ชื่อ Å อ่านว่า ออ(Oh) ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักเดินทางทั้งหลาย แต่มีที่มาจาก Old Norse ภาษาของชาวไวกิ้ง ซึ่งแปลว่า ลำธารสายเล็ก ๆ จะเห็นได้ว่ามีหมู่บ้านในนอร์เวย์อย่างน้อย 7 แห่งถูกเรียกด้วยชื่อนี้ เพราะต่างมีลำธารไหลผ่าน แต่หมู่บ้านออ ใน Lofoten จัดเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีนักท่องเที่ยวและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยลำธารที่ไหลผ่านหมู่บ้านนี้ไหลมาจากทะเลสาบ Agvatnet สู่ท้องทะเล เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่างของชื่อ Å ที่ซ้ำซ้อนกันในนอร์เวย์ จึงได้มีการตั้งชื่อเพิ่มเข้าไปให้หมู่บ้านนี้ว่า Å i Lofoten
ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านออ
หมู่บ้านออจัดเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่มีพลเมืองอยู่ประมาณร้อยกว่าครัวเรือน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล Moskenes หมู่เกาะ Lofoten ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่สามารถขับรถเข้าไปได้เพราะ หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่จุดสิ้นสุดของถนน E10 หรือที่รู้จักกันในชื่อถนน King Olav V route ที่ลากยาวมาตั้งแต่เมือง Luleå ทางตอนเหนือของสวีเดนเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ในนอร์เวย์จนถึงหมู่เกาะ Lofoten
ในภาษานอร์เวย์ใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ 26 ตัว บวกเพิ่มอีกสามตัว คือ æ, ø และ å ถ้าสังเกตดี ๆ คุณจะพบว่า Å เป็นตัวอักษรสุดท้ายของภาษานอร์เวย์ ซึ่งสอดรับกับสถานที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่สุดทางถนน E10 ของเกาะ Lofoten เช่นกัน บริเวณสุดขอบหมู่บ้าน จะสามารถมองเห็นผาของเกาะ Mosken ได้ และเมื่อมองไกลออกไปด้านบนจะเห็นเกาะ Værøy ในวันที่อากาศดี ปลอดโปร่ง จะได้เห็นเมือง Bodø ที่อยู่ตอนเหนือของนอร์เวย์ได้เลย บริเวณด้านตะวันตกของหมู่บ้านมีกระท่อมเล็กๆ อยู่จำนวนมาก ทว่ากระท่อมเหล่านี้กลับไม่มีคนอยู่ เนื่องจากในปี 1950 รัฐบาลได้ขอให้ชาวบ้านแถบนี้ย้ายไปอยู่ในเมืองทั้งหมด
ทะเลระหว่างหมู่บ้านออ และเกาะ Mosken มีน้ำวนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือถึงขนาดได้รับการกล่าวถึงในนิยายของ Jules Verne นักเขียนชาวฝรั่งเศส และ Edgar Allan Poe นักเขียนชาวอเมริกัน โดยน้ำวนแห่งนี้ถูกค้นพบโดยแผนที่เดินเรือของชาวดัตช์และชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 น้ำวนนี้มีชื่อว่า Moskstraumen หรือ Moskenesstraumen ก่อตัวมาจากกระแสคลื่นแอตแลนติกที่ถาโถมน้ำตื้นพัดเข้าสู่ Vestfjord กลายเป็นอ่าวยักษ์ที่กั้น Lofoten ออกจากแผ่นดินใหญ่
วิถีชีวิตของชาวบ้านหมู่บ้าน Å
