กัศมีร์ (Kashmir) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ แคชเมียร์ เป็นดินแดนในฝันของคนไทยหลายคน หุบเขาเหนือสุดของประเทศอินเดียไม่ได้ถูกเรียกว่าสวิตเซอร์แลนด์ตะวันออกโดยไม่มีที่มา แคชเมียร์เป็นสถานที่ที่ตอบโจทก์ผู้มาเยือนทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติอันสวยงาม วัฒนธรรมที่หลากหลาย หรือแม้แต่สถานที่จาริกแสวงบุญสำหรับผู้นับถือศาสนาต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ชัมมูและแคชเมียร์เป็นรัฐขนาดใหญ่ที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ พื้นที่ในรัฐสามารถแบ่งออกเป็นเขตใหญ่ๆ ได้แก่ ชัมมู (Jammu) แคชเมียร์ และ ลาดัก (Ladakh) ผู้คนที่อาศัยในแต่ละพื้นที่ล้วนมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อที่แตกต่าง
ดังนั้นในวันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะมานำเสนอ 7 เทศกาลอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแคชเมียร์สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมดินแดนแห่งหุบเขา ซึ่งจะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกช่วงเวลามาเยือนแคชเมียร์ที่ดีที่สุดให้กับคุณและคนที่คุณรัก ถ้าพร้อมแล้วละก็ ไปดูกันดีกว่าว่า มีเทศการน่าสนใจอะไรบ้าง
คัลดัน นามโชท (Galdan Namchot)
คัลดัน นามโชท (Galdan Namchot) เป็นเทศกาลสำคัญของผู้นับถือศาสนาพุทธในลาดัก เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปรินิพพานของท่านซองขะปะ (Tsongkhapa) ปรมาจารย์พุทธศาสนานิกายมหายาน เทศกาลคัลดัน นามโชทจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 25 เดือน 10 ในปฏิทินทิเบต ซึ่งตรงกับกลางเดือนธันวาคมของทุกปี
ชาวพุทธในลาดัก ทิเบต เนปาล และมองโกเลียถือว่าวันที่ 5 ของการเฉลิมฉลองคัลดัน นามโชทคือวันขึ้นปีใหม่ของพวกตน หากใครได้มาเยือนเมืองเลห์ (Leh) ในวันงานเทศกาลแล้วละก็ จะได้เห็นพระราชวังเลห์ (Leh Palace) และอารามพุทธศาสนาทุกแห่งประดับไฟสว่างไสว ประทีปดวงน้อยจะถูกจุดขึ้นตามบ้านเรือนทั่วไป เหล่านักแสดงจะออกมาร่ายรำกะถัก (Kathak) นาฏศิลป์เก่าแก่ของอินเดียให้ได้ชมตามถนนหนทาง
นอกจากนี้ชาวลาดักยังทำอาหารพิเศษอย่าง โมโม (Momo) ทุกปา (Thukpa) และชาเนย (Butter Tea) เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าใครก็ตามที่ได้มาเยือนลาดักช่วงนี้จะได้อิ่มท้อง อิ่มใจ และอิ่มสุขไปตามๆ กัน
คุสตอร์ (Gustor)
คุสตอร์ (Gustor) เป็นเทศกาลทางพุทธศาสนา คำว่าคุสตอร์มีความหมายว่า “สังเวย” ในภาษาทิเบต ในงานเทศกาลจะมีการแสดงระบำหน้ากากตามอารามสำคัญซึ่งเป็นฉากนาฏกรรมที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่อสู้จนชนะมารผจญที่ต้องการทำลายศรัทธาของผู้คน
คุสตอร์จะถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันในอารามใหญ่ใกล้เมืองเลห์ ได้แก่ ทิกเซ (Thikse) สปิตุก (Spituk) คอร์โซก (Korzok) และกุร์ชา (Kursha) โดยวันและเวลาของงานเทศกาลจะแตกต่างกันออกไปตามแต่อารามจะกำหนด
เทศกาลนี้ขึ้นชื่อในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนลาดัก ผู้มาเยือนจะได้รับชมนาฏศิลป์ที่หาดูได้ยากอย่างชัม (Cham Dance) หรือระบำหน้ากากในเสื้อผ้าสีสดใส รวมถึงได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์พุทธศาสนานิกายมหายานไปในเวลาเดียวกัน
เฮมิส (Hemis)
เฮมิส (Hemis) เป็นอีกหนึ่งเทศกาลทางพุทธศาสนา เฮมิสมีความพิเศษตรงที่จะจัดขึ้นเพียง 1 ครั้งในรอบ 12 ปี เทศกาลนี้จัดขึ้นที่อารามเฮมิส (Hemis Monastery) ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเลห์ราว 45 กิโลเมตร เฮมิสเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศแก่ปัทมสัมภวะ (Padmasambhava) หนึ่งในเทพเจ้าแห่งศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน
คนท้องถิ่นเชื่อกันว่าใครที่มาร่วมพิธีที่อารามเฮมิสจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัย งานเทศกาลจัดขึ้นที่ลานกว้างหน้าอารามเฮมิส นักแสดงจะออกมาร่ายรำระบำหน้ากากที่เกี่ยวข้องกับตำนานนิกายวัชรยาน เทศกาลเฮมิสจะจัดขึ้นต้นเดือนกรกฎาคมในรอบ 12 ปี หากใครไม่อยากพลาดงานนี้ ต้องเช็กปฏิทินดีๆ ก่อนตีตั๋วไปเที่ยวลาดักนะ
สินธุ ดาร์ชัน (Sindhu Darshan)
