ห่างออกไปจากชายฝั่งตะวันตกของ กรุงดาการ์ (Dakar) เมืองหลวงประเทศเซเนกัลราว 3 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเกาะสวรรค์แห่งมหาสมุทรแอตแลนติก ท้องน้ำสีครามโอบล้อมแผ่นดินผืนน้อยที่อยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงของกาลสมัย สิ่งปลูกสร้างสีสันสดใสตั้งเรียงรายบนถนนที่ปูทับด้วยก้อนอิฐ
เกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 75 ไร่แห่งนี้ถือเป็นเพชรเม็ดงามแห่งกาฬทวีป อย่างไรก็ดี เกาะที่ว่าเป็นมากกว่าสถานที่ตากอากาศของนักท่องเที่ยว ธรรมชาติตระการตาไม่อาจเทียบได้กับคุณค่าแห่งความทรงจำที่อัดแน่นบนผืนแผ่นดิน
สถานที่นี้มีชื่อว่า โกเร (Île de Gorée) หนึ่งในอนุสรณ์แห่งความอยุติธรรมของชาวแอฟริกันพลัดถิ่นทั่วทั้งโลก
จุดเริ่มต้นของเกาะโกเร (Île de Gorée)
ประวัติศาสตร์โกเรเริ่มขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15
แรกเริ่มเดิมทีเกาะแห่งนี้เป็นเพียงจุดแวะพักของชาวประมงจากแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากโกเรเป็นเกาะที่ไม่มีแหล่งน้ำจืด ชาวพื้นเมืองจึงไม่ได้ลงหลักปักฐานหรือตั้งชุมชน
ทว่าหลังจากที่ชาวยุโรปค้นพบ โลกใหม่ (New World) ในอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร พวกเขาก็แสวงหาผลประโยชน์จากแผ่นดินที่ค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองหรือเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างฝ้ายและยาสูบ
อย่างไรก็ตามแรงงานคนขาวเพียงหยิบมือในโลกใหม่ไม่เพียงพอต่อการทำงานในไร่ ชาวยุโรปจึงบังคับให้คนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาทำงานหนักแทนพวกตน ทว่าคนเหล่านั้นไม่อาจทนต่อการใช้แรงงานและโรคร้ายนานาชนิดจากโลกเก่า
เหล่าคนขาวจึงแสวงหาแรงงานกลุ่มใหม่ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจซื้อทาสผิวดำจากแอฟริกาผ่านพ่อค้าชาวอาหรับ
เส้นทางการค้าทาสเริ่มต้นขึ้นแล้ว
สถานการณ์เป็นไปตามคาด ทาสผิวดำทำงานได้ดีกว่าชาวอเมริกันท้องถิ่น ชาวยุโรปจึงหาช่องทางทำกำไรด้วยการหันมาทำธุรกิจค้าทาส
นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา พวกเขาใช้วิธีตีสนิทกับหัวหน้าเผ่าในแอฟริกาโดยการมอบของกำนัลล้ำค่าที่คนเหล่านั้นไม่เคยเห็น ข้าวของแปลกตาไม่กี่ชิ้นล่อใจให้ผู้นำแอฟริกันหันมาทำศึกกันเองเพื่อจับเชลยส่งขายคนขาว
กาฬทวีปถึงคราววิบัติเมื่อ เส้นทางการค้ามหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Trade Routes) เฟื่องฟูถึงขีดสุดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ชาวบ้านตาดำๆ ต้องอยู่อย่างหวาดหวั่นว่าจะถูกศัตรูจับเป็นทาสเข้าสักวัน สถานีการค้าทาสของชาวยุโรปถูกก่อตั้งตามจุดยุทธศาสตร์ในทวีป ไม่ว่าจะเป็นลากอส (Lagos) ในไนจีเรีย อาบีดจาน (Abidjan) ในโกตดิวัวร์ รวมถึงเกาะโกเรในเซเนกัล
ภายในเวลาไม่กี่ปี โกเรก็กลายเป็นจุดขนถ่ายทาสที่สำคัญที่สุดในแอฟริกาตะวันตก ชาวโปรตุเกสใช้ที่แห่งนี้รองรับทาสที่ถูกส่งมาจากแผ่นดินใหญ่เพื่อขายต่อไปยังอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน (Atlantic slave trade)
ครั้นธุรกิจค้าทาสเฟื่องฟู โกเรก็ถูกแย่งชิงเปลี่ยนมือระหว่างชาติมหาอำนาจ ชาวดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างต้องการเกาะมาเป็นของตน ตลอดเวลาเกือบสี่ศตวรรษ โกเรไม่เคยว่างเว้นจากธุรกิจบาป สิ่งปลูกสร้างมากมายถูกก่อตั้งไว้ใช้เป็น บ้านทาส (Maisons des Esclaves) เพื่อกักขังและตีตราทาสที่ถูกส่งมาจากแผ่นดินใหญ่
บ้านทาสเหล่านี้ถูกดูแลโดย ซินญาร์ (Signares) สตรีผิวดำที่เป็นชู้รักของคนขาว ซินญาร์หลายคนเคยเป็นอดีตทาสที่ต้องตาชาวยุโรปจนได้รับมอบหมายให้ควบคุมธุรกิจ ทายาทลูกผสมระหว่างคนขาวและชนพื้นเมืองเองก็สืบสานกิจการค้าทาสต่อจากคนขาวเช่นกัน เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ไม่จบสิ้น ทั้งกลุ่มซินญาร์และทายาทต่างใช้ชีวิตหรูหราเยี่ยงชาวยุโรป หลายคนครอบครองทาสจำนวนมากในเคหสถานเสียเอง
