หากพูดถึงศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของชาวไทย ร้อยทั้งร้อยคงคิดอื่นใดไม่ได้นอกจากมวยไทยอันเลื่องชื่อ แม่ไม้มวยไทยของเราโด่งดังไกลไปทั่วโลก ชาวต่างชาติถึงกับกล่าวว่ามวยไทยเป็นหนึ่งในศิลปะการป้องกันตัวที่อันตรายที่สุดเนื่องจากสามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายเป็นอาวุธ
ทว่านอกจากหมัดมวยของเราแล้ว ชาติอื่นๆ ในโลกต่างก็มีรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศ และความเป็นอยู่ของชนชาตินั้นๆ
และในวันนี้ เราจะพาคุณบุกตะลุยผืนป่าดงดิบในอเมริกาใต้เพื่อตามหาศิลปะการต่อสู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเสี่ยงต่อการถูกทำให้สูญหาย ศิลปะการป้องกันตัวประเภทนี้มีชื่อว่า “กาโปเอรา (Capoeira)” การต่อสู้ที่ผสมผสานการเต้นรำ กายกรรม และดนตรีเข้าด้วยกัน เพราะเหตุใดรัฐบาลบราซิลในอดีตจึงสั่งห้ามการฝึกฝนกาโปเอราอย่างเด็ดขาดนั้น เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน
เริ่มต้นที่ดินแดนอาณานิคมบราซิล (Brazil Colonial)
กาโปเอรา (Capoeira) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือกำเนิดใน ดินแดนอาณานิคมบราซิล (Brazil Colonial) ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 16
แม้จะไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้นการต่อสู้รูปแบบดังกล่าว ทว่าหลักฐานลายลักษณ์อักษรจากขุนนางและบาทหลวงโปรตุเกสระบุชัดเจนว่า กาโปเอราเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่นิยมฝึกฝนในหมู่ทาสผิวดำ
ย้อนกลับไปปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียนค้นพบหมู่เกาะแคริบเบียนและทวีปอเมริกา ชาวยุโรปก็หันมาลงทุนทำเหมืองและเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในทวีปโลกใหม่ (New World) พวกเขาต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อทำงานในเหมืองและไร่
โชคร้ายที่ชนพื้นเมืองที่ถูกบังคับมาเป็นแรงงานโดยไม่เต็มใจติดโรคที่รักษาไม่หายจนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง ด้วยเหตุนี้เหล่าคนขาวจึงซื้อหาทาสผิวดำจากทวีปแอฟริกามาใช้แรงงานแทนคนท้องถิ่น
ชาวยุโรปค้นพบว่าทาสผิวดำทำงานได้ดี พวกเขามีความทรหดอดทนต่อสภาพแวดล้อมแสนกันดาร ทำให้บรรดานายจ้างหันมาทำธุรกิจค้าทาสควบคู่กันกับการเพาะปลูกและทำเหมือง ด้วยเหตุนี้บราซิลในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงเต็มไปด้วยแรงงานทาสที่ถูกนำตัวมาจากคองโกและแองโกลา สองดินแดนในแอฟริกากลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโปรตุเกสในขณะนั้น
ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ความเป็นอยู่ของเหล่าทาสเป็นไปอย่างเลวร้าย นายทาสโปรตุเกสปฏิบัติราวกับพวกเขาไม่ใช่คน ชีวิตแสนทุกข์ทนทำให้ทาสผิวดำเริ่มหลบหนีออกจากไร่
เนื่องจากบราซิลเป็นดินแดนที่อุดมด้วยผืนป่าและหุบเขาสลับซับซ้อน เหล่าทาสจึงหนีมาหลบซ่อนในท้องถิ่นกันดารที่ว่า พวกเขาตั้งชุมชนทาสหลบหนีที่เรียกว่า “กิลอมโบ (Quilombo)” ขึ้นมา
กิลอมโบ (Quilombo) ชุมชนทาสหลบหนี
“กิลอมโบ (Quilombo)” มีลักษณะคล้ายกับค่ายทหารที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง ชุมชนกิลอมโบมักต้องปะทะกับทหารโปรตุเกสที่ถูกส่งมาจับตัวทาสหลบหนีอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจำเป็นต้องฝึกหมู่ชนให้แข็งแกร่ง
