ในปี ค.ศ. 2021 ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม คือ Abdulrazak Gurnah นับเป็นนักเขียนแอฟริกันผิวสีคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรมหลังจากที่นักเขียนผิวสีชาวไนจีเรีย Wole Soyinka ได้รับรางวัลในสาขาเดียวกันนี้เมื่อ ค.ศ.1986
ผลงานการเขียนของ Gurnah นั้นสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการล่าอาณานิคมและชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเขาเองที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดในเกาะแซนซิบาร์ (Zanzibar) ตั้งแต่วัยรุ่นและมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ
ประวัติของ Abdulrazak Gurnah
Abdulrazak Gurnah เกิดที่เกาะแซนซิบาร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ต่อมาเมื่อแซนซิบาร์เป็นเอกราชจากอาณานิคมของอังกฤษในเดือนธันวาคม ค.ศ.1963 จึงเกิดการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลสุลต่านในเดือนมกราคม ค.ศ.1964 เหตุการณ์ครั้งนั้นนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวอาหรับจำนวนมาก
Gurnah ต้องจากครอบครัวเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษในวัย 18 ปี และใช้เวลาอีกร่วม 20 ปีกว่าจะได้กลับไปบ้านเกิดของเขาอีกครั้งก็อีก ขณะที่อยู่ในอังกฤษ Gurnah ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษและวรรณคดีหลังยุคอาณานิคมที่มหาวิทยาลัยเคนต์ ในเมืองแคนเทอร์เบอรี ประเทศอังกฤษ และเพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้
Gurnah เริ่มต้นงานเขียนของเขาตั้งแต่อายุได้ 21 ปี โดยมีแรงบันดาลใจจากหนังสือภาษาอาหรับอย่างเรื่อง The Arabian Nights รวมทั้งงานเขียนของเชกสเปียร์ งานเขียนของ Gurnah มักเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดตนเองคือเกาะแซนซิบาร์ ซึ่งมีชนพื้นถิ่นเป็นชาวแอฟริกัน ก่อนถูกใช้เป็นที่ตั้งของพ่อค้าทาสชาวอาหรับ จากนั้นแซนซิบาร์ได้ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส โอมาน เยอรมนี และอังกฤษ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในนวนิยาย 10 เล่มที่ Gurnah เขียนนั้น มีอยู่ 4 เล่มที่มีแซนซิบาร์เป็นเสมือนฉากหลังของนวนิยาย ได้แก่ Admiring Silence ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1996 By the Sea ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2001 The Last Gift ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2011 และ Gravel Heart ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2017
ผลงานของ Abdulrazak Gurnah ที่เกี่ยวกับแซนซิบาร์
1.) Admiring Silence
Admiring Silence เป็นนวนิยายเล่มที่ 5 ของ Abdulrazak Gurnah เป็นเรื่องราวของผู้เล่าเรื่องที่ไม่ระบุชื่อซึ่งลี้ภัยจากเกาะแซนซิบาร์ไปยังลอนดอนหลังการปฏิวัติ แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทางการศึกษา รวมถึงแต่งงานกับหญิงชาวอังกฤษและมีลูกกับเธอ แต่เขากลับไม่มีความสุขในประเทศที่เขาลี้ภัยอยู่นี้ เพราะเขาเลือกที่จะซ่อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตทั้งนี้เพื่อปกป้องตนเองจากความเกลียดกลัวชาวต่างชาติของพ่อภรรยา ซึ่งยังรวมถึงการบิดเบือนอดีตของตนและแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ จนนำไปสู่ความแตกแยกของครอบครัวในที่สุด
