ทะเลสาบติติกากา (Titicaca) เป็นทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลกโดยอยู่ที่ความสูง 12,500 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาแอนดีสของทวีปอเมริกาใต้ พาดผ่านพรมแดนระหว่างเปรูทางทิศตะวันตกและโบลิเวียทางทิศตะวันออก นับเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสองของทวีปอเมริกาใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 3,200 ตารางไมล์ ในทะเลสาบติติกากามีเกาะมากถึง 41 เกาะ บางเกาะก็มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ Isla del Sol หรือเกาะแห่งพระอาทิตย์ ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของตำนานในอารยธรรมอินคา
การค้นพบโบราณวัตถุครั้งล่าสุดที่ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ “ติติกากา”
ตั้งแต่ครั้งอดีต ทะเลสาบติติกากานั้นเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในอารยธรรมโบราณของพื้นที่อเมริกาใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลสำรวจของทีมนักสำรวจใต้น้ำ นำทีมโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2019 และมีการตีพิมพ์การค้นพบวัตถุโบราณที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมติวานาคู (Tiwanaku) ลงในวารสาร Antiquity ฉบับเดือนสิงหาคม 2020
โบราณวัตถุสำคัญที่ค้นพบในครั้งนี้ คือ กล่องที่ทำจากแอนดีไซต์ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟในท้องถิ่น พบวางอยู่บนแนวปะการังลึกประมาณ 18 ฟุตใต้พื้นผิวทะเลสาบ กล่องนี้มีช่องลึกเข้าไปภายในและปิดผนึกด้วยแท่งหินกลม ในกล่องนั้นบรรจุแผ่นทองคำที่ม้วนเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กๆ และตุ๊กตาลามะที่ทำจากสปอนดิลัสหรือเปลือกหอยสีปะการังของหอยนางรมหนามที่หายากและมีค่า
นักโบราณคดีเชื่อว่าแผ่นทองทรงกระบอกนี้อาจเป็นแบบจำลองขนาดเล็กของชิปปานา ซึ่งเป็นสร้อยข้อมือประเภทหนึ่งที่ขุนนางสวมไว้ที่ปลายแขนขวา ส่วนลามะเป็นตัวแทนของสัตว์ที่มีความทนทาน
การค้นพบนี้ได้สะท้อนถึงความเคารพต่อทะเลสาบที่เริ่มต้นจากอารยธรรมติวานาคู และอารยธรรมอินคาก็ได้รับอิทธิพลจากประเพณีของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นในยุคก่อนหน้านั่นคือ ติวานาคู ซึ่งเป็นอารยธรรมยุคก่อนที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในแถบโบลิเวีย เปรู และชิลีปัจจุบัน มีอายุระหว่างประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศวรรษที่ 10
นอกจากนี้การบูชาทะเลสาบอาจเชื่อมโยงกับลัทธิของบรรพบุรุษชาวอินคาและพิธีแสวงบุญที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งพระอาทิตย์ ซึ่งรวมตำนานต้นกำเนิดของอินคาไว้ที่นั่นจึงทำให้ทะเลสาบติติกากาเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมของอารยธรรมอินคา
ติวานาคู อารยธรรมโบราณแห่งทะเลสาบติติกากา
ติวานาคูเป็นหนึ่งในอารยธรรมแรกของอเมริกาใต้ ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนใต้ของทะเลสาบติติกากาที่พรมแดนระหว่างโบลิเวียและเปรู เมืองหลวงของติวานาคูนั้นอยู่ในที่ราบลุ่มของแม่น้ำติวานาคูและแม่น้ำคาทาริ (Katari) ที่ระดับความสูงระหว่าง 12,500–13,880 ฟุต จากระดับน้ำทะเล แม้จะตั้งอยู่ บนที่สูง ซึ่งพบน้ำค้างแข็งอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากถึง 20,000–40,000 คน ในช่วงที่อารยธรรมนี้รุ่งเรือง
