ขั้วโลกเหนือ (North Pole) ดินแดนเหนือสุดในผืนพิภพ หลายคนคงจินตนาการภาพแผ่นน้ำแข็งสีขาวบริสุทธิ์ล้อมรอบด้วยแผ่นดินและมหาสมุทร แม้จะดูงดงามเหลือใจ แต่ใครเลยจะรู้ว่า ผู้คนมากมายได้สละชีพเพื่อสำรวจสถานที่ลึกลับแห่งนี้ เราอาจตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดนักสำรวจจึงแหกกฎธรรมชาติเพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเองในการเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย
คำตอบของคำถามข้อนี้ช่างง่ายดาย หลายครั้งที่ความอยากรู้อยากเห็นนำพาเราไปสู่การค้นพบใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดทำมาก่อน การสำรวจแดนขั้วโลกก็เช่นกัน ไม่เพียงแต่ดินแดนใน ทวีปอาร์กติก (Arctic) เท่านั้น การสำรวจที่เริ่มต้นกว่าพันปีได้นำพามนุษยชาติไปสู่จุดเหนือสุดของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จในครั้งนั้น
วันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงจะพาเราย้อนอดีตไปหาผู้ริเริ่มการเดินทางสู่ดินแดนน้ำแข็ง ก่อนนำพาทุกคนไปสู่การสำรวจครั้งประวัติศาสตร์ต่อไป หากพร้อมแล้วละก็ กระชับเสื้อกันหนาวไว้ให้มั่น เพราะเราจะพาคุณไปท่องขั้วโลกเหนือด้วยกันเดี๋ยวนี้!
325 ปีก่อนคริสตกาล การค้นพบธูเล
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การสำรวจอาร์กติกเริ่มขึ้นราวศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เมื่อไพธีอัส (Pytheas) นักเดินเรือกรีกโบราณได้เดินทางออกจากมาซซาเลีย (Massalia) อาณานิคมกรีกทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ไพธีอัสต้องการเดินทางเสาะหาแหล่งแร่ดีบุก เขาจึงเดินเรือไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อไปยังเกาะบริเทน ก่อนขึ้นเหนือต่อไปยังดินแดนลึกลับที่เขาเรียกว่า ธูเล (Thule)
ณ ดินแดนธูเลนี้เองที่ไพธีอัสได้พบกับทะเลที่เต็มไปด้วยแผ่นน้ำแข็ง นอกจากนี้เขายังบันทึกถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คล้ายคลึงกับแสงเหนือ (Aurora) หลายคนจึงเชื่อว่าไพธีอัสได้เดินทางไปถึงชายฝั่งประเทศนอร์เวย์หรือสวีเดนในภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจแดนน้ำแข็งอย่างแท้จริง
ค.ศ. 860 ถึงค.ศ. 1000: การตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่
ชาวไวกิ้ง (Viking) บรรพบุรุษของชาวสแกนดิเนเวีย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ “8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับชาวไวกิ้ง บรรพชนของคนสแกนดิเนเวีย”) ถือเป็นนักสำรวจกลุ่มแรกของโลกที่พิชิตทวีปอเมริกา แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ชาวไวกิ้งมีคุณูปการในการสำรวจแดนขั้วโลกเช่นกัน
ราวปีค.ศ. 860 นัดดอดด์ (Naddodd) นักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้เดินเรือไปยังหมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเดนมาร์กและก่อตั้งชุมชนชาวนอร์สที่นั่น และช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 เอริกผมแดง (Erik the Red) ก็ได้ค้นพบเกาะกรีนแลนด์ ก่อนอพยพผู้คนไปตั้งถิ่นฐาน ณ แดนน้ำแข็งเช่นกัน เช่นเดียวกับ เลียฟ เอริกสัน (Leif Erikson) บุตรชายของเขาที่เดินเรือไปยังชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดาในปัจจุบัน
ราวค.ศ. 1000 และ เลียฟ เอริกสัน (Leif Erikson) กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งหมู่เกาะแฟโร กรีนแลนด์ และนิวฟันด์แลนด์ล้วนแล้วแต่เป็นดินแดนใหม่ที่ไม่มีใครเคยค้นพบทั้งสิ้น แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย แต่ชาวไวกิ้งก็ยังฝ่าฟันอันตรายและใช้ชีวิตต่อมา เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกการตั้งถิ่นฐานในแดนเหนือเลยก็ว่าได้