ชายผู้เล่าเรื่องมีความทรงจำในวัยเด็กของเขาที่แซนซิบาร์ และได้กลับไปยังบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งหลังจากไปร่วมยี่สิบปี แต่ความทรงจำเหล่านั้น แตกต่างจากสิ่งที่เขาประสบทั้งท่อระบายน้ำอุดตัน น้ำประปาและไฟฟ้าขัดข้อง สิ่งกีดขวางบนถนน นักการเมืองทุจริต และนี่คือข้อเท็จจริงของชีวิต
2.) By the Sea
ตัวละครใน By the Sea ของ Gurnah ล้วนถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรมที่ทอดยาวตั้งแต่โมกาดิชูไปจนถึงมอมบาซา มาลินดี ลามู เปมบา จนถึงแซนซิบาร์
ในนวนิยายนี้ผู้เล่าเรื่องเป็นผู้ลี้ภัยจากเกาะแซนซิบาร์ ในแอฟริกาตะวันออกซึ่งกำลังหาทางเข้าสู่อังกฤษ เนื่องจากประเทศบ้านเกิดของเขาเคยเป็นของอังกฤษ จึงมีคุณสมบัติในการขอลี้ภัย แต่การที่เขาเดินทางด้วยหนังสือเดินทางปลอม จึงทำให้ถูกกักตัวและถูกยึดกล่องเครื่องหอมซึ่งเป็นของมีค่าชิ้นเดียวในกระเป๋าไป เมื่อเขาถูกส่งตัวไปที่ศูนย์กักกัน ก็ได้นักสังคมสงเคราะห์หญิงเข้ามาแทรกแซง
ผู้เล่าเรื่องจึงเริ่มเล่าเรื่องราวของหญิงคนดังกล่าว โดยเริ่มจากเรื่องราวของต้นกำเนิดธูปของเขานั่นเอง นวนิยายเรื่องนี้จะพาเดินทางสู่ความทรงจำและประวัติศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดีย ผ่านวัฒนธรรมอินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย และแอฟริกา ไปสู่ความทันสมัยของใจกลางเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
3.) The Last Gift
สำหรับ The Last Gift นั้น Gurnah ได้ใช้ธีมของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและน้ำหนักของความลับของครอบครัว เล่าถึงความหมายของเรื่องราวที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ตัวเอกในนวนิยายคือ Abbas และ Maryam พบกันที่อังกฤษและแต่งงานกัน
ฝ่ายชายเป็นกะลาสีเรือจากประเทศในแอฟริกาที่ไม่ปรากฏชื่อ ส่วนฝ่ายหญิงถูกทอดทิ้งตั้งแต่ยังเป็นทารก และถูกรับเลี้ยงโดยคู่สามีภรรยาชาวอินเดีย
อย่างไรก็ตาม Abbas กลับเป็นผู้ที่ปกปิดเรื่องที่กำเนิดของเขาจากภรรยาและลูกๆ แต่เมื่อเขาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความจริงก็ได้เปิดเผยเบื้องหลังการเนรเทศจากแซนซิบาร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าละอายอย่างที่เขากลัว แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้ชีวิตที่ไม่สามารถแก้ไขอดีตที่เกิดไปแล้วได้
4.) Gravel Heart
Gravel Heart นวนิยายเรื่องนี้ของ Gurnah บรรยายชีวิตของ Salim ผู้ซึ่งพ่อของเขาต้องย้ายออกจากบ้านในแซนซิบาร์โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ และเมื่อพ่อของเขาย้ายเข้าไปอยู่ในห้องเล็กๆ หลังร้านแห่งหนึ่ง แม่ก็จะให้ Salim นำอาหารกลางวันไปส่งให้ทุกวัน
ความลับของพ่อยังคงดำมืดสำหรับ Salim จนกระทั่งมาพบเบาะแสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความลึกลับของพ่อของเขา ที่ไม่ใช่ในแซนซิบาร์ แต่ห่างออกไปกว่า 4,000 ไมล์ในอังกฤษ ที่ซึ่งเขาย้ายไปเรียนหนังสือโดยได้รับการสนับสนุนจากลุงนักการทูตของเขา เรื่องราวทั้งหมดเป็นผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้คือการปฏิวัติของแซนซิบาร์ เมื่อตาของ Salim ถูกจับกุมและสังหารในการปฏิวัติ นั่นทำให้แม่ของ Salim เลือกที่จะทิ้งสามีของตน แล้วเกิดผลกระทบอย่างถาวรกับชีวิตของ Salim ในที่สุด
