อีกไม่กี่วันประเทศไทยก็จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าชาวไทยหลายคนคงกำลังมองหาวิธีดับร้อนที่แตกต่างกันออกไป การเปิดแอร์นอนแช่ในห้องคงไม่ช่วยเท่าไหร่หากคิดถึงสภาพอากาศร้อนระอุเหมือนซ้อมลงนรกของบ้านเรา
ทว่าในขณะที่ชาวไทยกำลังเผชิญกับหน้าร้อนที่แผดเผาอยู่นั้น ลึกเข้าไปในดินแดนไซบีเรียทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ยังคงมีดินแดนที่ได้ชื่อว่าหนาวเย็นติดอันดับโลกตลอดปี สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า สาธารณรัฐซาคา (Republic of Sakha) หรือ ยาคูเตีย (Yakutia) เขตปกครองขนาดใหญ่ของสหพันธรัฐรัสเซีย
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แคว้นดังกล่าวมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเนื่องจาก ยาคุตสค์ (Yakutsk) เมืองหลวงของยาคูเตียเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสอากาศหนาวเหน็บอันเลื่องชื่อ ยาคุตสค์มีอุณหภูมิเฉลี่ย – 8 องศาเซลเซียสตลอดปี และในฤดูหนาวที่หนาวเย็นที่สุด อุณหภูมิอาจลดลงไปถึง – 53 องศาเลยทีเดียว
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนแคว้นยาคูเตียต้องเตรียมตัวหลายเดือนเพื่อเผชิญอากาศหนาว ทว่าสำหรับคนท้องที่ พวกเขาสามารถอยู่กันอย่างสบายๆ โดยไม่หวั่นเกรงภัยจากพายุหิมะ คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า ชาวยาคุต (Yakuts) ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตยาคูเตียมาช้านาน
แม้ว่าในปัจจุบันชาวยาคุตจะรับเอาวัฒนธรรมรัสเซียมาประยุกต์เข้ากับชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาก็ยังคงสืบทอดประเพณีและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเพื่อเอาตัวรอดจากหนึ่งในแดนกันดารที่สุดของโลก
และในวันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จะมาแนะนำให้คุณรู้จักกับชาวยาคุต วีรบุรุษแห่งดินแดนไซบีเรีย เรื่องราวของพวกเขาจะมีความน่าสนใจเพียงใดนั้น เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ที่มาของชื่อยาคุต (Yakuts)
แม้ว่าทุกวันนี้ ชาวโลกจะเรียกแคว้นยาคูเตียและชาวยาคุตจนติดปาก ทว่าคนท้องถิ่นกลับไม่ได้เรียกชาติพันธุ์ของตัวเองเช่นนั้น ชาวยาคุตเรียกดินแดนของตนว่า ซาคา (Caxa) ที่มีความในภาษาพื้นเมืองว่าดวงอาทิตย์ พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นชาวซาคาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คนรัสเซียเริ่มเรียกชาวซาคาว่า ยาคุต ซึ่งเป็นคำที่ชาวเอเวงก์ (Evenks) ชนเผ่าเพื่อนบ้านในไซบีเรียใช้เรียกชาวซาคา นักสำรวจชาวรัสเซียแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชาวซาคาในขณะนั้น คนต่างถิ่นได้รับการบอกเล่าเรื่องราวผ่านชาวเอเวงก์ที่พูดภาษารัสเซียได้ ชาวซาคาและดินแดนของพวกเขาจึงถูกเรียกว่ายาคุตนับแต่นั้น
จริงๆแล้ว ชาวซาคา นั้นเป็นคำเรียกที่แท้จริง แต่คำว่า ยาคุต เป็นคำที่คนรัสเซียใช้เรียกชาวซาคา
ชาวยาคุต (Yakuts) มาจากไหน
ปัจจุบัน ชาวยาคุต (Yakuts) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยในเขตยาคูเตีย ดินแดนดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวยาคุตกว่า 4 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 33 ของประชากรยาคูเตียทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ชาวยาคุตไม่ได้เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยในไซบีเรียเหนือ แท้จริงแล้วพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวเติร์กและมองโกลที่อาศัยในภูมิภาคเอเชียกลาง บรรพบุรุษชาวยาคุตเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่เดินทางมาตั้งรกรากบริเวณลุ่มแม่น้ำเลนา (Lena River) แม่น้ำสายหลักในเขตไซบีเรียราวคริสต์ศตวรรษที่ 14
