ถ้าใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง The Lion King หรือภาพยนตร์ The Lion King เรื่องล่าสุดที่เอามาทำใหม่แล้ว ก็น่าจะได้ฉากอันตระการตาของท้องทุ่งสะวันนาที่เต็มไปด้วยสัตว์โลกจำนวนมาก แต่พอจะมีใครทราบบ้างไหมครับ ว่าฉากเหล่านี้มันอยู่ที่ใดบ้าง บทความนี้ผมจะพาทุกคนไปดูแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้กันว่า มันมีฉากที่มีอยู่จริงในโลกเราบ้างหรือเปล่า
มาเดินตามรอยเจ้าป่าซิมบ้าไปพร้อมกับผมกันครับ
Pride Lands อยู่ที่ East Africa
ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (East Africa) คือพื้นที่อยู่ทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันกินพื้นอยู่ประมาณ 5-6 ประเทศ ตามแต่การกำหนดของหลายๆสำนัก ประเทศที่อยู่ในนี้มี เคนยา (Kenya) แทนซาเนีย (Tanzania) อูกันดา (Uganda) รวันดา (Rwanda) บุรุนดี (Burundi) และซูดานใต้ (South Sudan)
ฉากหลักในเรื่อง คือ Pride Lands เห็นจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจาก 2 ประเทศหลักคือ เคนยา และ แทนซาเนีย
ถามว่าทำไม ถึงคิดแบบนั้น ???
“ยอดเขาคิลิมานจาโร” (Kilimanjaro) ที่อยู่ในฉากตอนต้นเรื่องนั่นเองครับ ที่นี่คือยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอฟริกา เป็นหนึ่งในเซเว่นซัมมิต ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเคนยาและทิศเหนือของแทนซาเนีย เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างสองประเทศนี้
โดยมุมมองที่เห็นนี้ จะเกิดที่ฝั่งประเทศเคนยา เท่านั้น เพราะมีอุทยานแห่งชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องของช้างมากๆที่ตั้งอยู่ตรงนั้น และภาพนี้ก็เป็นภาพติดตาของซาฟารีในประเทศเคนยามากๆ อุทยานแห่งชาติที่ว่าคือ “อุทยานแห่งชาติอัมโบเซลี” (Amboseli National Park)
คอปปี (Kobjes) สัญลักษณ์แห่งสะวันนา
ภาพติดตาของ Lion King ก็คือภูเขาหินที่มีแท่นหินยื่นออกไป ที่อยู่เจ้าป่าอย่าง มูฟาซา และ ซิมบ้า ในภาพยนตร์เรียกว่า “Pride rock” ของจริงก็มีภูเขาหินแบบนี้ แต่รูปร่างอาจจะไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่ที่เหมือนกันคือภูเขาหินพวกนี้พวกสิงโตชอบไปอาศัยอยู่ครับ
โดยภูเขาหินแบบนี้ ถ้านึกถึงในใจ ก็มีที่นี่เดียวที่ดังที่สุด ที่นั้นคือ
“อุทยานแห่งชาติเซเรงเกติ” (Serengeti National Park)
เซเรงเกติ เป็นคำที่มาจากภาษาของชาวมาไซ จากคำว่า Siringitu ที่แปลว่า “พื้นที่ๆไม่มีที่สิ้นสุด” (The land of Endless plains) เนื่องจากความใหญ่โตมโหฬารของเซเรงเกติที่กินพื้นที่กว่า 15,000 ตารางกิโลเมตร และยังไม่นับส่วนที่เชื่อมต่อกับ อุทยานแห่งชาติมาไซมาร่า (Masai Mara National Park) ของฝั่งประเทศเคนยาอีก ที่นี่จึงกลายเป็นบ้านของสรรพสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
