานะแขกอันมีเกียรติที่กลับมาร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัว
ก่อนถึงคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน ครอบครัวชาวเม็กซิกันจะออกมาทำความสะอาดหลุมศพที่สุสานเพื่อเตรียมต้อนรับการกลับมาของเหล่าญาติบรรพบุรุษ พวกเขาต่างนำอาหารมาที่สุสานและร่วมเฉลิมฉลองกับคนในชุมชน มีวงดนตรีมาแสดงและผู้คนเต้นรำเพื่อเฉลิมฉลองกัน
การเฉลิมฉลองจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค แต่สิ่งที่มีเหมือนกันเกือบทุกที่คือมักจะมีการตั้งรูปภาพของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วบนแท่นบูชา พร้อมวางอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้เสียชีวิตเคยชอบไว้ข้างๆ กัน บนแท่นบูชามักจะตกแต่งไปด้วยเทียน, ดอกดาวเรืองสีเหลืองสดที่เรียกว่าเซมปาซูชิล (Cempasuchil) ซึ่งมีกลิ่นหอมช่วยนำทางผู้ตายให้กลับบ้าน, ดอกหงอนไก่สีแดง พร้อมอาหารอื่นๆ เช่น ตอติญ่า, ทามาเล่, เตกีล่า, ผลไม้ และขนมปัง Pan de ánimas
สิ่งของแต่ละอย่างที่ตั้งบนแท่นบูชาต่างเป็นตัวแทนของธาตุทั้งสี่ในชีวิต นอกจากน้ำหนึ่งแก้วที่ช่วยให้ดวงวิญญาณดับกระหายจากการเดินทางได้แล้ว ก็มี
- อาหารที่เป็นตัวแทนของธาตุดิน (บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าฝุ่นและขี้เถาเป็นตัวแทนของธาตุดิน)
- เทียนแทนธาตุไฟ
- ‘Papel Picado’ ศิลปะพื้นเมืองของชาวเม็กซิกันที่ทำจากกระดาษสีแล้วนำมาตัดให้เป็นลวดลายใช้แทนธาตุลม
นอกจากนี้ชาวเม็กซิกันจะจุดธูปหอมที่ใช้ในการประกอบพิธีเมื่อสมัยโบราณเพื่อนำทางให้กับดวงวิญญาณ มีการตั้งกะโหลกที่ทำจากน้ำตาลไม่ก็ช็อคโกแลตและตกแต่งโดยการระบายสี ประดับขนนก และโรยน้ำตาลไอซิ่ง พร้อมทั้งเขียนชื่อของบรรพบุรุษไว้ที่หน้าผากของกะโหลก
สำหรับแท่นบูชาของดวงวิญญาณเด็กๆ มักจะตั้งของเล่นรูปสุนัขตัวเล็กๆ หรืออาจวางพรมเอาไว้ให้เหล่าดวงวิญญาณได้พักผ่อน
บางครอบครัวยังตั้งไม้กางเขนคริสเตียนหรือรูปพระแม่มารีแห่งกัวดาลูป (Virgin of Guadalupe) ซึ่งเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเม็กซิโกไว้บนแท่นบูชา สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่จะอ่านจดหมาย บทกลอน หรือไม่ก็เล่าเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้ตาย
ในบางภูมิภาคของประเทศ เช่น รัฐโมเรโลส (Morelos) จะเปิดประตูบ้านทิ้งไว้เพื่อต้อนรับคนที่สนใจเข้ามาชมแท่นบูชา พร้อมแบ่งปันอาหารให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างขนมปังเม็กซิกัน Pan de ánimas หรือ Atole เครื่องดื่มร้อนๆ สไตล์เม็กซิกันซึ่งทำจากแป้งข้าวโพด
สัญลักษณ์ต่างๆ ที่พบเห็นได้ในเทศกาลแห่งความตาย
ดอกไม้
ดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่สำคัญที่สุดในพิธีด้วยความหมายต่างๆ ของดอกดาวเรือง อย่างกลีบสีเหลืองสดนั้นเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์ช่วยนำทางดวงวิญญาณของคนตายกลับบ้าน ดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในพิธี ได้แก่ ดอกยิปโซสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ และดอกลิลลี่สีแดงสดช่วยเพิ่มสีสันให้กับแท่นบูชา
ขนมปัง
Pan de ánimas: ขนมปังแห่งความตายเป็นขนมพื้นเมืองเม็กซิกันที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความตาย มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมของชนเผ่าแอซเท็กหลายร้อยปีก่อน ลักษณะเป็นแป้งทรงกลมทาบทับด้วยกระดูกไขว้และวงกลมที่ใช้เปรียบกับหัวกะโหลก ส่วนแป้งที่ปั้นเป็นหยดน้ำตาเล็กๆ แทนความโศกเศร้า มักโรยด้วยน้ำตาลและท็อปปิ้งอื่นๆ ชาวเม็กซิกันจะวาง Pan de ánimas ไว้บนแท่นบูชาและรับประทานขนมปังนี้ตลอดเดือนตุลาคม
การแต่งกาย
การแต่งตัวให้เหมือนโครงกระดูกกลายเป็นอีกสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้ ชาวเม็กซิกันทุกเพศทุกวัยต่างพากันสวมชุทสูทและชุดแฟนซี เพ้นท์หน้าให้เหมือนโครงกระดูก และแสดงท่าทางเลียนแบบแคทริน่า คาลาเวร่า บางคนใช้เปลือกหอยหรือเครื่องเสียงอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานและอาจเป็นการช่วยปลุกให้คนตายขึ้นมาเฉลิมฉลองด้วย
The calavera Catrina