ประวัติศาสตร์การยึดครองแซนซิบาร์
สหสาธารณรัฐแทนซาเนียประกอบด้วยสาธารณรัฐ 2 แห่ง ได้แก่
- สาธารณรัฐแทนกานยิกา (Tanganyika)
- สาธารณรัฐแซนซิบาร์ (Zanzibar)
สาธารณรัฐแทนกานยิกา (Tanganyika) ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา อาณาเขตทางด้านเหนือและตะวันออกติดกับเคนยาและยูกันดา รวมทั้งทะเลสาบวิกตอเรีย ทิศตะวันตกติดกับรวันดา บุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และทะเลสาบแทนกานยิกา ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับแซมเบีย มาลาวี และทะเลสาบมาลาวี ทิศใต้ติดกับโมซัมบิก ทางเหนือมีภูเขาคิลิมันจาโร (Kilimanjaro) ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในทวีปแอฟริกา
สาธารณรัฐแซนซิบาร์ ประกอบด้วยเกาะแซนซิบาร์และเกาะเพมบา (Pemba) อยู่ห่างจากชายฝั่งของแทนกานยิกา ประมาณ 40 กิโลเมตร
ประวัติศาสตร์การยึดครองแซนซิบาร์ เริ่มต้นจากในปี ค.ศ. 1499 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสชื่อ Vasco da Gama ได้ไปเยือนเกาะแซนซิบาร์ แล้วอีก 100 ปีต่อมาในศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสก็ยึดครองแซนซิบาร์ แต่ไม่นานนักชาวโปรตุเกสถูกขับไล่โดยชาวอาหรับแห่งโอมาน เมื่อปี ค.ศ. 1699 โดยมีสุลต่านแห่งโอมานเป็นผู้ปกครอง จากนั้นในปี ค.ศ. 1840 สุลต่าน Seyyid bin Sultan ย้ายเมืองหลวงจากโอมานไปยังแซนซิบาร์ การค้าทาสและงาช้างก็เจริญรุ่งเรือง ครั้นสุลต่าน Seyyid สิ้นพระชนม์ สุลต่านแห่งแซนซิบาร์และโอมานได้แยกการปกครองออกจากกัน ในปี ค.ศ. 1816
ช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปเริ่มสำรวจดินแดนภายในแอฟริกา จนกระทั่ง ค.ศ. 1884 เยอรมันเริ่มเข้ายึดครองดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ จนก่อตั้งเป็นอาณานิคมแอฟริกาตะวันออกของเยอรมันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1897 แต่เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม แทนกานยิกาได้เข้าเป็นดินแดนในอารักขาของสันนิบาตชาติและสหประชาชาติตามลำดับ
โดยทั้งสันนิบาตชาติและสหประชาชาติได้มอบให้อังกฤษดูแลแทนกานยิกามาโดยตลอด จนกระทั่งแทนกานยิกาได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1961 โดยมีสถานะเป็นสาธารณรัฐภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ ในขณะที่แซนซิบาร์เป็นรัฐสุลต่านภายใต้การอารักขาของอังกฤษ และได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1963
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1964 ระบบสุลต่านถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติจากชาวพื้นเมืองแอฟริกัน เกิดการขับไล่ชาวตะวันตกออกนอกประเทศและนำไปสู่การสังหารหมู่ชาวอาหรับ
แทนกานยิกาและแซนซิบาร์ได้ตกลงรวมตัวกันเป็นสหสาธารณรัฐแทนซาเนียเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1964 โดยแซนซิบาร์มีสถานะเป็นเขตพิเศษกึ่งปกครองตนเองและมีคณะรัฐบาลของตนเองชื่อ Revolutionary Council of Zanzibar