กลับมาที่ คอปปี (Kopjes) อีกครั้ง คอปปี คืออะไร
คอปปี (Kopjes) ถ้าจะสรุปให้เห็นภาพง่ายๆ เขาจะเรียกว่า “The Islands of Savanna” คือ หมายถึง ถ้าเปรียบเสมือนทุ่งหญ้าสะวันนาเท่ากับท้องทะเล ตัวคอปปี ก็คือเกาะนั่นเอง
เนื่องจากถ้าว่ากันตามหลักธรณีวิทยาแล้ว พื้นที่บริเวณแอฟริกาตะวันออก รวมถึงเซเรงเกติ ตรงนี้ยังเป็นส่วนที่เป็น รอยเลื่อนสำคัญของโลก (Rift Valley) และเป็นส่วนที่พื้นดินและหินเดิมเป็นหินดินจากภูเขาไฟมาก่อน บรรดากองหินที่เห็นอยู่ก็คือหินภูเขาไฟที่งอกขึ้นจากด้านล่างแล้วเจอความเย็นจากชั้นผิวโลกทำให้แห้งตัวกลายเป็นหิน ณ ปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆล้านปี สภาพอากาศอันทรหดรวมทั้งแรงลมที่พัดผ่านก็ค่อยๆทำให้ หินชั้นนอกที่ผิวบางค่อยๆถูกพัดออกไปจนเหลือแต่ชั้นหินแกรนิตด้านในที่คงทนอยู่ ยิ่งผ่านไปนานเข้าหินเหล่านี้ก็ดูเหมือนสูงขึ้นเรื่อยๆ (เพราะชั้นนอกถูกกัดเซาะออกไป) และด้วยที่มาที่ไปคล้ายกับกับเกิดเกาะในทะเล เขาก็เลยอุปมาอุปไมยว่าที่นี่คือเกาะที่เกิดในสะวันนานั่นเอง
ถ้าใครมีโอกาสได้มาเซเรงเกติ ก็ต้องไม่ลืมที่จะมาดูว่า คอปปี อันไหนที่รูปร่างคล้ายกับ Pride rock ของซิมบ้ามากที่สุดครับ
ลูกสิงโต (Lion cubs)
ความน่ารักของสิงโต ตอนเด็กไม่มีใครปฎิเสธครับว่าน่ารักจริงๆ และถ้าเราเห็นลูกสิงโตอยู่ แน่นอนว่าต้องมีแม่สิงโตอยู่แถวนั้นในระยะสายตา
ชีวิตในทุ่งหญ้าสะวันนา (Pride Lands)
แหล่งน้ำคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในทุ่งหญ้าสะวันนา ทุกๆชีวิตดำเนินไปตามรอบฤดูกาลของฝนที่ตกลงมาเติมน้ำให้สัตว์ทุกตัวมีอาหารและดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ เมื่อไม่มีน้ำ สิ่งมีชีวิตย่อมอยู่ไม่ได้ และจำเป็นต้องมองหาสถานที่ใหม่เพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์ตนเองต่อไปได้ นั่นคือ การเกิดสิ่งที่เรียกว่า “The Great Migration”
The Great Migration
ในฉากที่พ่อของซิมบ้ามูฟาซาตายนั้น เป็นฉากการผจญไปกับกองทัพของเจ้า วิลเดอบีสต์ (Wildebeest) ซึ่งการอพยพวิ่งกันเป็นฝูงใหญ่นั้นๆ จะเกิดขึ้นในฤดูกาลอพยพเพื่อไปหาแหล่งอาหารแห่งใหม่ในทุกๆปี การอพยพนี้เรียกว่า “The Great Migration”
“The Great Migration” จะเกิดหลักๆ 2 รอบที่ เซเรงเกติ และ มาไซมาร่า ในประเทศแทนซาเนีย และ เคนยา ตามลำดับ
รอบแรก เกิดจากการที่อาหาร (หญ้า) ในทางทิศใต้ของเซเรงเกติค่อยๆหมดไป เหล่าสัตว์ก็จะค่อยๆอพยพขึ้นมาทางเหนือเรื่อยๆ จนมาอยู่ตอนกลาง และตอนเหนือของเซเรงเกติตามลำดับ ก่อนที่จะข้าม แม่น้ำกรูเมติ (Grumeti) และ แม่น้ำมารา (Mara) เข้าสู่มาไซมาร่า เพื่อไปกินอาหารที่ยังอุดมสมบูรณ์ต่อตามลำดับ โดยเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในช่วง ประมาณเดือน 7-8 ของทุกๆปี อาจจะเร็วกว่า หรือ ช้ากว่านี้ ขึ้นกับปริมาณฝนว่าตกเร็วหรือตกช้า เพราะนั่นคือตัวที่บอกว่าหญ้าจะโตและมีอาหารให้นานขนาดไหน
