ชื่อ ตาลกาฎุ (Talakadu) อาจไม่คุ้นหูคนไทยสักเท่าใดนัก ทว่าในหมู่ชาวอินเดียใต้ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีผู้คนมาเยี่ยมชมอย่างคับคั่งตลอดปี อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่หวาดหวั่นของชาวบ้านโดยรอบ คำสาปเลื่องชื่อที่ส่งผลต่อมากว่าสี่ศตวรรษทำให้ผู้คนอกสั่นขวัญผวา
เพราะอะไรหมู่บ้านเล็กๆ ธรรมดาจึงมีชื่อเสียงในหมู่นักแสวงบุญรวมถึงผู้ชื่นชอบเรื่องลี้ลับจากทุกสารทิศ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
หมู่บ้านตาลกาฎุ (Talakadu)
ตาลกาฎุเป็นหมู่บ้านทางตอนใต้ของ รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย อยู่ห่างจากเมืองไมซอร์ (Mysore) นครแห่งมหาราชา 45 กิโลเมตร
สถานที่แห่งนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวฮินดูและคนรักประวัติศาสตร์เนื่องจากมีศาสนสถานและเทวาลัยโบราณโดยรอบ เทวาลัยที่เก่าแก่ที่สุดที่นี่ถูกสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์คงคาตะวันตก (Western Ganga Dynasty) ที่รุ่งเรืองในคริสต์ศตวรรษที่ 6
ทว่าสิ่งเลื่องชื่อที่แท้จริงในตาลกาฎุกลับไม่ใช่ศาสนสถานหรือทิวทัศน์ที่งดงาม ริมแม่น้ำกาเวรี (Kaveri) แต่เป็นคำสาปแห่งความเกลียดชังของสตรีสูงศักดิ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คำสาปอันยิ่งใหญ่ของอดีตภริยาเจ้าครองนครส่งผลให้หมู่บ้านตาลกาฎุถูกกลืนกินด้วยผืนทราย
ปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดวิสัยในผืนดินอุดมสมบูรณ์ของกรณาฏกะใต้ทำให้ผู้คนโจษขานถึงสถานที่แห่งนี้ตลอดหลายร้อยปี ทว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่นี่ แต่เกิดขึ้นในปี 1610 ที่ศรีรังคปัฏนะ (Srirangapatna) เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่ห่างออกไปทิศเหนือของตาลกาฎุ
ปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดวิสัย
ในครานั้นศรีรังคปัฏนะอยู่ภายใต้การปกครองของติรุมลา (Tirumala) มนตรีผู้รับใช้ราชวงศ์ตุลุวะ (Tuluva) แห่งอาณาจักรวิชัยนคร (Vijayanagara) ติรุมลามีภริยานามว่า อะลาเมลัมมา (Alamelamma) นางเป็นสาวกผู้ภักดีของรังคนายกี (Ranganayaki) ศักติเทวีประจำศรีรังคปัฏนะ
ติรุมลาปกครองศรีรังคปัฏนะอย่างผาสุกมาหลายปี จนกระทั่ง ราชาโวเฑยาร์ที่ 1 (Raja Wodeyar I) แห่งไมซอร์ขึ้นครองราชย์ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก่อนหน้านี้อาณาจักรไมซอร์เคยอยู่ใต้อาณัติวิชัยนครมาเป็นเวลานาน ทว่าครั้นวิชัยนครปราชัยให้กับรัฐสุลต่านแห่งเดคข่าน (Deccan Sultanates)
ในปี 1565 อำนาจของวิชัยนครก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ไมซอร์และอาณาจักรข้างเคียงจึงประกาศตัวเป็นไทจากวิชัยนคร ส่งผลให้สถานะเจ้าครองนครของติรุมลาเริ่มสั่นคลอน ราชาโวเฑยาร์โจมตีปราการวิชัยนครที่ศรีรังคปัฏนะในปี 1610 มหาราชาผนวกเอาศรีรังคปัฏนะมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ติรุมลาและภริยาจึงต้องอพยพลี้ภัยไปยังตาลกาฎุในปีเดียวกัน
