หากเอ่ยถึงชื่อ มายา (Maya) แล้วละก็ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักอารยธรรมเก่าแก่แห่งอเมริกากลางเป็นแน่ แท้จริงแล้วมายาเป็นชื่อที่ชาวตะวันตกใช้เรียกจักรวรรดิโบราณที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17
ศูนย์กลางของจักรวรรดิมายาอยู่ที่ เมืองติกาล (Tikal) ทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลาในปัจจุบัน นอกจากนี้จักรวรรดิมายายังมีเมืองสำคัญอีกหลายแห่งกระจายกันอยู่ในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส และเอล ซัลวาดอร์ จึงอาจเรียกได้ว่า อารยธรรมมายาเป็นรากฐานประวัติศาสตร์อเมริกากลางทั้งหมด
ชาวมายาเป็นนักประดิษฐ์ที่คิดค้นระบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรภาพ ระบบเลข การคำนวณ หน่วยนับ ปฏิทิน รวมถึงการทำนายการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นสุริยุปราคาและจันทรุปราคาอย่างแม่นยำ ปฏิทินของชาวมายาเป็นหนึ่งในปฏิทินโบราณที่มีจำนวนวันต่างๆ ใกล้เคียงกับปฏิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันในปัจจุบันมากที่สุด
นอกจากความก้าวหน้าทางศาสตร์ความรู้ต่างๆ แล้ว ชาวมายายังมีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก พวกเขาออกแบบสิ่งปลูกสร้างมากมายที่ยังคงเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดของชาวมายาคือพีระมิดที่ใช้เป็นทั้งสุสานและวิหารประกอบพิธีกรรม แม้จะมีขนาดเล็กกว่าพีระมิดในอียิปต์หากเทียบกัน แต่พีระมิดมายาก็ยังงดงามชวนฝัน เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างต้องการมาพิชิต
เช่นเดียวกับอารยธรรมเก่าแก่อื่นๆ ในโลกใหม่ จักรวรรดิมายาเองก็ล่มสลายเพราะการเข้ามาของคนขาว ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวมายาได้พบกับนักสำรวจชาวสเปนที่หลงเข้ามาที่ชายฝั่งคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatán) โดยบังเอิญ แม้ว่าชาวมายาจะจับคนขาวส่วนใหญ่ไปบูชายัญถวายเทพเจ้า แต่ก็ยังมีนักโทษบางคนที่เหลือรอดกลับไปบอกเล่าความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ
ตำนานความมั่งคั่งและดินแดนแห่งทองคำดึงดูดผู้พิชิต (Conquistadors) มากหน้าหลายตาให้เข้ามาแสวงโชคในดินแดนนี้ พวกเขาแสดงท่าทีว่าอยากเจริญสัมพันธไมตรีกับผู้นำมายา ทว่าแท้จริงแล้ว คนขาวเพียงแต่เข้ามาเพื่อยึดเอาทองคำและของมีค่าเท่านั้น เมืองมายาต่างๆ ค่อยๆ ถูกชาวสเปนยึดครองตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น จักรวรรดิมายาที่เคยยิ่งใหญ่ก็ล่มสลายลงด้วยการรุกรานของคนขาว ทิ้งไว้เพียงตำนานและสถานที่ถูกทิ้งร้างเป็นหลักฐานไว้ดูต่างหน้า
แม้ว่าจักรวรรดิมายาจะล่มสลายมานานนับศตวรรษ แต่ความยิ่งใหญ่ในอารยธรรมของพวกเขายังคงอยู่ไม่เลือนหาย ดินแดนอเมริกากลางยังคงเต็มไปด้วยโบราณสถานมายามากมายที่รอให้คุณมาสัมผัส ด้วยเหตุนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอารยธรรมมายาที่จะทำให้คุณต้องตื่นตา เตรียมพร้อมแพ็กกระเป๋าไปตามหาดินแดนที่สาบสูญ ถ้าพร้อมแล้วละก็ มาดูกันเลยดีกว่าว่า จะมีสถานที่น่าสนใจที่ใดบ้าง
ชิเชน อิตซา (Chichén Itzá)
หากใครมาเที่ยวชมอารยธรรมมายาแล้วไม่ได้ไปเยือน ชิเชน อิตซา คงไม่อาจเรียกได้ว่ามาถูกที่
ชิเชน อิตซาตั้งอยู่ที่เขตตินุม (Tinúm) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก โบราณสถานแห่งนี้ถือเป็นตัวแทนความก้าวหน้าของชาวมายาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างทรงพีระมิดสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นที่แสดงถึงจุดสุดยอดของสถาปัตยกรรม ศิลปวัตถุต่างๆ ที่คงอยู่เหนือกาลสมัย
และที่โดดเด่นและเป็นไฮไลต์ในหมู่นักท่องเที่ยวก็คือ ปรากฏการณ์งูใหญ่แห่งชิเชน อิตซาที่จะปรากฏให้เห็นในวันวิษุวัต (Equinox) ซึ่งเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีเวลาเท่ากัน ทุกๆ ปีราวบ่ายแก่ของวันวิษุวัต แสงแดดจะสาดส่องลงบนบันไดพีระมิด ทำให้เห็นเป็นเงาคล้ายงูใหญ่กำลังเลื้อยลงมาจากสวรรค์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่อย่างใด แต่เกิดจากการคำนวณอย่างดีของนักดาราศาสตร์และสถาปนิกชาวมายาในการสร้างวิหารบูชาเทพให้เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้งและสด๊กก๊กธมในประเทศไทยที่มีปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่านซุ้มประตูในทุกปีอย่างไรอย่างนั้น