ค.ศ. 1594 ถึงค.ศ. 1597 การสำรวจหมู่เกาะอาร์กติก
ตั้งแต่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาในปีค.ศ. 1492 ยุคทองแห่งการสำรวจก็เริ่มขึ้นในทวีปยุโรป และ ในปี ค.ศ. 1594 วิลเลียม บาเรนต์สซ์ (Willem Barentsz) นักสำรวจชาวดัตช์ก็ได้เริ่มต้นการสำรวจเส้นทางเดินเรือตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Passage) เพื่อเปิดทางให้ชาวดัตช์ได้ใช้ทะเลเหนือในการติดต่อค้าขายกับดินแดนที่ห่างไกล
บาเรนต์สซ์ออกเดินทางด้วยกันทั้งหมด 3 ครั้ง และในครั้งสุดท้าย เขาก็ได้ค้นพบสปิตส์เบอร์เกน (Spitsbergen) หรือหมู่เกาะสฟาลบาร์ด (Svalbard Islands – อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รู้จักหมู่เกาะสฟาลบาร์ด แดนสวรรค์ขั้วโลกเหนือ) ในทะเลอาร์กติก บาเรนต์สซ์ไม่ทราบว่าเขาค้นพบหมู่เกาะในตอนนั้น
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินที่บาเรนต์สซ์ค้นพบได้กลายมาเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่สุดในโลกในเวลาต่อมา นามของบาเรนต์สซ์จึงถูกตั้งเป็นชื่อทะเลบาเรนต์ส (Barents Sea) และชื่อเมืองบาเรนต์สเบิร์ก (Barentsburg) เพื่อเป็นเกียรติกับเขาในเวลาต่อมา
ค.ศ. 1728 ถึงค.ศ. 1741 การค้นพบอลาสกา
ไวตัส แบริงก์ (Vitus Bering) เป็นนักเดินเรือชาวเดนมาร์กที่รับใช้กองทัพเรือรัสเซียต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในตอนนั้น ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) กษัตริย์รัสเซียต้องการให้แบริงก์สำรวจดินแดนไซบีเรีย (Siberia) ในปกครองว่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด
แบริงก์จึงนำเรือสำรวจกาเบรียล (Gabriel) ออกจากชายฝั่งตะวันออกของรัสเซียในปี 1728 การเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาค้นพบว่ามีแผ่นดินอีกฟากฝั่งของมหาสมุทร ซึ่งก็คือดินแดนอเมริกาเหนือที่ไม่มีเคยใครทราบว่ามีอาณาเขตเชื่อมต่อกับรัสเซีย ทว่าสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายทำให้แบริงก์ไม่อาจทำการสำรวจให้ลุล่วงได้
ทางการรัสเซียมีคำสั่งให้แบริงก์นำเรือออกสำรวจอีกครั้งในปี 1741 การสำรวจในครั้งนี้ทำให้แบริงก์กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปถึงดินแดนอลาสกาในทวีปอเมริกา ทว่าแบริงก์และลูกเรืออีกมากมายก็ต้องสังเวยชีวิตให้กับการเดินทางที่โหดร้าย เพื่อเป็นเกียรติแก่การสำรวจแดนเหนือของแบริงก์ นามของเขาจึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ ช่องแคบแบริง (Bering Striat) ที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปอเมริกาและรัสเซีย รวมถึงเกาะแบริง (Bering Island) เขาเสียชีวิตเช่นกัน
คริสต์ศตวรรษที่ 19 การสำรวจเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ
หากคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นยุคแห่งการสำรวจโลกใหม่ คริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของการสำรวจแดนน้ำแข็งเช่นกัน นักเดินเรือหลายคนนำการสำรวจเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Passage) ที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกผ่านทางมหาสมุทรอาร์กติก
นักสำรวจคนสำคัญในยุคนี้ได้แก่ โรเบิร์ต แมคคลอร์ (Robert McClure) นักสำรวจชาวไอริชผู้เดินทางไปยังทวีปอเมริกาผ่านเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นคนแรก คนุท ราสมุสเซน (Knud Rasmussen) นักสำรวจจากกรีนแลนด์ที่เดินทางผ่านเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือด้วยเลื่อนเทียมสุนัข เป็นต้น
ค.ศ. 1909 การค้นพบขั้วโลกเหนือ