แซนซิบาร์ (Zanzibar) ภายใต้การปกครองของโปรตุเกสและสุลต่านโอมาน
ในช่วงการเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เกาะแซนซิบาร์นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะทำธุรกิจการค้ากับแผ่นดินใหญ่ของสวาฮิลีได้อย่างรวดเร็วถึงยุโรป หมู่เกาะอยู่ภายใต้การปกครองโปรตุเกสเกือบ 200 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ป้อมปราการถูกสร้างขึ้นที่เกาะแพมบาเพื่อป้องกันการรุกรานจากประเทศอาหรับ นอกจากนี้ชาวโปรตุเกสยังได้สร้างป้อมหินบน Unguja ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของ Stone Town
เมื่อหมดยุคอาณิคมของโปรตุเกส แซนซิบาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสุลต่านโอมาน การค้าเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งโดยให้ความสำคัญกับทาส งาช้าง และกานพลู
ชาวโอมานใช้ความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระราชวังและป้อมใน Stone Town ซึ่งกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ในขณะที่ประชากรชาวแอฟริกันของเกาะถูกกดขี่และใช้เพื่อให้แรงงานโดยปราศจากค่าจ้าง
ตลอดระยะเวลาภายใต้การปกครองของสุลต่านโอมานนับเป็นช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายของการค้าทาสและความทุกข์ยากของทาสชาวแอฟริกัน โดยความมั่งคั่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นผ่านจำนวนทาสที่ถูกค้าขายกว่า 50,000 คน ผ่านตลาดค้าทาสของหมู่เกาะในแต่ละปี
ชาวอาหรับโอมานที่ปกครองแซนซิบาร์ในยุคนั้น อาศัยความรุนแรงและความโหดร้ายเป็นเครื่องมือในการปกครองและปฏิบัติต่อทาสแอฟริกันของพวกตน ทั้งการจงใจข่มขู่คนที่เป็นทาส การเฆี่ยนตี การแยกออกจากครอบครัว และการข่มขืน ดังนั้นทาสชาวแอฟริกันจึงกลัวและยอมจำนนจนไม่เคยมีความพยายามต่อต้านจากทาสเลย
แน่นอนว่าความเคียดแค้นชิงชังของชาวแอฟริกันที่มีต่อชาวอาหรับยังคงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจมาโดยตลอด และสะท้อนออกมาในเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อปี ค.ศ. 1964 ในแซนซิบาร์ ความโหดร้ายที่นายทาสชาวอาหรับปฏิบัติต่อทาสผิวดำของพวกเขาได้ทิ้งมรดกแห่งความเกลียดชัง จนมีพลเรือนมากถึงกว่า 20,000 คนถูกสังหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ
สถานที่อนุสรณ์อาณานิคมและการค้าทาส
1.) Stone town แห่งแซนซิบาร์
Stone town แห่งแซนซิบาร์เป็นเสมือนตัวแทนของเมืองการค้าริมชายฝั่งของสวาฮิลีในแอฟริกาตะวันออก โดยคงสภาพผังเมืองและภูมิทัศน์ของเมืองไว้อย่างดี มีอาคารที่สวยงามหลายแห่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมเฉพาะ ซึ่งได้ผนวกรวมให้องค์ประกอบที่แตกต่างกันของวัฒนธรรมแอฟริกา อาหรับ อินเดีย และยุโรป หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันเป็นเวลากว่าหนึ่งสหัสวรรษ
Stone town แห่งแซนซิบาร์ตั้งอยู่บนแหลมที่ยื่นออกมาจากด้านตะวันตกของเกาะ Unguja สู่มหาสมุทรอินเดีย เมืองประเภทนี้พัฒนาบนชายฝั่งของแอฟริกาตะวันออก ขยายเพิ่มเติมภายใต้อิทธิพลของอาหรับ อินเดีย และยุโรป แต่ยังคงรักษาองค์ประกอบดั้งเดิมไว้ เกิดเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในภูมิภาคนี้