ชาวคองโกและแองโกลาพลัดถิ่นจึงรื้อฟื้นศิลปะการต่อสู้จากบ้านเกิดมาใช้ในการนี้ รูปแบบการต่อสู้ดังกล่าวมีชื่อว่า “อึงโกโล (Ngolo)”
อึงโกโลเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ผสมผสานท่วงท่ากายกรรม ผู้ฝึกฝนมักใช้มือค้ำยันเดินต่างเท้าและใช้เท้าเตะหรือถีบคู่ต่อสู้ อึงโกโลได้รับความนิยมในชุมชนทาสหลบหนีอย่างรวดเร็ว ศาสตร์ดังกล่าวแพร่หลายไปถึงหมู่ทาสที่ยังทำงานในไร่ เหล่าทาสที่ต้องการหลุดพ้นจากชีวิตที่เป็นอยู่จึงเริ่มต้นฝึกฝนอึงโกโลเพื่อใช้หลบหนีจากเวรยาม
ข้อดีของอึงโกโลคือเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า จึงเป็นการง่ายสำหรับทาสที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พกอาวุธ
อย่างไรก็ตาม นายทาสโปรตุเกสตระหนักถึงการฝึกฝนดังกล่าวภายในเวลาไม่นาน พวกเขาสั่งห้ามไม่ให้ทาสฝึกศิลปะการต่อสู้ใดๆ ที่อาจนำไปสู่การก่อกบฏ เหล่าทาสในปกครองจึงคิดค้นการต่อสู้รูปแบบใหม่ พวกเขานำเอาเครื่องสายและเครื่องดนตรีประกอบจังหวะต่างๆ มาใช้เพื่อตบตานายทาสว่าสิ่งนี้เป็นเพียงการละเล่น
การต่อสู้รูปแบบใหม่ที่พัฒนาจากอึงโกโลจึงมีการผสมผสานท่วงท่าการร่ายรำ การต่อสู้แบบประยุกต์ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า “กาโปเอรา” ที่มีความหมายในภาษาตูปี (Tupi) ว่า “รอบผืนป่า” เป็นการอ้างอิงถึงชุมชนทาสหลบหนีในผืนป่าบราซิลที่ฝึกฝนการต่อสู้รูปแบบนี้ตลอดเวลานั่นเอง
จุดกำเนิดกาโปเอรา (Capoeira)
การต่อสู้ระหว่างทหารโปรตุเกสและนักสู้มือเปล่าจากกิลอมโบดำเนินต่อมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนกระทั่งวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1888 รัฐบาลบราซิลที่บัดนี้ได้รับเอกราชก็ประกาศห้ามไม่ให้มีการซื้อขายหรือครอบครองทาสอีกต่อไป
แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีของหมู่ทาส ทว่าสำหรับอดีตทาสทั้งหลาย พวกเขากลับไม่รู้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ทาสผิวดำไม่มีความสามารถหรือทักษะใดๆ ในการใช้ชีวิตในโลกทุนนิยม หลายคนยังคงใช้ชีวิตเป็นแรงงานไร้ฝีมือรายได้ต่ำ ในขณะที่แรงงานฝีมือจากยุโรปและเอเชียต่างเข้ามาจับจองที่ดินทำกินในบราซิลทุกวัน
อดีตทาสที่เรียกตัวเองว่า “กาโปเอริสตา (Copoeirista)” หรือผู้ฝึกฝนกาโปเอราจึงหันมาใช้วิชาในทางที่ผิด พวกเขารวมกลุ่มกันใช้ชีวิตนอกกฏหมายและใช้กาโปเอราต่อสู้แย่งชิงทรัพย์สินจากพ่อค้าและชนชั้นสูง ผู้มีอิทธิพลในท้องที่ต่างๆ หันมาว่าจ้างกาโปเอริสตาเพื่อเป็นกองกำลังส่วนตัว
การจู่โจมผู้บริสุทธิ์เพื่อชิงทรัพย์กลายเป็นเรื่องปกติในเมืองใหญ่ในบราซิล และหลังจากเหตุปล้นสะดมครั้งใหญ่กลางนครริโอ เดอ จาเนโรในปี 1890 รัฐบาลบราซิลก็ประกาศให้กาโปเอรากลายเป็นสิ่งต้องห้าม ใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่าฝึกฝนกาโปเอราจะถูกจับมาลงโทษโดยไม่ต้องไต่สวน เหล่ากาโปเอริสตาจึงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อนหลังจากนั้น
กาโปเอรา (Capoeira) ในปัจจุบัน
