หากกล่าวถึงขนมอินเดียแล้ว หลายคนอาจติดรสชาติหวานแสบไส้ที่คนไทยเข็ดขยาดไปตามกัน ทว่าขนมหวานถือเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ จามุน (Gulab Jamun) หอมกรุ่นที่เสิร์ฟปิดท้ายมื้ออาหาร หรือลัดดู (Laddu) เหลืองอร่ามที่นิยมมอบกันในงานมงคล
คนอินเดียถือว่าขนมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ในบรรดาของหวานทั่วประเทศ ขนมเบงกาลีได้ชื่อว่าเป็นที่สุดแห่งของหวานทั้งมวล ชาวเบงกาลีที่อาศัยในรัฐเบงกอลตะวันตกชื่นชอบรสละมุนของครีมนม
ด้วยเหตุนี้ขนมที่มีส่วนประกอบของนมทั้งหลายจึงถือกำเนิดในดินแดนนี้ และหากใครมีโอกาสได้มาเยือน โกลกาตา (Kolkata) ประตูสู่แดนเบงกอลที่ได้สมญาว่า “เมืองแห่งความสุข (City of Joy)” แล้วละก็ คงไม่อยากพลาดแวะชิมและเลือกซื้อขนมสุดฮิตติดไม้ติดมือเป็นแน่
แต่เอ… ขนมในตู้วางเรียงกันจนงงไปหมด แล้วเราควรสั่งอะไรดีละ? ถ้าคุณกลัวจะสับสนหน้าร้านขนมเบงกาลีละก็ วันนี้ ทีมงานพาทัวร์โลจี้จะมานำเสนอขนมชื่อดังให้คุณได้เลือกสรรตามชอบใจ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยดีกว่าว่า มีขนมน่าสนใจอะไรบ้าง
รัสกุลลา (Rasgulla)
รัสกุลลา (Rasgulla) เชื่อว่าเจ้าขนมก้อนกลมในน้ำเชื่อมใสน่าจะคุ้นตาชาวไทยหลายคน รัสกุลลาทำมาจากนมสดที่นำมาเคี่ยวจนเดือด เมื่อเติมน้ำมะนาวลงไปจะจับตัวเป็นก้อนคล้ายเนยแข็ง ก้อนนมที่ได้จะถูกพักให้เย็นก่อนปั้นเป็นลูกกลมขนาดพอดีคำ ขนมทรงกลมจะถูกนำมาต้มกับน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้
รัสกุลลาสูตรเฉพาะของเบงกอลจะใส่เมล็ดกระวานเขียวเพิ่มกลิ่นหอมสดชื่นลงไปด้วย ขนมก้อนกลมสีขาวนิยมเสิร์ฟทั้งแบบร้อนและเย็น น้ำเชื่อมหวานล้ำจะไหลออกมาทุกคำที่กัดลงบนขนมเนื้อฟองน้ำ ด้วยเหตุนี้รัสกุลลาจึงขนมเบงกาลีที่อยู่คู่ร้านของหวานทั้งในและนอกรัฐ
สันเทศ มิษฐี (Sandesh Mishthi)
สันเทศ มิษฐี (Sandesh Mishthi) เป็นขนมที่ทำจากนมเคี่ยวกับน้ำตาล ส่วนผสมที่ถูกเคี่ยวจนงวดจะถูกนำใส่แม่พิมพ์ทิ้งไว้ให้เซ็ตตัว ขนมที่เสร็จแล้วจะโรยหน้าด้วยถั่วพิชตาชิโอหรืออัลมอนด์เพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสและสีสัน สันเทศ มิษฐีมีรสหวานจัดและกรุบกรอบจากถั่วบดที่โรยหน้า นิยมกินคู่กับชาร้อนในยามบ่าย
ขนมชนิดนี้ถูกเรียกกันติดปากว่ามิษฐี (Mishthi) ที่มีความหมายว่าขนมหวานในภาษาเบงกาลี คนท้องที่นิยมมอบสันเทศ มิษฐีกันในงานมงคลต่างๆ เช่น งานวิวาห์ งานวันเกิด เทศกาลดิวาลี (Diwali) เป็นต้น
มิษฐี โดอี (Mishthi Doi)
มิษฐี โดอี หรือ มีฐา ดะฮี (Mitha Dahi) เป็นพุดดิ้งโยเกิร์ตรสหวาน มีที่มาจากโพครา (Bogra) ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบังคลาเทศ นมเปรี้ยวที่นำมาทำจะถูกผสมด้วยน้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลทรายแดงเพื่อให้มีรสหวาน ก่อนเทใส่ภาชนะดินเผาเพื่อรักษาความเย็น น้ำนมในไหดินจะถูกทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อให้เซ็ตตัว เมื่อได้ที่แล้วจะมีเนื้อสัมผัสเนียนนุ่ม
มิษฐี โดอีเป็นขนมที่ผู้คนนิยมทานเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวในบ้านเรานั่นเอง
ชัมชัม (Cham Cham)
เช่นเดียวกับมิษฐี โดอี ชัมชัม หรือ ชอมชอม (Chom Chom) ก็เป็นขนมหวานที่มีต้นกำเนิดจากบังคลาเทศเช่นกัน วิธีเตรียมชัมชัมแทบไม่ต่างจากรัสกุลลา เมื่อต้มนมผสมน้ำมะนาวจนน้ำและเนื้อนมแยกจากกัน ให้ใช้ผ้าขาวบางกรองก้อนนมออกจากน้ำ
