โอ… โรมิโอๆ ใยท่านเป็นโรมิโอ… คำพูดนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทรำพึงตัดพ้อของ จูเลียต คาปูเลต์ (Juliet Capulet) นางเอกในบทละครโศกนาฏกรรมเรื่องโรมิโอและจูเลียตที่แต่งโดย วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จูเลียตเป็นเด็กสาวอ่อนต่อโลกอายุ 13 ปีที่หลงรักโรมิโอ มอนตากิว (Romeo Montague) เด็กหนุ่มที่อายุมากกว่าตนเพียง 3 ปีเท่านั้น
ความรักท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลนำพาทั้งคู่ไปสู่จุดจบของชีวิต แม้ว่าในปัจจุบัน บทละครดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทว่าโรมิโอและจูเลียตก็ยังคงโด่งดังข้ามกาลสมัย กลายเป็นต้นแบบนวนิยายรักทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
และหากใครเป็นแฟนโศกนาฏกรรมรักต้องห้ามของโรมิโอและจูเลียตแล้วละก็ เรามีสถานที่ท่องเที่ยวแสนโรแมนติกที่จะทำให้คุณประทับใจเหมือนได้ย้อนยุคกลับไปกลายเป็นจูเลียตที่แสนหวาน ที่แห่งนี้คือ เมืองเวโรนา (Verona) เมืองเล็กๆ ในอิตาลีที่เชกสเปียร์ใช้เป็นฉากในบทละครของตน เวโรนาเกี่ยวข้องกับโรมิโอและจูเลียตอย่างไร และจะมีความน่าสนใจเพียงใดนั้น เราจะพาคุณไปชมพร้อมๆ กัน
สารบัญของบทความ สนใจสิ่งใดไปอ่านสิ่งนั้นก่อนได้เลยนะครับ
รู้จักเวโรนา (Verona)
เวโรนา เป็นเมืองใน จังหวัดเวโรนา (Province of Verona) แคว้นเวเนโต (Veneto) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี เมืองนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอะดิเจ (Adige River) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ชั้นดีในการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณ ชนเผ่าดั้งเดิมในอิตาลีอย่างยูกาไน (Euganei) และเซโนมานี (Cenomani) จึงผลัดกันยึดครองเวโรนาระหว่าง 500 ปีจนถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล
จนกระทั่งปีที่ 89 ก่อนคริสตกาลที่เมืองนี้ตกอยู่ใต้การปกครองของ สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) และกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมนับแต่นั้น ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เวโรนาก็กลายมาเป็นเมืองในปกครองของชาวกอธ (Goths) เผ่าต่างๆ จนกระทั่งเมื่อมาถึงจุดสิ้นสุดยุคกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เวโรนาจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของนครรัฐเวเนเซีย และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิตาลีในเวลาต่อมา
เวโรนา เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เมืองนี้เต็มไปด้วยโบราณสถานน่าตื่นตา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างในสมัยโรมัน โบสถ์วิหารเก่าแก่ หรือแม้แต่บ้านเรือนก่อด้วยอิฐและหิน ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ. 2000 องค์การยูเนสโก (UNESCO) จึงประกาศให้เวโรนาเป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่า เนื่องจากสถาปัตยกรรมที่คงอยู่เหนือกาลเวลาในเมืองนี้นั่นเอง
สถานที่ท่องเที่ยวในเวโรนา
บ้านจูเลียต (Juliet’s House)
หากมาถึงเวโรนาแล้วไม่ได้มาบ้านจูเลียตแล้วละก็ คงไม่อาจเรียกได้ว่ามาเยือนเมืองนี้อย่างแท้จริง บ้านจูเลียตเป็นอาคารซ้อนชั้นก่อด้วยหินที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 แรกเริ่มเดิมที เจ้าของสถานที่แห่งนี้คือตระกูลคาเปลโล (Capello) ผู้ดีเก่าในเมืองเวโรนา