เรื่องราวทั้งหมดควรจบลงตรงนี้หากมหาราชาทรงมีเมตตา ทว่าราชาโวเฑยาร์กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น ตรงกันข้าม มหาราชาแห่งไมซอร์ส่งคนไปสอดแนมสองสามีภรรยาที่อาศัยในหมู่บ้านริมแม่น้ำ ความอัปยศและชีวิตที่ยากลำบากทำให้ติรุมลาตรอมใจจนสิ้นชีพในเวลาไม่นาน อะลาเมลัมมารูปงามจึงกลายเป็นม่ายตั้งแต่ยังสาว
ตามธรรมเนียมปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู หญิงม่ายไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่เครื่องประดับล้ำค่า อะลาเมลัมมาจึงถวายเครื่องประดับและอาภรณ์หรูหราเป็นเครื่องบูชาแก่เทพีรังคนายกีที่ตนนับถือ ก่อนที่นางจะหลบลี้หนีหน้าผู้คนไปอยู่ในหมู่บ้านมาลังกี (Malangi) ไม่ไกลจากตาลกาฎุเพื่อใช้ชีวิตอย่างสันโดษ
มหาราชาผู้มากตัณหา
ฝ่ายราชาโวเฑยาร์ ครั้นได้ยินว่าอะลาเมลัมมากลายเป็นม่าย มหาราชาก็ถูกความโลภและตัณหาเข้าครอบงำ พระองค์ต้องการครอบครองสตรีโฉมงามและสมบัติมหาศาลที่เชื่อว่าสวามีนางทิ้งไว้
ราชาโวเฑยาร์ส่งราชทูตไปยังมาลังกีในปี 1612 คณะทูตเข้าพบอะลาเมลัมมาและนำสารจากมหาราชาไปถวาย ราชสาส์นมีใจความว่า บัดนี้เมื่อติรุมลาเสียชีวิตโดยไม่มีทายาท ทรัพย์สินทั้งหมดจึงไม่ควรตกอยู่ในมือหญิงม่ายที่สังคมตีตราว่าต้องมลทิน ในฐานะผู้พิชิตศรีรังคปัฏนะ ราชาโวเฑยาร์อ้างสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะถือครองสมบัติของติรุมลา
ทว่าอะลาเมลัมมากลับปฏิเสธ นางให้เหตุผลว่าได้มอบเงินทองของสวามีเป็นทานแก่พราหมณ์จนหมดสิ้น ส่วนเครื่องประดับและอาภรณ์ของตนก็ถูกถวายเป็นเครื่องสักการะมหาเทวีแล้วเช่นกัน บัดนี้นางไม่เหลือสิ่งใด อะลาเมลัมมาจึงวอนให้คณะทูตกลับไปแต่โดยดี
อย่างไรก็ตาม คำประกาศของนารีกลับทำให้มหาราชาบันดาลโทสะ พระองค์สั่งให้ทหารเข้าจับกุมอะลาเมลัมมาพร้อมกับยึดทรัพย์ทั้งหมดเพื่อส่งกลับไมซอร์ หญิงม่ายหวาดกลัวกลุ่มทหารเป็นอย่างมาก นางวิ่งหนีมาจนถึงริมฝั่งแม่น้ำกาเวรีอันเชี่ยวกราก
ตลอดทางที่วิ่งผ่าน อะลาเมลัมมาร้องขอให้ชาวบ้านตาลกาฎุและมาลังกีเข้าช่วยเหลือ ทว่าไม่มีใครนำพาคำวิงวอนของนาง หญิงม่ายถูกต้อนจนถึงสุดทาง ในตอนนั้นอะลาเมลัมมาโกรธแค้นทุกสิ่ง นางปรามาสผู้คนที่ขี้ขลาด ไม่ยอมยื่นมือช่วยสตรีไร้ทางสู้ แช่งชักทหารและมหาราชาใจทราม หญิงสาวเปล่งคำสาปในตอนนั้น สุรเสียงดังลั่นไปถึงพระกรรณมหาราชาบนบัลลังก์ไมซอร์
‘ข้าขอแช่งให้ตาลกาฎุกลายเป็นเนินทราย มาลังกีจมหายในวังน้ำวน และจะไม่มีราชาไมซอร์องค์ใดมีทายาทอีกชั่วนิรันดร์…’
อะลาเมลัมมา กับการปลิดชีวิตตนเองและคำสาบตลอดกลาล
อะลาเมลัมมากระโดดลงแม่น้ำหลังจากนั้น หญิงม่ายตายจากไปพร้อมความแค้นที่สุมอยู่ในอก ภายในเวลาไม่นาน ผู้คนก็ตระหนักว่าคำสาปของนางกลายเป็นจริง