อย่างที่ทราบกันดีว่า นอร์เวย์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เด่นเรื่องการจับปลาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะใน Lofoten จึงพบหมู่บ้านชาวประมงจำนวนมากที่นี่ หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้าน Å นี่เอง ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หมู่บ้านออ เป็นท่าเรือจับปลาสำคัญ ชาวบ้านที่นี่ต่างประกอบอาชีพหาปลา ปลาที่จับกันมากในแถบนี้คือ ปลาคอด โดยปกติมักจะจับกันในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาคอดว่ายจากอาร์กติกอันหนาวเย็นมาหาน้ำอุ่นแถว Lofoten เพื่อวางไข่ โดยปลาคอดจะว่ายมาถึงด้านนอกสุดของหมู่เกาะ Lofoten ก่อน อาทิ Røst, Værøy และว่ายมาถึง Å ในที่สุด ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะแก่การจับที่สุดเพราะปลาคอดนั้นตัวอ้วนท้วมสมบูรณ์ อันเป็นผลมาจากได้กินอาหารกันอย่างอิ่มหลีพลีมันมาก่อนจะวางไข่ แต่ถ้าปลาคอดว่ายเลยต่อไปเรื่อย ๆ ถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ Lofoten เช่น ใน Svolvær ตัวปลาจะลีนขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูวางไข่แล้วจึงไม่ค่อยได้กินอะไรเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าอยากได้ปลาที่ลีนไขมันน้อยแนะนำให้จับในช่วงเดือนมีนาคม
ปลาคอดเป็นวัตถุดิบส่งออกที่เก่าแก่ที่สุดในนอร์เวย์ และส่งออกไปอิตาลีมากที่สุด อีกทั้งปลาคอดยังเป็นสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองใน EU เหมือนบลูชีส Roquefort และไวน์ขาว Chablis ในฝรั่งเศส
หลังจากได้ปลามาแล้ว สิ่งที่มักจะทำกันต่อมาคือนำปลามาตากแห้ง ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตากปลาที่สุดคือ ช่วงฤดูหนาว ด้วยอากาศที่ไม่ได้หนาวจัดจนปลาถูกน้ำแข็งจับหรือร้อนไปจนปลาเน่า ท่ามกลางบรรยากาศหนาวเย็นหลายเดือน ปล่อยให้ลมและความเค็มของทะเลพัดผ่านตัวปลา จะทำให้ได้ปลาที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อนำมารังสรรเป็นอาหารสุดพิเศษใน Lofoten ในที่สุด คุณจะเห็นราวตากปลาแห้งทั่วสองข้างทางจนจบถนนสาย E10 และแน่นอนว่าไม่ได้แค่เห็น แต่ยังจะได้กลิ่นของปลาแห้งคลุ้งไปทั่วอีกด้วย
ปลาแห้งเป็นปลาที่ดีต่อสุขภาพ เพราะไม่มีสารเติมแต่งใด ๆ สร้างมาจากฝีมือของลมธรรมชาติล้วน ๆ สารอาหารในตัวปลายังอยู่ครบบนตัวปลาตากแห้ง คุณค่าทางอาหารของปลาแห้งหนึ่งกิโลกรัมเทียบเท่าปลาสดห้ากิโลกรัม อีกทั้งปลาแห้งยังเก็บได้เป็นปี ๆ เวลาจะทาน เพียงนำมาแช่น้ำ ปลาจะกลับคืนสู่สภาพพร้อมนำไปประกอบอาหาร
ผู้ทรงอิทธิพลในหมู่บ้านออ
ผู้มีอำนาจรายใหญ่ของที่นี่คือ ครอบครัว Ellingsen ครอบครัวนี้เป็นเจ้าของบ้านชาวประมงทั้งหลาย ขายเสบียงอาหารและเหล้าบรั่นดีให้ชาวบ้าน ซื้อปลาที่ชาวบ้านจับได้และส่งออกปลา รวมถึงนำเข้าสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมาขายให้ชาวบ้าน เรียกได้ว่าคุมทุกอย่างที่เคลื่อนไหวในหมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้ชาวบ้านติดหนี้ครอบครัวนี้เป็นจำนวนมาก และต้องกลับมาที่หมู่บ้านออทุกปีเพื่อจับปลาและชดใช้หนี้ ยากมากที่จะเปลี่ยนไปทำการค้ากับเจ้าอื่นถ้ายังติดหนี้ครอบครัวนี้อยู่ ครอบครัวนี้ไม่ได้มีอำนาจแค่ในหมู่บ้าน แต่มีอิทธิพลเหนือเกือบจะทั้งเกาะ Lofoten จึงมักถูกเรียกว่า Nessekonger ราชาแห่งการกักขัง เพราะชาวบ้านต้องอยู่ในวงจรนี้ไปจนตาย ครอบครัวนี้แฝงตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจมาได้เป็นอย่างดีตั้งแต่หลังสงครามโลก