โดยรอบแรกนี้ เหตุการณ์จะเกิดในฝั่งแทนซาเนีย คือ อุทยานแห่งชาติเซเรงเกติ เป็นหลัก
รอบสอง เกิดในทิศทางตรงกันข้าม เนื่องจากอาหารในมาไซมารา เริ่มหมด สัตว์เหล่านี้ก็จะเริ่มเดินทางกลับลงมาที่เซเรงเกติในจังหวะเดียวกับที่หญ้าทางตอนใต้เริ่มโตขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดในช่วง ประมาณเดือน 8-10 ของทุกๆปี ช้า-เร็ว ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนตามฤดูกาลเช่นเดียวกัน
โดยเหตุการณ์รอบสอง จะเกิดที่ อุทยานแห่งชาติมาไซมารา เป็นหลัก
โดยไฮไลท์สำคัญก็คือ ช่วงที่เหล่าจังหวะสัตว์เหล่านี้วิ่งข้าม แม่น้ำกรูเมติ (Grumeti) หรือ แม่น้ำมารา (Mara) เนื่องด้วยการเดินทางที่ยาวไกลเป็นพันกิโลเมตรด้วยเท้า ทำให้ความเหนื่อยอ่อนแอย่อมเกิดขึ้น และการข้ามแม่น้ำคือความเสี่ยงสูงสุดที่จะกลายเป็นเหยื่อนอันโอชะของจระเข้หรือฮิปโปนอนแช่น้ำรอเหยื่อนเดินเข้ามาหาถึงปาก
โดยเฉลี่ยแล้ว สัตว์เหล่านี้จะใช้ชีวิตอยู่ในแทนซาเนียประมาณ 8 เดือน และในเคนยาอีก 4 เดือนต่อปี
ซิมบ้า (Simba) แปลว่า “สิงโต”
ในหนังเรื่อง The Lion King นั้น เรียกได้ว่า ชื่อของเหล่าตัวละครนั้นมีความหมายทั้งหมด โดยใช้คำที่ส่วนใหญ่นำมาจาก “ภาษาสวาฮิลี” (Swahili) ซึ่งเป็นภาษาหลักในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกนั่นเอง และภาษานี้ก็คือภาษาราชการหลักของเคนยาและแทนซาเนีย จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพของสองประเทศนี้ใน The Lion King
ซิมบ้า (Simba) แปลว่า สิงโต ถ้าใครเคยไปเที่ยวซาฟารีในเซเรงเกติ เราจะได้ยินไกด์พูดกันตลอดเวลาว่า “เราเจอซิมบ้าแล้ว เตรียมตัวไปดูกัน”
ราฟิกิ (Rafiki) อาจารย์ของซิมบ้า เพื่อนของมูฟาซา คำนี้มีความหมายว่า “เพื่อน” ในภาษาสวาฮิลี ถือว่าถูกต้องตามเรื่องราว
นาลา (Nala) ว่าที่ภรรยาของซิมบ้า มีความหมายว่า “ของขวัญ” (gift)
ซาลาบี (Sarabi) แม่ของซิมบ้า มีความหมายว่า “ภาพลวงตา” (mirage)
พุมบ้า (Pumba) เพื่อนของซิมบ้า มีความหมายว่า “อ่อนแอ” (weak)
และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด “ฮาคูนา มาทาทา” (Hakuna Matata) สุดยอดประโยคที่ได้ยินเสมอจากในหนัง และก็เช่นเดียวกันถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวแทนซาเนียก็จะได้ยินประโยคนี้เสมอ ซึ่งแปลว่า “อย่าไปซีเรียส” นั่นเองครับ
Kopjes ที่อยู่ของสรรพสัตว์
เมื่อสักครู่เราพูดถึงหลักการเกิดของ Kopjes ในสะวันนา แต่ตอนนี้กำลังจะมาพูดถึงความสำคัญของ Kopjes ในระบบนิเวศวิทยาในสะวันนา ประโยชน์ของ Kopjes เช่น