พวกคาเปลโลดัดแปลงบ้านให้เป็นสถานที่พักแรมสำหรับขุนนางต่างถิ่นที่มาเยือนอิตาลี การณ์ดำเนินเช่นนี้จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1597 เมื่อบทละครโรมิโอและจูเลียตของเช็กสเปียร์ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ผลงานชั้นครูชิ้นนั้นทำให้ชื่อของเช็กสเปียร์โด่งดังไปทั่วยุโรป
บรรดานักอ่านต่างพากันมาเยือนเวโรนาเพื่อตามหาบ้านเกิดของจูเลียต แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าเช็กสเปียร์เคยมาเยือนสถานที่จริงในเวโรนาหรือไม่ แต่ผู้คนก็พากันเชื่อมโยงบ้านของตระกูลคาเปลโลว่าเป็นบ้านจูเลียตในบทละคร เนื่องจากชื่อคาเปลโลสามารถเขียนได้อีกอย่างว่า “คัปเปลเลตติ (Cappelletti)” ซึ่งเมื่อแปลงเป็นการออกเสียงภาษาอังกฤษก็จะเป็น “คาปูเลต์” นามสกุลของจูเลียตนั่นเอง
เมื่อเจ้าของเห็นว่าคนต่างถิ่นแห่แหนกันมาเยือนบ้านของตน เขาจึงเปลี่ยนที่พักแรมให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และใน ค.ศ. 1968 เนรีโอ คอนสแตนตินี (Nereo Constantini) ศิลปินชาวเวโรนาก็ได้สร้างรูปหล่อจูเลียตขึ้นมา โดยตั้งไว้ที่สวนหน้าบ้านคาเปลโล ไม่นานหลังจากนั้น บ้านคาเปลโลก็ถูกต่อเติมระเบียงที่สามารถมองลงมาเห็นสวนด้านล่าง ตามผังบ้านในบทละครตอนที่จูเลียตลอบพบกับโรมิโอบนระเบียงห้องนอน
บ้านคาเปลโลจึงถูกเปลี่ยนเป็นบ้านของจูเลียตในโศกนาฏกรรมรักอย่างสมบูรณ์ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเวโรนาที่ผู้มาเยือนต่างเชื่อว่า หากได้สัมผัสรูปหล่อจูเลียตสักครั้ง คำอธิษฐานรักของตนจะเป็นจริง ซึ่งจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องรอผู้อ่านมาพิสูจน์แล้วบอกเล่าให้เราฟังหลังไมค์
เวโรนา อารีนา (Verona Arena)
นอกจากบ้านจูเลียตแสนโรแมนติกแล้ว เวโรนายังเป็นจุดหมายปลายทางของคนรักละครโอเปรานับแสนในแต่ละปี เวโรนามีอัฒจรรย์สมัยโรมันขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เวโรนา อารีนา” ในอดีตอัฒจรรย์นี้เคยถูกใช้เป็นสนามแข่งขันรถม้าและเวทีต่อสู้ของนักรบกลาดิเอเตอร์ (Gladiators) ทว่าตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม (Renaissance) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อัฒจรรย์โบราณก็ถูกปรับปรุงให้เป็นสถานที่สำหรับชมการแสดงโอเปรา
และตั้งแต่ค.ศ. 1913 เป็นต้นมา เวโรนา อารีนาก็ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ จนกลายเป็นโรงละครโอเปราที่สามารถจุผู้ชมได้ถึง 3 หมื่นคน ทุกๆ ปี โรงละครแห่งนี้จะจัดงานเทศกาลที่เรียกว่า “อารีนา ดิ เวโรนา (Arena di Verona Festival)” ในช่วงหน้าร้อน ระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน โดยแต่ละค่ำคืนจะมีการแสดงละครโอเปรา คอนเสิร์ต รวมถึงความบันเทิงประเภทอื่นๆ สับเปลี่ยนกันไป นับเป็นงานอีเวนท์แห่งปีที่นักท่องเที่ยวทุกคนไม่ควรพลาด
ปงเต ปิเอตรา (Ponte Pietra)
ปงเต ปิเอตรา (Ponte Pietra) เป็นภาษาอิตาเลียนที่แปลตรงตัวว่า “สะพานหิน” ปงเต ปิเอตราเป็นสะพานข้ามแม่น้ำอะดิเจที่เก่าแก่ที่สุดในเวโรนา สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปีที่ 100 ก่อนคริสตกาลเมื่อครั้งที่เวโรนายังเป็นจังหวัดหนึ่งของโรม
สะพานหินทรงโค้งเป็นตัวแทนสถาปัตยกรรมโรมันที่อ่อนช้อยและแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน นักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมชมบรรยากาศเงียบสงบริมแม่น้ำอะดิเจ พร้อมกับเก็บภาพความประทับใจกับสิ่งปลูกสร้างสุดคลาสสิก
มหาวิหารซานเซโน (Basilica of San Zeno)