แผ่นดินตาลกาฎุที่เคยเขียวขจีกลับกลายเป็นเนินทรายผิดธรรมชาตินับแต่นั้น หมู่บ้านมาลังกีก็จมหายไปกับสายธารกาเวรีในเวลาไม่กี่ปี
และสำหรับมหาราชาแห่งไมซอร์… พระองค์ตระหนักถึงคำสาปทันทีที่โอรสหัวแก้วหัวแหวนเสียชีวิตในปี 1612 แม้ว่าราชาโวเฑยาร์จะสร้างรูปเคารพอะลาเมลัมมาในเขตราชฐานและวิงวอนให้นางประทานอภัย ทว่าคำสาปยังคงดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น
ราชวงค์โวเฑยาร์ไม่เคยมีทายาทสืบเชื้อสายโดยตรงจากมหาราชา พวกเขาแก้ปัญหาโดยการรับเด็กที่เป็นเครือญาติห่างๆ มาฟูมฟักเพื่อปกครองไมซอร์สืบไป ปัจจุบันยทุวีร์ กฤษณทัตต์ จามราชา (Yaduveer Krishnadatta Chamaraja) มหาราชาโวเฑยาร์องค์ที่ 27 ที่ขึ้นครองราชย์ในปี 2015 ก็เป็นโอรสบุญธรรมของมหาราชาองค์ก่อนเช่นกัน
ไม่มีผู้ใดรู้ว่าคำสาปอะลาเมลัมมายังมีผลต่อราชสกุลโวเฑยาร์หรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครในไมซอร์กล้าท้าทายอำนาจคำสาปนี้
เนินทรายตาลกาฎุ (Talakadu) ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เนินทรายต้องสาปแห่งตาลกาฎุกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติอันน่าทึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทั้งอินเดียและเอเชียใต้ นอกจากผืนทรายเวิ้งว้างแล้ว ตาลกาฎุยังขึ้นชื่อในฐานะเมืองแสวงบุญเก่าแก่ของชาวฮินดู
หนึ่งในสถานที่ที่ผู้มาเยือนต้องมาสักการะคือ เทวาลัยไวทเยศวระ (Vaidyeshvara Temple) ศาสนสถานแห่งพระศิวะที่สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์โจฬะ (Chola Dynasty) ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 เทวาลัยสลักจากหินแกรนิตทั้งหลังโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมทราวิฑอันอ่อนช้อย นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายภาพเทวสถานคู่กับเนินทรายปริศนาที่โอบล้อมอยู่ทุกทิศ นับเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในกรณาฏกะใต้
หากใครมีโอกาสมาเยี่ยมชมเมืองใหญ่ในกรณาฏกะอย่างบังคลอร์หรือไมซอร์ อย่าลืมแวะเวียนมาที่หมู่บ้านตาลกาฎุเพื่อเก็บภาพความประทับใจกับผืนทรายปริศนา รวมถึงสัมผัสบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำกาเวรีที่เป็นจุดเริ่มต้นตำนานคำสาปโบราณที่อยู่คู่อินเดียใต้มาหลายศตวรรษ
หนังสือและบทความอ้างอิง
- Devraj, D. V.. Archaeological Excavations at Talakad. Mysore: Directorate of Archaeology &
- Museums, 1996.
- Ganeshaiah, K. N.. The Thalakaadu phenomenon: a miracle or an ecological disaster, Current
- Science Vol.93 No.11: 1495 – 1500. Bangalore: Indian Academy of Sciences, 2007.
- Settar, S.. Administrative and Social History of Mysore under Wodeyars (1600 – 1800 CE). Manipal:
- Manipal University Press, 2017.