อาคารต่างๆ ของ Stone Town สร้างด้วยหินแร็กสโตนและไม้โกงกางที่ฝังในปูนขาวหนา จากนั้นจึงฉาบปูนและล้างด้วยปูนขาว สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานที่ซับซ้อนของอิทธิพลของสวาฮิลี อินเดีย อาหรับ และยุโรปในการสร้างและการวางผังเมือง
บ้านสองชั้นที่มีห้องแคบยาวซึ่งจัดวางอยู่รอบๆ ลานภายในที่เปิดโล่ง การเข้าสู่ภายในต้องผ่านทางเดินแคบ โดดเด่นด้วยประตูแบบแซนซิบาร์สองบานที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง ขณะที่บางหลังมีเฉลียงกว้างและตกแต่งภายในอย่างหรูหรา ส่วนบ้านสวาฮิลีชั้นล่างนั้นมีลักษณะที่เรียบง่าย
แม้ว่าชาวโปรตุเกสจะเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 แต่การก่อสร้าง Stone town ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างอาหรับ เปอร์เซีย
วิธีสำรวจสถานที่แห่งนี้ได้ดีที่สุดคือ การเดินเท้า แม้ว่าการเช่าจักรยานจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย นอกจากนั้นการจ้างมัคคุเทศก์ท้องถิ่นก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการค้นพบประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่และสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดของเดือนรอมฎอนนั้น พื้นที่นี้จะกลายเป็นเทศกาลที่รื่นเริงโดยเฉพาะกับโคมไฟที่เรียงรายตามตรอกซอกซอยและงานเลี้ยงอาหารข้างทางในทุกมุมเมือง
2.) โบสถ์ Anglican Cathedral
ยอดแหลมสูงกับผนังสีเทาอมเหลืองของโบสถ์ Anglican Cathedral สร้างความโดดเด่นให้กับพื้นที่ส่วนนี้ของ Stone town ขณะที่ม้านั่งไม้สีเข้มและหน้าต่างประดับกระจกสีจะทำให้ผู้มาเยือนชาวอังกฤษนึกถึงโบสถ์ที่บ้านเกิดของตน
ที่นี่นับเป็นโบสถ์นิกายแองกลิกันแห่งแรกในแอฟริกาตะวันออก สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1870 โดยคณะมิสชันนารีที่ก่อตั้งโดยสมาชิกของโบสถ์แองกลิกันในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ เดอแรม และดับลิน บนที่ตั้งของตลาดทาสในอดีตหลังจากเลิกทาสอย่างเป็นทางการ
ภายในโบสถ์มีแท่นบูชาที่ตั้ง ณ จุดที่เป็นต้นไม้ที่นำกิ่งมาเฆี่ยนตีทาส ส่วนวงกลมของหินสีขาวที่แท่นบูชาทำเครื่องหมายสถานที่ที่เสาแส้เคยตั้งอยู่ วงกลมด้านนอกของหินสีแดงแสดงถึงการนองเลือดของเหล่าทาสชาวแอฟริกันที่เกิดขึ้น
แรงผลักดันเบื้องหลังการก่อสร้างโบสถ์แห่งนี้คือ บิชอป Edward Steere (ค.ศ. 1828–1882) แต่แรงบันดาลใจคือ David Livingstone ผู้เรียกร้องต่อคณะมิสชันนารีเมื่อพวกเขาตั้งรกรากอยู่บนเกาะ ในปี ค.ศ. 1864 ดังนั้นจึงมีหน้าต่างประดับกระจกสีบานหนึ่งอุทิศเพื่อเป็นความทรงจำแก่เขา ในขณะที่ไม้กางเขนของโบสถ์สร้างจากต้นไม้ที่เติบโตในหมู่บ้าน Chitambo ของประเทศแซมเบีย สถานที่ที่ร่างของ David ถูกฝัง
ที่ทางเข้าโบสถ์มีนิทรรศการการค้าทาสของแอฟริกาตะวันออกซึ่งเป็นชุดการจัดแสดงข้อมูล ที่นี่ยังเป็นห้องทาสในอดีตที่ซึ่งทาสถูกคุมขังก่อนขาย นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นทาสและการค้าทาสที่เริ่มต้นด้วยการจับกุมในสถานที่ต่างๆ เช่น คองโก เคนยา แทนกานยิกา ผ่านการขนส่ง ผู้ซื้อและผู้ขาย ตั้งแต่การทำงานในไร่เครื่องเทศและการเดินทางไปต่างประเทศ ไปจนถึงเสรีภาพและมรดกทาสที่มอบให้กับแซนซิบาร์