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักสำรวจหลายคนได้พยายามที่จะไปถึงจุดเหนือสุดของโลก ทว่าด้วยสภาพอากาศที่โหดร้าย ทำให้ไม่มีใครพิชิตขั้วโลกเหนือได้สำเร็จ
จนกระทั่งในปี 1909 เมื่อ โรเบิร์ต แพรี (Robert Peary) นักสำรวจชาวอเมริกันได้ไปถึงขั้วโลกเหนือในการสำรวจอาร์กติกครั้งที่ 8 ของเขา แพรีเริ่มต้นการเดินทางที่เกาะกรีนแลนด์ พร้อมกับผู้ติดตามอีก 22 คน 2 คนในนั้นเป็นชาวอินูอิต (Inuit) ชนพื้นเมืองจากแคนาดาที่เชี่ยวชาญสภาพแวดล้อมในแดนน้ำแข็งเป็นเป็นอย่างดี
แพรีเริ่มการเดินทางในปี 1908 ด้วยเรือเดินสมุทร ก่อนจะใช้เลื่อนเทียมสุนัขและเท้าเปล่าเดินทางต่อไปบนแผ่นน้ำแข็ง คณะของแพรีไปถึงจุดเหนือสุดของโลกในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1909 แม้ว่าการพิชิตขั้วโลกเหนือในครั้งนั้นจะยังเป็นที่ครหามาจนถึงปัจจุบันว่าแพรีได้ไปถึงขั้วโลกด้วยการเดินเท้าจริงหรือไม่ แต่ความสำเร็จของแพรีก็นำมาซึ่งการสำรวจขั้วโลกครั้งต่อไป จนทำให้มนุษยชาติได้ความรู้เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือมากมายในปัจจุบัน
คริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน
ภายหลังความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของแพรี หลายชาติในโลกก็หันมาให้ความสำคัญกับการสำรวจขั้วโลกเหนือ ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมนี หรือโซเวียตต่างก็ส่งกลุ่มนักสำรวจของตนพร้อมเครื่องมือทันสมัยไปยังดินแดนน้ำแข็งเพื่อทำการสำรวจต่อไป
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา นักสำรวจเริ่มนำเทคโนโลยีการบินมาใช้ ทำให้การไปถึงขั้วโลกเหนือไม่ยากลำบากเหมือนเก่า ปัจจุบันสถานีวิจัยมากมายถูกตั้งขึ้นที่ขั้วโลกเหนือเพื่อจุดประสงค์ที่หลากหลาย นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาสนามแม่เหล็กขั้วโลก รวมถึงวิธีป้องกันการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่เป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน นักโบราณคดีเองก็ต้องการศึกษาชั้นทับถมของน้ำแข็งดึกดำบรรพ์เพื่อไขกุญแจสู่จุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต ทุกวันนี้ขั้วโลกเหนือจึงไม่ใช่แดนลึกลับเหมือนเก่าอีกต่อไป แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนมากมายเดินทางมาเพื่อศึกษาหาความรู้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการสำรวจแดนขั้วโลก เชื่อว่าหลายคนคงตื่นตากับการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม ขั้วโลกเหนือไม่เพียงแต่อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเข้าไปศึกษาเท่านั้น สายการบินหลายแห่งยังได้เปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมขั้วโลกเหนือเช่นกัน
และหากใครต้องการสัมผัสความอัศจรรย์ของธรรมชาติบนแผ่นน้ำแข็งแดนขั้วโลกแล้วละก็ ติดต่อเราได้ที่ www.patourlogy.com ให้เราได้วางแผนทริปท่องเที่ยวขั้วโลกที่วิเศษสุดให้กับคุณ เพื่อที่คุณจะได้เก็บภาพความประทับใจในแดนหิมะ พร้อมกับเฝ้าดูความน่ารักของหมีขาวและแมวน้ำพิณที่จะทำให้คุณประทับใจไม่ลืมเลือน
อ้างอิง
- American Polar Society. Arctic Exploration Timeline. (2019). [Online]. Accessed 2022 March 2. Available from: https://americanpolar.org/about/arctic-exploration-timeline/
- Library of Congress. A Brief Timeline of Polar Exploration. (n.d.). [Online]. Accessed 2022 March 2. Available from: https://guides.loc.gov/polar-exploration/timeline
- Polar Discovery. The Arctic: Exploration Timeline. (2006). [Online]. Accessed 2022 March 2. Available from: http://polardiscovery.whoi.edu/arctic/timeline.html