อย่างไรก็ตาม น้ำค้างแข็งที่เกิดขึ้นในพื้นที่กลับส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมของติวานาคู พวกเขาเลือกปลูกพืชที่ทนต่อน้ำค้างแข็งอย่างพืชหัวและควินัว รวมทั้งการกักเก็บน้ำฝนและน้ำจากการละลายของน้ำค้างแข็งที่ไหลลงมาตามความชันของภูเขาลงคลองระบายน้ำ ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งเป็นชุมชนที่ขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อารยธรรมติวานาคูมีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าว
นอกเหนือจากการเกษตรแล้ว งานหินก็มีความสำคัญต่อเอกลักษณ์ของติวานาคู มีการทำแอนดีไซต์สีน้ำเงินไปเป็นสีเทาอมเขียวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของอารยธรรม ไปจนถึงช่วงที่ติวานาคูเริ่มขยายอำนาจในระดับภูมิภาค ทำให้ช่างทำหินเริ่มใช้หินภูเขาไฟจากภูเขาไฟโบราณที่อยู่ห่างไกลมากขึ้น ดังเช่น หินจากภูเขาไฟในพื้นที่ประเทศเปรู ซึ่งมีความหนาแน่นและแข็งขึ้น โดยช่างหินของติวานาคูใช้สร้างศาสนสถานขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม รวมถึงแท่นขนาดใหญ่และประตูสามมิติ
หลังจากผ่านไป 700 ปี อารยธรรมติวานาคูก็เสื่อมสลาย โดยเกิดขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทั้งนี้มีทฤษฎีอย่างน้อยหนึ่งทฤษฎีที่ระบุว่าเป็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีหลักฐานว่าระดับน้ำใต้ดินลดลงจนนำไปสู่จุดจบของระบบเกษตรกรรมบนพื้นที่ศูนย์กลางติวานาคู
แม้ติวานาคูจะล่มสลายไป แต่ความทรงจำของอารยธรรมนี้ยังคงอยู่ในตำนานของชาวแอนดีสทั่วไป โดยติวานาคูก็ยังคงเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาสำหรับคนในท้องถิ่น ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานในอารยธรรมอินคา ในฐานะแหล่งกำเนิดของมนุษยชาติ และชาวอินคาเองก็สร้างศาสนสถานของตนเองควบคู่ไปกับซากปรักหักพังของติวานาคู
โบราณสถานติวานาคู (Tiwanaku) มรดกโลกแห่งโบลิเวีย
โบราณสถานติวานาคู (Tiwanaku) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของโบลิเวีย ใกล้กับทะเลสาบติติกากา เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากวิหารและอาคารต่างๆ ในเมืองได้รับความเสียหายอย่างมากจากการถูกทำลาย รัฐบาลโบลิเวียเองเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมมาตั้งแต่ปี 1960 จนกระทั่งปัจจุบันที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO โดยสิ่งก่อสร้างในเมืองที่ได้รับการสำรวจและศึกษาแล้วได้แก่ Akapana, Akapana East, Pumapunku, Kalasasaya, Kheri Kala, Putin enclosures, และวิหาร Semi-Subterranean ซึ่งเปิดให้เข้าชมได้
พื้นที่ของโบราณสถานแห่งนี้ เดิมเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น อาศัยอยู่ในบริเวณซึ่งมีการแบ่งแยกตามพื้นที่ชัดเจนด้วยผนังขนาดใหญ่ ย่านที่พักอาศัยเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะด้วยโครงสร้างอาคารหลายกลุ่ม (เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องเก็บของ) บางแห่งมีการจัดวางอาคารรอบลานขนาดเล็ก แต่ทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อกับพื้นที่กลางแจ้งขนาดใหญ่ที่ใช้งานร่วมกันเช่น งานพิธีในชุมชน
พื้นที่หนึ่งที่นักโบราณคดีได้สำรวจอย่างละเอียดคือ ย่านใจกลางเมือง ซึ่งมีโครงสร้างขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำ และโครงสร้างหลายอย่างดูเหมือนจะมีความสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะ อาคารขนาดเล็กที่ลงมาทางบันไดทางทิศใต้ หลังจากลงบันไดไปจะเห็นเสาหินขนาดใหญ่ตั้งตรงกลาง ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงถึงบรรพบุรุษในตำนานที่เก่าแก่และทรงพลังที่สุดของชุมชนแห่งนี้