- เป็นที่อยู่ของสิงโต เนื่องจากสิงโตเป็นสัตว์นักล่าโดยธรรมชาติ การมาอยู่ในที่สูง (Vantage point) ย่อมทำให้การมองหาเหยื่ออันโอชะ ย่อมทำได้ง่ายกว่า ดังนั้นการมาเจอเหล่าสิงโตนักล่าตัวเมีย อยู่กันเป็นกลุ่มบน Kopjes จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด
- เป็นที่ซ่อนลูกสิงโต ตามหลืบตามซอกหิน คือที่ซ่อนลูกตัวเล็กๆ (lion cubs) ชั้นดีของเหล่าแม่สิงโตให้ห่างไกลจากเหล่าไฮยีน่าที่คอยมองหาผู้อ่อนแอด
- เนื่องจากมักจะมีต้นไม้ใหญ่ที่มาขึ้นตามซอกของ Kopje จนเติบใหญ่กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่คอยบดบังแสงอาทิตย์ให้สัตว์อย่าง สิงโต หรือ เสือดาว มาหลบแดดในช่วงเวลากลางวัน
Mandrill อาจารย์ของซิมบ้า
Mandrill หรือ Rafiki ในภาพยนตร์นั้น เป็นสัตว์ในตระกูลลิง แต่ก่อนถูกจัดอยู่ในกลุ่มลิงบาบูน แต่ปัจจุบันถูกแยกมาอยู่ในวงศ์ของตนเอง คือ Genus Mandrillus
Mandrill (aka. Rafiki) น่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่น่าจะมาอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนา หรือมาเป็นเพื่อนกับซิมบ้าหรือพุมบ้าได้ เนื่องจากด้วยลักษณะของที่อยู่แล้ว สัตว์เหล่านี้ไม่น่าจะมาเจอกันได้ครับ
โดยเหล่าสิงโตนั้นจะอาศัยอยู่ในเขตของแอฟริกาตะวันออกจนมาถึงแอฟริกาใต้ (East – South Africa) แต่ในทางตรงกันข้าม Mandrill นั้นอาศัยอยู่ในเขตแอฟริกาตะวันตกถึงกลาง (West – Central Africa) ซึ่งปัจจุบันคือในเขตประเทศ ไนจีเรีย คองโก กาบอง แคเมอรูน อีกทั้งลักษณะของที่อยู่อาศัยที่เป็นป่าดิบชื้น ยิ่งทำให้สัตว์สองกลุ่มนี้ไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้อย่างแน่นอน
นั่นแปลว่า ถ้าไปแทนซาเนีย หรือเคนยา เราจะไม่ได้เจอกับ Rafiki แน่นอน แต่เราจะเจอลิงบาบูนพันธุ์อื่นๆแทนครับ ถ้าอยากจะเห็นเจ้า Mandrill เราต้องไปไกลถึงแอฟริกาตะวันตกครับ
ทีโมน หรือ Meerkat
ทีโมน (Timon) เป็นหนึ่งใน คำที่ไม่มีความหมาย ในภาษาสวาฮิลี ตัวทีโมน คือ เมียร์แคต (Meerkat) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตระกูลเดียวกับพังพอน มีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลทรายคาลาฮารี (Kalahari) ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ปัจจุบันคือในเขตประเทศ นามิเบีย และ บอตสวานา
นั่นแปลว่า ถ้าเราไป เซเรงเกติ หรือ มาไซมารา เราจะเจอแต่ ซิมบ้า และ พุมบ้า แต่จะไม่มีวันเจอ ทีโมน นั่นเองครับ
พุมบ้า (Pumbaa) หรือ Warthog
พุมบ้า หรือ หมูป่าหน้าหูด (Warthog) เป็นสัตว์ตระกูลหมู เพียงชนิดเดียวที่พบเห็นทั่วไปในทุ่งหญ้าสะวันนา
โดยชื่อของมันมาจากคำว่า “Wart” ซึ่งหมายถึงหูดที่ขึ้นอยู่ทั้งสองข้างของใบหน้าหมู จุดประสงค์มีไว้ป้องกันตนเองเวลาสู้กันเองระหว่างหมูสองตัว และลักษณะสำคัญของหมู่ป่าตัวนี้ก็คือเขี้ยวสองอันที่อยู่ข้างปากเอาไว้ป้องกันตัวนั่นเอง