หลังได้ยลสิ่งปลูกสร้างสมัยโรมันกันไปแล้ว คราวนี้เราจะมารู้จักกับโบสถ์เก่าในยุคกลางกันบ้าง มหาวิหารซานเซโน (Basilica of San Zeno) ถูกสร้างขึ้นในค.ศ. 967 เพื่ออุทิศแก่นักบุญเซโนแห่งเวโรนา (St Zeno of Verona) นักบุญประจำเมืองที่เสียชีวิตปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4
มหาวิหารแห่งนี้เป็น ตัวแทนสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (Romanesque Architecture) ในดินแดนยุโรปใต้ซึ่งนิยมสร้างกรอบหน้าต่างประตูวงโค้งขนาดเล็ก ด้านในสุดของโถงบูชาเป็นที่ตั้งโลงศพนักบุญเซโนมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนถึงปัจจุบัน
มหาวิหารและโลงหินที่ว่ากลายมาเป็นแรงบันดาลใจของเช็กสเปียร์ในการเขียนฉากแต่งงานระหว่างโรมิโอและจูเลียตที่เป็นตอนจบของโศกนาฏกรรมเรื่องนี้ ซานเซโนจึงเป็นสถานที่ยอดนิยมทั้งสำหรับนักแสวงบุญชาวคริสต์และแฟนๆ บทละครเช็กสเปียร์ในเวลาเดียวกัน
โบสถ์ซันต์ อะนาสตาเซีย (Sant’Anastasia)
ห่างออกไปไม่ไกลจากสะพานปงเต ปิเอตรา เป็นที่ตั้งของโบสถ์นิกายโดมินิกันที่มีชื่อว่า ซันต์ อะนาสตาเซีย (Sant’Anastasia) โบสถ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1280 ตามประสงค์ของบาทหลวงเบนเวนูโต ดา อิโมลา (Fra’ Benvenuto da Imola) และบาทหลวงนิโกลา ดา อิโมลา (Fra’ Nicola da Imola) สองนักบวชผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโดมินิกันในเมืองเวโรนา
ซันต์ อะนาสตาเซียเป็น สิ่งปลูกสร้างสไตล์โกธิค (Gothic Architecture) ที่นิยมในครึ่งหลังของยุคกลาง โถงด้านในมีเพดานยกสูง ประดับด้วยปูนปั้นรูปนักบุญ เทวดา และนางฟ้า รวมถึงภาพเขียนสีน้ำมันเก่าแก่ ซันต์ อะนาสตาเซียจึงถือเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าของคนรักศิลปะทั่วโลกเลยก็ว่าได้
ช่วงเวลาที่ควรไปเวโรนา
เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรปใต้ เวโรนามีอากาศสบายๆ ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป นักท่องเที่ยวสามารถมาเดินทางมาที่นี่ได้ทั้งปี อย่างไรก็ดี หากคุณไม่ได้อยากมาชมโอเปรา และไม่ต้องการติดอยู่ในวงล้อมนักท่องเที่ยว แนะนำให้หลีกเลี่ยงการมาเยือนเวโรนาระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนที่เป็นฤดูเทศกาลอารีนา ดิ เวโรนาดังที่กล่าวถึงไปในข้างต้น ทว่าหากคุณต้องการมาชมการแสดงดังกล่าว ควรหาข้อมูลและจองบัตรการแสดงก่อนไป เพื่อไม่ให้พลาดการแสดงแสงสียามค่ำคืน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการท่องเที่ยวเมืองเวโรนา เชื่อว่าใครหลายคนคงอยากแพ็คกระเป๋าเพื่อเยือนเมืองเก่าในอิตาลีไปตามๆ กัน และหากคุณไม่ต้องการพลาดข่าวสารอัพเดทเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและเทศกาลต่างๆ ในยุโรปละก็ สามารถติดตามเราได้ที่ www.patourlogy.com ที่อุดมไปด้วยความบันเทิงและสาระน่ารู้เกี่ยวกับสถานที่พักผ่อนในฝันของคุณ
อ้างอิง
- Cartwright, Mark. Roman Verona. (2014). [Online]. Accessed 2022 April 11. Available from: https://www.worldhistory.org/Verona/
- ItalyGuides. Juliet’s House – Romeo and Juliet. (n.d.). [Online]. Accessed 2022 April 11. Available from: https://www.italyguides.it/en/veneto/verona/juliet-s-house
- Veronissima. Juliet’s House. (2022). [Online]. Accessed 2022 April 11. Available from: http://www.veronissima.com/sito_inglese/html/shakespeare-verona-juliet-house.html
- Wandering Italy. Verona Climate and Weather. (2022). [Online]. Accessed 2022 April 11. Available from: https://www.wanderingitaly.com/weather/verona-italy-weather.html