ชาวยาคุตได้ผูกมิตรกับชนเผ่าเอเวงก์และยูคากีร์ (Yukagir) ชนพื้นเมืองที่อาศัยในเขตนี้แต่เดิม ทั้งสามเผ่ากลายเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันตั้งแต่นั้น ทว่าด้วยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ส่งผลให้ชาวยาคุตและชนเผ่าเพื่อนบ้านถูกชาวรัสเซียมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนล้าหลัง จนกลายเป็นชนวนเหตุขัดแย้งในเวลาต่อมา
ความขัดแย้งระหว่างยาคุตและรัสเซีย
แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างเผ่าในบางครั้ง แต่ชาวยาคุตก็อาศัยร่วมกันกับเผ่าอื่นในไซบีเรียอย่างผาสุกจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในครั้งนั้น พระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซียได้ส่งกองทัพสำรวจดินแดนไซบีเรีย สำหรับรัสเซียแล้ว ไซบีเรียเป็นเขตแดนปริศนาที่ยากแก่การเข้าถึง
ทว่าในปีค.ศ. 1581 แม่ทัพกองทหารคอสแซค (Cossacks) เออร์มัก ติโมฟีวิค (Ermak Timofeevich) ก็ประสบความสำเร็จในการนำกองกำลังข้ามเทือกเขายูรัล (Ural Mountains) เข้าสู่เขตทุ่งน้ำแข็งไซบีเรีย การสำรวจของกองทหารคอสแซคถือเป็นฝันร้ายของคนพื้นเมืองก็ว่าได้ พวกเขาประกาศสงครามกับชนเผ่าท้องถิ่นทั้งหมด
กองกำลังคอสแซคและชาวยาคุตทำต่อสู้กันเป็นครั้งแรกราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 หัวหน้าเผ่ายาคุตต้องการสงบศึกกับกองทัพรัสเซีย พวกเขายอมตกลงจ่ายภาษีและส่งบรรณาการถวายพระเจ้าซาร์ ทว่าชาวรัสเซียกลับไม่พอใจในสิ่งที่ได้ พวกเขายังคงใช้กำลังข่มเหงชนพื้นเมืองอยู่เสมอ
ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด การมาเยือนของคนขาวได้นำเอาโรคระบาดที่คนท้องถิ่นไม่เคยรู้จักเข้ามาแพร่ ระหว่างค.ศ. 1642 ถึง ค.ศ. 1682 ประชากรยาคุตลดจำนวนลงกว่าครึ่งเพราะการระบาดของโรคฝีดาษที่ไม่มีวิธีรักษาในขณะนั้น เคราะห์ดีที่โรคร้ายไม่ได้คร่าชีวิตชาวพื้นเมืองจนหมด
และอีกหลายทศวรรษต่อมา ทางการรัสเซียก็เริ่มผ่อนปรนมาตรการที่ใช้ควบคุมคนท้องถิ่นโดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า ชาวยาคุตต้องหันมานับถือคริสต์ศาสนาและละทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของพวกตน ชาวยาคุตบางส่วนยอมตกลงเข้ารีตศาสนาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม เหตุปะทะระหว่างกองทัพรัสเซียและเผ่ายาคุตยังคงเกิดขึ้นเนืองๆ จนกระทั่งในปี 1923 หลังสงครามกลางเมืองรัสเซียระหว่างอดีตจักรวรรดิรัสเซียและกองทัพปฏิวัติ ยาคูเตียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์ เหตุขัดแย้งที่ดำเนินยาวนานหลายศตวรรษระหว่างจักรวรรดิรัสเซียและชาวยาคุตจึงมาถึงจุดจบ
ชาวยาคุตเอาตัวรอดจากอุณหภูมิติดลบได้อย่างไร
ในอดีตบุรุษชาวยาคุตทุกคนต่างเป็นนักล่ามือฉมัง พวกเขาจำเป็นต้องล่าสัตว์เพื่อได้มาซึ่งสิ่งของที่จำเป็นต่อการอยู่รอด ชาวยาคุตสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่ทำจากหนังสัตว์เพื่อกักเก็บความร้อน สัตว์ที่นิยมล่าได้แก่ กวางเรนเดียร์และสุนัขจิ้งจอกที่มีหนังและเส้นขนฟูหนา
ในส่วนของที่อยู่อาศัย ช่วงฤดูร้อนที่อากาศอบอุ่น ชาวยาคุตนิยมสร้างกระโจมที่เรียกว่า อูราฮา (Uraha) ซึ่งง่ายต่อการตั้งและจัดเก็บ เนื่องจากในสมัยโบราณ ชาวยาคุตเป็นชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน พวกเขาจึงเตรียมพร้อมย้ายถิ่นฐานตามฝูงสัตว์ที่ล่าอยู่เสมอ
ทว่าระหว่างฤดูหนาวอันทารุณ พวกเขามักสร้างกระท่อมไม้ใกล้ชายป่าที่เรียกว่า บาลาคัน (Balaghan) ผนังบ้านบาลาคันจะถูกฉาบด้วยมูลวัวที่สามารถกักเก็บความร้อนเพื่อเพิ่มความอบอุ่นภายในบ้าน
อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของชาวยาคุตในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก คนรุ่นใหม่หันมาอาศัยในอาคารที่สร้างอย่างมิดชิด อุปกรณ์ทำความร้อนหลากชนิดช่วยให้ความเป็นอยู่ของชาวยาคุตสะดวกสบายยิ่งขึ้น และในเมืองยาคุตสค์ เมืองหลวงแคว้นยาคูเตียยังได้ชื่อว่ามีระบบขนส่งสาธารณะดีที่สุดในโลก ทำให้ชาวยาคุตทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับภัยหนาวอีกต่อไป
เข้าครัวกับชาวยาคุต
ชาวยาคุตไม่อาจเพาะปลูกพืชผลใดๆ เนื่องจากอากาศอุณหภูมิติดลบตลอดปี อาหารหลักของพวกเขาจึงทำจากนม เนื้อสัตว์ และผลไม้ป่า ชาวยาคุตนิยมกินเนื้อดิบ เนื้อสัตว์ที่นิยมกินได้แก่ เนื้อม้า เนื้อวัว เนื้อปลา และสัตว์อื่นๆ ตามแต่จะล่าได้
อาหารยอดนิยมของชาวยาคุตคือ สโตรกานินา (Stroganina) ทำจากปลาน้ำจืดจากทะเลสาบไบคาล (Baikal Lake) ที่ถูกนำมาแล่เป็นชิ้นยาว อากาศหนาวทำให้ปลาคงความสดเอาไว้ได้หลังแล่ทิ้งไว้เป็นเวลานาน
นอกจากปลาดิบแล้ว ชาวยาคุตยังชื่นชอบการรับประทานเครื่องในม้าและวัวที่นำมาปรุงรสด้วยหัวหอม พริกไทยป่น และเกลือ พวกเขามีไส้กรอกเลือดสูตรเฉพาะของตัวเองที่เรียกว่า คาน (Khaan) ทำจากเนื้อม้าหรือวัวสับ ปรุงรสด้วยเลือดสดๆ กับเครื่องเทศ ก่อนนำมากรอกใส่ลำไส้สัตว์
ในส่วนของของหวานและเครื่องดื่ม ชาวยาคุตนิยมดื่มนมและโยเกิร์ตอุดมด้วยไขมันเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น เครื่องดื่มที่ขึ้นชื่อในยาคูเตียคือ คูมิส (Kumis) นมเปรี้ยวที่ทำจากน้ำนมม้าหมักที่มีรสชาติซ่าอ่อนๆ และหลังจากมื้ออาหาร ชาวยาคุตจะรับประทาน เคียร์เช็ค (Kierchekh) ครีมนมผสมเบอร์รีป่าและน้ำตาลเพื่อปิดท้าย ถือเป็นการจบมื้อหลักตามตำรับยาคุตอย่างสมบูรณ์
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับชาวยาคุตแห่งดินแดนไซบีเรีย แท้จริงแล้วเรื่องที่น่าสนใจของชาวยาคุตไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น ยาคุตเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายมาตั้งแต่ครั้งบุพกาล พวกเขาไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้กับอากาศหนาวและผืนดินรกร้างเท่านั้น
ทว่าชาวยาคุตยังต้องยืนหยัดสู้กับการกลืนกินวัฒนธรรมที่ชาวรัสเซียพยายามทำมานานหลายร้อยปี ด้วยเหตุนี้ชาวยาคุตจึงถูกขนานนามว่าวีรบุรุษแห่งแดนเหนือเพราะความทรหดอดทนของหมู่ชน
และสำหรับใครที่สนใจไปเยือนแคว้นยาคูเตียเพื่อสัมผัสอากาศหนาวติดอันดับโลก ชาวยาคุตยังคงรอต้อนรับคุณด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่นอยู่เสมอ ชาวยาคุตขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมิตรกับคนต่างถิ่น หากนักท่องเที่ยวให้เกียรติสถานที่และวัฒนธรรมของพวกเขา ชาวยาคุตก็จะมอบมิตรภาพกลับคืนให้กับคุณเช่นกัน
และหากคุณกำลังวางแผนใช้เวลาช่วงวันหยุดที่แคว้นยาคูเตียละก็ ติดต่อเราได้ที่ www.patourlogy.com ให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทริปหลบร้อนในฝันของคุณ
อ้างอิง
- Folkway. At home in Sakha: Sheltering in the coldest place on earth. (2021). [Online]. Accessed 2022 March 24. Available from: https://folkways.today/sakha-traditional-housing/
- Facts and Details. Yakuts. (2016). [Online]. Accessed 2022 March 24. Available from: https://factsanddetails.com/russia/Minorities/sub9_3e/entry-5121.html
- Isolated Traveller. 20 interesting facts about Yakutsk. (2020). [Online]. Accessed 2022 March 24. Available from: https://www.isolatedtraveller.com/20-interesting-facts-about-yakutsk/
- Library of Congress. The Russian Discovery of Siberia. (2000). [Online]. Accessed 2022 March 24. Available from: https://www.loc.gov/collections/meeting-of-frontiers/articles-and-essays/exploration/russian-discovery-of-siberia/