หากถามว่าของอะไรคือของเล่นในวัยเด็กที่คิดถึง เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าตุ๊กตาเป็นแน่แท้ ตุ๊กตาในความทรงจำของเราอาจมีทั้งบาร์บี้แสนสวย หรือหมีน้อยขนปุยเอาไว้กอดตอนนอนหลับ
แต่ใครเลยจะรู้ว่า ตุ๊กตามีประโยชน์ใช้สอยที่มากมายกว่าของเด็กเล่นทั่วไป ในหลายวัฒนธรรมในโลก ตุ๊กตารูปมนุษย์ถูกทำขึ้นเพื่อสอนเด็กให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ เด็กผู้หญิงเริ่มเรียนรู้วิธีเย็บปักถักร้อยจากการเย็บเสื้อผ้าให้ตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชายก็พาตุ๊กตาออกไปเล่น เสมือนเป็นการจำลองหน้าที่ของผู้ใหญ่ในการดูแลสมาชิกใหม่ของครอบครัว
นอกจากการสอนหน้าที่ให้เด็กๆ ผ่านของเล่นแล้ว ผู้คนยังเชื่อว่าตุ๊กตาเป็นวัตถุที่มีวิญญาณสิงสู่ ด้วยเหตุนี้ผู้คนในอดีตจึงดูแลรักษาตุ๊กตาเป็นอย่างดี ไม่มีการทิ้งขว้างเมื่อเล่นจนเบื่อเหมือนในปัจจุบัน
และในวันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จะพาคุณมารู้จักกับหนึ่งในตุ๊กตาพื้นบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ชื่อของมันคือ “โมตังกา (Motanka)” ตุ๊กตาในวัฒนธรรมของชาวสลาฟ (Slavs) ที่อาศัยในยุโรปตะวันออก โมตังกามีความพิเศษกว่าตุ๊กตาประเภทอื่นอย่างไรนั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ตุ๊กตาโมตังกา (Motanka) คืออะไร
โมตังกา (Motanka) เป็นตุ๊กตาผ้าที่นิยมทำขึ้นในหมู่ชาวสลาฟในประเทศโปแลนด์ เบลารุส และยูเครน ชื่อของโมตังกามีที่มาจากคำว่า โมตาตี (Motaty) ที่มีความหมายว่าผูกหรือมัดให้เป็นปม เหตุผลที่มีชื่อเช่นนี้เป็นเพราะในอดีต โมตังกาทำขึ้นจากเศษผ้าซึ่งเป็นวัสดุหาง่าย ผู้คนจะนำผ้ามามัดเป็นปมจนเป็นรูปร่างคล้ายร่างกายมนุษย์ โมตังกาแบบดั้งเดิมจะไม่มีการใช้เข็มและด้ายเพื่อเย็บเศษผ้าเข้าด้วยกัน แต่จะใช้วิธีมัดให้แน่นเพื่อไม่ให้ผ้าคลายออก
ชาวสลาฟในยูเครนเชื่อว่าการใช้เข็มหรือกรรไกรในการทำโมตังกาจะเป็นการทำร้ายโชคชะตาของตัวเอง ด้วยเหตุนี้โมตังกาแต่ละตัวจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ แตกต่างจากของเด็กเล่นทั่วไป
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ชาวสลาฟมีวัฒนธรรมการสร้างตุ๊กตาย้อนกลับไปได้กว่า 5 พันปีที่แล้ว แรกเริ่มเดิมที โมตังกาถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรางประจำตระกูล ผู้หญิงในครอบครัวจะล้อมวงทำตุ๊กตาโมตังกาเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน โมตังกาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่ปรองดองของผู้คน
แม้จะมีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่สิ่งที่ทำให้โมตังกามีชื่อเสียงกลับไม่ใช่ตำนานหรือเรื่องเล่า แต่เป็นลักษณะเด่นของตุ๊กตาที่ไม่มีใบหน้า ชาวยูเครนเชื่อว่า การเย็บใบหน้าให้ตุ๊กตาจะเป็นการผูกวิญญาณของผู้สร้างไว้กับวัตถุ ด้วยเหตุนี้แทนที่จะเย็บใบหน้าเหมือนตุ๊กตาทั่วไป ใบหน้าของโมตังกาจะถูกเย็บเป็นรูปเครื่องหมายไขว้คล้ายไม้กางเขน