นอกจากนี้ ผนังของศาสนสถานที่ทรุดโทรมนี้ยังประดับประดาด้วยภาพของ “สิ่งที่เหมือนกับเทพเจ้าซึ่งมีใบหน้าเย่อหยิ่งและผ้าโพกศีรษะที่วิจิตรบรรจง” อาคารนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแต่ละด้าน ยาวประมาณ 27 เมตร (89 ฟุต) ติดกับศาสนสถานนี้เป็นฐานที่รู้จักกันในชื่อ “Kalasasaya” มีขนาดกว้าง 120 เมตร ยาว 130 เมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเป็นบ้านของชนชั้นสูงของติวานาคู ซึ่งวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งพิธีกรรมอันชอบธรรมในยุคแรกของติวานาคู
นอกจากนี้ ในบริเวณที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำยังเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปิรามิดประดิษฐ์” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Akapana สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่นี้มีส่วนฐานประมาณ 200 คูณ 250 เมตร และสูงกว่า 16.5 เมตร นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุด คาดว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของเมืองหลวง
เมื่อนักโบราณคดีขุดค้นปิรามิดทางตะวันตกเฉียงเหนือ ได้พบโครงกระดูกของคน 21 คน ซึ่งอาจมาจากกลุ่มที่ติวานาคูพิชิตได้ รวมถึงกระดูกลามะและเซรามิกโพลิโครม โครงกระดูกหลายชิ้นมีร่องรอยบาดแผลลึกและการแตกหักจากการกดทับซึ่งเกิดขึ้นได้จากการกระแทกอย่างแรงเท่านั้น คาดว่า คนเหล่านี้ถูกดาบฟันอย่างแรงก่อนจะนำไปฝังที่ฐานของปิรามิด
นอกเขตคูน้ำไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีแท่นขนาดใหญ่ที่ยังไม่เสร็จซึ่งเรียกว่า Pumapunku ตัวของฐานหลักนั้นกว้างมาก โดยวัดความยาวได้กว่าครึ่งกิโลเมตร วางในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก และประกอบด้วยระเบียงที่ซ้อนทับกันมีลักษณะเป็นรูปตัว ที (T) ทั้งนี้ความน่าประหลาดใจของ Pumapunku อยู่ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งก้อนที่ใหญ่ที่สุดหนักถึง 131 ตัน แต่ละก้อนตัดเป็นแท่งเรียบและวางเรียงซ้อนกันน่าประหลาด ทั้งที่อารยธรรมยุคนั้นยังไม่น่าจะมีอุปกรณ์ใดๆ ที่จะตัดหินขนาดใหญ่ได้
นอกจากนั้นหินที่อยู่ในโบราณสถานยังมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก เป็นหินทรายสีแดงและหินแอนดีไซต์ที่ถูกตัดอย่างแม่นยำจนให้เข้ากันได้สนิทดีโดยไม่ต้องใช้ปูนเชื่อมต่อแต่อย่างใด โดยเฉพาะหินรูปตัว เอช (H) ที่ตัดได้เรียบราวกับใช้เครื่องจักรทันสมัย
อารยธรรมอินคากับจุดเริ่มต้นที่ทะเลสาบติติกากา
อารยธรรมอินคา เป็นอารยธรรมที่เจริญที่สุดในอเมริกาใต้ ส่วนใหญ่อยู่ในอาณาบริเวณของประเทศเปรูปัจจุบัน มีช่วงเวลาปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงปีที่ล่มสลายคือ ค.ศ. 1572 โดยมี นครคูซโค (Cusco) เป็นศูนย์กลางการบริหาร การเมือง และการทหาร อารยธรรมขั้นสูงของอินคา คือ การจัดระเบียบทางสังคมที่ทำให้ประชากรนับตั้งแต่ระดับสูงสุดคือจักรพรรดิลงมาจนถึงชาวไร่ชาวนา ได้ทำงานตามบทบาทหน้าที่ ความเจริญรุ่งเรืองของอินคายังรวมไปถึงสถาปัตยกรรม ประติมากรรม วิศวกรรม และระบบชลประทานอีกด้วย
