หากเอ่ยถึงชื่อ ไวกิ้ง (Viking) แล้วละก็เชื่อว่าใครหลายคนคงร้องอ๋อไปตามๆ กัน คนไทยรู้จักชาวไวกิ้งจากภาพยนตร์และการ์ตูนอนิเมชัน แต่บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า คำว่า ‘ไวกิ้ง’ มีความหมายอื่นนอกจากกลุ่มนักรบสวมหมวกมีเขามากนัก ไวกิ้งเป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษานอร์สโบราณว่า ‘วิกิงเงอร์ (Vikingr)’
‘วิกิงเงอร์ (Vikingr)’ มีความหมายตรงตัวว่าโจรสลัด ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวไวกิ้งแห่งแดนเหนือนิยมปล้นชิงทรัพย์สมบัติจากเจ้าของที่ดินที่มั่งมี หลายครั้งที่การเดินทางเพื่อปล้นสะดมของพวกเขานำมาซึ่งการค้นพบดินแดนใหม่
ยุคสมัยที่ชาวไวกิ้งเรืองอำนาจในยุโรปถูกเรียกว่ายุคไวกิ้ง (Viking Age) ตามชื่อของคนกลุ่มนี้ ยุคไวกิ้งกินเวลากว่า 300 ปี ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึง 11 ก่อนที่ชาวไวกิ้งจะยอมรับคริสต์ศาสนาและหันมาพัฒนาตนเช่นเดียวกับชาติอื่นในยุโรป แม้ว่าครั้งหนึ่งชาวไวกิ้งจะถูกเรียกว่ากลุ่มคนนอกกฎหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขามีคุณูปการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการสำรวจ
ดังนั้นในวันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับชาวไวกิ้ง บรรพบุรุษของคนสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน จะมีเกร็ดความรู้น่าสนใจอะไรบ้างนั้น เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
ไวกิ้งทุกคนไม่ใช่โจรสลัด
แม้ว่าคำว่าไวกิ้งจะมีความหมายว่าโจรสลัด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้ชีวิตนอกกฎหมาย ชาวไวกิ้งมากมายเชี่ยวชาญการล่าสัตว์ พวกเขาจึงนำสัตว์ที่ล่าได้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่ห่างไกล สินค้าของชาวไวกิ้งที่เป็นที่นิยมในยุโรปตะวันตกได้แก่ หนังแมวน้ำ เขี้ยววอลรัส งาของวาฬนาร์วาล (Narwhal) เป็นต้น
ไวกิ้งไม่ได้สวมหมวกติดเขา
เชื่อว่าภาพของชาวไวกิ้งสวมหมวกประดับเขาสัตว์สองข้างคงติดตาทุกคนไม่มากก็น้อย แท้จริงแล้วมายาคติที่ว่าคนเถื่อนแห่งแดนเหนือนิยมใส่หมวกติดเขาเป็นภาพจำจากหนังสือภาพสำหรับเด็กภาษาเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้สื่อต่างๆ อย่างภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์นำเสนอภาพชาวไวกิ้งเช่นนั้น
ทั้งที่ในความเป็นจริง ชาวไวกิ้งนิยมใส่หมวกโลหะหรือหมวกหนังสัตว์ที่มีน้ำหนักเบาในการสู้รบเนื่องจากให้ความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวมากกว่า
ไวกิ้งเป็นนักสำรวจที่ยิ่งใหญ่
แน่นอนว่าหากกล่าวถึงชาวไวกิ้ง ทุกคนคงจะคิดถึงเรือเดินสมุทรทำจากไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ แม้ว่าเรือไวกิ้งจะมีขนาดเล็กกว่าเรือเดินสมุทรในยุคต่อมา ทว่าด้วยน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัดทำให้เรือไวกิ้งสามารถเดินทางได้รวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็คงทนต่อสภาพแวดล้อมในการเดินทางไกล
นักเดินเรือชาวไวกิ้งจึงผันตัวมาเป็นนักสำรวจดินแดนต่างๆ หลายคนตั้งชุมชนในแผ่นดินใหม่ที่ค้นพบ นักสำรวจไวกิ้งที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายได้แก่ เอริคผมแดง (Erik the Red) อดีตนักรบจากนอร์เวย์ที่ค้นพบเกาะกรีนแลนด์เป็นคนแรก แม้ว่าจะเป็นแผ่นดินที่มีแต่น้ำแข็ง แต่เอริคผมแดงก็ได้ตั้งชุมชนชาวไวกิ้งที่นั่น จนกลายเป็นสถานีการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา
ไวกิ้งค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส
หนังสือประวัติศาสตร์แทบทุกเล่มสอนให้เราท่องจำว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียนคือคนแรกที่ค้นพบทวีปอเมริกาในค.ศ. 1492 น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ก่อนที่โคลัมบัสจะค้นพบอเมริกาโดยบังเอิญเกือบสี่ศตวรรษ นักสำรวจไวกิ้งคนหนึ่งได้เดินเรือไปถึงทวีปโลกใหม่และก่อตั้งชุมชนที่นั่น นักสำรวจคนนั้นมีนามว่า เลียฟ เอริคสัน (Leif Erikson)
เลียฟผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่นไกล เขาคือบุตรของเอริคผมแดงผู้ค้นพบกรีนแลนด์นั่นเอง เลียฟล่องเรือไปถึง เกาะนิวฟันด์แลนด์ (Newfoundland) ในทวีปอเมริกาเหนือต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 เขาเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าวินแลนด์ (Vinland) เนื่องจากเป็นที่ที่มีอากาศอบอุ่นและมีพืชเขียวชอุ่ม เหมาะแก่การปลูกองุ่นเพื่อนทำไวน์ เลียฟก่อตั้งชุมชนชาวไวกิ้งที่นั่น จนกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวนิวฟันด์แลนด์ในเวลาต่อมา
ชื่อของวันในภาษาอังกฤษถูกตั้งตามนามเทพเจ้าไวกิ้ง
หลายคนคงทราบกันดีว่า อารยธรรมกรีก – โรมันมีบทบาทสำคัญต่อวัฒนธรรมตะวันตก แม้แต่ชื่อของวันและเดือนก็ถูกตั้งตามนามเทพเจ้าของชาวกรีกและโรมัน อย่างไรก็ตาม อารยธรรมไวกิ้งเองก็มีความสำคัญไม่น้อยหน้า ชื่อของวันในสัปดาห์อย่างวันพฤหัสบดี (Thursday) ก็มีที่มาจากนามของธอร์ (Thor) เทพเจ้าสายฟ้าในความเชื่อของชาวนอร์ส หรือวันศุกร์ (Friday) ที่มีที่มาจากนามของเฟรยา (Freya) เทพธิดาแห่งความงามและความรัก เป็นต้น
ไวกิ้งกินอาหารแค่ 2 มื้อต่อวัน
แม้ว่าเราจะเคยชินกับภาพงานเลี้ยงของชาวไวกิ้งที่มีอาหารและเหล้าน้ำผึ้งมากมาย ทว่าเหล่าคนเถื่อนกลับใช้ชีวิตสมถะกว่าที่เราคิด เนื่องจากแผ่นดินสแกนดิเนเวียมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี พืชพรรณธัญญาหารจึงหาได้ยากยิ่งสำหรับชาวไวกิ้ง พวกเขาจึงรับประทานอาหารแค่ 2 มื้อต่อวันเท่านั้น โดยจะมีอาหารเช้าที่เรียกว่า ดัคมัล (Dagmal) ที่เสิร์ฟก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และอาหารมื้อหนักในตอนค่ำที่เรียกว่า นัทท์มัล (Nattmal) ที่รับประทานหลังเสร็จจากงานหนักในแต่ละวัน
ไวกิ้งชื่นชอบน้ำผึ้ง
เช่นเดียวกับเจ้าหมีวินนี เดอะ พูห์ตัวอ้วนกลม ชาวไวกิ้งเองก็ชื่นชอบน้ำผึ้งไม่น้อยเลยเช่นกัน ทว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจน่าเศร้าไปสักนิด ชาวยุโรปไม่รู้จักการปลูกอ้อยจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น อ้อยที่ใช้ทำน้ำตาลกลับปลูกได้แค่ในยุโรปใต้ที่มีอากาศอบอุ่น น้ำผึ้งจึงเป็นแหล่งความหวานอย่างเดียวที่ชาวไวกิ้งรู้จัก พวกเขานิยมใช้น้ำผึ้งหมักทำเหล้า รวมถึงทำเป็นเครื่องจิ้มกินกับเนื้อสัตว์รมควันเพื่อเพิ่มรสชาติ
ไวกิ้งมีทาสในครอบครอง
เช่นเดียวกับชนชั้นสูงสมัยโบราณในหลายวัฒนธรรม ชาวไวกิ้งเองก็นิยมเก็บทาสไว้ใช้งานในครัวเรือนเช่นกัน ทาสส่วนใหญ่มักถูกนำตัวมาจากแผ่นดินที่ชาวไวกิ้งปล้นสะดมมาก่อนหน้า คนเหล่านี้ถูกเรียกว่าธรอลล์ (Thrall) เนื่องจากชาวไวกิ้งนิยมเดินทางตลอดเวลา พวกเขาจึงเก็บทาสไว้ทำงานหนักในที่ดินของตน และในฤดูหนาวที่ทารุณ ทาสต่างชาติมักถูกขายเพื่อแลกเสบียงอาหารที่หาได้ยากในเวลานั้น
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวของชาวไวกิ้ง เชื่อว่าหลายคนคงได้ความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมแดนเหนือสมัยโบราณไม่มากก็น้อย หากใครเคยไปเยือนประเทศสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ หรือเดนมาร์ก คงมีโอกาสพบเห็บสถานที่หรือของฝากที่เกี่ยวข้องกับชาวไวกิ้งโดยเฉพาะ และหากใครต้องการเรียนรู้เรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิภาคสแกนดิเนเวียและชาวไวกิ้งละก็ สามารถติดตามข่าวสารและสาระต่างๆ ได้ที่ www.patourlogy.com ที่นี่ที่เดียว
อ้างอิง
- Mackenzie, Laura. 20 facts about the Vikings. (2021). [Online]. Accessed 2022 February 17. Available from: https://www.historyhit.com/facts-about-the-vikings
- Nordic Co-operation. Facts about the Nordic countries. (2018). [Online]. Accessed 2022 February 17. Available from: https://www.norden.org/en/information/facts-about-nordic-countries
- Online Etymology Dictionary. Viking (n.). (2022). [Online]. Accessed 2022 February 17. Available from: https://www.etymonline.com/word/viking