ในความเชื่อดั้งเดิมของชาวยูเครน เครื่องหมายไขว้มีความหมายถึงดวงอาทิตย์และชีวิต เส้นที่พาดแนวนอนบ่งบอกถึงความนุ่มนวลของสตรี ส่วนเส้นที่พาดแนวตั้งหมายถึงความเข้มแข็งของบุรุษ สัญลักษณ์มงคลนี้เองที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่า การครองครอบโมตังกาจะทำให้ความปรารถนาใดๆ กลายเป็นจริง
ตุ๊กตาโมตังกา (Motanka) มีกี่ประเภท
ตุ๊กตาโมตังกาในยูเครนแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ โอร์ยาโดวา (obryadova) ตุ๊กตาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรม เบเรฮินยา (berehynya) ตุ๊กตาผู้พิทักษ์ประจำบ้าน และ ตุ๊กตาเด็กเล่นทั่วไป ตุ๊กตาโอร์ยาโดวาจะถูกทำขึ้นในเทศกาลสำคัญต่างๆ ในขณะที่ตุ๊กตาเบเรฮินยาจะถูกสร้างขึ้นตามแต่วัตถุประสงค์ของบุคคล ชาวยูเครนเชื่อว่า หากต้องการสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ความมั่งคั่ง หรือความสุขความเจริญ พวกเขาสามารถขอได้จากตุ๊กตาเบเรฮินยาทั้งสิ้น ชาวยูเครนจึงมักจะวางตุ๊กตาโมตังกาไว้บนแท่นบูชา พร้อมจุดกำยาน วางเหรียญและสมุนไพรเพื่อเป็นการขอพร ไม่ต่างกับการบนบานศาลกล่าวเจ้าที่เจ้าทางในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากโมตังกา 3 ประเภทที่ว่ามาแล้ว ชาวยูเครนยังมีชื่อเรียกโมตังกาที่ใช้ในโอกาสอื่นๆ แตกต่างกันออกไป เช่น
- โอชีสนา (Ochysna) ตุ๊กตาที่ช่วยปัดเป่าความชั่วร้ายออกจากบ้าน
- เดสยาตีรุชกา (Desyatyruchka) หรือตุ๊กตาสิบมือที่เชื่อว่าจะช่วยผู้หญิงในครอบครัวทำงานบ้าน
- คะนียาฮินยา (Knyahynya) หรือตุ๊กตาเจ้าหญิง มีไว้เพื่ออำนวยพรให้สตรีทุกเพศทุกวัย
- เนโรซลูชนิกี (Nerozluchnyki) ตุ๊กตาคนคู่ที่นิยมให้เป็นของขวัญวันแต่งงาน แสดงถึงความผูกพันไม่แยกจากของบ่าวสาว
- นาเรชีนา (Narechena) ตุ๊กตาเจ้าสาวถักผมเปียที่เชื่อว่าเป็นมงคลต่อชีวิตสมรส
- โรดยูชิสต์ (Rodyuchist) ตุ๊กตาแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่มอบให้ในวันเกิดของทารก
- โปโดโรซห์นิตซ์ยา (Podorozhnytsya) ตุ๊กตาเครื่องรางที่มอบให้สหายที่ต้องเดินทางไกลเพื่ออวยพรให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย
- เปเลนาชกา (Pelenashka) ตุ๊กตาเครื่องรางที่ช่วยปัดเป่าความป่วยไข้ นิยมทำไว้ให้เด็กเล่น
การทำตุ๊กตาโมตังกา (Motanka)
สีของผ้าที่นิยมใช้ในการทำตุ๊กตาได้แก่
- สีแดง ที่มีความหมายถึงการปกป้องคุ้มครอง
- สีเหลือง ที่มีความหมายถึงพระอาทิตย์และการกำเนิด
- สีเขียว ที่มีความหมายถึงสุขภาพและความเป็นแม่
- สีฟ้า ที่มีความหมายถึงการรักษา
- สีน้ำตาล ที่มีความหมายถึงโลกและความอุดมสมบูรณ์
- สีขาว ที่มีความหมายถึงความศักดิ์สิทธิ์และสรวงสวรรค์ เป็นต้น
เนื่องจากเป็นตุ๊กตาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ขั้นตอนการทำโมตังกาแต่ละตัวจึงมีความพิถีพิถัน และหลายครั้งที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม สตรีชาวยูเครนจะไม่ทำตุ๊กตาในวันศุกร์และวันอาทิตย์เพราะเชื่อกันว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของเทพีผู้ปกปักษ์สตรีและงานฝีมือ การทำตุ๊กตาในวันดังกล่าวจึงอาจนำโชคร้ายมาสู่ครอบครัวได้