และด้วยลักษณะนิสัยของ Warthog ที่มักจะเป็น “ผู้หนี” มากกว่า “ผู้สู้” ตัว Warthog ในหนังเรื่อง The Lion King ก็เลยได้เชื่อ “พุมบ้า” (Pumba) ซึ่งแปล่า “อ่อนแอ” นั่นเอง
จุดจบของมูฟาซา
ฉากสุดท้ายที่มูฟาซาต้องลงไปช่วยซิมบ้าที่ถูกหลอกลงไปในหุบเหวโดยสการ์นั้น เป็นการจำลองสภาพภูมิประเทศที่เกิดขึ้นในเขต “รอยเลื่อนแอฟริกาตะวันออก” (East African Rift) ซึ่งเป็นรอยแยกอันยิ่งใหญ่ของแผ่นเปลือกโลกที่พาดผ่านมาตั้งแต่เอธิโอเปีย จนมาสิ้นสุดที่ประเทศโมซัมบิค (Mozambique) ซึ่งรอยแยกสองอันนี้กำลังแยกออกห่างกันเรื่อยๆ พื้นที่ระหว่างรอยแยกสองอันเลยกลายเป็นหุบเหวตามธรรมชาติ
โดยรอยแยกนี้ เราจะเห็นได้ชัดมากๆ ในเขตของประเทศแทนซาเนีย เคนยา อูกันดา เอธิโอเปีย ในปัจจุบัน และผลลัพธ์ของการแยกออกของแผ่นดินนอกจากจะทำให้แผ่นดินสองฝั่งค่อยๆแยกออกจากกันแล้ว ยังทำให้เกิดการชนกันของแผ่นเปลือกโลกในแรงตรงกันข้ามเช่นเดียวกัน
ผลลัพธ์ของการเกิดแรงสองอย่างนี้ทำให้มี ภูมิประเทศอันยิ่งใหญ่ในเขตแอฟริกาตะวันออก เช่น ภูเขาคิลิมานจาโร (Mount Kilimanjaro) ภูเขาเมรุ (Mount Meru) ปากปล่องโกรงโกโร่ (Ngorongoro Crater) ทะเลสาบนาทรอน (Lake Natron) ภูเขาไฟเลงไก (Oldoinyo Lengai) หรือทะเลสาบวิคตอเรีย (Lake Victoria)
โดยเหตุการณ์ในฉากจุดจบของ The Lion King นั้นดูเหมือนคล้า่ยกับที่ อุทยานแห่งชาติ Hell’s Gate National Park ลองไป Google Earth ดูนะครับ ว่าคล้ายกันขนาดไหน 🙂
Circle of Life
ภาพปิดท้ายของบทความนี้คือ ความเป็นจริงของโลกเรา
สิงโต คือ สัตว์ที่อยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศวิทยาของทุ่งหญ้าสะวันนาครับ ถ้าไม่นับมนุษย์แล้ว ไม่มีสัตว์ตัวไหนที่อยู่เหนือสิงโตขึ้นไปได้อีก หมูป่า (Warthog) ที่มักจะเป็นเหยื่อนอันโอชะของซิมบ้าเสมอ ภาพที่เราเห็นใน The Lion King จึงเป็นภาพที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งนี้
จะขอจบบทความนี้แต่เพียงเท่านี้นะครับ คิดว่าผู้อ่านทุกคนคงจะมองเห็นภาพของซาฟารีในแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกในแทนซาเนียและเคนยามากยิ่งขึ้นครับ
Credit : ภาพ pixabay, shutterstock
……….
สำหรับท่านที่สนใจการเดินทางทัวร์ไปยังประเทศแทนซาเนียกับพวกเรา ท่านสามารถติดตามได้ที่ช่องทางเหล่านี้
ติดตามแผนการเดินทางประจำปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไปได้ที่นี่
ทริปแห่งความทรงจำ ล้ำค่าไปด้วยประวัติศาสตร์ขนานแท้ รอคุณมาค้นพบด้วยตัวคุณเอง
หรือถ้าหากท่านต้องการให้เราจัดกลุ่มส่วนตัวสำหรับครอบครัวของท่าน เราก็ยินดีเช่นกันเพื่อจะทำให้การเดินทางข้ามทวีปครั้งนี้เป็นความทรงจำที่ดีแบบไม่มีวันลืม
- สอบถามเพิ่มเติม โทร : 096 640 4534
- แอด Line : https://line.me/R/ti/p/%40patourlogy