พิพิธภัณฑ์ชาวประมงในหมู่บ้าน
หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้มีพิพิธภัณฑ์การประมงถึงสองแห่งด้วยกัน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของคนที่นี่มากขึ้น
- Norsk Fiskeværsmuseum (Norwegian Fishing Village Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์แบบ open air ที่รวบรวมเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมงนี้ในช่วง 1840 – 1960 เรื่องราวการจับปลาของเกาะ Lofoten กว่า 250 ปี ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่นี้เป็นสมบัติของครอบครัว Ellingsen มาก่อน ครอบครัวที่เรารู้จักกันดีว่าทรงอิทธิพลในย่านนี้ โดยในพื้นที่เปิดแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารหลายแห่งให้เราได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็น
- โรงงานเบเกอรี่ (The Bakery) ที่ใช้เตาหินโบราณตั้งแต่ปี 1878 ในการอบขนมปังและชินนามอนโรลที่ดีที่สุดในเกาะ Lofoten ให้คุณได้ลิ้มลองรสชาติ และจะเปิดในช่วงฤดูร้อนให้ได้ศึกษาวิธีการทำขนมในยุคก่อน ๆ
- เรือบ้าน (Boathouse) หรือที่รู้จักกันในนาม Nordland House เรือไม้ดั้งเดิมที่ไว้ใช้หาปลาของคนนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเรือที่มีความยาวและแคบ มีตั้งแต่ขนาดสี่ไม้พายที่ใช้สองคนพาย จนถึงแปดไม้พายที่ใช้สี่คนพาย รวมถึงเรือที่ใช้มอเตอร์แทนแรงคนในปี 1915 ในเรือจะพบอุปกรณ์จับปลาตั้งแต่สมัยโบราณ และเรื่องราวการล่าวาฬ
- โรบู (Rorbu) กระท่อมชาวประมงสีแดงสดสร้างอยู่บนน้ำเรียงรายตระการตา แต่ก่อนเป็นที่พักของชาวประมง แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นโรงแรมให้นักเดินทางมาพักผ่อน
- โรงงานผลิตน้ำมันตับปลาจากปลาคอดที่เก่าแก่ที่สุด (The Cod Liver Oil Factory) ในยุโรปเหนือ เราจะได้เรียนรู้การสกัดน้ำมันออกมาโดยใช้ความร้อนเพื่อใช้ดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ภาษา Old Norse เรียกน้ำมันตับปลาคอดว่า Lysi ที่แปลว่า แสงสว่าง เพราะน้ำมันนี้เอาไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดตะเกียงได้ นอกจากนี้ ยังถูกนำมาใช้ทาผิวให้แทนขึ้นจนไปถึงใช้เป็นส่วนผสมของสบู่และสีทาบ้านของชาวประมง สีแดง ๆ ที่เราเห็นกันนั่นแหละ น้ำมันตับปลาเป็นน้ำมันอีกหนึ่งชนิดที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย
- ร้านชำ (Gammelbutikken) เก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1843 ตอนนี้นำมาใช้เป็น reception ของพิพิธภัณฑ์
- สถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ โรงตีเหล็ก ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ที่เรือกลไฟออกเดินทางและใช้ทำการค้า เช่น นำเข้าและส่งออก สมัยที่ครอบครัว Ellingsen เรืองอำนาจ