ไม่มีผู้ใดรู้ว่าชิเชน อิตซาสร้างขึ้นเมื่อใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อบูชาชาอัค (Chaac) เทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อของชาวมายาราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ด้วยเหตุนี้ในสมัยโบราณ ชิเชน อิตซาจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชายัญมนุษย์เพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล
ชิเชน อิตซาถูกทิ้งร้างหลังการรุกรานของชาวสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองลับแลในป่าก็สูญหายจากความทรงจำของผู้คน จนกระทั่งราว 2 ศตวรรษหลังจากนั้นเมื่อจอห์น ลอยด์ สตีเฟน (John Lloyd Stephens) นักสำรวจชาวอเมริกาได้ค้นพบชิเชน อิตซาในผืนป่าเม็กซิโกโดยบังเอิญ ศาสนสถานโบราณจึงกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลก และในปี ค.ศ. 2007 ชิเชน อิตซาก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ พีระมิดกลางพงไพรจึงกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเม็กซิโกในมาจนถึงปัจจุบัน
ติกาล (Tikal)
ติกาล หรือ ยักซ์ มูตาล (Yax Mutal) เป็นอดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิมายา เมืองโบราณในป่าดิบกัวเตมาลาถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในทวีปอเมริกา โดยมีพื้นที่กว่า 16 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานน้อยใหญ่ 6 พันแห่ง ติกาลถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโกในปี 1979 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองปริศนาในป่าใหญ่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศกัวเตมาลา
เมืองติกาลถูกสร้างขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 และถูกปกครองต่อมากว่า 800 ปี ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่แทบไม่เคยถูกทิ้งร้างก่อนการมาถึงของคนขาว สิ่งปลูกสร้างในติกาลแบ่งออกเป็นพระราชวังขนาดใหญ่ของผู้ปกครองและชนชั้นสูง พีระมิด อาคารสาธารณะต่างๆ และที่อยู่อาศัยของสามัญชน นอกจากนี้ติกาลยังมีอ่างเก็บน้ำและคลองขุดที่เชื่อมกับแม่น้ำใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความก้าวไกลในระบบชลประทานของชาวมายาในสมัยโบราณ
สิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดในติกาลได้แก่ พีระมิดแห่งแดนที่สาบสูญ (The Lost World Pyramid) ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอารยธรรมมายา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองติกาล พีระมิดแห่งนี้โดดเด่นด้วยหินแกะสลักขนาดมหึมาเป็นรูปพระพักตร์ของ กินิช อาเจา (Kinich Ahau) เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ตามความเชื่อของชาวมายา เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปเช็กอินยอดฮิตของผู้มาเยือนติกาลเลยก็ว่าได้
ปาเลงเก (Palenque)
ปาเลงเก หรือ ลากัมฮา (Lakamha) ในภาษาอิตซา (Itza) เป็นเมืองมายาโบราณ ตั้งอยู่กลางป่าสนทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก แม้จะเป็นเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าชิเชน อิตซาและติกาล แต่ปาเลงเกก็มีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่งดงามชวนหลงใหล เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และยืนยงต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 นักโบราณคดีพบซากโบราณสถานกว่าพันแห่งที่เมืองปาเลงเก ทว่าก็ยังมีสิ่งปลูกสร้างอีกมากที่ถูกปกคลุมด้วยป่าทึบจนยากที่จะเข้าถึง
ปาเลงเกโดดเด่นด้วยศาสนสถานและพระราชวังของชนชั้นสูง สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญได้แก่ วิหารแห่งจารึก (Temple of the inscriptions) ซึ่งเป็นศาสนสถานบูชาเทพเจ้าแห่งการเพาะปลูกตามความเชื่อของชาวมายา วิหารแห่งนี้มีจารึกอักษรภาพมายาที่มีเนื้อหายาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอเมริกากลาง
จารึกที่พบบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ การปกครอง รวมถึงความเชื่อของชาวมายาอย่างครบถ้วน อีกหนึ่งโบราณสถานน่าสนใจในปาเลงเกคือพระราชวัง ที่นอกจากจะได้เห็นสถาปัตยกรรมอันโอ่อ่าแล้ว ภายในยังประกอบด้วยห้องหับมากมาย ซึ่งมีจุดเด่นคือห้องน้ำและห้องอาบน้ำในที่พักอาศัยที่มีระบบท่อส่งน้ำต่อตรงมาจากแม่น้ำโอตุลุม (Otulum River) นับเป็นความหรูหราที่หาได้ยากยิ่งในสิ่งปลูกสร้างยุคโบราณเช่นนี้