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่กาโปเอรากลายเป็นศาสตร์ต้องห้ามในบราซิล แม้ว่านักสู้ส่วนใหญ่จะวางมือจากการต่อสู้มาแสดงกายกรรมข้างถนนแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังคงเห็นว่านักสู้กาโปเอราเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ทางการบราซิลเพิ่งผ่อนปรนมาตรการการฝึกฝนกาโปเอราในทศวรรษที่ 1970 หลังจากเห็นว่ารูปแบบของกาโปเอราในปัจจุบันมุ่งเน้นที่การขับร้องและการละเล่นมากกว่าการต่อสู้จนถึงตาย เหล่ากาโปเอริสตาจึงกลับมาแสดงอย่างเปิดเผยได้อีกครั้ง
บรรดากาโปเอรา เมสเตร (Capoeira Mestre) หรือปรมาจารย์ผู้ฝึกสอนกาโปเอราเริ่มหันมาเปิดสำนักของตัวเอง การแสดงกาโปเอราในเมืองใหญ่และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในบราซิลทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักศิลปะการป้องกันตัวประเภทนี้เป็นครั้งแรก ท่วงท่าร่ายรำสง่างามและจังหวะดนตรีที่ปลุกเร้าดึงดูดความสนใจจากคนทั่วโลก กาโปเอราจึงทวีความนิยมจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาวบราซิลในที่สุด
ในปีค.ศ. 2014 กาโปเอราได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ของประเทศบราซิลโดยองค์กรยูเนสโก (UNESCO) ยังความภาคภูมิใจสู่บรรดาลูกหลานแอฟริกันพลัดถิ่นในบราซิลมหาศาล จากการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของหมู่ทาส กาโปเอราได้ข้ามผ่านอุปสรรคนานัปการจนได้รับการชื่นชมจากชาวโลก
ปัจจุบันผู้ชื่นชอบศิลปะการป้องกันตัวต่างเดินทางมายังบราซิลเพื่อฝึกฝนกาโปเอรากับเมสเตรที่มีชื่อเสียง กาโปเอริสตาหลายคนต่างเดินทางมาเปิดโรงเรียนฝึกสอนกาโปเอราในต่างประเทศเช่นกัน ถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมบราซิลให้คนต่างชาติได้รู้จัก
เป็นอย่างไรกันบ้างกับประวัติความเป็นมาของกาโปเอรา ศิลปะการต่อสู้มือเปล่าของชาวบราซิล หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนเมืองสำคัญในบราซิล ไม่ว่าจะเป็นริโอ เดอ จาเนโร ซัลวาดอร์ (Salvador) หรือเปลูรินโญ (Pelourinho) จะได้พบเห็นเหล่ากาโปเอริสตาออกมาวาดลวดลายแสดงกาโปเอราตามถนนหนทางและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถือเป็นสีสันของการเดินทางมาบราซิลก็ว่าได้
และหากใครสนใจไปเยือนถิ่นกาโปเอริสตาที่ประเทศบราซิลด้วยตัวเองแล้วละก็ ติดต่อเราได้ที่ www.patourlogy.com ให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทริปในฝันที่ตรงตามไลฟ์สไตล์ของคุณ
อ้างอิง
- Capoeira Brazil Pelo. Capoeira History. (2022). [Online]. Accessed 2022 March 29. Available from: https://www.capoeirabrazilpelo.com/resources/capoeira-history/
- Gonsalves – Borrega, Juan. How Brazilian Capoeira Evolved From a Martial Art to an International
- Dance Craze. (2017). [Online]. Accessed 2022 March 29. Available from: https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/capoeira-occult-martial-art-international-dance-180964924/
- Kingsford – Smith, Andrew. Disguised in Dance: the Secret History of Capoeira. (2021). [Online]. Accessed 2022 March 29. Available from: https://theculturetrip.com/south-america/brazil/articles/disguised-in-dance-the-secret-history-of-capoeira/