- Tørrfiskmuseum (Stockfish Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงกระบวนการจัดการวัตถุดิบที่เลื่องชื่ออย่างปลาคอด เริ่มจากการลากอวนจับปลาขึ้นมาจากท้องทะเล นำมาใส่ตะกร้าใบใหญ่ที่บรรทุกปลาได้ถึง 100 กิโลกรัมแล้วยกขึ้นมาวางที่ท่า จากนั้นใช้รถเข็นล้อเดียวเคลื่อนย้ายมาตรวจสอบมาตรฐาน คัดแยกชนิด นำไปตากแห้ง และมัดเป็นพวงราว 20 – 50 กิโลกรัมเพื่อส่งออก
- บริเวณชั้น 2 มีสถานที่เก็บปลาหลังจากตากแห้งเรียบร้อยแล้ว โดยตลอดฤดูร้อนช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน จะมีการคัดเอาปลาที่มีหนอนแมลงหรือถูกน้ำแข็งทำลายออก รวมถึงปลาที่มีกลิ่นเปรี้ยว แล้วนำมาเก็บไว้ที่นี่ คุณภาพของปลามีหลายระดับ (ว่ากันว่ามีถึง 16 ระดับ)
Si Vende Stoccafisso เป็นประโยคที่ถูกเขียนอยู่หน้าประตูคลังปลานี้ เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ที่นี่มีปลาแห้งขาย ประโยคชวนฉงน รวมไปถึงป้ายต่างๆที่มีภาษาอิตาเลียนระบุไว้ ประเทศนอร์เวย์แต่ทำไมมีภาษาอิตาลี นั่นเป็นเพราะว่า คนอิตาเลียนชอบรับประทานปลาตากแห้งของที่นี่มาก เหล่าพ่อค้าอิตาเลียนต่างแวะมาซื้อกลับไปในช่วงฤดูร้อน
อีกทั้งอิตาลีเป็นประเทศที่นำเข้าปลาตากแห้งจาก Lofoten มากที่สุดด้วย เรียกได้ว่า 95% ของปลาตากแห้งที่ Lofoten ถูกส่งไปอิตาลีเลยทีเดียว ส่วนอีก 5% ที่เหลือถูกส่งไปที่โครเอเชีย ส่วนของหัวปลาถูกส่งไปขายที่ไนจีเรีย เพื่อนำไปบดปั่นทำเป็นน้ำซุปหัวปลา คนทางใต้ของอิตาลีชอบปลาคอดตัวอ้วนท้วมมีไขมัน ส่วนคนทางเหนือของอิตาลีชอบปลาคอดตัวที่ลีนมากกว่า ซึ่งการขายปลาคอตและการประมงสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้นอร์เวย์
แม้กระทั่งนายกเทศมนตรีของเกาะ Røst ถึงขนาดกล่าวไว้ว่า “ขอให้พระเจ้ารักษาแม่บ้านชาวอิตาเลียนและครัวของพวกเขา! ขอให้อาหารอิตาเลียนจงเจริญ!” เพราะอิตาลีเป็นผู้ซื้อปลาแห้งเบอร์ต้น ๆ ของนอร์เวย์
สาเหตุที่คนอิตาลีรู้จักปลาแห้งของเกาะแห่งนี้ สืบเรื่องมาตั้งแต่ในสมัยปฏิรูปศาสนา ปลาแห้งของเกาะ Lofoten จะขายในยุโรปเหนือ และขายดีมากในช่วงอดอาหาร แต่ในปี 1432 Pietro Querin นักล่องเรือชาวเวนิส บังคับเรือมุ่งหน้าสู่เมือง Bruges ประเทศเบลเยี่ยม แต่กลับติดอยู่ที่เกาะ Røst ในหมู่เกาะ Lofoten เนื่องจากโดนพายุซัดเข้าฝั่ง หลังจากฤดูหนาวที่ Røst เขาก็ได้ล่องเรือกลับเวนิสพร้อมกับปลาแห้ง และนั้นทำให้ปลาแห้งจากนอร์เวย์เป็นที่รู้จักในอิตาลีนั่นเอง
ที่มาบทความ
- Lofoten Stockfish Museum in Å reveals how stockfish became such a craze
- Å is at the end of the Lofoten road
- NORWEGIAN FISHING VILLAGE MUSEUM
- The Norwegian Town Whose Name Is One Letter Long
อ่านบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอื่นๆต่อได้ที่ >>> https://www.patourlogy.com/blog/inspiration
สนใจทัวร์ส่วนตัว และโปรแกรมทัวร์ คลิ๊ก >>> https://www.patourlogy.com/ทริปทัวร์เดินทาง
สนใจอยากไปที่หมู่บ้านออ ดูได้ที่นี่ครับ >> https://www.patourlogy.com/tour/ทัวร์โลโฟเทน-ทรอมโซ