แคทริน่า คาลาเวร่า หรือที่เราคุ้นเคยกันในรูปลักษณ์โครงกระดูกหญิงสาวสวมหมวกใบโตที่มักปรากฎอยู่ในเทศกาลแห่งความตาย เป็นผลงานของช่างภาพพิมพ์และนักเขียนการ์ตูนเสียดสีการเมืองชื่อว่า ‘Jose Guadalupe Posada’ โดยเขาตั้งใจแกะสลักแคทริน่า คาลาเวร่าขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ลืมรากเหง้าวัฒนธรรมชนพื้นเมืองโดยสวมชุดกระโปรงของฝรั่งเศส สวมหมวกใบใหญ่ และแต่งหน้าเพื่อให้ผิวดูขาวขึ้น หลังสงครามปฏิวัติเม็กซิโกจบลง คาลาเวร่ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Day of the Dead
Papel Picado
แม้ว่าคุณจะไม่เคยมาชมงานเทศกาลแห่งความตายแต่ก็อาจจะคุ้นเคยกับ Papel Picado ตามภาพยนตร์หรือในร้านอาหารเม็กซิกัน ซึ่ง Papel Picado ที่ว่านี้คืองานฝีมือของชาวเม็กซิกันทำจากกระดาษสีวางทับกันหลายสิบชั้นแล้วตัดหรือเจาะด้วยค้อนและสิ่วให้เป็นลวดลายต่างๆ
Papel Picado ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในช่วงเทศกาลแห่งความตายเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในงานเฉลิมฉลองอื่นๆ โดยประดับตามแท่นบูชา กำแพง และถนน งานศิลปะพื้นเมืองนี้เป็นสัญญะแทนธาตุลมและความเปราะบางของชีวิต
ชมเทศกาลผ่านภาพยนตร์ดัง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Day of the Dead ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นจากการปรากฎอยู่ในสื่อ pop culture โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชาชนมากกว่า 36 ล้านคน ระบุว่ามีบรรพบุรุษเป็นชาวเม็กซิกันจากการสำรวจสำมโนประชากรเมื่อปี 2016
ในปี 2015 ภาพยนตร์เจมส์บอนด์ชื่อดังอย่าง “Spectre” ได้มีฉากหลังเป็นขบวนพาเหรดเทศกาล Day of the Dead ขนาดใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้เม็กซิโกซิตี้ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกได้จัดขบวนพาเหรดเทศกาล Day of the Dead ครั้งแรกในปี 2016 จากนั้นปีต่อมาเมืองใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ เอง ไม่ว่าจะเป็นชิคาโก, ลอสแองเจลิส, ซานอันโตนิโอ รวมถึงฟอร์ตลอเดอร์เดลก็ได้จัดขบวนพาเหรดฉลองเทศกาล Day of the Dead เช่นกัน
เดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนี้เองดิสนีย์และพิกซาร์ได้ปล่อยภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องดัง “Coco” เกี่ยวกับเด็กชายชาวเม็กซิกันที่บังเอิญได้เดินทางไปยังดินแดนแห่งความตายและพบกับเหล่าบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นการถ่ายทอดประเพณีและวิถีชีวิตของชาวเม็กซิกัน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำเงินไปได้ถึง 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เทศกาลนี้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
จากเทศกาลพื้นเมืองสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม
Day of the Dead ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือ ‘Oral and Intangible Heritage of Humanity’ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2003 โดยยูเนสโกจะขึ้นทะเบียนให้กับเทศกาล ประเพณี แนวปฏิบัติ ความรู้ หรือเทคนิคที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นภายในชุมชน ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นจะต้องสนับสนุนให้เกิดอัตลักษณ์ชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม การจัดการกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมถึงสร้างรายได้ให้กับชุมชน
การที่ Day of the Dead ได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นทำให้เห็นว่ายูเนสโกตระหนักถึงความสำคัญของเทศกาลดังกล่าวซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนที่สเปนจะเข้ามาตั้งรกรากในเม็กซิโก อีกทั้งแนวปฏิบัติในเทศกาลนี้ยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ชาวเม็กซิกันที่มีภูมิหลังทางศาสนาและชาติพันธุ์แตกต่างกันต่างก็มีการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความตายตามท้องถิ่นของตัวเอง แต่จุดประสงค์หลักในการเฉลิมฉลองยังเหมือนกันซึ่งช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี
ที่มาบทความ
- https://www.nytimes.com/article/day-of-the-dead-mexico.html
- https://www.nationalgeographic.com/travel/article/top-ten-day-of-dead-mexico
- https://www.history.com/topics/halloween/day-of-the-dead
- https://www.history.com/news/day-dead-dia-de-muertos-origins
- https://www.theyucatantimes.com/2021/11/day-of-the-dead-why-did-unesco-declare-it-as-intangible-cultural-heritage/