ชาวยูเครนเรียกขั้นตอนการทำโมตังกาว่า กูตันนียา (Kutannya) ที่มีความหมายว่าการมัดหรือพัน วันที่เหมาะสมในการทำตุ๊กตาคือวันพระจันทร์เต็มดวง คนท้องถิ่นเชื่อว่า การสร้างตุ๊กตาในคืนจันทร์เพ็ญจะมอบพลังในการปกปักษ์รักษาครอบครัวนั้นๆ ในขณะที่การทำตุ๊กตาในคืนจันทร์แรมจะช่วยให้ธุรกิจหรือหน้าที่การงานก้าวหน้า ฤกษ์ยามต่างๆ จึงมีความสำคัญในการทำโมตังกาแต่ละตัว
แม้ว่าการสร้างตุ๊กตาโมตังกาจะถูกสืบทอดกันมาหลายพันปี ทว่าประเพณีดังกล่าวเคยเกือบถูกทำให้เลือนหายเมื่อยูเครนถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1922 ชาวรัสเซียมองว่าโมตังกาเป็นสัญลักษณ์ของพวกนอกรีต เพื่อเป็นการกลืนวัฒนธรรมให้ง่ายต่อการปกครอง โมตังกาจึงกลายเป็นหนึ่งในสิ่งต้องห้ามที่ทางการโซเวียตไม่อนุญาต
ตลอดเวลากว่า 7 ทศวรรษ ชาวสลาฟในยูเครนต้องเก็บซ่อนอัตลักษณ์ของหมู่ชน ประเพณีดีงามจึงถูกละทิ้งอย่างเสียไม่ได้ มรดกทางวัฒนธรรมหลายประการถได้สูญหายไปตามกาลเวลา เคราะห์ดีที่ในปี ค.ศ. 1991 หลังจากที่ประเทศยูเครนแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต รัฐบาลของประเทศเกิดใหม่เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประจำชาติ ประเพณีหลายอย่างจึงถูกรื้อฟื้นกลับมา การทำตุ๊กตาโมตังกาก็เช่นกัน
สถานการณ์ของตุ๊กตาโมตังกาในปัจจุบัน
ในปัจจุบันตุ๊กตาไร้หน้าได้กลายเป็นหนึ่งในของฝากที่คนต่างถิ่นนิยมซื้อหาเมื่อมาเยือนยูเครน วัฒนธรรมพื้นบ้านที่เคยถูกมองว่าล้าหลังจึงถูกเชิดชูให้เป็นหน้าตาของประเทศยุโรปตะวันออกในที่สุด
ดังที่เราทุกคนทราบกันดี สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศยูเครนกำลังทวีความรุนแรงทุกขณะ ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง แม้จะรู้ว่าคงไม่อาจไปเยือนยูเครนได้ในเร็ววัน แต่เราก็ขอภาวนาให้ความสงบสุขกลับคืนแผ่นดินในไม่ช้า สงครามมีแต่จะนำมาซึ่งความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตผู้คน โบราณสถาน หรือขนบธรรมเนียบประเพณีก็ตาม
ทีมงานพาทัวร์โลจี้จึงขอส่งกำลังใจไปช่วยชาวยูเครน ณ ที่นี้ ขอให้สันติภาพมาเยือนยูเครนในเร็ววัน และหากใครต้องการทราบเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับยูเครนและยุโรปตะวันออกละก็ ติดตามพวกเราได้ที่ www.patourlogy.com เพื่อให้การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคุณ
อ้างอิง
- Budnyk, Olena and Bylznyuk, Tetyana. THE CONTEMPORARY FOLKLORE REVIVAL IN THE MOUNTAIN SCHOOLS OF THE UKRAINIAN CARPATHIANS: EXPERIENCE AND ASSESSMENT. (2014). [Online]. Accessed 2022 March 13. Available from: https://www.researchgate.net/publication/327630882_THE_CONTEMPORARY_FOLKLORE_REVIVAL_IN_THE_MOUNTAIN_SCHOOLS_OF_THE_UKRAINIAN_CARPATHIANS_EX
- PERIENCE_AND_ASSESSMENT_Girska_skola_Ukrainskih_Karpat_2014_No_11_S_14-19 Destination.com. Motanka – Traditional Ukrainian Doll. (2016). [Online]. Accessed 2022 March 13. Available from: https://destinations.com.ua/travel/authentic-ukraine/45-motanka-traditional-ukrainian-doll