หากใครมีโอกาสลิ้มลองอาหารอินเดียตามร้านต่างๆ ทั้งในแดนภารตะและต่างประเทศ คงจะคุ้นเคยกันดีกับขนมที่มีสีสันรูปร่างลานตาไว้กินตบท้าย ขนมส่วนมากมีรสหวานตัดกับรสจัดจ้านของเครื่องเทศจากอาหารจานหลัก ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ในมื้ออาหารของชาวอินเดีย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชมพูทวีปเป็นแผ่นดินแห่งความหลากหลาย ขนมทุกชิ้นในตู้กระจกจึงมีที่มาแตกต่างกันออกไป และในวันนี้ เราจะมารู้จักกับขนมชื่อดังที่มีที่มาจากวังมหาราชาแห่งแดนใต้ ขนมชนิดนี้มีชื่อว่า “ไมซูร์ปาค (Mysore pak)” เรื่องราวของขนมแห่งประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไรนั้น เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
เรื่องราวประวัติของขนมไมซูร์ปาค (Mysore pak)
ไมซูร์ปาค (Mysore pak) เป็นขนมสีเหลืองนวลทรงสี่เหลี่ยม มีรสหวานละมุนจากส่วนผสมนานาชนิด ทั้งเนยใส แป้งถั่วลูกไก่ (Besan) และน้ำตาล บางสูตรอาจผสมผงอัลมอนด์และกระวานเทศเพื่อให้มีกลิ่นหอมสดชื่น
ชื่อไมซูร์ปาค (Mysore pak) มีที่มาจากเมืองไมซอร์หรือไมซูรุ (Mysuru) ทางตอนใต้ของรัฐกรณาฏกะที่เป็นต้นกำเนิดขนมชนิดนี้ ในอดีตไมซูร์ปาค (Mysore pak) เป็นนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและข้าราชสำนัก
ต้นกำเนิดขนมหวานยอดนิยมสามารถย้อนกลับไปเกือบหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1935 ณ รัฐมหาราชาแห่งไมซอร์ มหาราชาผู้ครองแคว้นในขณะนั้น กฤษณะ ราชา โวเฑยาร์ที่ 4 (Krishna Raja Wodeyar IV) ต้องเผชิญความท้าทายนานัปการในการนำพาแผ่นดินเข้าสู่ยุคใหม่
ในแต่ละวันมหาราชาต้องคอยต้อนรับอาคันตุกะมากหน้าหลายตาทั้งอินเดียและต่างชาติเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ด้วยเหตุนี้การเสิร์ฟสำรับอาหารต้นตำรับกันนฑะ (Kannada) แก่แขกเหรื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเชิดหน้าชูตาให้กับอาณาจักร
วันหนึ่งมหาราชาโวเฑยาร์จึงได้รับสั่งให้หัวหน้าพ่อครัวนามว่า กากสูระ มาทัปปา (Kakasura Madappa) คิดค้นขนมชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อนเพื่อตบท้ายมื้ออาหารในงานเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะ มาทัปปาได้แต่ก้มหน้ารับพระบัญชาทั้งที่ยังกังวลใจ องค์เหนือหัวคุ้นเคยกับอาหารท้องถิ่นและนานาชาติเป็นอย่างดี เขาจึงไม่รู้ว่าควรทำขนมชนิดใดให้พระองค์พอพระทัย
ครั้นเวลาเสิร์ฟอาหารใกล้เข้ามา มาทัปปาจึงลงมือทำขนมโดยประยุกต์ทุกสิ่งเข้าด้วยกัน เขาใช้ส่วนผสมพื้นฐานของขนมอินเดียในการทำของหวานสไตล์ยุโรปที่เคยเรียนรู้จากพ่อครัวต่างถิ่น จนในที่สุดก็ออกมาเป็นขนมเนื้อละเอียดที่ไม่นิ่มและแข็งจนเกินไป มาทัปปาตักขนมหวานเนื้อเนียนคล้ายคัสตาร์ดใส่ถ้วยในสำรับโดยตั้งใจให้มหาราชารับประทานทั้งที่ยังอุ่นๆ ทว่าสำรับอาหารกลางวันกลับถูกเสิร์ฟช้ากว่าที่คิดไว้ การสนทนาระหว่างมื้อทำให้ความร้อนในขนมคลายตัว