ตำนานการก่อตั้งอาณาจักรอินคาที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับทะเลสาบติติกากา นั่นคือ ตำนานของ Manco Cápac และ Mama Ocllo เป็นหนึ่งในตำนานของชาวอินคาที่บอกเล่าเรื่องของพระเจ้า Inti ส่งคู่ชายหญิงมายังโลกเพื่อให้กำเนิดอารยธรรม บูชาเทพพระอาทิตย์ และสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่
ทั้งคู่ซึ่งก็คือ Manco Cápac และ Mama Ocllo ปรากฎกายขึ้นที่ Isla del Sol หรือเกาะของดวงอาทิตย์ในทะเลสาบติติกากา แล้วเข้ามายังดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ และทั้งคู่ก็ได้รับการนับถือจากคนเหล่านั้นในฐานะสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ ภารกิจที่คู่สามีภรรยาต้องปฏิบัติคือ ถ้าคทาสีทองของพวกเขาสามารถจมลงไปในดินได้ แผ่นดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และจะเป็นสถานที่ตั้งอาณาจักรขึ้นมา
และแล้วภารกิจของทั้งคู่ก็บรรลุ คทาสีทองจมลงในดินของเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบติติกากา เป็นหุบเขาขนาดใหญ่ที่ชื่อ Huanacauri นี่คือที่มาของอาณาจักรอินคา หากตีความจากตำนานดังกล่าว พื้นที่ชายฝั่งของทะเลสาบติติกากานั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวติวานาคู ดังนั้นการที่ Manco Cápac และ Mama Ocllo มาจากดินแดนดังกล่าว จึงอาจจะอนุมานได้ว่าทั้งคู่นั้นเป็นทายาทดั้งเดิมของชาวติวานาคูนั่นเอง
พิพิธภัณฑ์ใต้น้ำที่ทะเลสาบติติกากา
แม้ว่าทะเลสาบติติกากาจะเป็นสถานที่แห่งความงามอันโดดเด่น แต่ผืนน้ำในทะเลสาบติติกากาก็คือแหล่งกำเนิดของอารยธรรมแอนเดียน รวมทั้งติวานาคูและอินคา เมื่อเวลาผ่านไปน้ำในทะเลสาบสูงขึ้นจนฝังบ้านเรือนโบราณริมทะเลสาบหลายแห่งไว้ใต้กระแสน้ำ การขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะ ค.ศ. 2012 รัฐบาลโบลิเวียร่วมกับ Université Libre de Bruxelles (ULB) ดำเนินการตรวจสอบเป็นเวลา 220 วัน ด้วยการดำน้ำมากกว่า 1,350 ครั้ง ทำให้เกิดพื้นที่โบราณคดีใต้น้ำ 20 แห่งและพบวัตถุโบราณมากกว่า 20,000 รายการ ตั้งแต่ยุคติวานาคู (ค.ศ. 300-1150) จนถึงยุคอินคา (ค.ศ. 1400-1532)
ในปี ค.ศ. 2018 ต่อมารัฐบาลโบลิเวียได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำของยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งผลการประชุมเชิงปฏิบัติการของยูเนสโกได้มีการหารือเกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำ รวมถึงโครงการสำหรับการสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้น้ำ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์กึ่งจมน้ำกึ่งลอยน้ำในทะเลสาบติติกากา
จุดมุ่งหมายของพิพิธภัณฑ์คือ การอนุรักษ์ทั้งโครงสร้างทางโบราณคดีที่จมอยู่ใต้น้ำและบนชายฝั่งทะเลสาบ โดยผู้เข้าชมจะได้เห็นมรดกที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำผ่านผนังกระจก ตลอดจนนิทรรศการวัตถุที่ได้รับการกู้คืนจากทะเลสาบ นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งของทะเลสาบติติกากา
ที่มาบทความ
- Centuries-old Inca offering discovered in the sacred lake
- Lake Titicaca
- Lake Titicaca History
- Origin Myths of the Inca Empire
- Protecting Underwater Cultural Heritage in Lake Titicaca
- The Inca
- The Mystery of Puma Punku’s Precise Stonework
- Tiwanaku: Pre-Incan Civilization in the Andes
- Tiwanaku: Spiritual and Political Centre of the Tiwanaku Culture
1 Comment
[…] https://www.patourlogy.com/titicaca-tiwanaku-inca/ […]