อานน์ เปแปง (Anne Pépin) ซินญาร์ผู้โหดร้าย
ซินญาร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์มีนามว่า อานน์ เปแปง (Anne Pépin) อานน์เป็นชู้รักของผู้ว่าการฝรั่งเศสประจำเกาะโกเรปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นเจ้าของเจ้าของบ้านทาสที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะที่ถูกเก็บรักษาอย่างดีจนถึงทุกวันนี้
ภายในสิ่งปลูกสร้างหลังใหญ่ถูกแยกเป็นสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นห้องขังทาสชายหญิง รวมถึงลานกว้างที่ใช้พิจารณาต่อรองราคามนุษย์ ทว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในบ้านทาสของอานน์กลับไม่ใช่สถาปัตยกรรมอันงดงาม แต่เป็นประตูบานน้อยที่สามารถมองออกไปเห็นท้องน้ำสีครามตัดกับผืนฟ้า ประตูบานนี้ถูกเรียกว่า ประตูแห่งการไม่หวนกลับ (Porte de Voyage Sans Retour)
ประตูบานนี้คือเหตุผลที่ผู้คนนับล้านมาเยี่ยมชมโกเรในแต่ละปี ที่นี่เป็นสถานที่สุดท้ายบนแผ่นดินกาฬทวีปที่เหล่าทาสจะได้เห็น เมื่อเรือใหญ่เข้าเทียบท่า ทาสทั้งหมดจะถูกเคลื่อนย้ายผ่านประตูเข้าไปใต้ท้องเรือ พวกเขาถูกบังคับให้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ รวมถึงตัวตนใดๆ ที่เคยมีในชีวิตก่อนหน้า แทบไม่มีทาสคนใดได้หวนกลับยังแผ่นดินที่จากมา หลายคนต้องทนทุกข์อย่างสาหัสในโลกใหม่ บ้างก็ล้มตายระหว่างการเดินทางอันยาวนาน
บ้านทาสและประตูบานน้อยจึงถูกบูรณะเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้คนนับล้านที่จำจากแผ่นดินเกิดโดยไม่เต็มใจ เป็นเครื่องย้ำเตือนไม่ให้ผู้คนหลงลืมความโหดร้ายที่เคยเกิดในยุคสมัยก่อนหน้า
บ้านทาสในปัจจุบัน
ปัจจุบันบ้านทาสของอานน์ เปแปงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์บนเกาะโกเร ลูกหลานแอฟริกันพลัดถิ่นจากทั่วโลกเดินทางมาที่นี่เพื่อรำลึกถึงอาชญากรรมที่บรรพบุรุษได้ประสบ แม้แต่บุคคลสำคัญของโลกอย่างเนลสัน แมนเดลาและบารัค โอบามาก็เคยมาเยือนที่นี่แล้วทั้งสิ้น
บ้านทาสของอานน์ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนเกาะโกเรถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 1978
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อย่างบ้านทาสแล้ว ธรรมชาติอันงดงามของเกาะยังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการหลบหนีความวุ่นวายมาพักผ่อนริมหาดทรายขาวละเอียด เกาะแห่งนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ยานพาหนะทุกชนิดในการสัญจร ด้วยเหตุนี้แผ่นดินผืนน้อยจึงปราศจากมลพิษ เหมาะแก่การใช้ชีวิตไม่เร่งรีบ
บนเกาะมีเกสต์เฮาส์สีสันสดใสหลายแห่งให้นักท่องเที่ยวได้เลือกพัก รวมถึงร้านอาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟอาหารทะเลสไตล์โวลอฟ (Wolof) ที่ขึ้นชื่อในรสจัดจ้านอันเป็นเอกลักษณ์
หากใครมีโอกาสได้มาเยือนกรุงดาการ์ ศูนย์กลางความก้าวหน้าแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกแล้วละก็ อย่าลืมแวะชมเกาะโกเรและบ้านทาสกันสักนิด รับรองว่าคุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์พร้อมกับสัมผัสบรรยากาศแห่งความทรงจำ และร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งหลังไปด้วยกันกับชาวแอฟริกันทั้งในและนอกทวีปบนแผ่นดินกลางมหาสมุทร
หนังสือและบทความอ้างอิง
- Hinchman, Mark. House and Household on Gorée, Senegal, 1758 – 1837, Journal of the Society of
- Architectural Historians, Vol.65 No.2: 166 – 187. Oakland: University of California Press, 2006.
- Thomas, Hugh. The Slave Trade: The Story of the Atlantic Slave Trade: 1440 – 1870. New York: Simon
- & Schuster Paperbacks, 1997.