อุกซ์มาล (Uxmal)
อุกซ์มาล เป็นเมืองมายาในเม็กซิโก ตั้งอยู่ในรัฐยูคาทัน ไม่ไกลจากชิเชน อิตซา เช่นเดียวกับชิเชน อิตซาและติกาล อุกซ์มาลเองก็ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกเช่นกัน อุกซ์มาลเคยเป็นเมืองหลวงมายาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เมืองนี้มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นเมืองที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมมายาท้องถิ่นที่เรียกว่า ปูค (Puuc) ซึ่งแตกต่างจากสถาปัตยกรรมมายาแบบดั้งเดิม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ พีระมิดแห่งผู้วิเศษ (Pyramid of the Magician) ที่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นที่สุดในอุกซ์มาล พีระมิดแห่งผู้วิเศษไม่ได้มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นเช่นเดียวกับพีระมิดมายาทั่วไป แต่มีลักษณะเป็นผิวเรียบก่อตัวสูง และมีมุมอาคารลักษณะมน ทำให้ดูราวกับภูเขาสูงใหญ่ที่ใช้ในการบูชาเทพเจ้า
คนท้องที่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พีระมิดแห่งผู้วิเศษถูกสร้างขึ้นโดย อิตซัมนา (Itzamna) เทพเจ้าผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่งบนโลกนี้ อิตซัมนาใช้กรเพียงหนึ่งข้างในการตั้งพีระมิดนี้ขึ้นมาภายในคืนเดียว สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากพีระมิดแห่งผู้วิเศษแล้ว อุกซ์มาลยังมีโบราณสถานน่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง วิหารบูชาเทพเจ้า และอาคารบ้านเรือนต่างๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มโบราณสถานอุกซ์มาลยังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการพังทลายเพราะการสึกกร่อนตามธรรมชาติ ทางการเม็กซิโกจึงเร่งบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานเหล่านี้เพื่อให้อยู่คู่ลูกหลานตราบนานเท่านาน
ยักซ์ชิลัน (Yaxchilan)
ยักซ์ชิลัน เป็นเมืองโบราณมายา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ไม่ไกลจากกลุ่มโบราณสถานปาเลงเก เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 แรกเริ่มเดิมทียักซ์ชิลันเป็นเพียงชุมชนริมแม่น้ำอุซุมาซินตา (Usumacinta River) เท่านั้น ก่อนจะกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของจักรวรรดิมายาในเวลาต่อมา
โบราณสถานที่ยักซ์ชิลันขึ้นชื่อเรื่องลวดลายละเอียดอ่อนช้อย รวมถึงมีการพบจารึกอักษรภาพหลายชิ้นที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณที่น่าทึ่งแห่งนี้ สิ่งปลูกสร้างในยักซ์ชิลันตั้งอยู่เรียงรายริมแม่น้ำ แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดของคนโบราณและสายน้ำในอดีต วิหารต่างๆ ในเมืองนี้เต็มไปด้วยภาพสลักนูนต่ำบอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์และราชวงศ์
ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ภาพสลักสำคัญหลายชิ้นถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โบราณสถานที่ยักซ์ชิลันยังมีภาพสลักสวยงามมากมายรอให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศมายาโบราณอย่างใกล้ชิด
เป็นอย่างไรกันบ้างกับโบราณสถานอารยธรรมมายาที่ได้นำเสนอไป คาดว่าใครหลายคนคงอยากแพ็คกระเป๋าเตรียมตัวเที่ยวอเมริกากลางกันไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม สถานที่เหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของอารยธรรมมายาอันยิ่งใหญ่เท่านั้น หากใครต้องการเดินทางไปเยี่ยมชมดินแดนลึกลับกลางพงไพรด้วยตัวเองแล้วละก็ ติดต่อเราได้ที่ www.patourlogy.com เพื่อที่เราจะได้วางแผนทริปวันหยุดในฝันให้กับคุณและคนที่คุณรัก
อ้างอิง
- Cancun advanture. Equinox at Chichen Itza. (2022). [Online]. Accessed 2022 February 28. Available from: https://www.cancunadventure.net/chichenitza-equinox/
- History.com editors. Maya. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 28. Available from: https://www.history.com/topics/ancient-americas/maya
- National Geographic. Mysteries of the Maya. (2019). [Online]. Accessed 2022 February 28. Available from: https://www.nationalgeographic.com/expeditions/destinations/north-america/land/chichen-itza-tikal-mayan-ruins-tour/