ดินแดนแคชเมียร์ หรือ กัศมีร์ (Kashmir) เป็นที่รู้จักของคนไทยมาช้านาน ไม่ว่าในฐานะสถานที่ตากอากาศของผู้ดีแต่โบราณ หรือหุบเขาที่ถูกขนานนามว่าสวิตเซอร์แลนด์ตะวันออก เชื่อว่าใครก็ตามที่มาเยือนสวรรค์บนดินแห่งนี้ต่างคาดหวังที่จะเก็บภาพความประทับใจกับทิวทัศน์ตระการตาและบุปผานานาพรรณ
ทว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยคุ้นกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกัศมีร์ในพื้นที่เท่าใดนัก และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในการมาเยือนกัศมีร์ครั้งต่อไป วันนี้ทีมงานพาทัวร์โลจี้จะมานำเสนอหนึ่งในเอกลักษณ์ของผู้คนแห่งขุนเขาเพื่อให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของชาวกัศมีร์มากยิ่งขึ้น
นั่นคือ การร่ายรำที่มีชื่อว่าดัมฮัล (Dumhal) นาฏกรรมชาตรีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพราะอะไรนาฏศิลป์ประเภทนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นจิตวิญญาณแห่งขุนเขากัศมีร์ เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
จุดเริ่มต้นของดัมฮัล (Dumhal)
ดัมฮัล หรือ ฑะมัล ในสำเนียงท้องถิ่น เป็นนาฏกรรมประจำชุมชนวาฏัล (Watal) ที่อาศัยในหุบเขากัศมีร์มาช้านาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาววาฏัลเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับดัมฮัลเท่าใดนัก
ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าต้นกำเนิดของดัมฮัมคือเมื่อใด นักประวัติศาสตร์เชื่อว่านาฏศิลป์ประเภทนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเข้ามาของ ลัทธิซูฟี (Sufinism) ในอนุทวีปอินเดียกว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว แรกเริ่มเดิมที ชาววาฏัลเคยนับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ทว่าเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยจำนวนมากในชมพูทวีป ชาวเขาเหล่านี้ถูกกดขี่โดยเหล่าพราหมณ์วรรณะสูง พวกเขาถูกบังคับให้ทำอาชีพไม่พึงประสงค์อย่างการเก็บกวาดขยะหรือซากสัตว์ หลังจากที่ถูกข่มเหงมานาน เมื่อผู้รุกรานชาวมุสลิมเดินทางผ่านหุบเขากัศมีร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชนพื้นเมืองหลายเผ่าจึงเข้ารับอิสลามเพราะต้องการหลุดพ้นจากระบบชนชั้น ชาววาฏัลบางส่วนก็เช่นกัน พวกเขาหันมาเคารพนับถือนักบุญซูฟีประหนึ่งเทพเจ้า
และใน ลัทธิซูฟี (Sufunism) นี่เอง การร่ายรำเป็นส่วนสำคัญของพิธีการทางศาสนา ผู้นับถือนิกายดังกล่าวเชื่อว่านาฏกรรมคือการทำสมาธิอย่างหนึ่งที่มีจุดประสงค์เพื่อใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้ายิ่งขึ้น ชาววาฏัลจึงรับเอาความเชื่อดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับการร่ายรำของชนเผ่าแต่โบราณ นาฏศิลป์ดัมฮัลจึงถือกำเนิดขึ้น
ชาววาฏัลเชื่อว่าผู้คิดค้นดัมฮัลคือ ชาห์ สุการ์ สะโลนี (Shah Sukar Saloni) นักบวชซูฟีที่เป็นสาวกของนักบุญนามว่า นาซิม อุดดิน กาซี (Nasim – uddin – Gazi)
สะโลนีออกแบบท่าเต้นให้สอดคล้องกับบทเพลงขับกล่อมของลัทธิ โดยมีจุดประสงค์เพื่ออุทิศแก่อาจารย์ผู้ล่วงลับ ดัมฮัลจึงถูกนำเสนอโดยนักบวชซูฟีนับแต่นั้น โดยคณะนักแสดงจะร่ายรำตามสถานที่สำคัญทางศาสนาเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้แสวงบุญ
ดัมฮัล (Dumhal) คืออะไร
ดัมฮัล (Dumhal) เป็นนาฏกรรมที่แสดงเป็นหมู่คณะ ผู้แสดงจะร่ายรำและขับเพลงคลอเสียงกลองในเวลาเดียวกัน ในอดีตผู้แสดงทุกคนต้องเป็นเพศชายเท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยของการแสดงจะแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ของผู้จัดงาน บางครั้งจะใช้นักเต้นที่เรียกว่าบัจจา นัคมา (Baccha Nagma) หรือเด็กหนุ่มในชุมชนมาร่ายรำเพื่อสร้างความบันเทิงในโอการสำคัญอย่างพิธีแต่งงานหรือฤดูเก็บเกี่ยว
หากเป็นพิธีสำคัญทางศาสนา นักเต้นทั้งหมดจะเป็นนักบวชลัทธิซูฟี (Sufism) ในศาสนาอิสลาม ชาววาฏัลเชื่อว่า หากดัมฮัลถูกร่ายรำโดยคนของพระเจ้าเมื่อใด ความปรารถนาของคนในชุมชนจะถูกตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง โรคภัยไข้เจ็บ หรือสตรีที่มีบุตรยากก็ตาม