และแล้วสิ่งที่หัวหน้าพ่อครัวไม่คาดคิดก็บังเกิด ขนมของเขาจับตัวเป็นก้อนแข็ง! มาทัปปาอดกังวลไม่ได้ว่ารสชาติขนมที่ตั้งใจทำจะเปลี่ยนแปลงจากก่อนหน้าหรือไม่ ทว่าเขากลับคาดการณ์ผิดถนัด มหาราชาโวเฑยาร์พอพระทัยกับขนมลักษณะแปลกใหม่เป็นอย่างมาก พระองค์ตรัสชมไม่ขาดปาก ก่อนจะเรียกมาทัปปามาเข้าเฝ้าเดี๋ยวนั้น มหาราชาตรัสถามว่าขนมชนิดนี้มีชื่อเรียกอย่างไรกัน มาทัปปาที่ไม่ได้คิดชื่อไว้ล่วงหน้าจึงละล่ำละลักตอบไปว่า “ไมซูรุ ปากะ (Mysuru Paka)” ที่มีความหมายว่าส่วนผสมของขนมหรืออาหารตำรับไมซอร์นั่นเอง
ความบังเอิญกลายเป็นความโชคดี
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไมซูร์ปาค (Mysore pak) ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในราชสำนัก แม้แต่อาคันตุกะต่างถิ่นก็ยังนำสูตรขนมไปเผยแพร่ หลังจากที่รัฐมหาราชาแห่งไมซอร์ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินเดียในปี ค.ศ. 1948 ประชาชนทั่วไปจึงได้รู้จักขนมชนชั้นสูงเป็นครั้งแรก
ไมซูร์ปาค (Mysore pak) กลายเป็นที่นิยมของผู้คนทุกสถานะ ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์และวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ทำให้ในเวลาไม่นาน ไมซูร์ปาค (Mysore pak)จึงเป็นขนมที่ขาดไม่ได้ตามร้านขายชาริมถนน ขนมรสหวานจัดถูกนำมากินคู่กับชาร้อนรสเข้ม กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไมซอร์จวบจนทุกวันนี้
ไมซูร์ปาค (Mysore pak) ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ไมซูร์ปาค (Mysore pak) สามารถหาทานได้ทั่วไปในเมืองไมซอร์และกรณาฏกะใต้ ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารหรูหราที่เสิร์ฟขนมเพื่อปิดท้ายสำรับ หรือตามร้านน้ำชาข้างทางที่ผู้คนแวะเวียนมาพักยามบ่าย
ไมซูร์ปาค (Mysore pak) กลายเป็นขนมมงคลของชาวกันนฑะไปโดยปริยาย ผู้คนนิยมเรียงใส่กล่องให้สวยงามเพื่อมอบเป็นของขวัญงานวิวาห์หรืองานเทศกาลต่างๆ
และหากใครต้องการลิ้มลองไมซูร์ปาค (Mysore pak) รสดั้งเดิมละก็ ต้องไม่พลาดแวะซื้อขนมหวานจาก ร้านคุรุ สวีท มาร์ท (Guru Sweet Mart) เพื่อเป็นของฝากติดไม้ติดมือ คุรุสวีทมาร์ทตั้งอยู่ในตลาดเทวราชา (Devaraja Market) ไม่ไกลจากพระราชวังไมซอร์ (Mysore Palace) ที่เคยเป็นที่ประทับของมหาราชาและเชื้อพระวงศ์ เจ้าของร้านคือทายาทรุ่นที่ 4 ของกากสูระ มาทัปปาผู้คิดค้นไมซูร์ปาค (Mysore pak) สูตรขนมต้นตำรับยังคงถูกเก็บรักษาเป็นความลับในครอบครัว ผู้มาเยือนจึงแน่ใจว่าจะได้ลิ้มรสขนมแสนอร่อยแบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนำขึ้นสำรับมหาราชาแห่งแดนใต้ที่จะทำให้การมาเยือนเมืองไมซอร์กลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม
หนังสือและบทความอ้างอิง
- Jain, Laxmi. History of the Wodeyars of Mysore (1500 to 1965), 2nd edition. New Delhi: Vayu Education of India, 2020.
- Amit, Dassana. Mysore Pak. (2020). [Online]. Accessed 2021 November 30. Available from: https://www.vegrecipesofindia.com/mysore-pak-recipe/
- Madur. Guru Sweets In Mysore And The History of Mysore Pak. (2019). [Online]. Accessed 2021 November 30. Available from: https://www.karnataka.com/recipe-and-food/guru-sweets-mysore-the-history-of-mysore-pak/