ก้อนนมที่ได้จะถูกปั้นเป็นทรงรีแช่ในน้ำเชื่อมจนชุ่ม ทว่าแทนที่จะเสิร์ฟในน้ำเชื่อมเหมือนกับรัสกุลลา ชัมชัมจะถูกนำมาคลุกมะพร้าวขูดเพื่อเพิ่มรสสัมผัส
ชาวเบงกาลีนิยมจัดชัมชัมใส่เรือใบตองหรือภาชนะคล้ายเรือในงานมงคล ด้วยเหตุนี้ ชัมชัมจึงถูกเรียกอีกอย่างว่า “เรือแห่งความสุข (Pleasure boat)” บางครั้งอาจมีการใส่สีลงในขนมและเกล็ดมะพร้าวเพื่อเพิ่มความสดใสเช่นกัน
ปาเยศ (Payesh)
ปาเยศ หรือ ปายาสะ (Payasa) อาจเป็นขนมเก่าแก่ที่สุดในชมพูทวีปเลยก็ว่าได้ เชื่อว่าหากเอ่ยถึงข้าวมธุปายาส อาหารมื้อแรกที่เจ้าชายสิทธัตถะเสวยหลังเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา หลายคนคงร้อง “อ๋อ” ไปตามๆ กัน ปาเยศมีลักษณะคล้ายพุดดิ้ง ทำมาจากข้าวที่นำมาต้มกับนมและน้ำตาลอ้อย บางสูตรจะใส่น้ำผึ้งแทนน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหอม
ปาเยศที่เสิร์ฟที่ร้านอาหารในโกลกาตาจะมีการเพิ่มสีสันและรสสัมผัสด้วยการใส่มะพร้าวขูด หญ้าฝรั่น ลูกเกด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วพิชตาชิโอ หรืออัลมอนด์ลงไป ชาวเบงกาลีนิยมกินปาเยศปิดท้ายอาหารมื้อใหญ่เพื่อให้อิ่มสบายท้อง ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศอินเดีย ปาเยศจะถูกเรียกว่าคีร์ (Kheer) และมีการปรุงแตกต่างกันในแต่ละท้องที่
ชานาร์ จิลาปี (Chanar Jilapi)
ชานาร์ จิลาปี (Chanar Jilapi) เป็นขนมสูตรเฉพาะของเบงกอล ของหวานชนิดนี้ดัดแปลงมาจากจาเลบี (Jalebi) ที่มีต้นกำเนิดจากดินแดนเอเชียตะวันตกเฉียงใต้
จิลาปีสูตรโกลกาตาจะทำจากปานีร์ (Paneer) หรือเนยแข็งที่ไม่ผ่านการบ่ม ผสมกับแป้งสาลี แป้งข้าวโพด เนยใส และน้ำ ส่วนผสมจะถูกทิ้งไว้ 8 ถึง 10 ชั่วโมงให้เซ็ตตัว ก่อนนำมาทอดในน้ำมันเดือด แป้งจิลาปีจะถูกบีบให้เป็นวง เมื่อทอดเสร็จใหม่ๆ ชิ้นขนมจะถูกนำมาแช่ในน้ำเชื่อมร้อนๆ ที่ผสมหญ้าฝรั่น เมล็ดกระวานเขียว และกลีบกุหลาบเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม
จิลาปีจะถูกเสิร์ฟร้อนๆ ทันทีที่ทำเสร็จ เมื่อกัดลงไปจะสัมผัสความกรุบกรอบจากแป้งทอด รวมถึงน้ำเชื่อมหวานหอมที่ไหลทะลักในแต่ละคำ หากใครได้มาเยือนโกลกาตา จะเห็นว่ามีร้านขนมหวานที่ทอดจิลาปีใหม่ๆ ตามออเดอร์
ลูกค้าสามารถรอรับขนมที่ห่อมาในกระดาษได้เดี๋ยวนั้น บางครั้งสามารถบอกคนขายได้ด้วยว่าอยากได้รูปร่างแบบใด จิลาปีจึงนับเป็นราขาแห่งสตรีทฟู้ดประจำเมืองหลวงแห่งรัฐเบงกอลเลยก็ว่าได้
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างกับขนมเบงกาลี 6 อย่างที่แนะนำไป เชื่อว่าใครหลายคนคงอยากลองชิมขนมหวานชื่อดังเหล่านี้เป็นแน่ และหากใครต้องการมาเที่ยวโกลกาตาเพื่อตามรอยขนมหวานละก็ ปัจจุบันการเดินทางนั้นง่ายแสนง่าย โกลกาตามีไฟล์ทบินตรงจากกรุงเทพฯ หลายสายการบินให้เลือกสรร
หรือหากใครต้องการข้อมูลที่แม่นยำ สามารถติดต่อทีมงานพาทัวร์โลจี้เพื่อให้ทริปเยือนเบงกอลของคุณครั้งนี้กลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม นอกจากขนมหวานหลากชนิดแล้ว โกลกาตายังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมายรอให้คุณได้ค้นพบ
ถ้าหมดโควิดเมื่อไหร่ อย่ารอช้า เตรียมตัวแพ็คกระเป๋ามาสัมผัสเมืองหลวงรัฐเบงกอลที่ได้ชื่อว่า “เมืองมายาตะวันออก” กันเถอะ!
หนังสืออ้างอิง
- Badrinath, Mallika. 200 Traditional Sweets. Chennai: Pradeep Enterprise, 2011.
- Banerjee, Satarupa. The Book of Indian Sweets. New Delhi: Rupa Publication India, 2009.
- Kapoor, Sanjeev. Mithai: Sweet for every celebrations. Mumbai: Popular Prakashan, 2011.