ครั้นเวลาผ่านไป เมื่อการร่ายรำในศาสนสถานได้รับความนิยมมากขึ้น ชาวบ้านจากชุมชนใกล้เคียงจึงได้นำท่วงท่านาฏกรรมมาสร้างความบันเทิงในงานเทศกาล พวกเขานำเอาอุปกรณ์ต่างๆ ที่หาได้ในชีวิตประจำวันอย่างเสาธง กระบอง และท่อนไม้มาประกอบการแสดงเช่นกัน
นักแสดงจะเคาะไม้ในมือคลอเสียงกลองประกอบจังหวะ ทุกคนจะร่ายรำเป็นวงกลมรอบเวที อาจมีการปักเสาธงไว้ตรงกลางปะรำพิธีเพื่อระบุตำแหน่ง หลายครั้งที่นักเต้นแสดงกายกรรมเพื่อเรียกเสียงฮือฮาในหมู่ผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการตีลังกา การต่อตัวของนักแสดง การกระโดดจากที่สูง เป็นต้น
ทั้งนี้ท่วงท่าต่างๆ จะถูกเลือกสรรให้เข้ากับบทเพลง โดยบทเพลงที่ใช้แสดงดัมฮัลพื้นบ้านมักเกี่ยวข้องกับวีรบุรุษในตำนานปรัมปรา ผสมผสานกับท่าเต้นที่แสดงถึงความเข้มแข็งของชายชาตรีอย่างแท้จริง
เอกลักษณ์อีกประการที่สืบทอดกับมาในหมู่นักเต้นดัมฮัลคือการแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของชาววาฏัล หากเป็นการร่ายรำในพิธีกรรมทางศาสนา ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยชุดยาวสีขาวพร้อมหมวกทรงสูงอันเป็นเอกลักษณ์ของนักบวชซูฟี ทว่าหากเป็นนาฏกรรมเพื่อความบันเทิงในชุมชน ผู้แสดงจะแต่งกายด้วยเสื้อคลุมยาวสีสันสดใส ตกแต่งด้วยลูกปัดและหอยเบี้ยที่เย็บติดกับเสื้อผ้า และที่ขาดไม่ได้คือหมวกทรงสูงหรือผ้าโพกศีรษะเข้าชุดกัน บ่งบอกถึงความใกล้ชิดของนาฏศิลป์ชาวบ้านและความเชื่อทางศาสนาที่ไม่อาจแยกจากกันได้
ดัมฮัล ในปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 2014 เมื่อภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์แห่งปีเรื่อง ไฮดาร์ (Haider) ที่ถ่ายทำในรัฐชัมมูและกัศมีร์สร้างรายได้ถล่มทลายทั้งในและนอกประเทศ หนึ่งในเพลงประจำเรื่องที่ติดหูคอหนังบอลลีวู้ดอย่างบิสมิล (Bismil) ได้มีการนำเอานาฏศิลป์ดัมฮัลมานำเสนออย่างมีสีสัน โดยมีนักแสดงนำอย่าง ชาฮิด กะปูร์ (Shahid Kapoor) ออกมาวาดลวดลายนาฏกรรมพื้นบ้าน ผู้คนจึงหันมาสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นกันมากขึ้น ดัมฮัลจึงกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน นาฏกรรมดัมฮัลในศาสนสถานยังคงถูกสืบทอดในหมู่นักแสดงชาย ทว่าในงานเทศกาลทั่วไปในชุมชน สตรีชาววาฏัลสามารถร่ายรำเช่นเดียวกับบุรุษ โดยนักแสดงหญิงจะสวมชุดผิรัน (Phiran) ยาวคลุมเข่ากับผ้าโพกศีรษะในการแสดง นาฏกรรมดัมฮัลถูกเปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเพื่อสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าไม่ให้เลือนหายแทนที่จะจำกัดเพศสภาพดังเช่นในสมัยโบราณ
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนดินแดนแห่งขุนเขาจะได้สัมผัสนาฏศิลป์พื้นบ้านตามท้องถนนและศาสนสถานช่วงเทศกาลสำคัญในกัศมีร์ ไม่ว่าจะเป็น
- โลห์รี (Lohri) งานฉลองการสิ้นสุดฤดูหนาวเพื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิในเดือนมกราคม
- ไวสาขี (Vaisakhi) เทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายนที่ถือเป็นงานขึ้นปีใหม่ของคนในพื้นที่
- ติหาร์ (Tihar) เทศกาลแห่งแสงไฟที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคมของทุกปี
หรือในโอกาสสำคัญต่างๆ อย่างการฉลองงานแต่งงานและการให้กำเนิดของชาววาฏัล หากใครมีโอกาสมาท่องเที่ยวชัมมูและกัศมีร์ในช่วงเวลาที่ว่ามานี้ นอกเหนือจากทิวทัศน์งดงามน่าหลงใหล อย่าลืมเก็บภาพความประทับใจกับผู้คนในท้องที่ เชื่อว่าความเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีจะนำมาซึ่งไมตรีกับคนพื้นเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย และจะทำให้การมาเยือนอินเดียของคุณครั้งต่อไปกลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม
หนังสืออ้างอิง
- Pandit, M. Amin. Festivals of Kashmir. Srinagar: Gulshan Publishers, 1997.
- Singh, K. S. (Editor). People of India, Vol. XXV: Jammu and Kashmir. New Delhi: Manohar Publishers and Distributors, 2003.
- Vatsyayan, Kapila. Traditions of Indian Folk Dance. New Delhi: Indian Book Company, 1976.