สินธุ ดาร์ชัน (Sindhu Darshan) เป็นเทศกาลใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 1997 เทศกาลนี้มีที่มาจากนักข่าว 2 คนที่เห็นว่าสาขาของแม่น้ำสินธุ (Sindhu River) ไหลผ่านเมืองเลห์ในลาดักเช่นกัน เนื่องจากประเทศอินเดียได้ชื่อมาจากแม่น้ำสินธุที่ถูกเรียกว่าอินดัส (Indus River) ในสมัยโบราณ ทว่าความสำคัญของแม่น้ำกลับลดลงตั้งแต่ปากีสถานแยกตัวจากอินเดียในปี 1947 ทำให้แม่น้ำสายหลักอยู่ในพรมแดนประเทศปากีสถานในปัจจุบัน
เมื่อเห็นว่าในแผ่นดินอินเดียยังมีสาขาแม่น้ำสินธุเช่นกัน นักข่าวทั้งสองจึงเกิดความคิดว่า ควรจัดงานเทศกาลเพื่อเป็นเกียรติแก่แม่น้ำสินธุที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายพันปี เทศกาลสินธุ ดาร์ชันจึงถูกจัดขึ้นคืนพระจันทร์เต็มดวงในเดือนมิถุนายนของทุกปี
นับแต่นั้นผู้คนทั่วทุกสารทิศในอินเดียจะเดินทางมายังแม่น้ำสินธุในลาดักพร้อมกับภาชนะใส่น้ำจากแม่น้ำใกล้บ้าน พวกเขาจะนำภาชนะที่นำมาเทน้ำกลับสู่แม่น้ำสินธุเพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมา ที่ท่าน้ำใหญ่ๆ จะมีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีพื้นบ้านของศิลปินท้องถิ่นเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน เรียกได้ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่ที่ชาวอินเดียเฝ้ารอในรอบปีก็ว่าได้
อมรนาถ ยาตรา (Amarnath Yatra)
อมรนาถ ยาตรา (Amarnath Yatra) เป็นเทศกาลแสวงบุญประจำปีของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ถ้ำอมรนาถตั้งอยู่ห่างจากศรีนคร (Srinagar) เมืองหลวงของชัมมูและแคชเมียร์ราว 140 กิโลเมตร ถ้ำนี้เป็นที่ประดิษฐานสวยัมภูวลึงค์ หรือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศอินเดีย
ทุกๆ ปีระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ชาวฮินดูร่วมแสนจะเดินเท้าจาริกแสวงบุญไปยังถ้ำอมรนาถที่ตั้งอยู่บนภูเขาเป็นระยะทาง 43 กิโลเมตร หากใครเป็นสายมูตัวแม่ที่ต้องการขอพรจากพระศิวะแล้วละก็ ต้องอย่าพลาดการแสวงบุญประจำปีที่จะทำให้คุณประทับใจไม่รู้ลืม
เทศกาลชมดอกทิวลิป (Tulip Festival)
หนึ่งในไฮไลต์ในการมาเยือนแคชเมียร์สำหรับใครหลายคนคือการมาชมทุ่งดอกไม้ละลานตาเหมือนอยู่ในทวีปยุโรป เทศกาลชมดอกทิวลิปจึงเป็นกิจกรรมที่คุณไม่ควรพลาดเช่นกัน เดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงที่ดอกทิวลิปบานสะพรั่ง
นอกจากนี้อากาศในเวลาดังกล่าวยังไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมชมทุ่งทิวลิปอินทิรา คานธี เมโมเรียล (Indira Gandhi Memorial Tulip Garden) ในเมืองศรีนครได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึง 30 เมษายนของทุกปี นอกจากจะได้ชมดอกไม้สวยๆ แล้ว ยังอาจได้ไม้ดอกไม้ประดับเป็นของฝากติดมือกลับบ้านอีกด้วย
โลซาร์ (Losar)
โลซาร์ (Losar) เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของชาวลาดักเชื้อสายทิเบต เทศกาลนี้จัดขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ ในลาดัก โลซาร์จะมีการเฉลิมฉลองตามศาสนสถานในศาสนาพุทธ บ้านเรือนต่างๆ จะถูกประดับประดาสวยสดงดงาม ต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
นอกจากอาหารในงานเทศกาลอันแสนโอชะแล้ว ในวัดวาอารามต่างๆ ยังมีการแสดงระบำหน้ากากและนาฏศิลป์ขึ้นชื่อในแคชเมียร์ เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลแห่งแสงสีที่คุณห้ามพลาด
เป็นอย่างไรบ้างกับเทศกาลต่างๆ ในดินแดนแห่งหุบเขา นอกจาก 7 เทศกาลโดดเด่นที่ได้นำเสนอไป แคชเมียร์ยังมีงานประจำปีที่น่าสนใจอีกมากมายรอให้คุณมาสัมผัส หากใครไม่อยากพลาดช่วงเวลาดีๆ ในการมาเยือนจัมมูและแคชเมียร์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.patourlogy.com เพื่อให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ทริปสนุกสนานตรงตามใจคุณ
อ้างอิง
- Arora, Swati. 10 of the best reasons to travel Kashmir. (2019). [Online]. Accessed 2022 February 10. Available from: https://www.easemytrip.com/blog/best-reasons-to-travel-kashmir
- Anand, Ruchika. 10 festivals in Jammu and Kashmir: a peek into the rich Kashmiri culture. (2022). [Online]. Accessed 2022 February 10. Available from: https://www.easemytrip.com/blog/best-reasons-to-travel-kashmir
- Leh Ladakh Tourism. Karsha Gustor Festival Ladakh. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 10. Available from: https://www.lehladakhtourism.com/karsha-gustor-festival/