3.) อนุสรณ์สถานตลาดค้าทาส
ในบรรดากิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบในแซนซิบาร์ การเป็นทาสนั้นทำกำไรได้มากที่สุด ดังนั้นทุกปีจึงมีทาสราว 50,000 คน ทาสผิวดำส่วนใหญ่บนเกาะนี้มาจากแอฟริกาตะวันออก ทาสที่เพิ่งได้มาใหม่มักถูกบังคับให้ขนงาช้างและสินค้าอื่นๆ กลับไปยัง Bwaga Moyo มาจากคำภาษาคิสวาฮิลี ซึ่งหมายความว่า “วางหัวใจของเจ้าลง” นี่คือจุดที่ทาสละทิ้งความหวังที่เหลืออยู่ในอิสรภาพหรือหลบหนี
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถนนในแซนซิบาร์เต็มไปด้วยทาส ประมาณหนึ่งในสามถูกนำเข้ามาทำงานในไร่เครื่องเทศของแซนซิบาร์และเพมบา ทาสเข้ามาเป็นประชากรถึงประมาณสองในสามของเกาะ ทำให้วัฒนธรรมการเป็นทาสฝังแน่นในสังคม ถึงจะยกเลิกการค้าทาสในปี ค.ศ. 1873 แต่สถานะการเป็นทาสยังคงมีอยู่ในแซนซิบาร์จนถึงปี ค.ศ. 1909
แม้การค้าทาสจะเกิดขึ้นทั่วเกาะ แต่ก็มีตลาดหลักสามแห่ง ตลาดทาสของ Stone Town นั้นมีชื่อเสียงในด้านความโหดร้ายที่สุด เมื่อไปถึงแซนซิบาร์ พวกทาสจะได้รับการทำความสะอาดและเอาน้ำมันมะพร้าวทาร่างกาย พวกเขาถูกบังคับให้สวมกำไลทองและเงินที่มีชื่อของพ่อค้าทาส จากนั้นทาสถูกบังคับให้เดินไปตามถนนโดยมีผู้คุมถือดาบหรือหอกคอยคุ้มกัน
ตลาดทาส Stone town เปิดประมาณสี่โมงเย็น ทาสได้รับคำสั่งเป็นแถวตามอายุ เพศ ความเหมาะสมในการจ้างงานหรือมูลค่า ผู้ซื้อจะตรวจดูปาก ฟันและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ต่อจากนี้ให้เดินหรือวิ่งเพื่อแสดงว่าไม่มีตำหนิ หากตกลงราคาได้ พวกเขาจะถูกปลดออกจากเครื่องพันธะนาการและส่งมอบให้กับเจ้านายในอนาคต
เรื่องราวที่น่าสะเทือนใจที่สุดเรื่องหนึ่งต้องเป็นเรื่องของ Cypriani Asmani ซึ่งเป็นเด็กทาสในแซนซิบาร์ เมื่ออายุได้ประมาณ 6 ขวบ เขาพยายามหนี เป็นผลให้เขาถูกล่ามโซ่กับท่อนซุงที่มีน้ำหนักมากกว่า 32 ปอนด์สำหรับการลงโทษ ดังนั้น Cypriani จะเคลื่อนไหวได้ก็โดยถือไว้บนศีรษะของเขาเท่านั้น เขาถูกล่ามโซ่กับท่อนซุงมานานกว่าหนึ่งปีเมื่อผู้สอนศาสนาคนหนึ่งช่วยชีวิตเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1895
อนุสรณ์สถานตลาดค้าทาสแซนซิบาร์แสดงหุ่นทาสห้าหุ่นที่ถูกล่ามโซ่ไว้ในหลุม โซ่ที่ใช้นั้นเป็นสิ่งที่มาจากประวัติศาสตร์จริง หุ่นมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีลักษณะที่แสดงถึงภูมิหลังของชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
หลุมนี้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับที่รวบรวมทาสมาขาย อนุสรณ์สถานตลาดค้าทาสแซนซิบาร์ช่วยเตือนให้ผู้เข้าชมตะหนักถึงการเรียนรู้จากอดีต ผลจากการถูกนำมาเป็นทาส เท่ากับลดจำนวนประชากร ตลอดจนการนำเอาทอง งาช้าง และทรัพยากรอื่นๆ ออกไป จนทำให้ประเทศในแอฟริกาถูกทอดทิ้งและยากจนมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาบทความ
- Abdulrazak Gurnah wins the 2021 Nobel prize in literature
- Admiring Silence (book review)
- Anglican Cathedral
- Biobibliographical notes : Abdulrazak Gurnah
- Christ Church Cathedral and Former Slave Market Site
- Gravel Heart: A Novel
- Review: By the Sea
- Review: The Last Gift
- Stone Town of Zanzibar
- The History of Tanzania