บรรยายโดย : หมอโจ้ นพ.อรรควิชญ์ หาญนวโชค
เรียบเรียงโดย : กัญญ์กุลณัช ภัทรศรีพงศ์
สารบัญยาที่ควรนำติดไป
- 3:10 กลุ่มยาลดไข้แก้ปวด
- 3:32 กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ
- 3:52 กลุ่มยาแก้ไอ
- 4:40 กลุ่มยาแก้แพ้
- 5:50 กลุ่มยาแก้อาการเมารถ เมาเรือ
- 6:25 กลุ่มยาระบบทางเดินอาหาร (ปวดท้อง/ท้องอืด/ท้องเสีย/ท้องผูก)
- 9:32 ยาทาแก้คัน
- 9:58 เจลว่านหางจระเข้
- 10:07 ยาทากันยุง
- 10:37 กลุ่มยาพิเศษสำหรับนักเดินทางกลุ่มเฉพาะ (คนเดินเขาสูง/ยาป้องกันมาลาเรีย)
- 11:20 3 เรื่องน่ารู้สำหรับคนที่จะนำยาติดตัวไปเที่ยว
- 12:20 กลุ่มยาต้องห้าม ที่ต้องระวัง !!! มีอะไรบ้าง (ยาแก้คัดจมูก/ยานอนหลับ/ยาคลายเครียด/ยาแก้ไอ)
- 17:24 คนมีโรคประจำตัวที่ต้องพกยาไปต่างประเทศ
- 18:55 บทสรุป
เวลาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ นอกจากการจัดกระเป๋าเดินทางด้วยการเตรียมเอกสารสำคัญที่ใช้ในการเดินทาง เสื้อผ้า กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการเดินทางแล้ว วิธีจัดกระเป๋าเดินทางที่ดีคือการนำยาสามัญประจำบ้านติดตัวไปด้วยทุกครั้งเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะการซื้อยาในต่างประเทศค่อนข้างลำบาก บางประเทศต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ดังนั้นเอ็กซ์พีเดียแนะนำว่าควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านไปให้พร้อมเลยจะดีกว่า เวลาเกิดป่วยฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางขึ้นมาจะได้รักษาทัน ไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาซื้อยาด้วย สำหรับยาสามัญประจำบ้านที่ควรพกติดตัวเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ มีดังต่อไปนี้
-
กลุ่มยาแก้ไข้ แก้ปวด
- ยาสามัญประจำบ้านประเภทแก้ไข้ แก้ปวดถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเที่ยวต่างประเทศอาจทำให้สภาพร่างกายของเราปรับอุณหภูมิตามประเทศนั้นๆ ไม่ทัน รวมไปถึงการเดินเที่ยวเป็นเวลานานๆ เสี่ยงต่อการเป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน และปวดเมื่อยได้ ดังนั้นเราควรจัดกระเป๋าเดินทางด้วยการพกยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มนี้ไปด้วย เช่น
- พาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาแก้ไข้ รับประทานครั้งละ 1 – 2 เม็ดหลังอาหาร ทุก 4 – 6 ชั่วโมง
- นอร์จีสิก (Norgesic) เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วยคลายกล้ามเนื้อจากการเดินเป็นเวลานานได้ รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลา
- โวลทาเรน (Voltaren) เป็นยาใช้ภายนอกใช้ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- พอนสแตน (Ponstan) เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนที่สาวๆ ทุกคนรู้จักกันดี หากเพื่อนๆ คนไหนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงมีประจำเดือนแนะนำให้พกติดตัวไว้ด้วย โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ดเฉพาะช่วงที่เกิดอาการปวด
-
กลุ่มยาแก้ไอ
- ยาแก้ไอเป็นยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นอีกเช่นกันยามร่างกายของเราปรับอุณภูมิตามประเทศที่เราไปไม่ทัน เช่น
- บรอมเฮกซีน (Bromhexine) เป็นยาแก้ไอสำหรับผู้ที่ไอแบบมีเสมหะ มีส่วนช่วยในการขับเสมหะได้ รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลา
- เดกซ์โตรมีธอร์แฟน (Dextrometrophan) เป็นยาแก้ไอสำหรับผู้ที่ไอแบบไม่มีเสมหะ มีอาการหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร 3 เวลา ยาตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการรับประทานก่อนเดินทาง
-
กลุ่มยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก
- อาการแพ้ คันภายในและภายนอก รวมถึงอาการหวัดเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ ดังนั้นเราจึงควรพกยาสามัญประจำบ้านกลุ่มนี้ติดตัวไว้เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศด้วย เช่น
- เซทิริซีน (Cetirizine) เป็นยาบรรเทาอาการคันและลมพิษ รวมถึงช่วยลดน้ำมูกเมื่อเกิดอาการเป็นหวัด มีน้ำมูกได้ด้วย รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร เมื่อมีอาการ ทุก 6 ชั่วโมง
- ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นยาแก้อาการคัดจมูก รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร เมื่อมีอาการ ทุก 6 ชั่วโมง
-
กลุ่มยาแก้เมาเครื่องบิน เมารถ เมาเรือ
- แม้ว่าอาการเมาเครื่องบิน เมารถ หรือเมาเรือจะไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่การพกยาสามัญประจำบ้านประเภทนี้ก็ควรมีติดไว้เวลาไปเที่ยวต่างประเทศเสมอๆ ซึ่งยาแก้เมาเครื่องบิน เมารถ เมาเรือ ได้แก่
- ยาดรามามีน (Dramamine) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะจากการเมารถ เมาเรือได้ นับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนเดินทาง 30 – 60 นาที หรือรับประทาน 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมงเมื่อเกิดอาการเมารถ เมาเรือ
-
กลุ่มยาระบบทางเดินอาหาร
- เวลาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ต่างบ้านต่างเมือง เวลารับประทานอาหารอะไรที่ผิดแปลกไปจากรสชาติปกติที่เราทานอยู่ทุกวันอาจทำให้ระบบอาหารของเรามีปัญหาได้ โดยยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มระบบทางเดินอาหารที่ควรพกเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ได้แก่
- ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) เป็นผงเกลือแร่ที่ใช้ผสมน้ำดื่มเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่สำหรับผู้ที่เกิดอาการท้องเสียหรืออาเจียนมาก รับประทานวันละ 6 – 9 แก้วต่อวัน
- บิซาโคดิล (Bisacodyl) เป็นยาระบายชนิดอ่อน แก้ท้องผูก รับประทานวันละ 1 เม็ด ก่อนนอน
- อัลตราคาร์บอน (Ultracarbon) เป็นยาแก้ท้องเสีย รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ควรรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ไซเมทิโคน (Simethicone) หรือ แอร์-เอ็กซ์ (Air-X) เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุก เสียด แน่นท้อง รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน
-
กลุ่มยาใช้ภายนอกอื่นๆ
- พลาสเตอร์ปิดแผล ยาทากันยุงกันแมลง เบตาดีน แอลกฮอล์เช็ดแผล แอลกฮอลล์สำหรับล้างมือ ยาดม ก็ถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศอีกเช่นกัน
ยากลุ่มเสี่ยงที่ห้ามนำเข้าประเทศต่างๆ
ทั้งนี้เวลาเพื่อนๆ ไปเที่ยวต่างประเทศที่ไหนก็อย่าลืมศึกษาด้วยว่าประเทศที่เราไปอนุญาตให้เรานำยาชนิดนั้นๆ เข้าประเทศหรือเปล่า เพราะไม่เช่นนั้นอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้ รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำอยู่แล้วก็อย่าลืมจัดกระเป๋าเดินทางโดยการพกยาประจำตัวไปด้วย รวมถึงใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นการยืนยันอาการป่วยของเราจริงๆ
สำหรับยาที่มีความสุ่มเสี่ยงในหลายๆ ประเทศที่เพื่อนๆ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนจัดกระเป๋าเดินทางไปด้วย เช่น Pseudoephedrine, Ephedrine, Diphenoxylate, Codeine, Diazepam, Lorazepam,Fluoxetine, TYLENOL Cold, NyQuil, NyQuil LiquiCaps, Actifed, Sudafed, Advil Cold & Sinus, Dristan Cold, Dristan Sinus, Drixoral Sinus, Vicks Inhaler, Lomotil เป็นต้น
การพกยาไปต่างประเทศ อาจจะมีขั้นตอนในการติดต่อกับทางสถานฑูตประเทศนั้นๆ ที่แตกต่างกันออกไป เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลที่เหมาะสมเพื่อทำการสอบถามชนิดของยาที่สามารถนำเข้าได้และยาที่ถูกต้องห้าม เนื่องจากแต่ละตัวยานั้นจะมีวิธีการนำเข้าที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เรามีข้อมูลมาบอกเล่าให้คุณทราบ
ยาที่อนุญาตให้พกติดตัวไปได้ จะต้องนำยาที่อยู่ในแพ็คเกจลักษณะที่ถูกต้องไป หากแกะแยกออกเป็นแผง หรือแยกเป็นเม็ดแล้ว ผู้ตรวจอ่านไม่ทราบว่ายาชนิดนั้นคืออะไร อาจทำให้ไม่สามารถนำเข้าไปได้
ยาที่ถูกห้ามนำเข้าประเทศนั้น ๆ หากเราจำเป็นต้องใช้ยาที่เป็นยาต้องห้ามแล้ว ปรึกษาคุณหมอก็ไม่มียาตัวไหนที่สามารถแทนได้ วิธีการ คือ ให้กรอกแบบฟอร์มขออนุญาตการนำยาเข้าประเทศนั้น และสิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ เอกสารการรับรองแพทย์ หากเรามีโรคประจำตัว ยาที่รักษาไม่ใช่ยาสามัญทั่วไป เราควรให้แพทย์เขียนระบุว่า เราเป็นโรคอะไร และจำเป็นต้องใช้ยาอะไรบ้าง
ท่านสามารถนัดหมายคลินิก Travel Clinic เพื่อปรึกษาหมอโจ้ได้ที่นี่